April and Skin Allergy Banner 1.jpg

เมษา...พาผิวแพ้

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมักมีการกำเริบของโรคในช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าวแบบนี้ ฉะนั้นเรามาทำความรู้จักโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการกำเริบของโรคไปพร้อม ๆ กัน

แชร์

เข้าสู่ช่วงเดือนเมษายน เดือนที่อากาศร้อนอบอ้าวเป็นพิเศษ ท่านที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมักมีการกำเริบของโรคในช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าวแบบนี้ ฉะนั้นเรามาทำความรู้จักโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการกำเริบของโรคไปพร้อม ๆ กันเลยครับ

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง คือ โรคที่ร่างกายเกิดปฏิกิริยาที่ผิดปกติต่อสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น ขนแมว ขนสุนัข เกสรหญ้า เชื้อรา หรือ แมลงสาบ เป็นต้น หรือต่ออาหาร เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง ไข่ไก่ แป้งสาลี หรืออาหารทะเล เป็นต้น ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังที่บริเวณผิวหนัง โรคนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่แต่พบได้บ่อยในเด็กทารก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการเมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไป และช่วงอายุที่พบได้บ่อยคือระหว่างอายุ 2 เดือนถึง 2 ปี ผู้ป่วยเด็กมักจะมีอาการดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยเด็กส่วนหนึ่งยังคงมีอาการจนกระทั่งเข้าสู่วัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่

พบว่าเด็กไทยประมาณร้อยละ 13.4 เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

สาเหตุของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง แต่ปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคได้แก่ ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม และปัจจัยทางด้านโภชนาการ เป็นต้น พบว่าประมาณร้อยละ 36.1 ของเด็กไทยที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคแพ้อาหารร่วมด้วย

อาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
สามารถแบ่งอาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังตามอายุของผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. วัยทารก ช่วงอายุระหว่าง 2 เดือนถึง 2 ปี โดยมักจะเริ่มพบผื่นแดงคัน ซึ่งมีตุ่มแดงและตุ่มน้ำเล็ก ๆ อยู่บนผื่นแดงนั้นที่บริเวณแก้ม ถ้าตุ่มน้ำแตกออกจะมีน้ำเหลืองไหลเยิ้มและตกสะเก็ดตามมา ผื่นอาจลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย ในรายที่เป็นมากจะพบผื่นเกิดขึ้นทั่วร่างกายได้ และอาจพบร่องรอยจากการเกาหรือขัดถู โดยเฉพาะบริเวณที่ทารกถีบ ถูไถ สัมผัสกับพื้นหรือที่นอน
  2. วัยเด็ก ช่วงอายุระหว่าง 2-12 ปี ตำแหน่งรอยโรคที่พบบ่อย ได้แก่ บริเวณรอบคอ ตำแหน่งข้อพับด้านในของแขนและขา เมื่อโรครุนแรงมากขึ้นผื่นอาจลุกลามไปยังผิวหนังส่วนอื่น ๆ ได้ ซึ่งมักประกอบด้วยตุ่มนูนแดง แห้ง มีขุยเล็กน้อย มักไม่พบตุ่มน้ำแตกแฉะเหมือนวัยทารก ผู้ป่วยจะมีอาการคันและอาจเกาจนเกิดรอยถลอกและนำไปสู่การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสซ้ำซ้อนได้
  3. วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ช่วงอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป มักพบผื่นบริเวณรอบคอ ข้อพับแขน ขา คล้ายที่พบในเด็กโต ในรายที่เป็นมากผื่นจะเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกายเช่นกัน ผู้ป่วยในวัยนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดผิวหนังอักเสบบริเวณมือได้ง่าย

ระยะอาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
สามารถแบ่งอาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังออกได้ เป็น 2 ระยะ ได้แก่

  • ระยะโรคกำเริบ พบผื่นภูมิแพ้ผิวหนังกระจายตัวตามตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกายตามกลุ่มอายุของผู้ป่วย ซึ่งอาจพบการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสซ้ำซ้อนบนผื่นได้
  • ระยะโรคสงบ ไม่พบผื่นภูมิแพ้ผิวหนังกระจายตัวตามตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกาย แต่อาจตรวจพบผิวหนังที่แห้งหรือมีอาการคันได้บ้าง

    การดูแลรักษา

    1. หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบมากขึ้น
      • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ที่ตนเองแพ้ ในกรณีที่ไม่ทราบชนิดของสารก่อภูมิแพ้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจเลือด หรือทำการทดสอบผิวหนังเพื่อหาสารก่อภูมิแพ้
      • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น รวมถึงควรใช้สบู่อ่อน ๆ และไม่ฟอกสบู่บ่อยจนเกินไป
      • หลีกเลี่ยงการใช้หรือสัมผัสกับสารระคายเคือง ควรเลือกใช้ผงซักฟอกชนิดระคายเคืองน้อย และควรซักล้างผงซักฟอกออกให้หมดก่อนนำเสื้อผ้ามาสวมใส่
      • เลือกใช้เสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้านุ่มโปร่งสบาย เช่น ผ้าแพร ผ้าฝ้าย และหลีกเลี่ยงผ้าขนสัตว์
      • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ทำให้เหงื่อออกมาก ๆ
      • หลีกเลี่ยงอากาศร้อนจัด หรือหนาวจัดเกินไป เพราะจะทำให้ผิวแห้ง
      • หลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์ หรือยาปฏิชีวนะทาบริเวณผื่นเพื่อหวังผลในการรักษาผื่น
      • ควรตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสซ้ำซ้อนจากการเกา
      • หลีกเลี่ยงความเครียด หรือความวิตกกังวลใด ๆ
    2. แนะนำไม่ให้ผู้ป่วยเกา และรับประทานยาแก้แพ้เพื่อลดอาการคัน ซึ่งผลข้างเคียงจากการรับประทานยาแก้แพ้จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกง่วงซึม ซึ่งเป็นผลดีในการช่วยลดการเกาได้
    3. การใช้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ ยาทากลุ่มนี้มีฤทธิ์ลดการอักเสบของผื่นภูมิแพ้ผิวหนังโดยตรง ควรใช้ยาทาสเตียรอยด์เฉพาะในระยะโรคกำเริบ ไม่ควรใช้ยาทาติดต่อกันนานเกินกว่า 1 สัปดาห์ และควรใช้ยาทาภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ในปัจจุบันพบว่ามียาทาตัวใหม่ ได้แก่ ยาทา tacrolimus และ pimecrolimus ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้ด้วยเช่นกัน โดยอาจเลือกใช้ยาดังกล่าวในกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาเป็นระยะเวลานานกว่า 1 สัปดาห์ ซึ่งสามารถนำมาใช้ทดแทนการใช้ยาทาสเตียรอยด์
    4. การใช้ยาปฏิชีวนะ กรณีที่ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ซึ่งสามารถสังเกตุได้จากการตรวจพบตุ่มหนองเกิดขึ้นบนบริเวณผื่นแดง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพราะผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน หรือชนิดทาแล้วแต่ความรุนแรงของการติดเชื้อแบคทีเรียนั้น

    การป้องกันและรักษาผิวหนังที่แห้ง

    1. การทามอยซ์เจอร์ไรเซอร์ หรือโลชั่นทันทีหรือในเวลาไม่เกินกว่า 3 นาทีภายหลังการอาบน้ำ ถ้าผิวหนังยังคงแห้งมากแนะนำให้ทาเพิ่มเติมในช่วงระหว่างวัน
    2. การแช่น้ำเกลือภายหลังการอาบน้ำตามปกติ ประมาณ 10-15 นาที
    3. การห่อหุ้มร่างกายด้วยเสื้อผ้าที่ชุบน้ำเกลือหมาด ๆ แล้วสวมทับด้วยเสื้อผ้าแห้งอีกชั้นหนึ่ง จะสามารถช่วยให้ผิวหนังของผู้ป่วยมีความชุ่มชื้นมากขึ้น และทำให้อาการคันลดน้อยลงได้

    โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังหายได้หรือไม่
    โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคในกลุ่มโรคเรื้อรัง อาการของโรค มักเป็น ๆ หาย ๆ อย่างไรก็ตามผู้ป่วย ร้อยละ 50 จะมีอาการดีขึ้นเมื่ออายุ 10 ปี แต่ผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3 ยังคงมีอาการของโรคจนกระทั่งเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ผู้ป่วยร้อยละ 50 มีโอกาสเป็นโรคหืดในอนาคต โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังชนิดรุนแรง และผู้ป่วยประมาณร้อยละ 65 จะเป็นโรคแพ้อากาศร่วมด้วยเมื่อโตขึ้น






    บทความโดย
    นพ.ปรีดา สง่าเจริญกิจ
    แพทย์ผู้ชำนาญการด้านกุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
    ประวัติแพทย์ คลิก

    เผยแพร่เมื่อ: 17 เม.ย. 2022

    แชร์