โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา
มักเกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดที่สูงเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดขนาดเล็กที่นำเลือดมาเลี้ยงที่จอประสาทตา
โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา นับเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของภาวะสายตาเลือนรางและตาบอด มักเกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดที่สูงเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดขนาดเล็กที่นำเลือดมาเลี้ยงที่จอประสาทตา และเกิดความผิดปกติอื่นๆ ตามมา ได้แก่ การพองหรือโป่งออกของเส้นเลือดขนาดเล็ก (microaneurysm) จุดเลือดออกในชั้นจอประสาทตา (intraretinal hemorrhage) การรั่วของน้ำและสารประเภทไขมันในชั้นจอประสาทตา (exudate) จอประสาทตาบริเวณจุดรับภาพชัดบวม (macular edema) หรือขาดเลือด (macular ischemia) และหากมีความผิดปกติรุนแรงมากขึ้นอาจทำให้เกิดเส้นเลือดงอกใหม่ (neovascularization) ซึ่งเป็นเส้นเลือดที่ผิดปกติ สามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น เลือดออกในวุ้นตา (vitreous hemorrhage) พังผืดที่จอประสาทตา จอประสาทตาหลุดลอก (tractional retinal detachment) และต้อหิน (glaucoma) ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้อาจส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยมีการมองเห็นที่แย่ลงมาก และสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ได้แก่ ระยะเวลาที่เป็นโรคเบาหวาน โดยหากเป็นเบาหวานมานาน ยิ่งมีโอกาสเกิดเบาหวานขึ้นจอประสาทตามากขึ้น ภาวะเบาหวานที่ยังคุมได้ไม่ดี หรือระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง
อาการ
อาการของผู้ที่มีเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ขึ้นกับระยะความรุนแรงของโรค โดยในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติ มองเห็นชัดดี แต่เมื่อโรคมีความรุนแรงมากขึ้น หรือมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ผู้ป่วยอาจมีอาการดังต่อไปนี้ ได้แก่ ตามัวลง เห็นเงาดำลอยไปมา เห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นเหมือนม่านดำมาบังซึ่งอาจะเป็นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพ หรือบดบังภาพทั้งหมด
การวินิจฉัยโรค
การตรวจคัดกรองโรคโดยจักษุแพทย์ รวมถึงการใช้กล้องจุลทรรศน์ หรือกล้องถ่ายภาพจอประสาทตามีความสำคัญในการวินิจฉัยโรค โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการ หรือระยะความรุนแรงของโรคยังไม่มาก เพื่อที่จะสามารถให้คำแนะนำ วิธีปฏิบัติดูแลตนเอง และให้การรักษาก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือเกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
คำแนะนำในปัจจุบัน คือ ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจคัดกรองโดยจักษุแพทย์ ดังนี้
- รับการตรวจคัดกรองทันที เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือเบาหวานในช่วงตั้งครรภ์
- รับการตรวจคัดกรองหลังระยะเวลา 5 ปี เมื่อได้รับการวินิจฉัยในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 หลังจากนั้นควรได้รับการตรวจตาสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
แนวทางการรักษา
การรักษาเมื่อมีอาการเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ขึ้นกับระยะความรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น โดยประกอบด้วยการยิงเลเซอร์ที่จอประสาทตา โดยเฉพาะเมื่อตรวจพบเส้นเลือดงอกใหม่ หรือเลือดออกในวุ้นตา การฉีดยาเข้าวุ้นตาเพื่อลดการบวมของจุดรับภาพชัด และช่วยให้เส้นเลือดงอกใหม่ฝ่อไป การผ่าตัดตา เมื่อมีเลือดออกมากในวุ้นตา มีพังผืดที่จอประสาทตา จอประสาทตาหลุดลอก หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นที่มีผลกระทบต่อการมองเห็น
แนวทางการปฏิบัติตัว
หลักปฏิบัติที่สำคัญที่สุดเพื่อลดโอกาสเกิดเบาหวานขึ้นจอประสาทตา และลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่อเป็นโรค คือ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยระดับน้ำตาลสะสม (Hb A1c) ไม่เกิน 7 % หรือ ตามคำแนะนำของแพทย์ นอกเหนือจากนี้ ควรควบคุมระดับความดันโลหิตและระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ งดการสูบบุหรี่และดื่มสุรา ทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอบทความโดย
นพ.ดิศรณ์ สุวจนกรณ์
จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจอประสาทตา
ประวัติแพทย์