Anterior Cruciate Ligament Banner.jpg

รักษาอาการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้า (ACL Injury)

เมื่อเอ็นไขว้หน้าได้รับบาดเจ็บเฉียบพลัน เส้นเอ็นบางส่วนหรือทั้งหมดอาจฉีกขาด เส้นเอ็นเส้นอื่นและอวัยวะอื่น ๆ เช่น หมอนรองเข่า เยื่อหุ้มข้อเข่า กระดูกอ่อนผิวข้อ

แชร์

เอ็นไขว้หน้า คือเส้นเอ็น 1 ใน 4 เส้นที่ทำหน้าที่ยึดข้อเข่าไว้ด้วยกัน โดยเอ็นทั้ง 4 เส้นนั้น ได้แก่

  • เอ็นหัวเข่าด้านใน (Medial collateral ligament: MCL)
  • เอ็นหัวเข่าด้านนอก (Lateral collateral ligament: LCL)
  • เอ็นไขว้หน้า (Anterior cruciate ligament: ACL)
  • เอ็นไขว้หลัง (Posterior cruciate ligament: PCL)

เอ็นหัวเข่าด้านในและด้านนอกนั้นจะควบคุมไม่ให้หัวเข่าแบะออกด้านข้าง ส่วนเอ็นไขว้หน้าและหลังนั้นจะควบคุมการเคลื่อนไหวไปด้านหน้าและหลังของหัวเข่า

เมื่อเอ็นไขว้หน้าได้รับบาดเจ็บเฉียบพลัน เส้นเอ็นบางส่วนหรือทั้งหมดอาจฉีกขาด เส้นเอ็นเส้นอื่นและอวัยวะอื่น ๆ เช่น หมอนรองเข่า เยื่อหุ้มข้อเข่า กระดูกอ่อนผิวข้อ และปลายกระดูกต้นขา และกระดูกหน้าแข้งก็อาจได้รับบาดเจ็บ การได้รับบาดเจ็บ 3 ตำแหน่งที่พบได้บ่อยในนักกีฬาได้แก่ เอ็นไขว้หน้า เอ็นหัวเข้าด้านใน และหมอนรองเข่าด้านใน

อาการที่เกิดขึ้นเมื่อเอ็นไขว้หน้าได้รับบาดเจ็บ

  • มีเสียงเข่าลั่นหรืออาการเข่าอ่อนแรงขณะที่ได้รับบาดเจ็บ
  • มีอาการบวมเนื่องจากมีเลือดออกในข้อเข่าหลังได้รับบาดเจ็บ
  • รู้สึกว่าเข่าข้างที่ได้รับบาดเจ็บไม่มั่นคงเวลาเดินลงบันได เดินไปด้านข้าง ย่อตัวลง หรือหมุนตัว

สาเหตุของการที่เอ็นไขว้หน้าได้รับบาดเจ็บ

  • การบาดเจ็บที่ไม่ได้เกิดจากการปะทะ อาจเกิดจากการวิ่งหรือกระโดด แล้วชะลอตัวเปลี่ยนทิศทางกะทันหัน ทําให้หัวเข่างอไปด้านข้าง เกิดขึ้นได้เมื่อเล่นกีฬา เช่น ฟุตบอล เทนนิส ยิมนาสติก หรือสกี ผู้หญิงมีความเสี่ยงที่เอ็นไขว้หน้าจะได้รับบาดเจ็บแบบนี้สูงกว่าผู้ชาย
  • การบาดเจ็บที่เกิดจากการปะทะ เกิดจากโดนกระแทกอย่างจัง ทําให้ข้อเข่าแอ่นมากเกินไป เกิดขึ้นได้เมื่อหัวเข่าถูกกระแทกหรือดันเข้าหาขาอีกข้างขณะกำลังเล่นกีฬา เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล และรักบี้

การตรวจวินิจฉัย

  • การซักประวัติคนไข้และการตรวจร่างกาย
  • การตรวจวินิจฉัยด้วยภาพถ่ายเพื่อประเมินสภาพกระดูกและเส้นเอ็น

การรักษา
อาการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดและฟื้นฟูสมรรถภาพหลังการผ่าตัด เพื่อดูว่าผู้ป่วยเหมาะที่จะได้รับการผ่าตัดหรือไม่ แพทย์จะพิจารณาอายุ ความกระฉับกระเฉง อาการบาดเจ็บอื่น ๆ ที่บริเวณหัวเข่า และความพร้อมของผู้ป่วยในการรับมือกับกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายที่ใช้เวลานาน

ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ในสถานการณ์ดังต่อไปนี้

  • งานที่ทำนั้นต้องอาศัยหัวเข่าที่แข็งแรงเพื่อหมุนและบิดตัว
  • เข่าอ่อน ยืนได้ไม่มั่นคง
  • หมอนรองเข่าและเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด
  • เข้ารับโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพแล้วแต่หัวเข่าไม่ดีขึ้น

โดยผู้ป่วยต้องเข้าร่วมโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพหลังการผ่าตัดได้จนครบ 9-10 เดือน ผู้ป่วยต้องมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเข้าร่วมโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพหลังการผ่าตัด หากไม่ทําตามโปรแกรม ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บซ้ำ เกิดผังพืด ทำให้หัวเข่าขยับได้ไม่เต็มที่เหมือนเดิม

ผู้ป่วยอาจไม่จําเป็นต้องได้รับผ่าตัด ถ้าหากว่า

  • เอ็นไขว้หน้าฉีกขาดเพียงเล็กน้อย สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพ
  • ผู้ป่วยสามารถเข้าร่วมโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยไม่ต้องผ่าตัดเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อหัวเข่าได้จนครบ

อย่างไรก็ตามการไม่ผ่าตัดอาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะมีอาการปวดเรื้อรังและหมอนรองเข่าบาดเจ็บมากขึ้น และทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้น้อยลง

