การฝังเข็ม
การฝังเข็มเป็นศาสตร์การแพทย์แผนจีนที่ใช้เข็มในการบรรเทาอาการและความเจ็บปวดตามร่างกาย การฝังเข็มจะทำโดยแพทย์นักฝังเข็ม ซึ่งจะฝังเข็มปลอดเชื้อเข้าไปในจุดฝังเข็มเพื่อปรับสมดุลการไหลเวียนของชี่หรือพลังชีวิต การฝังเข็มสามารถช่วยให้ร่างกายของเราปล่อยสารเคมีตามธรรมชาติ เช่น สารสื่อประสาทและสารเอ็นโดฟิน (ซึ่งเป็นสารบรรเทาปวดตามธรรมชาติ) เพื่อช่วยให้ร่างกายทำการรักษาตัวเองตามธรรมชาติ การฝังเข็มได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคบางประเภท
ประเภทของการฝังเข็ม
- การฝังเข็มของจีนโบราณมุ่งเน้นไปที่การปรับสมดุลการไหลเวียนของชี่หรือพลังงานที่ผ่านไปตามร่างกาย เนื่องจากชี่ที่ไม่สมดุลอาจทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้
- การฝังเข็มแห้ง หรือ Dry needling ช่วยรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยการคลายจุดกดเจ็บหรือปมในกล้ามเนื้อ จุดกดเจ็บนี้เกิดจากการที่กล้ามเนื้อตึงหรือเกิดหดเกร็ง อาจทำให้เกิดอาการปวดร้าวไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย การฝังเข็มที่จุดกดเจ็บช่วยบรรเทาโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังได้
โรคที่การฝังเข็มสามารถช่วยบรรเทาอาการได้
การฝังเข็มสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเรื้อรัง เช่น โรคข้ออักเสบ อาการบาดเจ็บ ปวดหัวไมเกรน ปวดประจําเดือน และอาการปวดคอ หลัง หรือหัวเข่า
นอกจากนี้ยังช่วยให้ภาวะและระบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ดีขึ้นได้
- ผลข้างเคียงของโรคมะเร็งและการรักษามะเร็ง
- ระบบภูมิคุ้มกัน
- ระบบประสาท
- ภาวะมีบุตรยาก
- ปัญหาทางระบบทางเดินอาหาร
- วัยทอง
- อาการบาดเจ็บจากการใช้งานซ้ำ ๆ
- อาการไม่สบายตัวจากการตั้งครรภ์
ขั้นตอนการรักษาด้วยการฝังเข็ม
ก่อนการรักษา
ควรแจ้งให้แพทย์ฝังเข็มทราบ หากมีอาการดังต่อไปนี้
- กําลังตั้งครรภ์ เพราะการฝังเข็มอาจไปกระตุ้นให้คลอดก่อนกำหนด
- มีภาวะเลือดออกผิดปกติ อาการเลือดออกอาจแย่ลงเนื่องจากรอยฟกช้ำจากการฝังเข็ม
- ใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ เพราะแพทย์อาจใช้กระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ กระตุ้นระหว่างการฝังเข็ม ซึ่งกระแสไฟฟ้าอาจไปรบกวนการทํางานของเครื่องกระตุ้นหัวใจ
ระหว่างการรักษา
แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกาย จากนั้นจึงเริ่มทำหัตถการโดยการฝังเข็มปลอดเชื้อเข้าไปในผิวหนัง แต่ละจุดจะฝังเข็มลึกตื้นไม่เท่ากัน และจะฝังทิ้งไว้ราว 20 นาที ตอนฝังจะรู้สึกว่าเข็มทิ่มลงไป แพทย์จะถามว่ารู้สึกปวดหน่วง ๆ หนัก ๆ หรือชาหรือไม่ โดยปกติความรู้สึกดังกล่าวจะแสดงให้รู้ว่าฝังเข็มถูกจุดและได้ผล
หลังการรักษา
อาจมีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น รอยช้ำหรืออาการปวดเล็กน้อยบริเวณที่ฝังเข็ม ความเสี่ยงว่าจะติดเชื้อจากการฝังเข็มนั้นต่ำเนื่องจากเข็มที่ใช้เป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง อย่างไรก็ตามสิ่งที่สําคัญคือควรทำการรักษากับแพทย์ฝังเข็มที่ผ่านการฝึกอบรมและได้รับการรับรอง และควรเข้ารับคำปรึกษาก่อนทําหัตถการเสมอ
โดยทั่วไปแล้วแพทย์ฝังเข็มอาจแนะนําให้ทําการรักษาสัปดาห์ละครั้ง จํานวนครั้งของการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและการตอบสนองของร่างกายต่อการรักษาด้วยการฝังเข็ม ซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างน้อย 5 ครั้ง จึงจะได้ประโยชน์จากการฝังเข็มอย่างเต็มที่
หากรับประทานยาหรือเข้ารับการรักษาโรคอื่น ๆ อยู่ เช่น รักษาโรคมะเร็ง จำเป็นต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งต่อไป ห้ามหยุดยาเพียงเพราะรู้สึกดีขึ้นหรืออาการปวดบรรเทาลงจากการฝังเข็ม