ท้องเสีย (Diarrhea) อาการ สาเหตุ การตรวจวินิจฉัย และการรักษา

ท้องเสีย

ท้องเสีย หรืออุจจาระร่วง คืออาการถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชม. โดยทั่วไปอาการท้องเสียมักเกิดขึ้น และอาจหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน หรือด้วยการทานยาสามัญประจำบ้าน

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


ท้องเสีย คืออะไร

ท้องเสีย หรืออุจจาระร่วง (Diarrhea) คืออาการถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชม. โดยทั่วไปอาการท้องเสียมักเกิดขึ้น และอาจหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน หรือด้วยการทานยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาผงถ่านคาร์บอน โดยอาการท้องเสียหรืออุจจาระร่วง มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย  ไวรัส หรือพยาธิ ในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้ร่างกายขาดสารน้ำจนอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ถ้ามีอาการท้องเสียที่มีมูกเลือดปน ตั้งแต่ 1 ครั้งขึ้นไป ควรรีบพบแพทย์

ท้องเสีย มีกี่แบบ

อาการท้องเสีย สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทตามระยะเวลาของการเกิดอาการ ได้แก่

  • ท้องเสียแบบเฉียบพลัน (Acute diarrhea) เป็นอาการท้องเสียทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน โดยจะมีอาการประมาณ 1-3 วัน จากนั้นโดยส่วนมากอาการจะทุเลาลงและค่อย ๆ หายไปเอง โดยไม่ต้องใช้ยารักษาโรค
  • ท้องเสียแบบต่อเนื่อง (Persistent diarrhea) เป็นอาการท้องเสียแบบต่อเนื่องประมาณ 2-4 สัปดาห์
  • ท้องเสียแบบเรื้อรัง (Chronic diarrhea) เป็นอาการท้องเสียแบบต่อเนื่องเกิน 4 สัปดาห์ หรือเป็นๆหายๆ ต่อเนื่องเรื้อรังเป็นระยะเวลายาวนาน

อุจจาระของผู้ที่มีอาการท้องเสีย มีกี่แบบ

อุจจาระของผู้ที่มีอาการท้องเสีย มีลักษณะโดยทั่วไป 2 แบบ

  1. อุจจาระเป็นมูกเลือด หรือถ่ายเหลวมีเลือดปน ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง มีไข้ รู้สึกอยากขับถ่ายเป็นระยะแต่ถ่ายออกไม่มาก ร่วมกับอาจมีอาการปวดเบ่งที่ทวารหนัก
  2. อุจจาระเหลวเป็นน้ำ มีสีเหลือง หรือสีเขียวอ่อน ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อุจจาระจะมีสีขาวขุ่น คล้ายน้ำซาวข้าว อุจจาระมีกลิ่นคาว หรืออาจมีมัน คล้ายไขมัน ผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง ปวดเกร็ง ปวดบิด ร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน โดยปริมาณของอุจจาระในการถ่ายแต่ละครั้งอาจมีปริมาณมากจนทำให้ร่างกายอ่อนเพลียมากและมีภาวะขาดสารน้ำได้

ท้องเสีย มีสาเหตุจากอะไร

ท้องเสีย หรืออุจจาระร่วง ส่วนมากมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิตที่ปะปนอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่สะอาด รวมถึงสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่

  • การติดเชื้อไวรัสในกระเพาะอาหาร และลำไส้ (Viral gastroenteritis)
  • การติดเชื้อไวรัสโรต้า (Rotavirus) ไวรัสที่มักพบเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือปรสิตในระบบทางเดินอาหาร ผ่านทางอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด หรืออาหารเป็นพิษ
  • การรับประทานอาหารที่มีรสจัด หรืออาหารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารอาหาร
  • โรคซีลิแอค (Celiac disease) หรืออาการแพ้กลูเตน (Gluten) ในอาหารจำพวกแป้งบางชนิด เช่น แป้งสาลี
  • โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
  • อาการแพ้น้ำตาลแลคโตส น้ำตาลฟรุกโตส หรือแพ้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล
  • ยารักษาโรคบางชนิด เช่นยาปฎิชีวนะ ยาต้านมะเร็ง และยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
  • ความผิดปกติในการดูดซึมอาหาร (Malabsorption of food)
  • โรคมะเร็งตับอ่อน หรือตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ตับอ่อนทำหน้าที่ในการผลิตน้ำย่อย หากมีภาวะอักเสบจะทำให้ระบบการย่อยและการดูดซึมไขมันทำได้ไม่ดี ทำให้มีอาการถ่ายเหลวในที่สุด
  • เนื้องอกที่กระตุ้นให้ฮอร์โมนในลำไส้เพิ่มการหลั่งสารคัดหลั่ง ทำให้ถ่ายเหลว
  • รังสีรักษา (Radiotherapy)

ท้องเสียมีอาการอย่างไร

ท้องเสีย หรืออุจจาระร่วงมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันไป ตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงระดับรุนแรง ทั้งนี้อาการท้องเสียในระดับที่รุนแรงอาจมีความเชื่อมโยงกับโรคที่มีความซับซ้อนบางชนิดที่ต้องได้รับวินิจฉัย และทำการรักษาโดยแพทย์ อาการของโรคท้องเสียมีดังนี้

  • ปวดท้อง ปวดเกร็ง หรือปวดบิด
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีไข้ ปวดศรีษะ
  • หน้าแดง และผิวแห้ง
  • อุจจาระมีเลือดปน
  • อุจจาระมีมูก หรือเมือกปน
  • ถ่ายอุจจาระบ่อย

อาการท้องเสียในผู้ใหญ่ ที่ควรรีบไปพบแพทย์

  • มีอาการท้องเสียต่อเนื่อง ตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป โดยอาการไม่ทุเลาลง
  • มีภาวะร่างกายขาดสารน้ำ (dehydrated) เช่น ปากแห้ง ไม่ถ่ายปัสสาวะเป็นเวลานานเกิน 6 ชั่วโมงขึ้นไป หรือมีอาการเวียนศึรษะขณะลุกเปลี่ยนท่า
  • มีอาการปวดท้อง บริเวณช่องท้องด้านล่าง หรือทวารหนักอย่างรุนแรง
  • ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรืออุจจาระมีเลือดปน
  • มีไข้สูงเกินกว่า 39 องศาเซลเซียส

อาการท้องเสียในทารก และเด็ก ที่ควรรีบไปพบแพทย์

อาการท้องเสียในเด็ก และทารกสามารถจะนำไปสู่ภาวะขาดสารน้ำอย่างรวดเร็ว ขึ้นภายใน 24 ชม. หากอาการท้องเสียไม่ดีขึ้น ควรรีบนำส่งแพทย์

ภาวะแทรกซ้อนของอาการท้องเสีย

อาการท้องเสียอาจทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดสารน้ำ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษา ภาวะขาดสารน้ำเป็นอันตรายอย่างยิ่งในเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หากผู้ที่ท้องเสีย มีสัญญาณของภาวะขาดสารน้ำอย่างรุนแรง ให้รีบนำส่งแพทย์ โดยเร็วที่สุด

อาการของผู้ที่อยู่ในภาวะร่างกายขาดสารน้ำ ในผู้ใหญ่

  • อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืด
  • ปากแห้งหรือผิวหนังแห้ง
  • เหนื่อยล้า อ่อนแรง
  • กระหายน้ำอย่างมาก
  • ปัสสาวะน้อยหรือแทบไม่มีเลย
  • ปัสสาวะมีสีเข้ม

อาการของผู้ที่อยู่ในภาวะร่างกายขาดสารน้ำ ในเด็ก หรือทารก

  • ปากและลิ้นแห้ง
  • ทารกไม่ปัสสาวะรดผ้าอ้อมเลย ตั้งแต่ 3 ชั่วโมง ขึ้นไป
  • มีอาการง่วงซึม ไม่ตอบสนอง หรือหงุดหงิดง่าย
  • ตา และแก้มตอบ หน้าท้องยุบลงผิดปกติ

ท้องเสีย (Diarrhea) อาการ สาเหตุ การตรวจวินิจฉัย และการรักษา

ท้องเสียควรรับประทานยาอะไร

  • ยาคาร์บอน หรือยาผงถ่าน (Activated Charcoal) มีฤทธิ์ช่วยดูดซับสารพิษในทางเดินอาหาร โดยสามารถทาน 2 เม็ดทันทีที่มีอาการท้องเสีย ช่วยลดอาการแน่นท้อง ทำให้อุจจาระเหลวน้อยลง สามารถกินซ้ำได้ทุก 3-4 ชม. หากถ่ายบ่อย หรือถ่ายเป็นน้ำ แต่ไม่ควรทานเกิน 16 เม็ด ต่อวัน
  • ผงเกลือแร่ โอ อาร์ เอส (ORS-Oral rehydration salt) ชดเชยการสูญเสียน้ำ และเกลือแร่ โดยผสม 1 ซองกับน้ำสะอาดในปริมาณที่ระบุข้างซอง ดื่มจนหมด หรือค่อย ๆ จิบแทนน้ำเปล่า เพื่อชดเชยอาการสูญเสียสารน้ำจากการขับถ่าย หรืออาเจียน
  • กลุ่มยาหยุดถ่าย เช่น โลเพอราไมด์ (Loperamide) หรือ อิโมเดียม (Imodium) เป็นยากลุ่มต้านอาการท้องเสียที่ช่วยลดความถี่ หรือปริมาณอุจจาระในผู้ป่วยท้องเสีย สามารถใช้ยานี้ในกรณีที่ใช้ยาคาร์บอน และผงเกลือแร่แล้วอาการไม่ดีขึ้น โดยให้กินยานี้ 2 เม็ดในครั้งแรก และกินซ้ำครั้งละ 1 เม็ด ทุกครั้งที่ถ่ายเหลว แต่ไม่ควรทานเกิน 8 เม็ดต่อวัน รวมทั้งห้ามใช้ยานี้ในกรณีที่ถ่ายเป็นมูกเลือด และไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะก่อนพบแพทย์ โดยหากใช้ยาทั้ง 3 ชนิดนี้แล้ว อาการไม่ดีขึ้น ให้รีบพบแพทย์ทันที

การรักษาอาการท้องเสีย

อาการท้องเสียแบบเฉียบพลัน สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาผงถ่านคาร์บอน หรือผงเกลือแร่ โอ อาร์ เอส แต่หากอาการท้องเสียมีระยะเวลาต่อเนื่องเกิน 2-3 วัน มีไข้สูง และมีเลือดปนในอุจจาระ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการท้องเสียอย่างละเอียด โดยแพทย์จะทำการซักประวัติคนไข้ และทำการรักษาด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป ตามสาเหตุของโรคท้องเสีย ได้แก่

  • ยาปฏิชีวนะ แพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะหรือยาถ่ายพยาธิ เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย หรือปรสิต อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย
  • การใช้ยารักษาเฉพาะอาการ อาการท้องเสียอาจแสดงออกซึ่งสัญญาณของโรคอื่น ๆ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome: IBS) โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease: IBD) เช่น โรคโครห์น (Crohn’s disease) โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (Ulcerative colitis) โรคลำไส้อักเสบชนิดไมโครสโคปิก (Microscopic colitis) หรือภาวะแบคทีเรียที่เติบโตมากผิดปกติในลำไส้ เมื่อแพทย์สามารถระบุสาเหตุของอาการท้องเสียได้แล้ว แพทย์จึงจะสามารถทำการรักษาโรคได้อย่างตรงจุด
  • โปรไบโอติก (Probiotics) แพทย์อาจใช้โปรไบโอติก ซึ่งเป็นจุลชีพชนิดดีช่วยในการรักษา โดยจุลชีพเหล่านี้จะต่อสู้กับแบคทีเรียที่ไม่ดีอันเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยการให้โปรไบโอติก ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น

ท้องเสียป้องกันอย่างไร

ท้องเสีย สามารถป้องกันได้ โดยวิธีการดังนี้

  • ปฎิบัติตนตามหลักสุขอนามัยที่ดี ทำความสะอาดด้วยการหมั่นล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์ ทำความสะอาดมือและ อุปกรณ์ในการรับประทานอาหารก่อนและหลังการรับประทานอาหาร เป็นวิธีสำคัญในการป้องกันโรคท้องร่วง และช่วยการป้องกันโรคท้องเสียได้
  • รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรตาไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการท้องเสีย โดยเฉพาะในเด็กทารก 1 ปีขึ้นไป
  • การเก็บรักษาอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่รับประทานอาหารที่เสีย หรือบูด รับประทานอาหารที่ปรุงสุกเสมอ และจัดเก็บในภาชนะปิด
  • หลีกเลี่ยงอาหาร และน้ำที่ไม่สะอาด

