Anxiety Disorder Banner 1.jpg

โรควิตกกังวลทั่วไป

ในผู้ที่เป็น “โรควิตกกังวล” ภาวะความกังวลยังคงอยู่ต่อเนื่องถึงแม้จะผ่านพ้นเหตุการณ์นั้นไปแล้วก็ตาม  ถ้ามีความเครียดเกิน 6 เดือนถือเป็นโรคเรื้อรังทางจิตเวช

แชร์

โรควิตกกังวลทั่วไป
เป็นเรื่องปกติที่จะมีเรื่องให้เครียดหรือกังวลในชีวิตประจำวันเป็นครั้งคราว ความเครียดที่พอเหมาะเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อความกังวลที่มีประโยชน์ เนื่องจากทำให้เราพร้อมรับมือกับเหตุการณ์หรือปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยปกติแล้วหากเหตุการณ์ที่ทำให้เครียดสิ้นสุดลงภาวะกังวลก็จะหายไปด้วยเช่นกัน แต่ในผู้ที่เป็น “โรควิตกกังวลภาวะความกังวลยังคงอยู่ต่อเนื่องถึงแม้จะผ่านพ้นเหตุการณ์นั้นไปแล้วก็ตาม  ถ้ามีความเครียดเกิน 6 เดือนถือเป็นโรคเรื้อรังทางจิตเวชที่หากไม่ได้รับการดูแลรักษา โรคนี้สามารถส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ยังมีโรคความกังวลชนิดอื่นเช่นโรคตื่นตระหนก (Panic disorder) และ โรคกลัว (Phobias) โดยบทความนี้จะกล่าวถึงโรควิตกกังวลทั่วไป  (GAD) เท่านั้น

อาการ
ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไปจะตกอยู่ภาวะกังวลและความเครียดรุนแรงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้มีปัญหา ในการนอนหลับและมีอาการหลงลืม ความเครียดชนิดนี้ยังสามารถส่งผลให้เกิดอาการทางร่างกายเช่นความเหนื่อยล้า และกล้ามเนื้อบีบตัวตึง

ควรปรึกษาแพทย์หรือจิตแพทย์
ภาวะวิตกกังวลส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การงาน ความสัมพันธ์ และการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น และมีความเครียดมากเกินกว่าเหตุในเรื่องทั่วไป ที่ไม่เป็นปัญหากับผู้คนส่วนใหญ่ เป็นไปได้ยากที่ผู้เป็นโรควิตกกังวลทั่วไปจะหายได้เอง อาการอาจแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปจึงควรรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ การออกกำลังกายสามารถช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวล แนะนำให้หยุดดื่มกาแฟเนื่องจากสารคาเฟอีนอาจเป็นตัวกระตุ้นความวิตกกังวล

การรักษา
โรควิตกกังวลเป็นโรคที่แพร่หลายและสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนในบางช่วงของชีวิต ดังนั้นการที่เข้ารับการรักษาไม่ใช่สิ่งที่น่าอับอาย   

วิธีการรักษาบำบัดโรควิตกกังวลทั่วไป มีดังนี้

  • การทำจิตบำบัด ผ่านการพูดคุยปรึกษากับนักจิตบำบัดเพื่อให้ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลทำความเข้าใจกับความรู้สึกความสัมพันธ์ และอารมณ์ของตัวเอง นอกจากนี้การทำจิตบำบัดสามารถปรับเปลี่ยนความคิดไม่ให้ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลหมกมุ่นอยู่กับแนวความคิดเดิมและสอนเทคนิคในการรับมือจัดการกับสภาวะที่เกิดขึ้น
  • การใช้ยาบำบัด แม้การรักษาด้วยวิธีการรับประทานยาสามารถบรรเทาอาการได้ ไม่ได้หมายความว่าการกินยาจะทำให้โรคนั้นหายขาด ตัวอย่างยาที่ใช้รักษาโรควิตกกังวลมีดังนี้ ยาต้านซึมเศร้า ( Antidepressants) บิวสไปโรน (Buspirone) และยาเบ็นโซไดอาเซพีน ( Benzodiazepines)

แนะนำให้รักษาทั้งการทำจิตบำบัดและกินยาเพื่อผลลัพธ์ที่ดี

หากอยากตั้งครรภ์
ผู้ที่รับประทานยาเพื่อรักษาโรควิตกกังวล ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์เนื่องจากยาบางชนิดอาจส่งผลให้เด็กทารกแรกเกิดความพิการดังนั้นอาจต้องหยุดหรือเปลี่ยนยา

จะดำเนินชีวิตต่ออย่างไร
โรควิตกกังวลเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตในระยะยาวและเสี่ยงต่อภาวะโรคความกังวลชนิดอื่น ๆ อาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่จะดีขึ้นหลังการทำจิตบำบัดร่วมกับการรักษาด้วยยา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการได้เรียนรู้วิธีการรับมือจัดการกับความวิตกกังวลและฝึกการผ่อนคลายก็เป็นประโยชน์ต่อการบรรเทาอาการของโรคได้

โรคกลัวการเข้าสังคม
โรคกลัวการเข้าสังคมเป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่งส่งผลให้รู้สึกวิตกกังวลอย่างรุนแรงหากต้องเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม เนื่องจากเกิดความกังวลที่จะถูกผู้อื่นตัดสิน วิพากษ์วิจารณ์  หรือมองในแง่ลบ ภาวะที่เกิดขึ้นอาจรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายและความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน

อาการ
ผู้ที่มีอาการของโรคกลัวสังคมมักจะปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงการไปสถานที่หรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากกังวลว่าตัวเองจะต้องอับอายต่อหน้าฝูงชนและถูกผู้อื่นตัดสินในแง่ลบตลอดเวลา

โรคกลัวสังคมสามารถแสดงอาการทางร่างกายได้หลายอย่าง เช่น

  • หัวใจเต้นเร็ว
  • เหงื่อออก
  • หน้าแดงจากความเขินอาย
  • ตัวสั่น
  • หลีกเลี่ยงการสบตา

การรักษา

  • เทคนิคการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม นักจิตบำบัดจะใช้วิธีการบำบัดความคิดเพื่อเปลี่ยนวิธีคิดที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวล เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจถึง ความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของตนที่อาจไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยเทคนิคนี้มักมุ่งเน้นไปที่การจัดการกับสภาวะอารมณ์และกระบวนการคิดที่เป็นปัญหา
  • การใช้ยารักษา โดยทั่วไปแล้ว ยาที่ใช้ในการรักษาโรควิตกกังวล เป็นยาชนิดเดียวกับยาที่ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า ส่วนชนิดยาที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

หากอยากตั้งครรภ์
ผู้ที่รับประทานยาเพื่อรักษาโรควิตกกังวลอย่างเป็นประจำควรปรึกษาแพทย์หากมีแผนจะตั้งครรภ์ เนื่องจากยาบางชนิดอาจส่งผลให้ทารกในครรภ์เสี่ยงต่อการเกิดความพิการ ดังนั้นอาจต้องหยุดหรือเปลี่ยนยา

จะดำเนินชีวิตต่ออย่างไร
ผู้ที่เป็นโรคกลัวการเข้าสังคมบ่อยครั้งจะติดอยู่กับปัญหานี้ไปตลอดชีวิต บางคนเป็นๆหายๆแต่เป็นหนักขึ้นถ้าอยู่ภายใต้ความเครียด หลายคนสามารถก้าวข้ามความกลัวในการเข้าสังคมเมื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสมและพบวิธีรับมือกับความวิตกกังวล

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 25 ก.ค. 2022

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    รศ.พญ. สุดสบาย จุลกทัพพะ

    รศ.พญ. สุดสบาย จุลกทัพพะ

    • จิตเวชศาสตร์
    • จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
    จิตเวชศาสตร์, จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
  • Link to doctor
    พญ. ฐิติพร ศุภสิทธิ์ธำรง

    พญ. ฐิติพร ศุภสิทธิ์ธำรง

    • จิตเวชศาสตร์
    • จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
    จิตเวชศาสตร์, จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