การตรวจสุขภาพที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ (Essential health checkups for the elderly)

การตรวจสุขภาพที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ

การหมั่นสังเกตว่าร่างกายของเราเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่และการเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสําคัญที่ช่วยให้ตรวจพบโรคต่าง ๆ ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก

แชร์

การตรวจสุขภาพที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ

เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายของคนเราจะเสื่อมถอยลง การหมั่นสังเกตว่าร่างกายของเราเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่และการเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสําคัญที่ช่วยให้ตรวจพบโรคต่าง ๆ ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกและช่วยคงคุณภาพชีวิตที่ดีได้ยาวนานขึ้น

วัคซีนและการตรวจคัดกรองสําหรับผู้สูงอายุ

  • วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
    ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แนะนําให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี

  • วัคซีนบาดทะยักเข็มกระตุ้น
    แนะนำให้ทุกคนรับเข็มกระตุ้นทุก ๆ 10 ปี

  • วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด
    ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด

  • วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอกคัส
    ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปแนะนำให้รับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอกคัส เพื่อป้องกันโรคปอดบวมและการติดเชื้อต่างๆ เช่น การติดเชื้อที่หูชั้นใน ไซนัสอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

การตรวจความดันโลหิต

ผู้สูงอายุมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงมากขึ้นตามวัย ภาวะนี้ไม่แสดงอาการก่อนมีภาวะแทรกซ้อน ทำให้มีความดันโลหิตสูงโดยไม่รู้ตัวเป็นเวลานานหลายปี จึงรู้จักกันในนาม "มัจจุราชเงียบ" (silent killer) 64% ของผู้ชายและ 69% ของผู้หญิงอายุระหว่าง 65-74 ปีมีภาวะความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการดูแลควบคุมจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ ดังนั้นการตรวจความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น

ารตรวจระดับไขมันในเลือด

การตรวจเลือดเพื่อหาค่าระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ หากระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีในเลือดสูง แพทย์อาจแนะนำให้มีการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวัน อาหาร หรือให้รับประทานยา

การตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน

ความชุกของเบาหวานเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น จึงแนะนำให้ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมงเป็นประจำทุกปีในผู้ที่มีอายุ ตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หรือให้ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบ HbA1C ได้

การทดสอบการได้ยิน

อาการหูตึงหรือสูญเสียการได้ยินนั้นเป็นไปตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียการได้ยินที่คลื่นความถี่สูง จึงควรได้รับการตรวจคัดกรองทุก 2 - 3 ปี

การตรวจช่องปาก

ปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ คือ การสูญเสียฟัน ซึ่งมักเกิดจากฟันผุ รากฟันผุ หรือปริทันต์อักเสบ ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงที่พบได้ในผู้สูงอายุ เช่น ภาวะเหงือกร่น ปากแห้ง น้ำลายน้อย หรือความสามารถในการดูแลตัวเองที่ลดลง ทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียฟันได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถตรวจหาสัญญาณเริ่มต้นของโรคมะเร็งช่องปากและโรคอื่นๆ ได้ ดังนั้นจึงแนะนำการตรวจคัดกรองสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

การตรวจผิวหนัง

หมั่นสังเกตและพบแพทย์หากพบไฝขึ้นใหม่หรือไฝที่มีลักษณะผิดปกติ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสีผิว ก้อน หรือแผลเรื้อรัง ควรเข้ารับการวินิจฉัยและรักษา

การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์

เป็นการตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบการทํางานของต่อมไทรอยด์ซึ่งควบคุมระบบการเผาผลาญของร่างกาย หากผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้ไม่เพียงพออาจนําไปสู่ปัญหาทางด้านสุขภาพ เช่น น้ำหนักเพิ่มขึ้น รู้สึกเฉื่อยชา ปวดเมื่อยตัว หรือภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย หรือในรายที่พบฮอร์โมนไทรอยด์เกินระดับปกติ จะส่งผลให้เกิดน้ำหนักลดอย่างไม่ตั้งใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เหงื่อออกง่าย ใจสั่น ได้ เป็นต้น