ท้องเสียกินอะไรได้บ้าง

หากมีอาการท้องเสีย ไม่ว่า ท้องเสียแบบเฉียบพลัน หรือท้องเสียแบบเรื้อรัง ไม่ควรงดรับประทานอาหาร แต่ให้เลือกรับประทานอาหารอ่อน ที่สะอาด ปรุงสุก และย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุปเต้าหู้ เนื้อปลา ชดเชยภาวะร่างกายขาดน้ำ หรือภาวะร่างกายสูญเสีย วิตามิน เกลือแร่ หรือสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และอาหารมันจัด เนื่องจากทำให้เกิดการระคายเคืองของทางเดินอาหาร รวมทั้งอาจทำให้อาการท้องเสียแย่ลง

ท้องเสีย อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์

อาการท้องเสียเป็นอาการที่เราทุกคนสามารถพบเจอได้ในช่วงชีวิต อาการท้องเสียอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากร่างกายขาดน้ำ และการสูญเสียเกลือแร่ จนอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ สิ่งสำคัญคือ ต้องดื่มน้ำเกลือแร่ให้มาก ๆ เพื่อชดเชยของเหลวที่ร่างกายสูญเสียไป หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ล้างมือเป็นประจำ และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อวันเพื่อป้องกันโรคท้องเสีย

หากมีอาการท้องเสีย หรือมีอาการแทรกซ้อนจากท้องเสีย หรือมีอาการท้องเสียเรื้อรัง ควรรีบพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลที่มีความพร้อมของบุคคลาการทางการแพทย์ผู้ชำนาญการ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยเพื่อช่วยให้การวินิจฉัยโรคและการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

คำถามที่พบบ่อย

  • ท้องเสีย เกิดจากอะไร?
    ท้องเสีย หรืออุจจาระร่วง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิ ในระบบทางเดินอาหาร ทำให้ถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ ตั้งแต่ ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชม. โดยทั่วไปอาการท้องเสียมักเกิดขึ้นและอาจหายไปได้เองภายใน 2 - 3 วัน ในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้ร่างกายขาดสารน้ำจนอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
  • อุจจาระของผู้ที่มีอาการท้องเสีย มีกี่แบบ?
    อุจจาระของผู้ที่มีอาการท้องเสีย มีลักษณะโดยทั่วไป 2 แบบ แบบแรกคือ อุจจาระเป็นมูกเลือด หรือถ่ายเหลวมีเลือดปน ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง มีไข้ รู้สึกอยากขับถ่ายเป็นระยะแต่ถ่ายออกไม่มาก แบบที่ 2 อุจจาระเหลวเป็นน้ำ มีสีเหลือง หรือสีเขียวอ่อน ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อุจจาระจะมีสีขาวขุ่น คล้ายน้ำซาวข้าว อุจจาระมีกลิ่นคาว หรืออาจมีมัน คล้ายไขมัน ผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง ปวดเกร็ง ปวดบิด ร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน โดยปริมาณของอุจจาระในการถ่ายแต่ละครั้งอาจมีปริมาณมากจนทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย
  • ท้องเสีย มีสาเหตุจากอะไร?
    ท้องเสีย หรืออุจจาระร่วง ส่วนมากมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิตที่ปะปนอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่สะอาด รวมถึงสาเหตุอื่น ๆ เช่น ติดเชื้อไวรัสในกระเพาะอาหารและลำไส้ อาการแพ้น้ำตาลแลคโตส น้ำตาลฟรุกโตส โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือทานยารักษาโรคบางชนิด เช่นยาปฎิชีวนะ ยาต้านมะเร็ง และยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
  • ท้องเสีย มีอาการอย่างไร?
    ท้องเสีย หรืออุจจาระร่วงมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันไป ตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงระดับรุนแรง เช่น ปวดท้อง ปวดเกร็ง หรือปวดบิด ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ปวดศรีษะ เป็นต้น
  • ท้องเสียกินอะไรได้บ้าง?
    หากมีอาการท้องเสีย ไม่ว่า ท้องเสียแบบเฉียบพลัน หรือท้องเสียแบบเรื้อรัง ไม่ควรงดรับประทานอาหาร แต่ให้เลือกรับประทานอาหารอ่อน ที่สะอาด ปรุงสุก และย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุปเต้าหู้ เนื้อปลา ชดเชยภาวะร่างกายขาดน้ำ หรือภาวะร่างกายสูญเสีย วิตามิน เกลือแร่ หรือสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และอาหารมันจัด

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 21 ก.พ. 2023

แชร์