Dr Yongyut Kongthanarat

รังสีรักษาไม่ใช่ศัตรู แต่คือฮีโร่ที่ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งดีขึ้น

คำว่า รังสี ใครก็กลัว มองว่าไม่ใช่การรักษาแต่เป็นการทำร้ายเสียมากกว่า ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าขึ้นมากทำให้การรักษาแม่นยำ มีประสิทธิภาพจากประสบการณ์ของผม

แชร์

รังสีรักษาไม่ใช่ศัตรู แต่คือฮีโร่ที่ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งดีขึ้น 


“คำว่า รังสี ใครก็กลัว มองว่าไม่ใช่การรักษาแต่เป็นการทำร้ายเสียมากกว่า ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าขึ้นมากทำให้การรักษาแม่นยำ มีประสิทธิภาพจากประสบการณ์ของผม รังสีรักษาช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพ มีชีวิตที่ดี และสมศักดิ์ศรีในการเป็นมนุษย์”

“ขอบคุณโรคมะเร็ง ที่ทำให้ฉันได้มาที่นี่” ข้อความนี้มาจากแผ่นกระดาษความคิดเห็นที่ผู้ป่วยเขียนแล้วมอบเอาไว้ให้ศูนย์รังสีรักษา สะท้อนความสำเร็จในการให้บริการทางการแพทย์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยโรคร้ายได้กลับมามีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง

ความสำเร็จดังกล่าวคงเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ และเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างศูนย์รังสีรักษาให้กลายเป็นแสงแห่งความหวังในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ของ นพ.ยงยุทธ คงธนารัตน์

  • แพทย์นักประดิษฐ์ แห่งศูนย์รังสีรักษา

“ผมค่อนข้างมีความเป็นนักประดิษฐ์ ชอบคิด ชอบหาวิธีการเพื่อสิ่งใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเดิม”

คุณหมออธิบายถึงตัวตนเบื้องหลังบทบาทแพทย์เฉพาะทางไว้อย่างน่าสนใจ คุณหมอเล่าว่า การมาเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านรังสีรักษามะเร็งวิทยาที่ ศูนย์รังสีรักษา Light of Day Radiation Oncology Center โรงพยาบาลเมดพาร์ค เป็นหนึ่งในการเติมเต็มความสนใจ ความถนัด และนิสัยคิดริเริ่มของตนเอง

“เหตุผลที่ทำให้ผมสนใจรังสีรักษา เพราะเป็นงานที่ได้ใช้ทักษะการคิดคำนวณ ผมชอบคิดริเริ่ม และค้นหาวิธีการ วิธีปฏิบัติที่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในการรักษาผู้ป่วย โดยการใช้วิทยาการและเครื่องมือที่เรามี แล้วผมก็พบว่าเป็นงานที่ตัวเองถนัดและสามารถทำประโยชน์ได้”

“งานรังสีรักษา คือ วิทยาการทางการแพทย์ที่สามารถช่วยผู้ป่วยให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน ช่วยให้ก้อนมะเร็งที่สร้างอุปสรรคในการใช้ชีวิตมีขนาดเล็กลง ผู้ป่วยจะสบายตัวสบายใจขึ้น ท้ายที่สุด ไม่ว่าผลการรักษาเป็นอย่างไร คนไข้จะยังสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่เจ็บปวด นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมมองเห็นคุณค่า และรู้สึกมีความสุข เมื่อการรักษาของเราประสบความสำเร็จ หรือตอบสนองความต้องการของผู้ป่วย ที่กำลังทุกข์ใจและหวังมาพึ่งพาเรา”

กว่าจะมีปลายทางเป็นที่น่าพอใจ ก่อนหน้านี้คุณหมอต้องพบกับอุปสรรคทางสายวิชาชีพอยู่เล็กน้อย ช่วงที่เบนเข็มจากสูตินรีแพทย์สู่แพทย์รังสีรักษา การทำงานกับเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่เติบโตได้ช้าเมื่อหลายปีก่อน

“สมัยก่อนค่อนข้างอัตคัดทั้งด้านตำแหน่งงานและเครื่องมือ เพราะเครื่องฉายรังสีในประเทศไทยตอนนั้นยังมีอย่างจำกัด เท่าที่ผมจำได้น่าจะมีประมาณสิบโรงพยาบาลเท่านั้น ที่มีเครื่องมือนี้ บุคลากรเฉพาะทางด้านนี้ก็น้อยมากเช่นกัน”

