อาการ สาเหตุ การตจวจวินิจฉัยและการรักษาไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (Acute sinusitis) - Acute sinusitis Symptoms, Causes, Diagnosis and Treatment

ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน คืออาการที่โพรงจมูกบวมและติดเชื้อ ขัดขวางการระบายน้ำมูกและทำให้น้ำมูกคั่งค้าง ผู้ป่วยอาจหายใจผ่านจมูกได้ไม่สะดวก ติดขัด มีอาการปวดศีรษะหรือปวดตุบ ๆ บนใบหน้า บวมรอบดวงตา

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน

โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน คืออาการที่โพรงจมูกบวมและติดเชื้อ ขัดขวางการระบายน้ำมูกและทำให้น้ำมูกคั่งค้าง ผู้ป่วยอาจหายใจผ่านจมูกได้ไม่สะดวก ติดขัด มีอาการปวดศีรษะหรือปวดตุบ ๆ บนใบหน้า อาจมีอาการบวมรอบดวงตา

โดยทั่วไปอาการโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันมักเกิดจากโรคไข้หวัด โดยอาการมักหายได้เองภายใน 7-10 วันหากไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการได้เองที่บ้าน แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหลังทานยา และมีอาการนานเกิน 3 เดือน อาจเป็นโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง

อาการของโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันมักจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีน้ำมูกหรือเสมหะข้น สีเหลืองหรือเขียว
  • คัดจมูก หายใจลำบาก
  • ใบหน้าปวดบวมหน่วง ๆ บริเวณหน้าผาก ดวงตา จมูก และโหนกแก้ม โดยอาการจะรุนแรงมากขึ้นเวลาก้มศีรษะ

อาการอื่น ๆ ได้แก่ ไอ มีไข้ อ่อนล้า ปวดศีรษะ หูอื้อ มีกลิ่นปาก ปวดฟัน และการรับกลิ่นเปลี่ยนไป

เป็นไซนัสอักเสบ ควรพบแพทย์เมื่อไร

ส่วนใหญ่แล้วโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันมักจะหายได้เอง ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แต่ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์หากมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีอาการติดต่อกันมากกว่าหนึ่งสัปดาห์
  • อาการแย่ลงหลังจากที่ดูเหมือนจะดีขึ้น
  • มีไข้เป็นระยะเวลานาน
  • มีประวัติเป็นโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันหรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังมาก่อน

ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ทันทีหากมีอาการบ่งชี้การติดเชื้อรุนแรง ดังต่อไปนี้

  • ปวด บวม แดงบริเวณรอบดวงตา
  • มีไข้สูง
  • มึนงง สับสน
  • เห็นภาพซ้อนหรือสายตาเปลี่ยน
  • ปวดตึงคอ


สาเหตุของโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

ไข้หวัดซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสมักเป็นสาเหตุของโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน การติดเชื้อแบคทีเรียตามมาภายหลังอาจพบได้ในบางกรณี

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงของโรคไซนัสอักเสบมากขึ้น หากว่ามีอาการดังต่อไปนี้

  • เป็นภูมิแพ้หรือไข้ละอองฟาง
  • ป่วยเป็นไข้หวัด
  • มีความผิดปกติในโพรงจมูก เช่น เนื้องอก ริดสีดวงจมูก สันจมูกคด
  • ป่วยเป็นโรคอื่น ๆ เช่น โรคซิสติกไฟโบรซิส หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์)
  • สูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่มือสอง (ควันบุหรี่ที่คนอื่นสูบ)


ภาวะแทรกซ้อน

โดยปกติมักไม่พบภาวะแทรกซ้อนของโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน และภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมักพบได้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้

  • โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง ภาวะไซนัสอักเสบเฉียบพลันอาจเกิดซ้อนขึ้นบนโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นนานกว่า 3 เดือน
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นภาวะติดเชื้อซึ่งทำให้เยื่อหุ้มสมองและน้ำเลี้ยงไขสันหลังบวมอักเสบ
  • โรคกระดูกอักเสบติดเชื้อ ผิวหนังและเนื้อเยื่ออักเสบ ซึ่งลามมาจากไซนัสอักเสบ
  • ปัญหาทางด้านสายตาจากการติดเชื้อของเบ้าตา เช่น การมองเห็นลดลงหรือสูญเสียการมองเห็นซึ่งอาจกลายเป็นอาการถาวรได้

การป้องกันไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

เพื่อลดความเสี่ยงโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางผู้ป่วยไข้หวัดหรือผู้ป่วยติดเชื้อ ควรล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
  • ปรึกษาแพทย์เพื่อควบคุมอาการภูมิแพ้
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางผู้ที่สูบบุหรี่หรือบริเวณที่มีมลพิษ เพราะอาจทำให้ทางเดินหายใจระคายเคืองและติดเชื้อ
  • ใช้เครื่องทำความชื้นเพื่อเพิ่มความชื้นภายในบ้านหากอากาศแห้ง เพื่อป้องกันอาการไซนัสอักเสบ หมั่นทำความสะอาดเครื่องทำความชื้นเพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา


การวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

แพทย์จะสอบถามอาการของผู้ป่วยและตรวจภายในโพรงจมูกเพื่อดูว่ามีอาการปวดบวมของจมูกและใบหน้าหรือไม่ แพทย์จะวินิจฉัยโรคจากตรวจร่างกายเป็นหลัก

แพทย์อาจใช้วิธีการตรวจแบบอื่น ๆ เพื่อตัดสาเหตุของโรคที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป

  • การส่องกล้องตรวจโพรงจมูก แพทย์จะสอดกล้องเอ็นโดสโคปซึ่งมีลักษณะเป็นท่ออ่อน บาง ที่งอได้ ติดไฟส่องสว่างไฟเบอร์ออฟติกเพื่อตรวจโพรงจมูก
  • การสแกนภาพ ประเภท CT สแกนหรือเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์เพื่อตรวจหาความผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อน โดยปกติแพทย์มักไม่สั่งให้ตรวจในผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน
  • การตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้อเยื่อจมูกและโพรงจมูก ปกติแล้วการตรวจชิ้นเนื้อนั้นไม่จำเป็น แต่แพทย์อาจสั่งให้ตรวจชิ้นเนื้อในรายที่อาการไม่ตอบสนองต่อการรักษาและอาการรุนแรงมากขึ้น การตรวจชิ้นเนื้อช่วยให้หาสาเหตุของโรค ซึ่งอาจรวมไปถึงการติดเชื้อของแบคทีเรีย
  • การตรวจภูมิแพ้ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจภูมิแพ้หากแพทย์สงสัยว่าอาการไซนัสอักเสบอาจเกิดจากภาวะภูมิแพ้ การตรวจหาภูมิแพ้นั้นสะดวกและไม่เจ็บ ช่วยบ่งชี้สารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุของไซนัสอักเสบเฉียบพลันได้


การรักษาไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันมักหายได้เอง ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการได้ ดังนี้

  • ใช้น้ำเกลือล้างจมูกระหว่างวัน
  • ใช้ยาพ่นจมูกจำพวกสเตียรอยด์เพื่อป้องกันและรักษาอาการ
  • ใช้ยาบรรเทาอาการคัดจมูก ในรูปแบบยาน้ำ ยาเม็ด หรือยาพ่น ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้เป็นระยะเวลานาน เพราะอาจทำให้อาการคัดจมูกกลับมาและรุนแรงขึ้น
  • ยาภูมิแพ้เพื่อบรรเทาอาการไซนัสอักเสบกำเริบจากภาวะภูมิแพ้
  • ยาแก้ปวด

ยาปฏิชีวนะ

โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการติดเชื้อไวรัส ไม่ใช่การติดเชื้อของแบคทีเรีย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องทานยาปฏิชีวนะ โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา ก่อนที่จะจ่ายยาปฏิชีวนะแพทย์มักจะดูว่าอาการของโรครุนแรงขึ้นหรือไม่

แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะให้ในรายที่อาการรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่องยาวนาน ผู้ป่วยควรรับประทานยาให้ครบจนหมดตามที่แพทย์สั่ง แม้ว่าจะรู้สึกดีขึ้นแล้ว หากทานยาไม่ครบจนหมด อาการอาจจะกลับมากำเริบได้

การดูแลตัวเองและการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต

การดูแลตัวเองเพื่อรักษาและบรรเทาอาการไซนัสอักเสบ สามารถทำได้โดย

  • พักผ่อนเพื่อช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับอาการป่วยและฟื้นตัวได้เร็ว
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
  • ประคบร้อนบนจมูกเพื่อลดแรงดันในโพรงจมูก
  • ทำให้โพรงจมูกชื้นโดยการสูดไอน้ำ ยื่นศีรษะที่คลุมด้วยผ้าขนหนู เหนืออ่างน้ำร้อน หรืออาบน้ำร้อนและสูดไอน้ำเข้าจมูก เพื่อไปลดการคั่งค้างของน้ำมูก และบรรเทาอาการไซนัส
  • ล้างจมูกโดยใช้น้ำเกลือหรือขวดบีบล้างจมูกเพื่อทำให้โพรงจมูกโล่งขี้น

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 02 ส.ค. 2022

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. วรการ วิไลชนม์

    นพ. วรการ วิไลชนม์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์ภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
    • อายุรศาสตร์เวชบำบัดวิกฤต
    • อายุรศาสตร์โรคปอด
    เวชศาสตร์การนอนหลับ, กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน, โรคหอบหืดและไอเรื้อรัง, เครื่องช่วยหายใจ, วัณโรค
  • Link to doctor
    พญ. ฐาปนี สมบูรณ์

    พญ. ฐาปนี สมบูรณ์

    • ประสาทวิทยา
    • โรคลมชัก
    • เวชศาสตร์การนอนหลับ
    โรคลมชักและการผ่าตัดโรคลมชัก, โรคความผิดปกติระหว่างการนอนหลับ
  • Link to doctor
    นพ. จิรยศ จินตนาดิลก

    นพ. จิรยศ จินตนาดิลก

    • อายุรศาสตร์
    • เวชศาสตร์การนอนหลับ
    • เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
    • อายุรศาสตร์โรคปอด
    เวชศาสตร์การนอนหลับ, อายุรศาสตร์โรคปอด, อายุรกรรมผู้สูงอายุ, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    นพ. พลพร อภิวัฒนเสวี

    นพ. พลพร อภิวัฒนเสวี

    • โสต ศอ นาสิกวิทยา
    Otolaryngology, เวชศาสตร์การนอนหลับ, Sleep Otolaryngology
  • Link to doctor
    ดร.พญ. จิรดา ศรีเงิน

    ดร.พญ. จิรดา ศรีเงิน

    • ประสาทวิทยา
    • เวชศาสตร์การนอนหลับ
    • โรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ
    เวชศาสตร์การนอนหลับ, โรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ
  • Link to doctor
    รศ.นพ.   จิระพงษ์ อังคะรา

    รศ.นพ. จิระพงษ์ อังคะรา

    • โสต ศอ นาสิกวิทยา
    • เวชศาสตร์การนอนหลับ
    เวชศาสตร์การนอนหลับ, Otolaryngology