โฟลิกกับการตั้งครรภ์ สารอาหารที่สำคัญต่อแม่และทารกในครรภ์
กรดโฟลิก หรือวิตามินบี 9 เป็นสารอาหารที่สำคัญในกระบวนการสร้างสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ ซึ่งสำคัญต่อการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ การปฏิสนธิและการตั้งครรภ์ โดยศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) แนะนำให้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ทุกคน ได้รับกรดโฟลิกเสริมวันละ 0.4 - 0.8 มิลลิกรัม เพื่อป้องกันภาวะพิการทางระบบประสาทจากหลอดประสาทไม่ปิดในเด็ก
โดยปกติแล้วการพัฒนาของทารกในครรภ์ตอนอายุครรภ์ประมาณ 2 สัปดาห์ จะมีการสร้างหลอดประสาทซึ่งจะพัฒนาไปเป็นสมองและไขสันหลังของทารกในอนาคต
กรณีที่ฝ่ายหญิงขาดกรดโฟลิก อาจทำให้การพัฒนาของหลอดประสาทไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิดของสมองและไขสันหลัง เช่น ภาวะทารกไม่มีสมอง (anencephaly) ซึ่งไม่สามารถมีชีวิตรอดได้หลังคลอด หรือมีก้อนยื่นที่บริเวณแนวสันหลังซึ่งจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดหลังคลอด
โฟลิกเป็นสารอาหารที่มีมากในผักผลไม้สด เช่น
- ดอกกะหล่ำ
- ดอกและใบกุยช่าย
- มะเขือเทศ
- แตงกวา
- หน่อไม้ฝรั่ง
- ส้ม
- องุ่นเขียว
- สตรอเบอรี่
- ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง
- ตับ
แต่โฟลิกจะถูกทำลายได้ง่าย เมื่อถูกความร้อนเป็นเวลานานในการปรุงอาหาร ถ้ากินอาหารหรือปรุงอาหารไม่ถูกต้อง อาจทำให้ร่างกายได้รับโฟลิกไม่เพียงพอ โดยในประเทศไทยมีการศึกษาพบว่า สตรีไทยอายุระหว่าง 15 – 45 ปี ร้อยละ 65.5 มีระดับโฟลิกในเลือดต่ำกว่าปริมาณที่เหมาะสม
ไม่เพียงแต่การป้องกันความพิการในบุตรเท่านั้น จากการศึกษาในระยะหลังยังพบว่า การรับประทานโฟลิกมีผลดีต่อการมีบุตร อาจช่วยให้มีบุตรง่ายขึ้น ลดภาวะไข่ไม่ตก ภาวะแท้ง รวมถึงพบว่า ช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ในผู้มาทำเด็กหลอดแก้วด้วย
โดยผลดังกล่าวจะเกิดในกรณีที่ได้รับโฟลิกเสริมในปริมาณที่มากกว่าขนาดที่ป้องกันความพิการในบุตร ในการศึกษากลุ่มหญิงมีบุตรยากที่ทำเด็กหลอดแก้ว พบว่า กลุ่มที่รับประทานโฟลิกมากกว่า 0.8 มิลลิกรัมต่อวัน มีอัตราความสำเร็จของการมีบุตรสูงกว่ากลุ่มที่รับประทานโฟลิกน้อยกว่า 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน
โดยสรุปแล้วแนะนำให้ผู้ที่เตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร รวมถึงผู้มีบุตรยากฝ่ายหญิงรับประทานโฟลิกเสริม เพื่อลดการเกิดความพิการทางระบบประสาทจากหลอดประสาทไม่ปิดในบุตร และเพิ่มภาวะการเจริญพันธุ์ โดยแนะนำให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนที่เตรียมพร้อมจะตั้งครรภ์ ควรได้รับโฟลิกอย่างน้อยวันละ 400 ไมโครกรัม
บทความโดย
พญ.พิมพกา ชวนะเวสน์
สูตินรีแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และสตรีวัยหมดประจำเดือน
ประวัติแพทย์
คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก