ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดขึ้นได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะเบาหวานประเภทที่ 1 แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไปได้เช่นกัน เมื่อมีอาการ ควรรีบรับประทานอาหารหวาน ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงการ จนเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรง
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำคืออะไร
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คือภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือ 3.9 มิลลิโมลต่อลิตรในผู้ป่วยเบาหวาน หรือต่ำกว่า 55 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือ 3.1 มิลลิโมลต่อลิตรในคนทั่วไป เมื่อมีอาการ ควรรีบรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มหวาน ๆ ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรง ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
อาการน้ำตาลในเลือดต่ำ
สัญญาณและอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ได้แก่
- หน้าซีด ปากซีด
- ตัวสั่น กระสับกระส่าย
- เหงื่อออก
- คลื่นไส้ หิว
- เวียนศีรษะ ปวดหัว
- ไม่มีสมาธิ
- หัวใจเต้นเร็ว
- ปาก ลิ้น แก้มชา
หากอาการแย่ลง การทำงานของร่างกายอาจไม่ประสานกัน สูญเสียความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน มองเห็นหรือพูดไม่ชัด เวลากลางคืนอาจนอนหลับไม่สนิท ฝันร้าย เหงื่อออกมาก ตื่นขึ้นมาไม่สดชื่นหรือมึนงง
สาเหตุที่น้ำตาลในเลือดต่ำ
น้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน
เหตุการณ์เหล่านี้อาจนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
- การฉีดอินซูลินมากเกินไป การใช้อินซูลินผิดประเภท การฉีดอินซูลินเข้ากล้ามเนื้อแทนไขมัน
- การรับประทานยาสำหรับเบาหวานมากเกินไป
- ออกกำลังกายมากเกินไป
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตอนท้องว่าง
- รับประทานอาหารไม่ตรงเวลาหรืองดรับประทานอาหารบางมื้อ
- รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่
น้ำตาลในเลือดต่ำในคนทั่วไป
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำแบ่งออกเป็นได้ 2 ประเภท นั่นคือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหลังรับประทานอาหารและภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากการอดอาหาร
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหลังรับประทานอาหาร
มักเกิดขึ้น 2-4 ชั่วโมงหลังรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่มีโมเลกุลเชิงเดี่ยว (Simple carbohydrate) ซึ่งสามารถแตกตัวและดูดซึมเป็นน้ำตาลในเลือดได้อย่างรวดเร็ว เช่น ข้าวขาว มันฝรั่ง เค้ก และขนมเบเกอรี่
การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะการผ่าตัดแบบบายพาสที่ทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลได้เร็ว จนทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินมากเกินไปและเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในเวลาต่อมา - ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากการอดอาหาร
โดยปกติร่างกายของคนเรามีน้ำตาลสะสมไว้อยู่แล้ว การอดอาหารจึงไม่ได้สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำลงโดยตรง แต่การอดอาหารร่วมกับสถานการณ์บางอย่างอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากการอดอาหารได้ - การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
แอลกอฮอล์จะไปรบกวนกระบวนการสร้างกลูโคสในร่างกาย การดื่มแอลกอฮอล์มากและเป็นเวลานานร่วมกับการรับประทานอาหารไม่เพียงพออาจะให้ร่างกายใช้น้ำตาลที่สะสมไว้จนหมดและขัดขวางระบบที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด - อาการเจ็บป่วยรุนแรง
การเจ็บป่วยรุนแรง เช่น โรคตับระยะสุดท้าย ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ไตวายจะทำให้ร่างกายใช้กลูโคสที่สะสมไว้หมดเร็วเกินกว่าที่ร่างกายจะผลิตใหม่ได้ทัน - โรคต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง
ต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง จะส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลได้ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ - ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากเนื้องอก Non-islet cell (NICTH)
น้ำตาลในเลือดต่ำจากเนื้องอก ซึ่งเนื้องอกจะผลิตฮอร์โมน IGF-2 ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายกับอินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป - เนื้องอกของตับอ่อนที่สร้างอินซูลิน
เนื้องอกของตับอ่อนที่สร้างอินซูลิน เป็นเนื้องอกในตับอ่อนที่ผลิตอินซูลินออกมามากเกินไป จนทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในช่วงเช้าตรู่ - การใช้ยาบางอย่าง
