ตับอ่อนเป็นอวัยวะที่อยู่ด้านหลังกระเพาะอาหาร ทำหน้าที่ผลิตและปล่อยเอนไซม์ที่จําเป็นสําหรับการย่อยอาหารและฮอร์โมนควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อเกิดการอักเสบจะทําให้มีอาการปวดท้องอย่างฉับพลันรุนแรง สาเหตุหลักของโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันคือนิ่วถุงน้ำดีและการติดสุรา
สาเหตุ
โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ผู้ป่วยราว 60-75% นั้นเป็นโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันโดยมีสาเหตุมาจากนิ่วในถุงน้ำดีและการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป
- โรคตับอ่อนอักเสบจากนิ่วในถุงน้ำดี เกิดจากการที่ก้อนนิ่ว หรือตะกอนนิ่วที่หลุดออกจากถุงน้ำดีเข้าไปอุดในท่อน้ำดีร่วม ซึ่งเป็นทางออกเดียวกันกับท่อตับอ่อน การอุดตันดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดภาวะโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
- โรคตับอ่อนอักเสบจากการดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติการดื่มสุราในปริมาณมาก ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
- โรคตับอ่อนอักเสบจากภาวะไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงกว่า 500 มก.ต่อเดซิลิตร
- โรคตับอ่อนอักเสบจากการได้รับยา เช่น ยาปฏิชีวนะ หรือยาเคมีบำบัดบางชนิด
- โรคตับอ่อนอักเสบจากการส่องกล้องตรวจรักษาท่อน้ำดีและตับอ่อน ผู้ป่วยที่ได้รับการส่องกล้องตรวจรักษาโรคทางเดินน้ำดีและตับอ่อนและนิ่ว มีอัตราการเกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันหลังการส่องกล้องได้ราวร้อยละ 3-5 แต่ส่วนใหญ่อาการมักไม่รุนแรง
- โรคตับอ่อนอักเสบจากกรรมพันธุ์ พบได้ในเด็กและวัยรุ่น
- โรคตับอ่อนอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุ พบได้ในผู้ป่วยราว 20%
อาการของโรค
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีมักมีอาการดังต่อไปนี้
- อาการปวดท้องส่วนบนอย่างฉับพลันและรุนแรง
- อาการปวดท้องมักจะร้าวไปบริเวณกลางหลัง
- อาการปวดท้องที่ดีขึ้นเมื่อโน้มก้มตัวไปข้างหน้า
ผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบจากนิ่วในถุงน้ำดีอาจมีอาการนำอันเกิดจากนิ่วในถุงน้ำดี ดังนี้
- อาการปวดท้องด้านบนขวาเนื่องจากนิ่วในถุงน้ำดี โดยอาการปวดจะร้าวไปยังบริเวณหลัง ไหล่ หรือสะบักขวา
- ลักษณะอาการปวดบีบต่อเนื่องและรุนแรง
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปวดท้องหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารมัน
การตรวจวินิจฉัย
เนื่องจากอาการของโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันมีความคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ จึงทำให้ยากต่อการวินิฉัยโรค
แพทย์จะทำการประเมินและตรวจสอบ ดังต่อไปนี้
- ลักษณะของอาการปวดท้อง
- ค่าเอนไซม์ตับอ่อนในเลือด
- การอักเสบของตับอ่อนจากภาพถ่ายทางรังสี เช่น เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
เมื่อทำการยืนยันได้แล้วว่าอาการปวดท้องนั้นเกิดจากโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน แพทย์จะให้ทำการตรวจวินิฉัยเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของโรคและเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ
- การตรวจวินิจฉัยด้วยภาพทางการแพทย์ เช่น การอัลตราซาวด์ช่องท้อง การเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูโครงสร้างของตับอ่อน เนื้อเยื่อโดยรอบ ถุงน้ำดี และท่อน้ำดี
- การตรวจระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด
- การตรวจหาสารพันธุกรรมในกรณีที่สงสัยภาวะตับอ่อนอักเสบจากกรรมพันธุ์
การรักษา
โดยปกติแล้วผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 2-3 วัน หรือนานกว่านั้นหากมีอาการของตับอ่อนอักเสบชนิดรุนแรง การรักษามีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาการอักเสบของตับอ่อนและรักษาสาเหตุของโรค
- โรคตับอ่อนอักเสบแบบไม่รุนแรง
แพทย์จะเฝ้าสังเกตสัญญาณชีพ ให้ยาบรรเทาอาการ และให้สารน้ำทางหลอดเลือดดํา - โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันแบบปานกลางถึงรุนแรง
ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอ่อนอักเสบแบบปานกลางถึงรุนแรงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น หัวใจ ปอด ไตถูกทำลาย จึงอาจจำเป็นต้องเข้ารักษาตัวในห้อง ICU แพทย์อาจให้งดรับประทานอาหารในช่วงแรก โดยผู้ป่วยจะได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำและอาหารทางสายยางจนกว่าการทำงานของระบบทางเดินอาหารจะกลับมาเป็นปกติ หากตับอ่อนได้รับความเสียหายจนมีเนื้อตายหรือติดเชื้ออย่างรุนแรง แพทย์อาจทำการส่องกล้องเพื่อเอาเนื้อตายบริเวณตับอ่อนออก ร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะ - โรคตับอ่อนอักเสบจากนิ่วในถุงน้ำดี
ผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบจากนิ่วในถุงน้ำดีราว 30-50% จะกลับมามีอาการใหม่อีกครั้ง ดังนั้น โดยส่วนใหญ่เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำจึงแนะนำให้ทำการผ่าตัดถุงน้ำดีก่อนผู้ป่วยจะได้รับการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล