สาเหตุ อาการ การรักษาพัฒนาการล่าช้าในเด็ก Developmental Delay in Children - Causes, Symptoms And Treatment

พัฒนาการล่าช้าในเด็ก (Developmental Delay in Children)

เด็กพัฒนาการช้า คือพัฒนาการด้านหนึ่งหรือหลายด้านล่าช้า เมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน พ่อแม่ ผู้ปกครองอาจเริ่มมีความกังวลใจ การเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและการบำบัดอย่างทันท่วงทีนั้นสามารถช่วยกระตุ้นให้บุตรหลานมีพัฒนาการที่เหมาะสม

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


พัฒนาการล่าช้าในเด็ก

เมื่อพูดถึงพัฒนาการในวัยเด็ก เราอาจนึกถึงพัฒนาการและการเจริญเติบโตเป็นอันดับแรก แต่จริง ๆ แล้วพัฒนาการในวัยเด็กนั้น ยังรวมไปถึงพัฒนาการด้านการรับรู้ สติปัญญา พัฒนาการด้านภาษา พัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก พัฒนาการด้านการทรงตัวและการเคลื่อนไหว (กล้ามเนื้อมัดใหญ่) อีกด้วย พัฒนาการของเด็กที่สำคัญ ๆ นั้นได้แก่ การยิ้ม โบกมือบ๊ายบาย กลิ้งตัว ยืน และการเปล่งเสียงพูดคำแรกของชีวิต

หากบุตรหลานมีพัฒนาการด้านหนึ่งหรือหลายด้านล่าช้า เมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน พ่อแม่ ผู้ปกครองอาจเริ่มมีความกังวลใจ การเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและการบำบัดอย่างทันท่วงทีนั้นสามารถช่วยกระตุ้นให้บุตรหลานมีพัฒนาการที่เหมาะสม

เด็กพัฒนาการช้า ในด้านต่าง ๆ

  • พัฒนาการด้านการรู้คิด: มีปัญหาเรื่องความเข้าใจ เช่น การปฏิบัติตามคำสั่งหรือการแก้ปัญหา การคิดอย่างมีเหตุและผลไม่สมวัย
  • พัฒนาการด้านอารมณ์และการเข้าสังคม: ไม่รู้ว่าจะแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตนเองอย่างไร ไม่เข้าใจคำพูด การแสดงออก หรือภาษากายของผู้อื่น รับมือกับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่มองหน้าสบตา
  • พัฒนาการด้านการพูดและภาษา: สื่อสารเป็นคำพูดไม่ได้ ไม่เข้าใจบทสนทนาของผู้อื่น
  • พัฒนาการด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่: พลิกตัว นั่ง เดิน ถือสิ่งของ หรือขีดเขียนไม่ได้ตามช่วงวัย

โดยเด็ก ๆ อาจมีพัฒนาการล่าช้าด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านก็ได้

Developmental Delay in Children พัฒนาการล่าช้า ต่างจาก ออทิสติก อย่างไร?

พัฒนาการล่าช้า ต่างจาก ออทิสติก อย่างไร?

พัฒนาการล่าช้า คือการที่เด็กทำกิจกรรมบางอย่างได้ช้ากว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในแต่ละช่วงวัย โดยปกติแล้วเด็กบางคนอาจเริ่มทักษะบางอย่างเร็วหรือช้ากว่าเด็กในช่วงวัยเดียวกันเล็กน้อย การกระตุ้นหรือแก้ปัญหาอย่างทันท่วงทีสามารถช่วยให้เด็กมีพัฒนาการตามเด็กในช่วงวัยเดียวกันได้ทัน

ออทิสติก (Autism spectrum disorder: ASD) เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้ตั้งแต่วัยเด็กและไม่หายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป เด็กที่มีภาวะออทิสติกจะมีปัญหาในการเข้าสังคม มีปฏิสัมพันธ์หรือสื่อสารกับผู้อื่น และมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้าร่วมด้วย

อาการของเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าในวัยเด็ก

  • มีพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ล่าช้า เช่น ไม่กลิ้งตัว นั่งไม่ได้ ไม่คลาน เดิน
  • กล้ามเนื้อมัดเล็กไม่แข็งแรง
  • ไม่เข้าใจบทสนทนา พูดช้า
  • มีความบกพร่องในด้านทักษะการแก้ปัญหา ไม่เข้าใจเรื่องเหตุและผล
  • มีปัญหาด้านการเข้าสังคม

สาเหตุที่เด็กพัฒนาการช้า

  • ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม กลุ่มอาการโครโมโซมเอกซ์เปราะ 
  • ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การสัมผัสกับแอลกอฮอล์ บุหรี่และสารเสพติดต่าง ๆ หรือกัญชาระหว่างตั้งครรภ์ เด็กเกิดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย ภาวะขาดออกซิเจนแรกเกิด การสัมผัสกับสารตะกั่วหลังคลอด ภาวะทุพโภชนาการ การติดเชื้อในหูเรื้อรัง หรือบาดแผลทางจิตใจ เช่น โดนทารุณในวัยเด็ก