  • ความช่วยเหลือที่มาพร้อมความเข้าใจ

ศูนย์รังสีรักษา Light of Day Radiation Oncology Center โรงพยาบาลเมดพาร์ค คือหนึ่งในความสำเร็จที่สำคัญ คุณหมอเป็นหนึ่งในผู้ที่ออกแบบให้ศูนย์ฯ นี้ให้ตอบโจทย์ทางวิทยาการการรักษา และความรู้สึกของผู้ป่วยอย่างสอดคล้องลงตัว เมื่อถามว่าอะไรที่ทำให้ตัดสินใจมีส่วนร่วมในการออกแบบ คุณหมอจึงเล่าให้ฟังว่า

“ผมเคยรับหน้าที่นายกสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมดูการทำงานของศูนย์ต่าง ๆ ภายใต้ความดูแลของสมาคม ได้เข้าไปช่วยให้คำปรึกษา และสอบถามความต้องการของทั้งเจ้าหน้าที่ บุคลากร รวมถึงผู้ป่วยเอง ผมจึงมีประสบการณ์และข้อมูล นำมาคิดวิเคราะห์ว่า การรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยรังสีรักษา จำเป็นต้องมีอะไรบ้าง สถานที่ เครื่องมือควรเป็นแบบไหน ถึงจะช่วยสนับสนุนให้บุคลากรทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งยังส่งเสริมความสะดวกใจสบายกายของผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษา ให้ประสบการณ์การมาโรงพยาบาลของผู้ป่วยไม่ใช่ความเหนื่อยหน่าย เจ็บปวด และหดหู่”

เมื่อมีโอกาสได้ร่วมออกแบบศูนย์รังสีรักษา คุณหมอจึงใช้โอกาสนี้ในการนำความรู้ ประสบการณ์ และความเข้าใจผู้ป่วยมะเร็งมาใช้ เพื่อให้ที่นี่ตอบโจทย์การรักษาในทุกด้าน ทั้งการรักษาทางกายภาพ และการสร้างเสริมความรู้สึกเชิงบวกให้ผู้ป่วย

ด้านงานโครงสร้าง ความหนาของผนังห้องฉายรังสีเป็นไปตามมาตรฐาน ที่ตั้งของศูนย์อยู่ในส่วนที่เหมาะสม เชื่อมต่อลิฟต์บริการและลานจอดรถได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องผ่านส่วนอื่น ๆ ของโรงพยาบาล ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใช้บริการได้อย่างสะดวกสบาย มีความเป็นส่วนตัว

เนื่องจากเทคโนโลยีในการรักษามีการเปลี่ยนแปลงก้าวหน้า สิ่งสำคัญคือการคิดเผื่ออนาคต นอกจากจะมีเครื่องฉายรังสีระยะไกลที่เพียงพอ มีเครื่อง CT Simulator สำหรับวางแผนการรักษา มีเทคโนโลยีการใส่แร่ที่ใช้สำหรับรักษาด้วยรังสีระยะใกล้ ก็ได้มีการเตรียมห้องสำหรับรองรับเครื่องมือหรือเทคโนโลยีใหม่ในวันข้างหน้าด้วย เพื่อที่ให้คนไข้ยังได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หากต้องมีการติดตั้งเทคโนโลยีการรักษาแบบใหม่

สำหรับทีมบุคลากร คุณหมอตั้งใจให้แผนการรักษาเป็นไปอย่างตรงจุดและเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย จึงกำหนดให้ในทีมมีผู้เชี่ยวชาญช่วยกันทำ Image-Guided Radiation Therapy (IGRT) คือ การปรับการฉายรังสี โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกวัน เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการรักษามากขึ้น นำมาซึ่งผลการรักษาที่ผู้ป่วยพึงพอใจที่สุด

  • สร้างความเข้าใจ เมื่อคนไข้คิดว่าฉายรังสีคือ ศัตรู

เมื่อถามถึงการรับมือกับผู้ป่วย หรือญาติผู้ป่วยที่มาพร้อมความวิตกกังวลในการฉายรังสี คุณหมอเอ่ยขึ้นทันทีว่าร้อยทั้งร้อย ใคร ๆ ก็กลัวพร้อมปรับสีหน้าจริงจังก่อนจะเล่าว่า ที่ศูนย์ฯ ต้องรับมือกับความวิตกกังวลเช่นนี้อยู่บ่อยครั้ง

