Covid Vaccination FAQ Med Park Hospital.jpg

คำถามที่พบบ่อย (FAQ) เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลเมดพาร์ค

แชร์

วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ขณะนี้มีกี่ชนิด

ปัจจุบัน (17 พ.ค. 2564) วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีให้บริการแล้วในประเทศไทยโดยผ่านการจัดสรรของรัฐบาลมีอยู่ 2 ชนิด คือ วัคซีนป้องกันโควิด 19 แอสตร้าเซนเนกา (COVID-19 Vaccine AstraZeneca) และซิโนแวค (Sinovac) อย่างไรก็ตามมีวัคซีนอีก 3 บริษัท ที่อยู่ในแผนการจัดสรรของรัฐบาลคือ Johnson & Johnson, Sputnik V และ Pfizer BioNTech มีวัคซีนของบริษัทอื่นๆ ซึ่งเป็นทางเลือกให้กับประชาชนต่อไปในอนาคต เช่น Moderna ซึ่งผ่านการอนุมัติจากอย.แล้ว อยู่ในระหว่างขั้นตอนเจรจา และ Novavax ที่อยู่ในขั้นตอนเจรจาและรออนุมัติจาก อย.

ชนิดของวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคโควิด 19 ในประเทศไทย (วัคซีนที่อนุมัติแล้วและชนิดที่รออย.พิจารณา) มีอยู่ 3 ชนิดหลัก ๆ โดยแบ่งจากเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตวัคซีนโควิด 19 ได้แก่

วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมในการผลิต

  1. วัคซีนโควิด 19 ชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccines)  ได้แก่ วัคซีน Sinovac ผลิตโดยการเพาะเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในห้องปฏิบัติการนิรภัยโดยใช้เซลล์เพาะเลี้ยง Vero cell ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันมานานในการผลิตวัคซีนชนิดต่างๆ ผ่านการทำให้เชื้อตายโดยสารเคมี เมื่อฉีดวัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส เสมือนได้รับเชื้อแต่ไม่ทำให้เกิดโรคเนื่องจากเป็นเชื้อที่ตายแล้ว วิธีนี้เป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่ใช้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ (ชนิดฉีด) วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ และโรคพิษสุนัขบ้า

 

วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการผลิต

  1. วัคซีนโควิด 19 ชนิดสารพันธุกรรม (mRNA vaccines) ได้แก่ วัคซีนของบริษัท Pfizer และ Moderna ซึ่งใช้เทคโนโลยีใหม่ในการสังเคราะห์สารพันธุกรรม mRNA ของโปรตีนส่วนหนาม (spike protein) ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้ว.ใช้สารนาโนพาร์ติเคิล (Lipid nanoparticle) ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์จากไขมัน เพื่อเป็นตัวส่งเอ็มอาร์เอ็นเอให้เข้าเซลล์ และเอ็มอาร์เอ็นเอจึงไปกำกับให้เซลล์ผลิตสารโปรตีนสไปค์ ทำให้เซลล์ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย สร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านเชื้อไวรัสโควิด 19  
  2. วัคซีนโควิด 19 ชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector vaccines)  วัคซีนกลุ่มนี้ใช้ ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) เป็นไวรัสพาหะ โดยนำสารพันธุกรรมที่กำกับการสร้าง โปรตีนส่วนหนาม (spike protein) มาสอดใส่ในไวรัสพาหะ  ที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ (ไม่สามารถแบ่งตัวและทำให้เกิดโรค) เพื่อใช้เป็นพาหะนำสารพันธุกรรมเข้าเซลล์ และกำกับการสร้างโปรตีนส่วนหนาม (spike protein) เพื่อทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา ได้แก่วัคซีนของ วัคซีนโควิดแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) , Johnson & Johnson, Sputnik V

ข้อมูลที่ต้องแจ้งก่อนรับการฉีดวัคซีน

  • โรคประจำตัว
  • ประวัติการเกิด ลิ่มเลือดอุดตัน หรือ การได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
  • ประวัติการแพ้ยา วัคซีน หรือสารอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงจนอาจอันตรายถึงชีวิต
  • เป็นผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรืออยู่ระหว่างใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น สเตียรอยด์ขนาดสูง ยารักษาโรคมะเร็ง
  • ตั้งครรภ์ วางแผนการตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร
  • มีอาการข้างเคียง (ทุกกรณี) หลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก
  • มีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน (หากมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงแพทย์อาจพิจารณาให้เลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน)

 

กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้หรือไม่

ขณะนี้ (17 พฤษภาคม 2564) ยังไม่มีข้อมูลการศึกษารองรับความปลอดภัยเกี่ยวกับการให้วัคซีนโควิด 19 ใน กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร อย่างไรก็ สามารถเลือกฉีดได้หากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง เนื่องจากการติดเชื้อในสตรีตั้งครรภ์มีโอกาสที่จะรุนแรงมากกว่าคนปกติและมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด ดังนั้นแนะนำให้ปรึกษาสูตินารีแพทย์ที่ดูแลก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19  เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญช่วยในการประเมิน

หากจำเป็นต้องฉีดแนะนำให้ฉีดเป็นวัคซีนเชื้อตาย และฉีดในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์

 

สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้เด็กได้หรือไม่

ปัจจุบัน (17 พฤษภาคม 2564) ยังไม่มีข้อมูลการศึกษารองรับเกี่ยวกับการให้วัคซีนโควิด 19 ในเด็ก แต่วัคซีนส่วนใหญ่ได้รับรองให้ใช้ในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ยกเว้นวัคซีนของ Pfizer-BioNTech ที่รองรับให้ใช้ในผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ (ข้อมูล ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2564)

 

ผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้หรือไม่

ข้อมูลแนะนำการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยมะเร็ง อ้างอิงจากแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ใช้วัคซีนของบริษัท Pfizer และ Moderna เป็นหลัก

ส่วนข้อมูลของประเทศไทยนั้นอ้างอิงตามการ ข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ อย ไทย ซึ่งเป็นผู้พิจารณาประโยชน์ที่ได้รับ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น

 

ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีอยู่สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่


มีประจำเดือนหรือกำลังจะมีประจำเดือน ฉีดวัคซีนได้หรือไม่

สามารถฉีดได้ ไม่ได้มีข้อห้าม

 

ผู้หญิงที่มีการใช้ยาคุมประเภทต่างๆ สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่

สามารถฉีดได้ ผู้ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนที่มีเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบ มีผลเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูล ปัจจุบันซึ่งรวบรวมจากผลศึกษาวัคซีนโควิดทั่วโลก ไม่พบว่ามีการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดอุดตันแต่อย่างใด

ผู้ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนทุกชนิดสามารถรับการฉีดวัคซีนได้โดยไม่จำเป็นต้องหยุดการใช้ หากยังมีความกังวลใจและต้องการหยุดการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นๆ มาทดแทนเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์

Ref: ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย

 

ข้อมูลดังต่อไปนี้อ้างอิงจากแนวทางเวชปฏิบัติการให้วัคซีนโควิด 19 โดย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ฉบับวันที่ 25 พค 2564

  1. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวซึ่งอยู่ในภาวะคงที่ เช่น
    • โรคความดันเลือดสูงหรือโรคเบาหวานซึ่งไม่มีภาวะ วิกฤตแม้ยังควบคุมระดับความดันเลือดหรือระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ตามเป้าหมาย
    • โรคหัวใจและหลอดเลือดต่าง ๆ
    • โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
    • โรคติดเชื้อเอชไอวี
    • โรคข้ออักเสบ / โรคแพ้ภูมิตัวเอง
    • โรคสะเก็ดเงิน โรคภูมิแพ้
    • ภาวะสมองเสื่อม อัมพาต อัมพฤกษ์
    • โรคไตเรื้อรัง ผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบาง
    • โรคหืด / ปอดอุดกั้นเรื้อรัง
    • ผู้ป่วยโรคไขกระดูก ฝ่อ (aplastic anemia) ไขกระดูกทำงานผิดปกติ (MDS หรือ MPN)
  1. ผู้ป่วยที่ได้รับหรืออยู่ระหว่างได้รับการบำบัดด้วยยาและวิธีการต่าง ๆ เช่น เคมีบำบัด รังสีรักษา การบำบัดทดแทนไต ยากดภูมิคุ้มกันที่อาการของโรคสงบ เลือดหรือผลิตภัณฑ์จากเลือดทุกชนิด อิมมูโนโกลบูลินเข้าหลอด เลือดดำ ยาสูดสเตียรอยด์ยาควบคุมอาการของโรคต่าง ๆ
  2. ผู้ป่วยที่ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับทราบข้อมูลได้ (เช่น ผู้ป่วยสมองเสื่อม ผู้ป่วยติดเตียง) ควรให้บุคคลซึ่ง เป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์รับทราบข้อมูลและตัดสินใจแทน
  3. ผู้ดูแลหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว
  4. ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดด้วยแอนติบอดี (antibody therapy) หรือได้รับยาแอนติบอดี (antibody drugs: -mab) แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อน
    • ผู้ป่วยโควิด 19 ที่เคยได้รับการบำบัดด้วยพลาสมาจากผู้ป่วยที่หายจากโควิด 19 แนะนำให้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้เมื่อพ้น 3 เดือนหลังได้รับการบำบัดดังกล่าว
    • ผู้ป่วยที่ได้รับยา rituximab แนะนำให้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้เมื่อพ้น 1 เดือนหลังได้รับยา ดังกล่าว หรือก่อนให้ยา rituximab ครั้งแรกอย่างน้อย 14 วัน

 

สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่างชนิด/ยี่ห้อ ระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ได้หรือไม่

ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษารองรับกรณีการฉีดสลับชนิด จึงยังคงแนะนำให้ฉีดชนิดเดียวกันไปเพื่อให้มั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด จนกว่าจะมีการศึกษาวิจัยออกมาเพิ่มเติม

 

สำหรับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคโควิด 19 มาก่อน ยังจำเป็นต้องได้รับวัคซีนโควิด 19 หรือไม่

สำหรับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคโควิด 19 มาก่อน แม้จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด 19 ในร่างกาย แต่ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาของภูมิคุ้มกันในร่างกายที่จะป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ครั้งต่อไปและยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้
ดังนั้นจึงควรได้รับวัคซีนโควิด 19 เสมอแม้ว่าจะเคยเป็นโรคโควิด 19 มาก่อนก็ตาม โดยเว้นระยะห่างจากการติดเชื้อไปอย่างน้อย 3-6 เดือน ไม่จำเป็นต้องตรวจการติดเชื้อก่อนฉีดวัคซีน เพราะแม้จะเคยเป็นมาก่อน ทั้งนี้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนรับการฉีดวัคซีน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่มากพอว่าฉีด 1 เข็มนั้นจะ เพียงพอ สำหรับการป้องกันการติดเชื้อในระยะยาวได้เพียงพอหรือไม่

 

วัคซีนโควิด-19 สามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้หรือไม่

วัคซีนที่ผลิตในปัจจุบันพัฒนามาจากไวรัสที่ระบาดในช่วงแรก จึงอาจทำให้ประสิทธิภาพ ในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ลดลง อย่างไรก็ดีวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดต่อไวรัสกลายพันธุ์แต่ละสายพันธ์มีความแตกต่างกัน จำเป็นต้องติดตามข้อมูลการศึกษา มีความเป็นไปได้ว่าต้องฉีดวัคซีนต่อไวรัสกลายพันธุ์ซ้ำในอนาคต

 

สามารถฉีดวัคซีนอื่น เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนป้องกันโรค คอตีบ-บาดทะยัก วัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน พร้อมกับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในคราวเดียวกันได้หรือไม่ หากไม่สามารถให้พร้อมกันได้ ควรเว้นระยะห่างนานเท่าไหร่

เนื่องจากวัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนที่ผลิตออกมาไม่นาน และยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการให้วัคซีนนี้ควบคู่กับวัคซีนอื่น จึงแนะนำให้เลี่ยงการรับวัคซีนโควิด 19 และวัคซีนชนิดอื่นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนโควิดและวัคซีนที่ต้องการใช้ร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีนพร้อมกันและการรบกวนการสร้างภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ดีวัคซีนที่มีความจำเป็น เช่น เมื่อถูกสัตว์กัดให้ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องทิ้งช่วงเวลาเนื่องจากความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้าสูงกว่า

 

ข้อควรพิจารณาในการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด

  1. ในกรณีผู้ป่วยเพิ่งมีอาการหรืออาการยังไม่คงที่ หรือยังมีอาการที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน หรือ ภาวะหัวใจล้มเหลว เฉียบพลัน ให้รอจนกว่าอาการดีขึ้นและคงที่ จึงจะฉีดวัคซีน ทั้งนี้ ไม่มีข้อกำหนดเวลาที่ชัดเจน ให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาเป็นรายๆไป โดยอาจให้เมื่อผู้ป่วยมีอาการคงที่พร้อมที่จะให้กลับบ้าน หรือ ช่วงที่ติดตามการรักษาแบบผู้ป่วยนอก
  2. ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ ยกเว้นมีภาวะความดันโลหิตสูงที่เป็นอันตรายเฉียบพลัน ให้รักษาจนพ้นภาวะฉุกเฉินแล้วจึงฉีดวัคซีน
  3. ในกรณีที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดวาร์ฟาริน ถ้าระดับ ค่าการแข็งตัวของเลือด INR ที่น้อยกว่า 4 หรือ รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดอื่นๆ สามารถฉีดวัคซีนได้ หลังฉีดให้กดนานอย่างน้อย 5 นาที


สอบถามเพิ่มเติมได้ที่
Covid Vaccine Center 02-0903170, 02-0903172, 02-0903173
ทุกวัน ตั้งแต่ 8:00 - 20:00 น.
นอกเวลาทำการ ติดต่อ 02-0233333

เผยแพร่เมื่อ: 06 มิ.ย. 2021

แชร์