การตรวจความหนาแน่นของกระดูก

สําหรับผู้หญิงอายุมากกว่า 65 ปี หรือผู้ชายอายุมากกว่า 70 ปี ควรได้รับการตรวจความหนาแน่นของกระดูกเพื่อดูมวลและความแข็งแรงของกระดูก โรคกระดูกพรุนนั้นเกิดขึ้นได้ในเพศชายและเพศหญิง แต่เพศหญิงในวัยหมดประจำเดือนจะมีความเสี่ยงสูงมากกว่า โรคกระดูกพรุนนี้อาจนำมาซึ่งภาวะกระดูกหักจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงได้จึงควรให้การตระหนัก

การตรวจระดับวิตามินดีในร่างกาย

ภาวะวิตามินดีต่ำมีอุบัติการณ์สูง วิตามินดีมีความสำคัญต่อการควบคุมระดับแคลเซียมในร่างกาย การขาดวิตามินดีทำให้ภาวะกระดูกกพรุนแย่ลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก ดังนั้นจึงแนะนำให้ตรวจวัดระดับวิตามินดีในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการขาดวิตามินดี ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน นอกจากนี้ระดับวิตามินดีที่ปกติ ยังมีส่วนช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง และช่วยคงมวลและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดความเสี่ยงของการหกล้มในผู้สูงอายุได้อีกด้วย

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

ผู้หญิงอายุระหว่าง 40-69 ปีที่ไม่มีอาการผิดปกติ ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ ร่วมกับตรวจโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมทุก 1 ปี และตรวจด้วยเครื่องถ่ายภาพรังสีเต้านม (mammography) ทุก 1-2 ปี

การคัดกรองตรวจมะเร็งลําไส้ใหญ่และทวารหนัก

มะเร็งลำไส้ใหญ่นับเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย อายุที่มากขึ้นหรือการมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลําไส้ใหญ่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สําคัญ การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เป็นการตรวจภายในลำไส้ทั้งหมดว่ามีรอยโรคที่สงสัยมะเร็งหรือไม่  ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทุก 10 ปี หากเคยตรวจพบติ่งเนื้อมะเร็งหรือญาติสายตรงเป็นหรือเคยเป็นมะเร็งลําไส้ใหญ่และทวารหนัก ควรเริ่มเข้ารับการตรวจคัดกรองให้เร็วขึ้นและบ่อยขึ้น การพบมะเร็งในระยะเริ่มแรกจะทำให้โอกาสที่จะหายขาดมากขึ้น

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

การตรวจภายในและการตรวจแปปสเมียร์ (Pap smear) เป็นประจําจะช่วยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยแนะนำให้ตรวจทุก 3 ปีจนถึงอายุ 65 ปี หากมีผลการตรวจที่ปกติติดต่อกันสองปี และหากผลการตรวจปกติติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี สามารถหยุดตรวจได้ นอกจากนี้การตรวจภายในยังช่วยตรวจวินิจฉัย ก้อนที่รังไข่หรือมดลูก รวมไปถึงการตรวจหาสาเหตุและวินิจฉัยกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ที่พบบ่อยมากขึ้นในผู้สูงอายุได้อีกด้วย

การตรวจคัดกรองโรคตา

ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจสายตาเพื่อตรวจการมองเห็นที่อาจเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากอายุที่มากขึ้นและโรคตาอื่น ๆ เช่น ต้อกระจก ต้อหิน หรือจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุซึ่งเป็นสาเหตุสําคัญของการสูญเสียการมองเห็น

การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก

ในผู้ชายอายุมากกว่า 50 ปี หรือผู้ชายอายุมากกว่า 40 ปีที่มีประวัติโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในครอบครัว อาจทำการตรวจทางทวารหนัก (Digital Rectal Examination) ร่วมกับตรวจเลือดเพื่อดูระดับ Prostate-Specific Antigen (PSA) เพื่อคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก อย่างไรก็ตามแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนการตรวจ ถึงเรื่องประโยชน์และปัจจัยเสี่ยงในผู้ป่วยแต่ละคน




บทความโดย
ผศ.พญ.ศิรสา เรืองฤทธิ์ชาญกุล

อายุรแพทย์ผู้ชำนาษการด้านอายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ
ประวัติแพทย์

เผยแพร่เมื่อ: 07 ก.พ. 2023

แชร์