การใช้ยาบางอย่าง เช่น ยาเบตาบล็อกเกอร์ ยาปฏิชีวนะบางชนิดอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
ควรพบแพทย์เมื่อไร
ควรพบแพทย์ทันทีในกรณีดังต่อไปนี้
- เป็นผู้ป่วยเบาหวานและมีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
- เป็นผู้ป่วยเบาหวานและการรักษา เช่น การดื่มน้ำผลไม้ น้ำอัดลมแบบมีน้ำตาล การทานลูกอมหรือยาเม็ดกลูโคส ไม่ช่วยให้อาการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำดีขึ้น
- เป็นผู้ป่วยเบาหวานหรือเคยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และมีอาการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรงหรือหมดสติ โดยกรณีนี้ถือเป็นกรรณีฉุกเฉิน
ภาวะแทรกซ้อนเมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำ
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ อวัยวะล้มเหลว สมองถูกทำลายถาวร โคม่า และแม้กระทั่งเสียชีวิต
การตรวจวินิจฉัยภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
การตรวจวินิจฉัยสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน สามารถใช้เครื่องตรวจน้ำตาล เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดโดยการเจาะเลือดที่ปลายนิ้ว โดยสามารถตั้งให้เครื่องตรวจน้ำตาลช่วยเตือนเวลาที่น้ำตาลอาจจะตกได้ เช่น เวลานอนหรือขับรถ
การตรวจวินิจฉัยสำหรับคนทั่วไป แพทย์จะทำการตรวจน้ำตาลในเลือดทุก 2-3 ชั่วโมง และอาจทำการตรวจวินิจฉัยด้วยภาพถ่ายเพิ่มเติมเพื่อดูว่าภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมีสาเหตุมาจากเนื้องอกหรือไม่ สำหรับผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหลังรับประทานอาหาร แพทย์จะทำการตรวจ Mixed-Meal Tolerance Test (MMTT) โดยให้ผู้เข้ารับการรักษาดื่มเครื่องดื่มชนิดพิเศษเพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดและให้ร่างกายผลิตอินซูลิน จากนั้นจะทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอีกหลายครั้งในอีก 5 ชั่วโมงต่อมา
การรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำระยะไม่รุนแรงหรือปานกลาง
สำหรับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำระยะไม่รุนแรงหรือปานกลาง สามารถทำการรักษาตามกฎ “15-15 rule” ซึ่งแนะนำโดยองค์กรโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา (the American Diabetes Association)
- รับประทานอาหารหวานหรือคาร์โบไฮเดรตที่ออกฤทธิ์เร็ว
- รอ 15 นาทีแล้วตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
- หากระดับน้ำตาลในเลือดยังต่ำกว่า 70 มก./ดล. ให้รับประทานอาหารหวาน ๆ เพิ่ม
- ทำตามขั้นตอนนี้ซ้ำจนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะเทียบเท่าหรือสูงกว่า 70 มก./ดล.
ตัวอย่างอาหารคาร์โบไฮเดรตออกฤทธ์เร็วในปริมาณ 15 กรัม
- กล้วยครึ่งผล
- น้ำผลไม้หรือน้ำอัดลมแบบมีน้ำตาลครึ่งแก้ว
- น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำเชื่อม 1 ช้อนโต๊ะ
- เจลกลูโคส 1 หลอด (ดูเอกสารการใช้ยา)
- ยาเม็ดกลูโคส 3 - 4 เม็ด (ดูเอกสารการใช้ยา)
หากไม่มีเครื่องตรวจระดับน้ำตาล ให้ปฏิบัติตามกฎ 15-15 จนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรง
หากพบผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และหมดสติ หรือมึนงง ไม่ควรให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารใด ๆ เพราะอาจทำให้สำลักได้ แล้วฉีดฮอร์โมนกลูคากอน ซึ่งมีทั้งในรูปแบบยาพ่นเข้าโพรงจมูกและยาฉีด เพื่อกระตุ้นให้ตับปล่อยกลูโคสที่กักเก็บไว้ โดยควรอ่านเอกสารกำกับยาก่อนใช้ หลังให้ยา 5 - 15 นาที ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวและอาจรู้สึกคลื่นไส้ หากผู้ป่วยนอนราบอยู่ให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก
การป้องกันไม่ให้น้ำตาลในเลือดต่ำ
- รับประทานยา อาหาร และออกกำลังกายตามแพทย์สั่ง
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยเครื่องตรวจระดับน้ำตาลแบบต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งรวมถึงก่อนและหลังมื้ออาหาร ก่อนและหลังออกกำลังกาย และก่อนนอน
- พกขนมติดตัวไว้ตลอด
- จดบันทึกช่วงเวลาเกิดภาวะระดับน้ำตาลต่ำ รวมถึงเวลาที่เกิดอาการ อาการที่มี อาหารที่เพิ่งรับประทาน การออกกำลังกาย และระดับน้ำตาลในเลือดในขณะนั้น เพื่อที่แพทย์จะได้สามารถปรับแผนการจัดการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเพื่อป้องกันการเกิดภาวะดังกล่าวในอนาคต
- ให้ความรู้คนรอบตัวเรื่องภาวะระดับน้ำตาลต่ำ และวิธีการใช้กลูคากอนในเวลาฉุกเฉิน
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมักเกิดขึ้นบ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน หากไม่ได้รับการรักษา อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต การรู้จักสังเกตุอาการและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสามารถช่วยป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำระดับรุนแรงได้