Blocked Tear Duct Banner 1.jpg

ท่อน้ำตาอุดตัน

ภาวะท่อน้ำตาอุดตันเกิดจากการที่ระบบระบายน้ำตาอุดตันแค่บางส่วนหรือทั้งหมด จนน้ำตาไม่สามารถระบายออกได้ตามธรรมชาติ

แชร์

ภาวะท่อน้ำตาอุดตันเกิดจากการที่ระบบระบายน้ำตาอุดตันแค่บางส่วนหรือทั้งหมด จนน้ำตาไม่สามารถระบายออกได้ตามธรรมชาติ ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองที่ดวงตา

โดยภาวะดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นกับคนได้ทุกวัย ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงวัยผู้ใหญ่ ในทารกแรกเกิด ภาวะท่อน้ำตาอุดตันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติและไม่จําเป็นต้องได้รับการรักษา อาการมักดีขึ้นภายในขวบปีแรก ในผู้ใหญ่ อาการอาจเป็นผลมาจากการติดเชื้อ การได้รับบาดเจ็บ หรือเนื้องอกที่พบได้ยาก ผู้ป่วยสามารถพูดคุยปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคและอายุของผู้ป่วย

อาการ

  • น้ำตาไหล
  • ตาแดง
  • ดวงตาติดเชื้อหรืออักเสบ
  • หัวตาบวม
  • มีขี้ตา
  • มีหนองที่ดวงตา
  • มองเห็นไม่ชัด

ควรพบแพทย์เมื่อไร
หากมีอาการน้ำตาไหล 2-3 วัน ควรไปพบแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้ทำการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุดหากภาวะท่อน้ำตาอุดตันเกิดจากเนื้องอก

สาเหตุ
หลังจากที่ต่อมน้ำตา (lacrimal glands) ด้านในเปลือกตาบนผลิตน้ำตาออกมาแล้ว น้ำตาจะไหลเคลือบพื้นผิวของดวงตา และไหลลงรูระบายน้ำตา (puncta) ที่หัวเปลือกตาบนและล่าง รูระบายน้ำตาเชื่อมต่อกับทางระบายน้ำตา (canaliculi) ซึ่งจะระบายน้ำตาต่อไปยังถุงน้ำตา (lacrimal sac) น้ำตาจะไหลต่อไปยังท่อน้ำตาด้านในโพรงจมูก (nasolacrimal duct) ซึ่งน้ำตาจะถูกดูดซึมกลับเข้ามาในร่างกาย

สาเหตุของภาวะท่อน้ำตาอุดตันที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • ภาวะท่อน้ำตาอุดตันตั้งแต่กำเนิด เนื่องจากระบบระบายน้ำตายังไม่พัฒนาอย่างสมบูรณ์ในทารกแรกเกิด
  • รูระบายน้ำตาตีบลงเนื่องจากอายุที่มากขึ้น
  • การติดเชื้อหรืออักเสบเรื้อรัง
  • การได้รับบาดเจ็บบริเวณท่อน้ำตา
  • เนื้องอก
  • การใช้ยา เช่น ใช้ยาหยอดตารักษาโรคต้อหินเป็นเวลานาน
  • การรักษามะเร็งโดยเคมีบำบัดและรังสีรักษาอาจส่งผลข้างเคียงทำให้ท่อน้ำตาอุดตัน

ปัจจัยเสี่ยง

  • อายุที่มากขึ้น
  • โรคตาอักเสบเรื้อรัง เช่น ตาแดง
  • โรคต้อหิน
  • มีประวัติได้รับการรักษามะเร็งหรือผ่าตัดดวงตา

ภาวะแทรกซ้อน

  • การติดเชื้อหรืออาการอักเสบที่ดวงตา จากการสะสมของแบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อไวรัส

การป้องกัน

  • ไม่ขยี้ตา
  • ล้างมือบ่อย ๆ
  • หมั่นทำความสะอาดคอนแทคเลนส์อยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางรอบดวงตาร่วมกับผู้อื่น

การตรวจวินิจฉัย

  • การซักประวัติ
  • การตรวจร่างกาย รวมไปถึงการตรวจดวงตาและโพรงการจมูก
  • การตรวจประสิทธิภาพการระบายน้ำตา โดยแพทย์จะป้ายสีย้อมชนิดพิเศษลงบนดวงตา หากยังมีสีตกค้างอยู่บนดวงตาหลังผ่านไป 5 นาที ผู้ป่วยอาจมีภาวะท่อน้ำตาอุดตัน
  • การสอดแท่งระบายท่อน้ำตาด้านในโพรงจมูก แพทย์จะสอดแท่งเข้าไปในรูระบายน้ำตาเพื่อตรวจดูการอุดตัน
  • การตรวจวินิจฉัยดวงตาด้วยภาพถ่าย แพทย์จะป้ายสีย้อมชนิดพิเศษลงบนดวงตา แล้วจึงตรวจดูภาพจากการเอกซ์เรย์ การเอกซ์เรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือ การตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อหาบริเวณที่อุดตัน ซึ่งวิธีนี้จะใช้กรณีสงสัยมีเนื้องอกหรือมีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย

การรักษา

  • หากมีการติดเชื้อบริเวณหัวตา ให้ยาปฏิชีวนะแบบหยอดหรือรับประทานเพื่อบรรเทาอาการติดเชื้อ
  • การนวดท่อน้ำตา ภาวะท่อน้ำตาอุดตันตั้งแต่กำเนิดสามารถหายได้เอง แต่การนวดจะช่วยเปิดพังผืดที่ปิดท่อน้ำตาของทารกแรกเกิด
  • การรอให้ร่างกายซ่อมแซมตนเอง หากอาการเกิดจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณใบหน้า แพทย์อาจแนะนำให้รอ 2-3 เดือน เพื่อให้อาการบาดเจ็บ เช่น อาการบวมบรรเทาลง ไม่ไปปิดกั้นท่อน้ำตา
  • การขยายท่อน้ำตา แยงท่อน้ำตา และการล้างท่อน้ำตา แพทย์จะแนะนำให้ทำในผู้ใหญ่ที่รูระบายน้ำตาตีบ โดยแพทย์จะทำการขยายท่อน้ำตาด้วยท่อขนาดเล็กแล้วจึงล้างท่อน้ำตา
  • การสอดท่อระบายน้ำตา แพทย์จะสอดท่อขนาดเล็กเข้าไปในรูระบายน้ำตาผ่านไปยังท่อระบายน้ำตาในโพรงจมูก โดยจะร้อยท่อทิ้งไว้ประมาณ 3 เดือนก่อนนำออก
  • การผ่าตัด การผ่าตัดเปิดทางเชื่อมระหว่างถุงน้ำตากับช่องจมูก เป็นการผ่าตัดรักษาท่อน้ำตาอุดตัน แพทย์จะทำการวางยาสลบและทำการเปิดท่อน้ำตาที่อุดตัน โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล
    • การผ่าตัดแบบดั้งเดิม: แพทย์จะกรีดเปิดช่องขนาดเล็กด้านข้างจมูก ใกล้ถุงน้ำตา และสอดท่อเข้าไปเพื่อทำทางระบายน้ำตาใหม่
    • การผ่าตัดส่องกล้อง: แพทย์จะสอดกล้องเข้าไปในโพรงจมูกเพื่อสอดเครื่องมือขนาดเล็กเข้าไปในทางระบายน้ำตา โดยไม่มีรอยกรีดหรือรอยแผลเป็น
  • การอุดตันของทางระบายน้ำตาบางชนิด จำเป็นต้องมีการใส่แท่งแก้วเพื่อเป็นทางระบายน้ำตาใหม่ที่บริเวณหัวตา ซึ่งการใส่แท่งแก้วจำเป็นต้องใส่ไปตลอดชีวิต ใช้กับผู้ป่วยบางรายเท่านั้น

    การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์
    ก่อนพบแพทย์ของคุณ ผู้ป่วยอาจจดบันทึกสิ่งเหล่านี้

    • อาการที่มีไม่ว่าจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับภาวะท่อน้ำตาอุดตัน
    • ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้อยู่
    • น้ำตาเทียมที่ใช้อยู่
    • คําถามที่ต้องการจะถามแพทย์

    ตัวอย่างคําถามที่ผู้ป่วยอาจถามแพทย์

    • ภาวะท่อน้ำตาอุดตันเกิดจากอะไร
    • จำเป็นต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมหรือไม่
    • แพทย์แนะนำการรักษาด้วยวิธีใด มีผลข้างเคียงหรือไม่
    • อาการจะส่งผลต่อการมองเห็นหรือไม่

    ตัวอย่างคําถามที่แพทย์อาจถาม

    • เริ่มมีอาการเมื่อไร มีหัวตาบวม อักเสบร่วมด้วยหรือไม่
    • มีอาการตลอดเวลาหรือไม่
    • อะไรที่ทำให้อาการดีขึ้นหรือแย่ลง
    • มีประวัติศัลยกรรมใบหน้าหรือเปลือกตา หรือฉีดฟิลเลอร์รอบดวงตา
    • มีประวัติการฉายแสงบริวเณใบหน้ามาก่อน
    • มีโรคประจําตัว เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนังหรือโรคเบาหวานหรือไม่






    Blocked Tear Duct   Infographic Th

    บทความโดย

    เผยแพร่เมื่อ: 17 พ.ย. 2022

    แชร์

    แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. ธันย์ฉัตร เจียรมณีโชติชัย

    นพ. ธันย์ฉัตร เจียรมณีโชติชัย

    • จักษุวิทยา
    • ศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง
    Ophthalmology, ศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง
  • Link to doctor
    ผศ.(พิเศษ) พญ. วรรณกรณ์ พฤกษากร

    ผศ.(พิเศษ) พญ. วรรณกรณ์ พฤกษากร

    • จักษุวิทยา
    • ศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง
    โรคของระบบต่อมน้ำตาและทางเดินน้ำตา, โรคของเปลือกตา, โรคของเบ้าตา, ภาวะไทรอยด์ทางตา
  • Link to doctor
    พญ.  จันทรัสม์  ไววนิชกุล

    พญ. จันทรัสม์ ไววนิชกุล

    • จักษุวิทยา
    • ศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง
    Ophthalmology, ศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง
  • Link to doctor
    พญ. สุปรียา อรรถวุฒิศิลป์

    พญ. สุปรียา อรรถวุฒิศิลป์

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยาโรคต้อหิน
    • ศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง
    Ophthalmology, โรคต้อหิน, ศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง