ตรวจวินิจฉัยกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า (Electrodiagnostic Testing)

การตรวจวินิจฉัยกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า

การตรวจพิเศษทางไฟฟ้านี้สามารถให้รายละเอียดเพิ่มเติมจากประวัติและการตรวจร่างกาย และเป็นการตรวจที่จำเป็นต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะสามารถให้ผลการตรวจที่ถูกต้องแม่นยำ

แชร์

การตรวจวินิจฉัยกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า

การตรวจวินิจฉัยกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า เป็นการวินิจฉัยโรคทางเส้นประสาทและกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดต่าง ๆ เป็นการตรวจที่ช่วยประเมินอาการ บ่งบอกการพยากรณ์โรค และติดตามการตอบสนองหลังการรักษา

การตรวจพิเศษทางไฟฟ้านี้สามารถให้รายละเอียดเพิ่มเติมจากประวัติและการตรวจร่างกาย และเป็นการตรวจที่จำเป็นต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะสามารถให้ผลการตรวจที่ถูกต้องแม่นยำ

ประโยชน์ของการตรวจด้วยไฟฟ้า

  1. เพื่อวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย ผู้ป่วยอาจมีอาการชาหรืออ่อนแรง การตรวจจะช่วยระบุตำแหน่งของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อที่ก่อโรค ในบางครั้งอาจพบรอยโรคได้หลายตำแหน่ง
  2. บ่งบอกสาเหตุของรอยโรคหลังการวินิจฉัย
  3. บ่งบอกความรุนแรงและระยะเวลาในการเกิดของโรคที่พบ
  4. ช่วยในการเลือกแนวทางการรักษาของผู้ป่วย
  5. สามารถใช้ช่วยระบุตำแหน่งกล้ามเนื้อที่ต้องให้การรักษาด้วย Botox


กลุ่มโรคที่ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า

  1. โรคเส้นประสาทส่วนปลาย (peripheral nerve disorder ) ผู้ป่วยอาจมีอาการชาหรือรู้สึกยิบ ๆ บางรายจะมีอาการอ่อนแรง ตัวอย่างโรคดังกล่าว เช่น
    • พังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือหรือข้อศอก  (carpal tunnel syndrome, cubital tunnel syndrome)
    • เส้นประสาทอักเสบปลายมือปลายเท้า (polyneuropathy)
    • เส้นประสาทอักเสบหลายตำแหน่ง (mononeuritis multiplex)
  2. โรคกล้ามเนื้อ (myopathy) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อหรืออ่อนแรง ตัวอย่างโรคดังกล่าว เช่น
    • กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการอักเสบ (inflammatory myopathy, necrotizing myopathy)
    • กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากพันธุกรรม (hereditary myopathy)
  3. โรคปมประสาทเสื่อม (motor neuron disease) ผู้ป่วยอาจมีอาการกล้ามเนื้อลีบหรืออ่อนแรง ตัวอย่างโรคดังกล่าว เช่น Amyotrophic lateral sclerosis
  4. โรคของรอยต่อเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ (neuromuscular junction) ผู้ป่วยอาจมีอาการตาตก กลืนลำบาก หรืออ่อนแรง ตัวอย่างโรคดังกล่าว เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (myasthenia gravis)
  5. กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ  ชา กล้ามเนื้อเกร็ง ตะคริว หรือกล้ามเนื้อกระตุกผิดปกติ
  6. กลุ่มอาการบาดเจ็บหลังเกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลต่อเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ

วิธีการตรวจวินิจฉัยกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า

สามารถแบ่งออกได้เป็น

  1. Nerve Conduction Study
    เป็นการตรวจโดยใช้ไฟฟ้ากระตุ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกคล้ายมีไฟฟ้าวิ่งไปที่กล้ามเนื้อและมีการบีบตัวของกล้ามเนื้อในบริเวณที่รับสัญญาณ การตรวจประเภทนี้สามารถวินิจฉัยส่วนของเส้นประสาทรับความรู้สึกและเส้นประสาทสั่งการ 
  1. Electromyography
    เป็นการตรวจเพื่อฟังเสียงสัญญาณกล้ามเนื้อ โดยแพทย์จะใช้เข็มในการตรวจ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเล็กน้อยเมื่อมีการขยับเข็ม ผู้ป่วยจำเป็นต้องให้ความร่วมมือในการออกแรงหรือขยับเปลี่ยนท่าทางระหว่างการตรวจ
    สำหรับการตรวจข้างต้น แพทย์ผู้ตรวจจะทำการเลือกตำแหน่งในการตรวจ เช่น มือ แขน หรือขา แตกต่างกันในแต่ละบุคคล บางรายอาจต้องได้รับการตรวจทั้งด้านซ้ายและขวา  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการ สภาพร่างกาย และโรคที่ต้องการวินิจฉัย การตรวจนี้ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง
  1. การตรวจพิเศษเพิ่มเติมแบบอื่น ๆ
    • การตรวจกระตุ้นประสาทซ้ำในกล้ามเนื้ออ่อนแรง ( repetitive nerve stimulation )
    • การตรวจประเมินเส้นประสาทขนาดเล็กและขนาดใหญ่ (quantitative sensory testing ) เป็นการตรวจประเมินความรู้สึกร้อนเย็น ความเจ็บ และการสั่นสะเทือน
    • การตรวจระบบประสาทอัตโนมัติ (autonomic testing) เป็นการตรวจเพื่อประเมินอาการวิงเวียน หน้ามืดเมื่อมีการเปลี่ยนท่า หรือ ในผู้ป่วยที่มีอาการระบบประสาทอัตโนมัติบกพร่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น จากโรคเบาหวาน โรคทางระบบประสาทชนิดต่าง ๆ
    • การตรวจศักย์ไฟฟ้าวัดระบบประสาท  (evoked potential) เป็นการตรวจเพื่อดูการทำงานของเส้นประสาทส่วนปลายและระบบประสาทส่วนกลาง


การตรวจวินิจฉัยกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า
เป็นการตรวจที่ละเอียดและซับซ้อน ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการตรวจเพื่อสอบถามอาการและตรวจร่างกาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการใช้แปลผลควบคู่กับผลการตรวจทางไฟฟ้า ทั้งนี้ การตรวจดังกล่าวสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคทางระบบประสาทส่วนปลาย เพื่อนำไปสู่การรักษาและบ่งบอกการพยากรณ์โรคได้อย่างถูกต้อง





บทความโดย
พญ.มนัสวรรณ์ สันทนานุการ

แพทย์ผู้ชำนาญการด้านประสาทวิทยา
เฉพาะทางด้านประสาทวิทยาโรคกล้ามเนื้อและเส้นประสาทไฟฟ้าวินิจฉัย
ประวัติแพทย์

บทความโดย

  • พญ. มนัสวรรณ์ สันทนานุการ
    พญ. มนัสวรรณ์ สันทนานุการ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านประสาทวิทยา เฉพาะทางด้านประสาทวิทยาโรคกล้ามเนื้อและเส้นประสาทไฟฟ้าวินิจฉัย

เผยแพร่เมื่อ: 10 ก.พ. 2022

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. ชนศักดิ์ หทัยอารีย์รักษ์

    นพ. ชนศักดิ์ หทัยอารีย์รักษ์

    • เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
    เวชศาสตร์ฟื้นฟู, การตรวจไฟฟ้าวินิจฉัยและความผิดปกติของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ
  • Link to doctor
    พญ. มนัสวรรณ์ สันทนานุการ

    พญ. มนัสวรรณ์ สันทนานุการ

    • ประสาทวิทยา
    • ประสาทวิทยาโรคกล้ามเนื้อและเส้นประสาทไฟฟ้าวินิจฉัย
    โรคกล้ามเนื้อและเส้นประสาท, อาการชา, ปวดหัว, บ้านหมุน, โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง, โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง, เส้นประสาทส่วนปลายผิดปกติ, โรคเส้นประสาทอ่อนแรงเฉียบพลัน, การกดทับของเส้นประสาท
  • Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    พญ. ธารินี คัทรี

    • ประสาทวิทยา
    • ประสาทวิทยาโรคกล้ามเนื้อและเส้นประสาทไฟฟ้าวินิจฉัย
  • Link to doctor
    นพ. ภูชิต สุขพัลลภรัตน์

    นพ. ภูชิต สุขพัลลภรัตน์

    • ประสาทวิทยา
    โรคระบบประสาท, โรคกล้ามเนื้อและเส้นประสาท, อาการชา, ไฟฟ้าวินิจฉัย