“คนส่วนใหญ่มักกลัวการฉายแสง กลัวรังสีรักษา คำว่า รังสี ใครก็กลัว มองว่าไม่ใช่การรักษา แต่เป็นการทำร้ายเสียมากกว่า กลัวว่าจะเกิดผลกระทบต่อร่างกาย ฉายแสงแล้วจะโทรม เจ็บปวด บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยมาด้วยความกังวลใจ ไม่ใช่แค่ผู้ป่วย แต่ญาติผู้ป่วยก็ด้วย มันจึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะพูดคุย สร้างความเข้าใจ ให้ผู้ป่วยได้รู้ว่า หมอจะช่วยให้ดีขึ้นนะ ก้อนมะเร็งยุบ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องทรมาน และจะใช้ชีวิตได้มีความสุข สบายขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการรักษาโดยการใช้โรคศิลปะอย่างหนึ่ง”

นอกจากนี้ คุณหมอยังให้ข้อมูลว่า เครื่องมือฉายรังสีในปัจจุบัน ได้พัฒนาจากเครื่องมือที่ควบคุมทิศทางและปริมาณรังสีไม่ได้ สู่เครื่องมือที่ควบคุมทิศทางและปริมาณรังสีได้อย่างแม่นยำ ผลกระทบบริเวณข้างเคียงน้อย มีความละเอียดและเฉพาะเจาะจง จึงรักษาผู้ป่วยได้ตรงตามความต้องการเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งในอนาคตก็มีแนวโน้มว่าเครื่องมือเหล่านี้จะพัฒนาและมีประสิทธิภาพดีกว่าเดิมได้อีก การฉายรังสีจึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป

“มะเร็งบางจุด อาจเจ็บช่วงที่ฉายรังสี ผมจะแจ้งผู้ป่วยเสมอว่าต้องทนหน่อยนะ ถ้าผ่านไปได้ ผลลัพธ์จะดีแน่นอน ก้อนจะยุบ และไม่เจ็บปวดอีก ผู้ป่วยสู้ แพทย์ก็สู้ แต่การจะทำให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือ เราต้องเข้าใจเขาก่อน แล้วอธิบายด้วยความจริงใจ” คุณหมอให้คำแนะนำจากประสบการณ์ที่ผ่านมา

เมื่อถามถึงกิจกรรมยามว่าง งานอดิเรก หรือความชื่นชอบ สนใจ คุณหมอเล่าว่า นอกเหนือจากงานที่โรงพยาบาล ตนชอบใช้ชีวิตด้วยไลฟ์สไตล์ที่เรียบง่าย ออกกำลังกายทุกวัน วันละ 45 นาที เวลาว่างก็ไปรับประทานอาหารกับครอบครัว ได้เจอลูก ๆ หลาน ๆ นอกจากนี้ การรักษาผู้ป่วย ก็เป็นอีกหนึ่งในความชอบของคุณหมอเช่นกัน การทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ก็เป็นอีกวิธีที่จะทำให้ตนเองมีความสุขด้วย

“การทำงานตรงนี้ หลายต่อหลายครั้งเราเจอกับผู้ป่วยที่อาการหนักแล้ว มะเร็งลุกลามแล้ว ในความตั้งใจของผม นอกจากการรักษาให้ผู้ป่วยหายจากโรค คือการรักษาเพื่อให้หายจากความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน”

“ผมได้รับคำขอบคุณจากใจมากมายจากทั้งผู้ป่วย หรือญาติผู้ป่วยที่ถึงแม้ในท้ายที่สุด มะเร็งก็พรากคนที่พวกเขารักไป แต่สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ ไม่ทรมาน และสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นี่คือการช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่ และมอบความภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ผมมี”



นพ.ยงยุทธ คงธนารัตน์
แพทย์เฉพาะทางด้านรังสีรักษามะเร็งวิทยา
ประวัติแพทย์

 

เผยแพร่เมื่อ: 08 พ.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    นพ. ยงยุทธ คงธนารัตน์

    นพ. ยงยุทธ คงธนารัตน์

    • รังสีรักษามะเร็งวิทยา
    Radiation Oncology, Breast Cancer, มะเร็งต่อมลูกหมาก, Intensity-Modulated Radiotherapy (IMRT), Image-Guided Radiotherapy (IGRT), Stereotactic Radiotherapy (SRT), Stereotactic Radiosurgery (SRS)