Varicose Veins Banner 1.jpg

เส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอดและภาวะหลอดเลือดฝอยขดคล้ายเส้นใยแมงมุมเป็นลักษณะของเส้นเลือดขอดที่ไม่รุนแรง ไม่นับเป็นโรคแต่เป็นเรื่องของความสวยความงาม

แชร์

เส้นเลือดขอด คือเส้นเลือดที่บวม โป่งพอง และบิดขด อยู่บริเวณผิวหนังชั้นบน พบบ่อยบริเวณขา เนื่องจากแรงดันในเส้นเลือดที่สูงขึ้นจากการเดินหรือยืนนานๆ

เส้นเลือดขอดและภาวะหลอดเลือดฝอยขดคล้ายเส้นใยแมงมุมเป็นลักษณะของเส้นเลือดขอดที่ไม่รุนแรง ไม่นับเป็นโรคแต่เป็นเรื่องของความสวยความงาม แต่ในบางราย ผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่สบายตัว ปวดเมื่อย หรือมีปัญหาอื่น ๆ ที่มีสาเหตุมาจากเส้นเลือดขอด

การรักษาเส้นเลือดขอดนั้นสามารถทำได้เองที่บ้าน หรืออาจมารับการรักษาเพื่อทำให้เส้นเลือดตีบลงหรือนำเส้นเลือดดังกล่าวออก

อาการ

  • เห็นเส้นเลือดเป็นสีน้ำเงินหรือม่วงเข้ม
  • เส้นเลือดบิดขดและบวม

ในกรณีที่มีอาการเจ็บปวดเพราะเส้นเลือดขอด อาจจะมีอาการร่วม ดังต่อไปนี้ 

  • สีผิวบริเวณรอบเส้นเลือดขอดเปลี่ยนไป
  • มีอาการคันบริเวณเส้นเลือดขอด
  • ปวดเมื่อยขา
  • ปวดกล้ามเนื้อ แสบร้อน มีอาการกระตุก หรือบวมที่ขาส่วนล่าง
  • มีอาการปวดมากขึ้น หลังนั่งหรือยืนนาน ๆ

เส้นเลือดฝอยเป็นแพคล้ายเส้นใยแมงมุมมักมีขนาดเล็ก ขด บวม มีสีแดงหรือน้ำเงินใต้ผิวหนัง มักปรากฏบนขาหรือใบหน้าและมีลักษณะเหมือนใยแมงมุม

เมื่อใดควรไปพบแพทย์
หากรักษาอาการด้วยตนเองที่บ้านแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีความกังวลใจ แนะนำให้ไปพบแพทย์

สาเหตุ
โดยปกติเลือดจากหัวใจจะถูกส่งผ่านหลอดเลือดแดงไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และจะถูกส่งกลับคืนไปยังหัวใจผ่านหลอดเลือดดํา เลือดในหลอดเลือดดําบริเวณขาต้องไหลในทิศต้านแรงโน้มถ่วงเพื่อส่งเลือดไปยังหัวใจ ในหลอดเลือดดํามีลิ้นหรือวาล์วขนาดเล็กที่ควบคุมการไหลของเลือดไปในทิศทางเดียว หากลิ้นของหลอดเลือดไม่ทำงานตามปกติ เลือดจะไหลย้อนกลับและเกิดแรงดันสูงขึ้นในหลอดเลือดดํา ทําให้หลอดเลือดดําขดบวม

ปัจจัยเสี่ยง

  • อายุ: ลิ้นที่ควบคุมการไหลเวียนของเลือดเสื่อมสภาพเมื่ออายุมากขึ้น ทําให้เลือดไหลย้อนกลับและคั่ง
  • เพศหญิง: ฮอร์โมนเพศหญิงมีผลทำให้ผนังหลอดเลือดดําคลายตัว ฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการมีประจําเดือน การตั้งครรภ์ หรือวัยหมดประจําเดือน รวมไปถึงการใช้ยาฮอร์โมน เช่น ยาคุมกําเนิด อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเส้นเลือดขอด
  • การตั้งครรภ์: ปริมาณเลือดที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากทารกในครรภ์ทำให้หลอดเลือดดำที่ขาขยายตัว
  • คนในครอบครัวมีภาวะเส้นเลือดขอด
  • โรคอ้วน: น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นมากจนเกินไปจะเพิ่มแรงกดบนเส้นเลือด
  • การนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน: ควรหมั่นขยับร่างกายเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด

ภาวะแทรกซ้อน
ไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อนของอาการเส้นเลือดขอด แต่ภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังต่อไปนี้  

