Dr Prin Banner 1.jpg

ทุกการผ่าตัดที่เราทำให้คนไข้ ตั้งใจให้เป็นงานระดับมาสเตอร์พีซ

การผ่าตัดไม่ได้เป็นเพียงแค่ การรักษาความผิดปกติของดวงตาข้างนึง แต่เป็นการมอบความสุขในชีวิตให้กับคนไข้ เนื่องจากคนไข้แต่ละคนมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตแตกต่างกัน มีความต้องการที่แตกต่างกัน

แชร์

ทุกการผ่าตัดที่เราทำให้คนไข้
ตั้งใจให้เป็นงานระดับมาสเตอร์พีซ


“มันไม่มีคำว่าดีที่สุดในใลก แต่มันจะมีคำว่า อันนี้เหมาะที่สุดสำหรับคนนี้ที่ตาข้างขวาของเขา แล้วเหมาะที่สุดสำหรับคนนี้ที่ตาซ้าย พอเป็นผลรวมสองข้างแล้วทำให้เขามีคุณภาพการมองเห็นที่ดี และมีความสุขมากขึ้น”

ประโยคเริ่มต้นบทสนทนา ที่พาเราจินตนาการไปถึงการนั่งเครื่องบินชั้น First class ที่ผู้โดยสารจะได้รับการดูแลอย่างดีเยี่ยมในทุกขั้นตอน จนเราอดสงสัยไม่ได้ว่า การผ่าตัดต้อกระจก ที่สามารถทำให้เป็นงาน “มาสเตอร์พีช” ได้นั้น ต้องมีจุดเริ่มต้นอย่างไร

Dr Prin Rojanapongpun

รศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ จักษุแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางด้านการผ่าตัดต้อกระจก ผ่าตัดดวงตามาแล้วนับหมื่น บอกกับเราว่า การผ่าตัดไม่ได้เป็นเพียงแค่ การรักษาความผิดปกติของดวงตาข้างนึง แต่เป็นการมอบความสุขในชีวิตให้กับคนไข้ เนื่องจากคนไข้แต่ละคนมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตแตกต่างกัน มีความต้องการที่แตกต่างกัน สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ ต้องพยายามเข้าใจก่อนว่า เขาต้องการอะไรหลังจากผ่าตัดแล้ว เมื่อมีข้อมูลมากเพียงพอ แพทย์จึงใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และเทคโนโลยี มาออกแบบชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมใหัชนะความผิดปกติของตาแต่ละข้างซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน คงต้องยอมรับความจริงว่าไม่มีอะไร 100% ในโลก แต่ถ้าจะมีอะไรไม่พอดี เราจะต้องเป็นที่ที่เอาชนะความไม่พอดีให้ได้มากที่สุด เป็นที่พึ่งและเป็นที่ไว้วางใจของคนไข้ให้ได้มากที่สุด

ความภูมิใจของคุณหมอปริญญ์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งหรือจำนวนดวงตาที่เคยผ่าตัดมา แต่เป็นความสุขที่พอกพูนในจิตใจ ทุกครั้งที่ได้เห็นคนไข้กลับมามีคุณภาพการมองเห็นที่ดีขึ้น

  • ผ่าตัดดวงตาให้เหมือนไม่เคยถูกผ่าตัด

เพื่อให้คนไข้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนผ่านเลนส์แก้วตาเทียม ที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของคนไข้มากที่สุด ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลเมดพาร์ค จึงนำเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการแพทย์ ที่มีศักยภาพสูงสามารถนำไปสู่ความแม่นยำ และมีโอกาสผิดพลาดน้อยที่สุด อย่างเทคโนโลยีเวฟฟร้อนท์ (Wavefront Laser) สำหรับวัดค่าสายตา ไม่ว่าจะเป็นค่ากำลังของเลนส์ ค่าสายตาเอียง หรือมุมเอียง หรือจะเป็นการวัดค่าความโค้งของกระจกตา ที่นี่ต้องใช้มากถึง 4 เทคโนโลยี ซึ่งแต่ละวิธีมีการวัดที่แตกต่างกันไป โดยแพทย์จะนำมาเปรียบเทียบกัน แล้วออกแบบการรักษาเฉพาะคนไข้รายนั้น คนไข้แต่ละคนจึงเป็นโจทย์ใหม่เสมอเพราะมีรายละเอียด และความต้องการที่ไม่เหมือนกัน

ถึงแม้จะต้องใช้ศักยภาพของเทคโนโลยี ต้องใช้ทักษะประสบการณ์ของแพทย์ ใช้บุคลากรจำนวนมาก รวมถึงใช้เวลามากขึ้น แต่เพื่อดวงตาคู่นั้นของคนไข้ จึงต้องใส่ใจในรายละเอียด และทำให้ดีที่สุด

การผ่าตัดดวงตาข้างหนึ่ง เราจะวัดค่าออกมา 100 กว่าค่า อาจจะใช้เวลาเพิ่ม 1-2 นาที แต่มันเป็น 2 นาทีที่คุ้มค่า แพทย์เราจะต้องเรียนความรู้ใหม่จนมีความชำนาญ และเป๊ะมากๆ แล้ว เราต้องปรับเข้ากับเครื่องวัดให้ได้ดีด้วย ถ้าไม่อย่างนั้น อาจต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นแถมยังได้ผลที่ไม่แน่นอน ที่เรายอมใช้เวลามากขึ้นก็เพื่อทำให้ลูกตาเหมือนไม่โดนผ่าตัด เราต้องไม่เปลี่ยนความโค้งของกระจกตา ไม่เปลี่ยนสัดส่วนลูกตา ไม่ทำให้ตามีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย มันต้องทำให้ได้ขนาดนั้น

  • ความชำนาญที่ต้องผสานกับเทคโนโลยี

เลนส์ตาของคนไข้แต่ละคน บางคนตาสั้นมาก ยาวมาก หรือมีความโค้งความเอียงมากผิดปกติ ก็จะมีรายละเอียดการผ่าตัดที่จำเพาะเจาะจง การผ่าตัดต้อกระจกแต่ละครั้งจึงต้องมีการตรวจตาแต่ละข้างอย่างละเอียดด้วยหลายเทคโนโลยี เช่นการวัดค่าความโค้งของกระจกตาด้วยเครื่อง Auto Refraction การใช้เครื่อง Auto Keratometry, Master 700, Anterior Segment Optical Coherence Tomography (OCT) แล้วนำข้อมูล มาออกแบบเลนส์ที่สามารถจะใช้ได้ในตาแต่ละข้าง นอกจากนั้นขณะทำผ่าตัดเราใช้เครื่อง Intraoperative Aberrometry Wavefront Technology แล้ววิเคราะห์ คำนวณ ตัดสินใจหาจุดที่เหมาะสมที่สุดให้กับคนไข้

กล้องผ่าตัดต้อกระจกของเรามีระบบ Digital Guidance แล้วก็ระบบ Verification และมีระบบ OCT ด้วย ซึ่งคลินิกหรือโรงพยาบาลที่ใช้กล้อง Hi-end ระดับนี้แทบจะหาได้น้อยมาก เวลาทำผ่าตัดจริง เราจะต้องเป็นเหมือน CEO ที่เอาข้อมูลจากเทคโนโลยีต่าง ๆ มาประมวล แล้วใช้ความรู้และประสบการณ์ของเรามาตัดสินใจว่าเราจะเลือกเชื่อข้อมูลตรงไหน หรือจะทำอย่างไรให้มันมีโอกาสผิดพลาดน้อยที่สุด

แน่นอนว่าเลนส์แก้วตาเทียม และเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการรักษา มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เทคโนโลยีบางอย่างก็พัฒนามาจากองค์ความรู้และประสบการณ์ของแพทย์โดยตรง ซึ่ง รศ.นพ.ปริญญ์ นับเป็นหนึ่งในแพทย์ในเอเชียที่ได้รับการเชิญจากบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศทั้งอเมริกาและยุโรปให้เป็นที่ปรึกษา เพื่อให้แนวคิดกับบริษัทผู้ออกแบบเครื่องมือแพทย์ ในเรื่องของความแตกต่างระหว่างคนเอเชียกับยุโรป โดยคนเอเชียจะถือโทรศัพท์ในระยะห่างจากดวงตา 33-35 ซม. ส่วนคนยุโรปจะอยู่ที่ 40+ ซม. ซึ่งแนวคิดเรื่องของไลฟ์สไตล์ ทำให้ผู้ออกแบบเทคโนโลยีจะต้องนำไปคิดเพื่อพัฒนาต่อไปด้วย

คนไทยใช้ Line, Facebook และ IG อาจจะมากกว่าคนยุโรป แล้วเดี๋ยวนี้ ผู้สูงอายุเล่นทั้งวันเลย รวมทั้งเกมด้วย คนสมัยนี้แทบไม่ดู Netflix บนจอทีวีแล้ว เขาดูบนมือถือกัน บางคนเทรดหุ้นผ่าน iPad มันเป็นรายละเอียดที่เราต้องพยายามเข้าใจให้มาก หมอจึงต้องไม่ใช่แค่เก่งแค่ผ่าตัด หรือเก่งรักษาอย่างเดียว แต่ต้องสื่อสารเก่ง และเข้าใจจิตใจคนอื่น เพราะว่าเราจะต้องช่วยคนไข้ของเราให้เขาพอใจมากที่สุด

