จัดโต๊ะตามหลัก Ergonomics พิชิตออฟฟิศซินโดรม

จัดโต๊ะตามหลัก Ergonomics พิชิตออฟฟิศซินโดรม

การนั่งทำงานนาน ๆ อาจทำให้หลายคนเริ่มมีอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดตา รู้หรือไม่ว่าอาการเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะนำไปสู่ โรคออฟฟิศซินโดรม

แชร์

การนั่งทำงานนาน ๆ อาจทำให้หลายคนเริ่มมีอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดตา รู้หรือไม่ว่าอาการเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะนำไปสู่ โรคออฟฟิศซินโดรม เท่านั้นแต่อาจอันตรายจนเกิดภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท วันนี้ เมดพาร์ค ชวนทุกคนมาจัดโต๊ะทำงานให้ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ เพื่อปกป้องตัวเองจากโรคออฟฟิศซินโดรม

การยศาสตร์ หรือ Ergonomics คือแนวคิดที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับอุปกรณ์และสิ่งแวดล้อม เป็นศาสตร์ที่สามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละคน เพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

เมื่อพูดถึงพื้นที่ทำงาน เราทุกคนมักมีสไตล์การจัดวางสิ่งของบนโต๊ะที่แตกต่างกัน บางคนอาจชอบความเรียบง่าย หรือบางคนถนัดวางของจับรวมเป็นกลุ่มก้อน โต๊ะทำงานก็เปรียบเสมือนบ้านของคุณ ดังนั้น สิ่งของที่ใช้อยู่ตลอดเวลาจำเป็นต้องอยู่ในจุดที่สามารถหยิบจับง่าย แต่สิ่งของที่ใช้ไม่บ่อยนักก็จำเป็นจะต้องสามารถหาได้ง่ายเช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำว่า ควรแบ่งโต๊ะทำงานออกเป็นโซนที่สามารถเข้าถึงได้ โดยการจัดเรียงสิ่งของต่าง ๆ ตามความจำเป็นในการใช้งานในช่วงเวลาทำงานของคุณ นอกจากจะสะดวกแล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และช่วยให้มีสมาธิจดจ่อกับงานที่ทำ รวมถึงลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้ออีกด้วย

  • โซนแรก (Primary Zone) คือ จุดที่สามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายเพียงแค่ยืดแขนออกไป ในขณะที่ข้อศอกยังวางอยู่สบายๆข้างตัว พื้นที่นี้มักจะมีไว้สำหรับวางคีย์บอร์ดและเมาส์ ไม่แนะนำให้วางสิ่งอื่นไว้บริเวณโซนนี้ นอกจากว่าคุณจะใช้มันในปริมาณที่มากเท่ากับการใช้เมาส์และคีย์บอร์ด
  • โซนที่สอง (Secondary Zone) คือโซนที่จะสามารถเอื้อมถึงได้ด้วยการยืดแขนออก โดยไม่จำเป็นต้องเอนตัวหรือแอ่นเอว เพราะการที่ต้องเอนตัวหรือแอ่นเอวบ่อย ๆ อาจทำให้เกินอาการปวดกล้ามเนื้อและเป็นออฟฟิศซินโดรมในที่สุด บริเวณนี้จะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้บ่อย เช่น หนังสือ สมุดบันทึก หรือเครื่องเขียนต่าง ๆ 
  • โซนที่สาม (Third Zone) ควรจะเข้าถึงได้โดยการยืดแขน เอนตัวหรือแอ่นเอว และถึงแม้ว่าจะเป็นโซนที่สามารถหยิบของได้โดยไม่ต้องลุกขึ้นยืน แต่นี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำเป็นประจำ โซนนี้เหมาะสมสำหรับเก็บสิ่งของที่ใช้เป็นครั้งคราว หากพื้นที่ทำงานขยายไปเกินโซนนี้ (อย่างเช่นชั้นวางของแนวตั้งที่อยู่เหนือโต๊ะทำงาน) พื้นที่นี้ควรใช้สำหรับจัดเก็บสิ่งของเท่านั้น

นอกจากนี้ การใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมงต่อวันนั่งทำงานที่โต๊ะ ย่อมเกิดความไม่สบายตัว แต่เราสามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้ โดยการปรับระดับความสูงของเก้าอี้ให้เหมาะสม แต่ต่อให้เราจัดโต๊ะดีแค่ไหน ในระหว่างที่นั่งอยู่นั้นก็ควรยืดกล้ามเนื้อบ้าง ควรหมั่นลุกเดินบ่อย ๆ อย่างน้อยทุก 1 ชั่วโมง อาจเดินไปเข้าห้องน้ำ กดน้ำดื่ม เพื่อใช้งานกล้ามเนื้อ สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะทำงานจากที่ไหนก็ไม่ควรละเลยการดูแลตัวเองตามหลักการยศาสตร์

ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
ชั้น 5 เคาน์เตอร์ B โรงพยาบาลเมดพาร์ค
โทร. 02-0233333



เผยแพร่เมื่อ: 21 ม.ค. 2021

แชร์