การตรวจวินิจฉัยพัฒนาการช้าในเด็ก

  • การเฝ้าระวังติดตามพัฒนาการ

    เป็นการติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการเพื่อประเมินว่าบุตรหลานมีพัฒนาการสมวัยหรือไม่ ประกอบไปด้วยพัฒนาการด้านต่าง ๆ การเล่น การเรียนรู้ การพูด การเคลื่อนไหวร่างกาย
  • การตรวจคัดกรองพัฒนาการ

    เป็นการประเมินพัฒนาการของบุตรหลานโดยละเอียด หากมีความกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการและพฤติกรรม ทำโดยกุมารแพทย์ พยาบาล หรือครูปฐมวัย ซึ่งทั้งบุตรหลานและผู้ปกครองต้องตอบคำถามเกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่าง ๆ ในแบบสอบถาม และอาจมีการตรวจเพิ่มเติมในกรณีที่เด็กเกิดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย มีภาวะชัก หรือเคยสัมผัสสารพิษ เช่น สารตะกั่ว
  • การตรวจประเมินพัฒนาการ

    ในกรณีที่บุตรหลานมีปัญหาด้านพัฒนาการในระดับที่น่าเป็นห่วง ผู้เชี่ยวชาญ เช่น กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการ นักจิตวิทยาเด็ก นักกิจกรรมบำบัด หรือนักกายภาพบำบัดจะทำการประเมินพัฒนาการเพื่อดูว่าจำเป็นต้องให้การรักษาใด ๆ เพิ่มเติมหรือไม่

การรักษาเด็กที่พัฒนาการล่าช้า

หากปัญหาพัฒนาการล่าช้าในวัยเด็กไม่ได้รับการแก้ไขตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้เด็ก ๆ มีปัญหาด้านการเรียนรู้ตามมา พ่อแม่ ผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตพัฒนาการของบุตรหลาน โดยเฉพาะในเด็กที่เกิดก่อนกำหนด เด็กที่มีปัญหาสุขภาพ มีปัญหาด้านการได้ยินหรือการมองเห็น โดยแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น ร่วมกับการส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยและหาสาเหตุ และแนะนำให้พบกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่าง ๆ เช่น นักแก้ไขการพูด นักกิจกรรมบำบัด พยาบาลกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา

Developmental Delay in Children การป้องกันการเกิดพัฒนาการล่าช้าในวัยเด็ก

การป้องกันการเกิดพัฒนาการล่าช้าในวัยเด็ก

สาเหตุของพัฒนาการที่ล่าช้านั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ระหว่างที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์นั้น ควรดูแลตัวเอง หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีหรือสารพิษ และไปตรวจสุขภาพครรภ์ตามนัดทุกครั้ง เมื่อสังเกตเห็นว่าบุตรหลานเริ่มมีพัฒนาการล่าช้า ควรพูดคุยปรึกษาแพทย์ เพราะการได้รับการตรวจวินิจฉัยและกระตุ้นพัฒนาการในเด็กก่อนอายุ 3 ปีเพื่อผลที่ดีต่อพัฒนาการในระยะยาว

แนวทางการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก

  • ทำกิจกรรมร่วมกับบุตรหลาน เช่น เล่นปั้นดินน้ำมันเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก การเล่นกับผู้ใหญ่หรือเพื่อนในวัยเดียวกันจะช่วยในการพัฒนาทักษะด้านภาษาและการเข้าสังคม การพาเด็กไปเล่นที่สนามเด็กเล่นช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์และสังคมผ่านการเล่นกับผู้อื่น
  • อ่านหนังสือกับบุตรหลาน เพื่อเพิ่มพูนทักษะด้านภาษา ยิ่งเด็ก ๆ ได้เรียนรู้คำศัพท์มากเท่าไร ก็ยิ่งมีคลังคำศัพท์มากขึ้นเท่านั้น
  • จำกัดการใช้หน้าจอและไม่แนะนำการใช้หน้าจอก่อนอายุ 2 ปี เช่น มือถือหรือคอมพิวเตอร์ให้น้อยกว่า 60 นาทีต่อวัน เพราะเด็กจะเรียนรู้ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัวได้ดีที่สุด
  • กำหนดตารางกิจวัตรประจำวันของเด็ก ติดไว้ในที่ที่มองเห็นได้ชัดเจน เพื่อให้เด็กปฏิบัติตามและเรียนรู้เข้าใจเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบ
  • พูดคุยกับกุมารแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำเพื่อช่วยส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 03 ต.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    ศ.พญ. ชุติมา    ศิริกุลชยานนท์

    ศ.พญ. ชุติมา ศิริกุลชยานนท์

    • กุมารเวชศาสตร์
    • กุมารเวชศาสตร์ทั่วไป
    • กุมารเวชศาสตร์โภชนาการ
    General Pediatrics, Pediatrics Education and Achievements, Pediatrics Nutrition