  • แผล อาจเกิดแผลที่ขา โดยเฉพาะบริเวณข้อเท้า ก่อนจะเกิดแผล ควรสังเกตว่าสีผิวบริเวณดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ควรพบแพทย์ทันทีหากมีแผลที่ขา
  • ลิ่มเลือดอุดตัน ในบางรายอาจมีอาการหลอดเลือดดําส่วนลึกขยายตัว ทำให้ขาปวดบวม หากอาการไม่ทุเลา ควรพบแพทย์เพราะอาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของลิ่มเลือดอุดตัน
  • เลือดออก ควรไปพบแพทย์หากเส้นเลือดดำที่ผิวแตก

การป้องกัน

เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดเส้นเลือดขอด ควรเพิ่มการไหลเวียนโลหิตและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ สามารถดูแลตนเองและป้องกันการเกิดเส้นเลือดขอดได้โดย :

  • ออกกําลังกายสม่ำเสมอ
  • กินอาหารที่กากใยสูง โซเดียมต่ำ
  • ควบคุมน้ำหนัก
  • ยกขาสูงขึ้นเมื่อนั่งหรือนอนราบ
  • งดสวมรองเท้าส้นสูงและถุงน่องรัดรูป

การตรวจวินิจฉัย
แพทย์จะถามถึงอาการปวดเมื่อยขา และตรวจร่างกายเพื่อตรวจดูอาการบวม

  • การตรวจ การตรวจเส้นเลือดขอดด้วยอัลตราซาวนด์ (Doppler ultrasound) จะตรวจการไหลเวียนของเลือดผ่านลิ้นหลอดเลือดดํา การตรวจวินิจฉัยด้วยภาพนี้ช่วยตรวจวินิจฉัยลิ่มเลือดอุดตัน แพทย์จะเลื่อนอุปกรณ์ตรวจ (transducer) ไปยังบริเวณที่เส้นเลือดขอด และภาพหลอดเลือดดำจะปรากฏบนจอ

การรักษา

  • การดูแลตนเอง เพื่อบรรเทาอาการปวดและป้องกันไม่ให้เส้นเลือดขอดแย่ลง  ควรหมั่นออกกําลังกาย ยกขาให้สูงเมื่อนั่งหรือนอนหงาย หรือสวมถุงน่องทางการแพทย์
  • ถุงน่องทางการแพทย์ ถุงน่องทางการแพทย์ช่วยบีบขาและเพิ่มการไหลเวียนของเลือด แพทย์มักแนะนำวิธีนี้เป็นการรักษาเบื้องต้นโดยให้ผู้ป่วยสวมใส่ถุงน่องทางการแพทย์ตลอดทั้งวัน
  • การผ่าตัดและการรักษาวิธีอื่น ๆ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง แม้ว่าจะปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือใช้ถุงน่องทางการแพทย์แล้ว แพทย์อาจแนะนำวิธีการรักษาอื่น ๆ เช่น
    • การฉีดโฟมเข้าหลอดเลือด (Sclerotherapy) แพทย์จะฉีดโฟมเข้าไปในเส้นเลือดเพื่อทําให้หลอดเลือดดำเป็นแผลและตีบลง แพทย์อาจทำการฉีดหลายครั้ง เส้นเลือดที่ได้รับการรักษาจะจางลงภายใน 2-3 สัปดาห์ ไม่จําเป็นต้องใช้ยาสลบ ผู้ป่วยสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ทันที
    • การรักษาด้วยเลเซอร์ เป็นการฉายแสงบนหลอดเลือดดําทําให้เส้นเลือดค่อย ๆ จางไป
    • การใช้สายสวนและคลื่นวิทยุหรือเลเซอร์ มักใช้รักษาในรายที่เส้นเลือดขอดมีขนาดใหญ่ แพทย์จะใส่สายสวนเข้าไปในเส้นเลือดที่ขยายตัว ตรงส่วนหัวของสายจะถูกทำให้ร้อนขึ้นโดยคลื่นวิทยุหรือเลเซอร์ เมื่อนำสายสวนออก ความร้อนจะทำให้หลอดเลือดเป็นแผลและตีบลง
    • การเลาะหลอดเลือด (High ligation and vein stripping) แพทย์จะผูกและเลาะเส้นเลือดดำชั้นตื้นออก ก่อนที่เส้นเลือดจะเชื่อมเข้ากับเส้นเลือดดำส่วนลึก เส้นเลือดดำส่วนลึกในขาเป็นอีกเส้นทางที่นำเลือดไปยังหัวใจ ดังนั้นการเอาหลอดเลือดดําชั้นตื้นออกจะไม่รบกวนหรือหยุดการไหลเวียนของเลือด
    • การผ่าตัด (Ambulatory Phlebectomy) สามารถทำโดยไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล มีแผลเป็นน้อย เพราะใช้วิธีเจาะผิวหนังเพื่อเลาะเส้นเลือดขนาดเล็กออก

การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและการดูแลรักษาที่บ้าน

  • ออกกําลังกายสม่ำเสมอ ควรเดินหรือขยับร่างกายเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณขา ขอคำแนะนำจากแพทย์สำหรับท่าออกกําลังกายที่เหมาะสม
  • ควบคุมน้ำหนัก พยายามลดน้ำหนักส่วนเกินเพื่อลดแรงกดทับหลอดเลือด
  • งดรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง เพื่อป้องกันอาการบวมน้ำ
  • สวมรองเท้าที่เหมาะสม งดสวมรองเท้าส้นสูง และสวมใส่รองเท้าส้นแบนหรือรองเท้าส้นเตี้ยซึ่งดีต่อกล้ามเนื้อน่องและการทํางานของหลอดเลือด
  • งดการใส่เสื้อผ้ารัดรูป ที่รัดเอว ขา หรือขาหนีบ เพราะจะลดการไหลเวียนของเลือด ไม่สวมใส่เสื้อผ้าคับแน่น
  • นอนหงาย ยกขาให้สูงกว่าหน้าอก เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น
  • ไม่นั่งหรือยืนเป็นเวลานาน พยายามเปลี่ยนท่าบ่อย ๆ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด

การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์
แพทย์จะตรวจขาและเท้าเพื่อพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม แพทย์อาจแนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทาง เช่น ศัลยแพทย์หลอดเลือด หรือแพทย์ผิวหนัง

สิ่งที่ควรเตรียม
จดบันทึกข้อมูล ดังต่อไปนี้

  • วันที่เริ่มมีอาการและอาการที่เป็น ไม่ว่าจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกับเส้นเลือดขอด
  • โรคประจําตัว และประวัติการเป็นเส้นเลือดขอดหรือเส้นเลือดฝอยใยแมงมุมของคนในครอบครัว
  • ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งหมดที่กําลังรับประทาน

ตัวอย่างคําถามที่คุณอาจถามแพทย์

  • สาเหตุของอาการคืออะไร
  • ต้องทำการตรวจใด ๆ บ้างหรือไม่
  • มีการรักษาแบบใดบ้าง
  • หากมีโรคประจำตัว ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
  • มีข้อห้ามใด ๆ หรือไม่
  • จะหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเส้นเลือดขอดได้จากที่ไหน

ตัวอย่างคําถามที่แพทย์อาจถาม

  • เริ่มมีเส้นเลือดขอดเมื่อไหร่
  • มีอาการปวดร่วมด้วยหรือไม่
  • อะไรที่ทำให้อาการดีขึ้นหรือแย่ลง

สิ่งที่สามารถทําได้ในระหว่างนี้

  • หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน
  • พยายามยกขาให้สูงเมื่อนั่ง
  • สวมรองเท้าที่สวมใส่สบายและหลีกเลี่ยงถุงเท้าหรือถุงน่องที่รัดแน่น

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 27 ก.ย. 2022

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ภิเษก บุญธรรม

    ผศ.นพ. ภิเษก บุญธรรม

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
    Vascular Surgery, เส้นเลือดขอด, Vascular Intervention Radiology
  • Link to doctor
    ผศ.พญ. ปิยนุช พูตระกูล

    ผศ.พญ. ปิยนุช พูตระกูล

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
    Vascular Surgery, การปลูกถ่ายไต
  • Link to doctor
    พญ. ปัณฑิตา เอี่ยมศุภนิมิตร

    พญ. ปัณฑิตา เอี่ยมศุภนิมิตร

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
    Vascular Surgery
  • Link to doctor
    รศ.นพ. คามิน ชินศักดิ์ชัย

    รศ.นพ. คามิน ชินศักดิ์ชัย

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์ทั่วไป
    • ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
    Vascular Surgery
  • Link to doctor
    ศ.นพ. จุมพล วิลาศรัศมี

    ศ.นพ. จุมพล วิลาศรัศมี

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
    Vascular Surgery
  • Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    นายแพทย์ เชาวนันท์ พรวรากรณ์

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์ทั่วไป
    • ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
    General Surgery, Vascular Surgery
  • Link to doctor
    นพ. ศิรพงศ์ โชคธีรสวัสดิ์

    นพ. ศิรพงศ์ โชคธีรสวัสดิ์

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
  • Link to doctor
    นพ. อธิศพันธุ์ จุลกทัพพะ

    นพ. อธิศพันธุ์ จุลกทัพพะ

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์เต้านม
    • ศัลยศาสตร์หลอดเลือด
    Breast Surgery, Vascular Surgery, General Surgery