การฟื้นฟูสมรรถภาพก่อนการผ่าตัด
แพทย์จะไม่แนะนำให้ทำการผ่าตัดทันทีที่เอ็นไขว้หน้าได้รับบาดเจ็บ เพราะอาจทําให้ข้อเข่ายึด เคลื่อนไหวได้จำกัด  โดยแพทย์มักแนะนำให้รอ 2-4 สัปดาห์จนกว่าอาการบวมจะหาย ระหว่างนั้นผู้ป่วยสามารถประคบเย็น ยกเข่าให้สูงกว่าอก และออกกำลังฟื้นฟูสมรรถภาพ เช่น เดิน ขี่จักรยาน หรือว่ายน้ำตีขาเบา ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด เพิ่มพิสัยของข้อ และเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะโพก เข่า และต้นขา

การผ่าตัด 
หากเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดไปแล้ว จะไม่สามารถทำการซ่อมแซมเส้นเอ็นได้ เพราะหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงเส้นเอ็นและเซลล์ในน้ำไขข้อ (synovial fluid) ได้รับความเสียหาย ทำให้เส้นเอ็นไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ ในปัจจุบันวิธีการรักษาเอ็นไขว้หน้าคือการผ่าตัดนำเส้นเอ็นอื่นมาทำหน้าที่แทนเอ็นไขว้หน้า (Anterior Cruciate Ligament Reconstruction)

แพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย ผู้ป่วยจะนอนหลับตลอดการผ่าตัด 1-2 ชั่วโมง แพทย์จะผ่าตัดนำเส้นเอ็นที่แข็งแรงมาจากบริเวณขา เช่น เอ็นลูกสะบ้า (patellar tendon) หรือเอ็นหลังหัวเข่า (Hamstrings) แพทย์อาจใช้เอ็นเหนือหัวเข่า (Quadriceps tendon) แต่มักไม่ค่อยเป็นที่นิยม อีกทั้งยังสามารถใช้เส้นเอ็นจากผู้บริจาคได้แต่ในประเทศไทยยังไม่ทำวิธีนี้เนื่องจากราคาแพงและอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมว่าจะนำเส้นเอ็นใดมาปลูกถ่าย

  • การปลูกถ่ายเอ็นลูกสะบ้า: ในการนำเอ็นลูกสะบ้าออกมาแพทย์จะกรีดแผลผ่าตัดเพิ่มอีกที่ แต่ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดบริเวณที่ผ่าไปอีก 2-3 เดือน โดยเฉพาะเวลาคุกเข่า
  • การปลูกถ่ายเอ็นหลังหัวเข่า: ในการปลูกถ่ายเอ็นหลังหัวเข่า แพทย์ไม่จำเป็นต้องกรีดแผลเพิ่ม อาการปวดมักน้อยกว่าการปลูกถ่ายเอ็นลูกสะบ้า โดยบริเวณเอ็นหลังหัวเข่าจะหายดีภายใน 3-6 เดือน

แพทย์จะทำการผ่าตัดผ่านกล้องอาร์โธสโคป (arthroscope) เพื่อนำเส้นเอ็นไขว้หน้าที่ขาดออกมาและใส่เส้นเอ็นที่ปลูกถ่ายเข้าไปแทน เมื่อปลูกถ่ายเรียบร้อย แพทย์จะพันแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อและใส่เฝือกล็อกหัวเข่าป้องกันไม่ให้ข้อเข่าขยับไปมา 1-2 อาทิตย์

2- 3 ชั่วโมงหลังพักฟื้น ผู้ป่วยอาจกลับบ้านได้เลย แพทย์จะอธิบายวิธีการรับประทานยาแก้ปวดและการใช้อุปกรณ์ประคบเย็นรอบหัวเข่าเพื่อบรรเทาอาการปวดและอักเสบหลังผ่าตัด และนัดติดตามผล 1-2 สัปดาห์หลังการผ่าตัด

ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ระหว่างการผ่าตัดหรือการฟื้นฟูสมรรถภาพ ได้แก่

  • โรคข้ออักเสบ
  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก
  • มีน้ำในโพรงหัวเข่า
  • การติดเชื้อที่ข้อ
  • เส้นเอ็นที่ปลูกถ่ายหลุด

หลังการผ่าตัด
แม้ว่าการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้ามีแผลขนาดเล็กแต่เป็นการผ่าตัดใหญ่ ดังนั้นผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือในการทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัดเพื่อให้ได้ผลที่ดี

เพื่อให้ขายืดตรงและป้องกันหัวเข่าหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะสวมเครื่องช่วยพยุงเข่าเป็นเวลาอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ อาการปวดและบวมหลังผ่าตัดในช่วงสองสามวันแรกสามารถบรรเทาได้โดยการประคบเย็นและยกเข่าให้สูงกว่าระดับอกขณะนั่งหรือนอน ผู้ป่วยบางรายอาจเริ่มเดินพร้อมใช้ไม้ค้ำยันไปด้วย แต่แพทย์อาจแนะนำให้เริ่มลองลงน้ำหนักไปยังขาข้างที่ผ่าตัดทันทีที่ทำได้ ผู้ป่วยสามารถเริ่มออกกําลังกายเบา ๆ เพื่อเพิ่มพิสัยของข้อ ยืดตัวและออกกำลังเสริมสร้างความแข็งแรงได้ 2-3 วันหลังการผ่าตัด

บทความโดย

  • ดร.นพ. วิรัตน์ คงเจริญสมบัติ
    ดร.นพ. วิรัตน์ คงเจริญสมบัติ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม และเวชศาสตร์การกีฬา

เผยแพร่เมื่อ: 28 พ.ย. 2022

แชร์