Dr Prin Rojanapongpun

  • แพทย์เรียนรู้จากคนไข้ คนไข้เรียนรู้จากเลนส์

หลายคนเข้าใจผิดว่าการมองเห็นนั้นเกิดจากดวงตา แต่แท้จริงแล้ว ดวงตาทำหน้าที่ยื่นไปด้านหน้าเพื่อรับแสง แล้วส่งไปให้สมองแปลออกมา ดังนั้น การมองเห็นจึงเป็นกระบวนการที่เกิดจากตาและสมองประกอบกัน คนไข้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมแล้ว ยังต้องใช้เวลาเรียนรู้และปรับตัว เช่นเดียวกับ รศ.นพ. ปริญญ์ ที่แม้จะทำผ่าตัดมาแล้วนับหมื่นครั้ง แต่ก็ยังคงตั้งใจเรียนรู้เสมอ กับคุณครูที่เรียกว่า คนไข้

บางเทคโนโลยีต้องอาศัยการเรียนรู้ของสมอง จึงต้องให้คนไข้เรียนรู้กับเลนส์ ซึ่งอาจจะใช้เวลาเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือนก็ได้ ผมจะบอกคนไข้ที่ใส่เลนส์บางชนิดว่าจะมีช่วงปรับตัวก่อนนะ ซึ่งคนไข้ของผมก็จะมีความคิดเห็นหรือมาเล่าให้ฟังว่าเป็นยังไงบ้าง เขาสอนผมทุกวัน โดยที่เขาอาจจะไม่รู้ตัว แล้วผมก็ตั้งใจเรียนกับเขาเสมอ

  • ถ้าใจไม่เหนื่อยก็ไม่มีคำว่าถอย

น้อยคนจะรู้ว่า รศ.นพ.ปริญญ์ ตั้งเป้าหมายอย่างแน่วแน่มาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ป.2 ว่าโตขึ้นจะต้องเป็นหมอให้ได้ ซึ่งหลังจากศึกษาจบเป็นแพทย์แล้ว ก็ได้สร้างสรรค์ผลงานให้เป็นที่ประจักษ์มากมาย เคยได้รับโอกาสขึ้นไปเป็น Speaker บนเวทีสำคัญด้านการแพทย์ เดินทางไปบรรยายมาแล้วกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ดำรงตำแหน่งในสมาคมนานาชาติต่าง ๆ คว้ารางวัลงานวิจัยดีเด่น โล่เกียรติยศ ใบประกาศเกียรติคุณมากมาย และที่น่าทึ่งมากก็คือ รางวัล First Place Winner ในการประกวดภาพยนตร์การผ่าตัดนานาชาติ ของสมาคมจักษุแพทย์อเมริกัน American Society of Cataract and Refractive Surgery (ASCRS) ที่เมือง Boston  ประเทศสหรัฐอเมริกา

ฝรั่งเขารู้สึกทึ่งกับผลงาน ตอนนั้นผมทำเรื่องการแก้ไขการผ่าตัดต้อหินที่ล้มเหลว ซึ่งต้องใช้เวลามาก ในการทำวิดีโอนั้นออกมา ผมว่าเป็นเพราะโชคดีด้วย แต่โชคมันไม่ได้มาเฉยๆ มันคือการทุ่มเท ทำไม่รู้กี่ค่ำคืน สิ่งใดก็ตามที่ทำด้วยความรักแล้ว ไม่ว่าจะต้องใช้เวลานานแค่ไหน ร่างกายเหนื่อยล้าเพียงใด ถ้าใจไม่เหนื่อย ก็ไม่มีคำว่าถอยแน่นอนครับ แล้วก็ไม่ได้หยุดแค่นั้น มันมีเรื่องความท้าทายใหม่ให้ทำอยู่เสมอ

ไม่ว่าจะเป็นคนไข้ ลูกศิษย์ เพื่อนร่วมงาน หรือใครก็ตาม หากได้มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.นพ. ปริญญ์ แม้เพียงไม่กี่ประโยค ย่อมสัมผัสได้ถึง Passion อันเต็มไปด้วยพลังในการทำงาน ความทุ่มเททำในสิ่งที่รัก และความรู้ใหม่ๆ ในวงการแพทย์ ที่ไม่มีวันหมดอย่างแน่นอน




รศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์
จักษุแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางด้านการผ่าตัดต้อกระจก
ประวัติแพทย์

เผยแพร่เมื่อ: 13 มิ.ย. 2023

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    รศ. นพ. ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์

    รศ. นพ. ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยาโรคต้อหิน
    • จักษุวิทยาผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ (LASIK & SMILE pro)
    การผ่าตัดต้อกระจก, ต้อกระจก, โรคต้อหิน, การผ่าตัดต้อกระจกในผู้ป่วยที่มีอาการม่านตาผิดปกติ