อาการ สาเหตุ การตรวจวินิฉัย และการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Heart arrhythmia)

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

หัวใจเต้นผิดปกติ เนื่องจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในหัวใจ อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ใจสั่นหรือใจเต้นรัว ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภทไม่เป็นอันตราย แต่บางประเภทอาจก็เป็นอันตรายถึงชีวิต

แชร์

เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน


โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

หัวใจของคนเราจะเต้นเร็วขึ้นเวลาเราทำกิจกรรม เช่น การออกกำลังกาย และเต้นช้าลงเวลานอนหลับ หากหัวใจเต้นผิดปกติ เนื่องจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในหัวใจ อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ใจสั่นหรือใจเต้นรัว ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภทไม่เป็นอันตราย แต่บางประเภทอาจก็เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ในการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์อาจให้รับประทานยา ใส่สายสวน หรือฝังอุปกรณ์ อย่างไรก็ตามการดำเนินชีวิตแบบรักษาสุขภาพสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้

ประเภทของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (Tachycardia) เกิดขึ้นเมื่ออัตราการเต้นของหัวใจในเวลาปกติมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที
  • ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia) เกิดขึ้นเมื่ออัตราการเต้นของหัวใจในเวลาปกติน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที

ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ

สามารถจําแนกออกได้ดังนี้

  • ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation) เนื่องจากกระแสไฟฟ้าในหัวใจกระจัดกระจายไม่เป็นจังหวะ ทำให้การเต้นของหัวใจเร็ว ไม่พร้อมเพรียงกัน หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้มีอาการต่อเนื่องเป็นระลอก ภาวะหัวใจห้องบนสั้นพลิ้วอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่สําคัญ เช่น โรคหลอดเลือดสมองอุดตันเฉียบพลันโดยลิ่มเลือดที่หลุดออกจากห้องหัวใจ
  • ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Atrial flutter) เกิดขึ้นจากการที่หัวใจห้องบนเต้นเร็วเกินไป แต่เป็นจังหวะมากกว่าภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติอาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง
  • ภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ (Supraventricular tachycardia) เนื่องจากการเต้นที่ผิดปกติของหัวใจห้องบน อาจทำให้รู้สึกใจสั่น
  • ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องล่าง (Ventricular tachycardia) เป็นการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะเนื่องจากกระแสไฟฟ้าในหัวใจห้องล่างผิดปกติ หัวใจเต้นเร็วมากจนไม่สามารถกักเก็บเลือดในหัวใจห้องล่างได้เพียงพอก่อนที่จะสูบฉีดไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ในรายที่หัวใจแข็งแรงดีอาจไม่แสดงอาการใด ๆ แต่ในรายที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้วภาวะดังกล่าวถือว่าเป็นอันตราย
  • ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว (Ventricular fibrillation) เป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ร้ายแรงไม่มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจไม่มีการสูบฉีดเลือด ไม่มีการไหลเวียน ไม่มีชีพจร ผู้ป่วยอยู่ในภาวะหัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest) หากไม่ได้รับการรักษาด้วยการกู้ชีพ (CPR) และการช็อกไฟฟ้าหัวใจ (Defibrillation) ผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลาไม่กี่นาที

ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ

  • โรคปมไฟฟ้าหัวใจเสื่อม (Sick sinus syndrome) เป็นความผิดปกติเนื่องจากของการเต้นของหัวใจซึ่งพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ รอยแผลบริเวณ Sinus node หรือกลุ่มเซลล์ที่อยู่บนผนังหัวใจห้องบนขวารบกวนกระแสไฟฟ้า ทําให้หัวใจเต้นช้าหรือหยุดเต้นชั่วคราวเป็นระยะเวลานานหลายวินาที ทำให้เกิดอาการเหนื่อยหรือหน้ามืดหมดสติ บางรายอาจมีภาวะหัวใจเต้นเร็วสลับช้าด้วย
  • การอุดกั้นของการนำไฟฟ้า (Conduction block) เกิดจากการที่เส้นทางการเดินของกระแสไฟฟ้าถูกปิดกั้น สัญญานไฟฟ้าจากห้องบนไม่สามารถส่งต่อไปห้องล่าง ทำให้หัวใจเต้นช้าลงหรือหยุดเต้น

ภาวะหัวใจเต้นสะดุด

ภาวะหัวใจเต้นสะดุดคืออาการที่หัวใจมีจังหวะเต้นเพิ่มเกินขึ้นมาจากหัวใจห้องบนหรือห้องล่าง ทำให้รู้สึกว่าหัวใจ เต้นไม่เป็นจังหวะ โดยปกติแล้วภาวะดังกล่าวไม่น่าเป็นห่วง แต่อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในรายที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว โดยอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจอ่อนแอในรายที่ภาวะหัวใจเต้นสะดุดบ่อยและยาวนาน ภาวะหัวใจเต้นสะดุดเกิดขึ้นได้ระหว่างพักผ่อน ออกกําลังกายอย่างหนัก หรือได้รับสารกระตุ้น เช่น นิโคตินหรือคาเฟอีน

อาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การเต้นของหัวใจที่ผิดปกตินั้นอาจไม่แสดงอาการใด ๆ และมักบังเอิญตรวจพบระหว่างการตรวจอาการอื่น ๆ สัญญาณและอาการบางอย่างของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งอาจพบได้ ได้แก่

  • อาการเจ็บหน้าอก
  • หายใจไม่ทัน
  • ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
  • ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
  • หัวใจเต้นรัว
  • วิงเวียน
  • เหงื่อออก
  • เป็นลม หมดสติ
  • อ่อนเพลีย
  • เกิดความกังวล

ควรพบแพทย์เมื่อไร

ควรพบแพทย์หากมีอาการหายใจไม่ทัน วิงเวียนศีรษะ เป็นลม เจ็บหน้าอก และรู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วเกินไป ช้าเกินไป หรือไม่เป็นจังหวะ

ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัวทําให้ความดันโลหิตลดลงอย่างมาก อาจทำให้หมดสติเฉียบพลัน ชีพจรและการหายใจจะหยุดลงในที่สุด หากเกิดภาวะดังกล่าว ควรโทรเรียกรถพยาบาลทันที หากมีผู้รู้วิธีกู้ชีพ CPR ควรช่วยกู้ชีพ CPR กดหน้าอกให้แรงและเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที หากมีเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าหรือเครื่อง AED และเคยฝึก ใช้เป็น ควรรีบใช้เครื่อง AED เพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต

สัญญาณไฟฟ้าหัวใจของเราทํางานอย่างไร

หัวใจของเราประกอบด้วย 4 ห้อง - ห้องบน 2 ห้อง และห้องล่าง 2 ห้อง

Sinus node หรือกลุ่มเซลล์ที่อยู่บนผนังหัวใจห้องบนขวา ทำหน้าที่เป็นตัวคุมจังหวะการเต้นของหัวใจตามธรรมชาติ โดยเป็นจุดเริ่มของการสร้างสัญญานไฟฟ้าหัวใจและสัญญานไฟฟ้าจะถูกส่งไปกระตุ้นหัวใจห้องบนทั้ง 2 ด้านก่อน จากนั้นสัญญานจะส่งผ่านไปจุดเชื่อมต่อระหว่างหัวใจห้องบนและหัวใจห้องล่าง เรียกว่า AV node ซึ่งทำหน้าที่ชะลอสัญญาณเล็กน้อยเพื่อให้จังหวะการบีบสูบฉีดเลือดห้องบนลงมาห้องล่าง เติมเลือดเต็มห้องล่าง ก่อนสัญญาณกระตุ้นห้องล่างให้บีบตัวจะมาถึง การควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจระหว่างห้องบนห้องล่างอย่างเหมาะสม ทำให้มีประสิทธิภาพสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดีที่สุด ในขณะพักอัตราการเต้นหัวใจส่วนใหญ่ประมาณ 50-90 ครั้งต่อนาที  

สาเหตุโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ 

การเต้นของหัวใจที่ผิดปกติอาจเกิดจากสาเหตุ ดังต่อไปนี้

  • พันธุกรรม
  • ความเครียด
  • การสูบบุหรี่ การใช้ยาเสพติด การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนมากเกินไป
  • โรคเบาหวาน
  • ความดันโลหิตสูง
  • ไทรอยด์เป็นพิษ
  • ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์
  • การหยุดหายใจขณะหลับ
  • การติดเชื้อไวรัส โควิด 19
  • หัวใจวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ

ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • ความดันโลหิตสูง
  • โรคหัวใจพิการแต่กําเนิด
  • โรคทางต่อมไทรอยด์
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
  • โรคหัวใจ
  • ภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย
  • ยาและอาหารเสริมบางชนิด
  • บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • คาเฟอีน นิโคติน หรือการใช้ยาที่ผิดกฎหมาย

ภาวะแทรกซ้อนจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • เหนื่อยง่าย
  • หัวใจล้มเหลว
  • หน้ามืด หมดสติ เป็นลม
  • หัวใจวาย
  • เกิดลิ่มเลือดในหัวใจและหลุดไปตามกระแสเลือดไปอุดตันอวัยวะต่าง ๆ เช่น เส้นเลือดสมองทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต เส้นเลือดขาดเลือดที่ขาจะทำให้เท้าและขาขาดเลือด อาจถึงขั้น นิ้วเท้า ปลายเท้าตาย (gangrene)

การป้องกันโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อหัวใจ
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่เกณฑ์
  • เลิกสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์
  • หากมีโรคหัวใจ ควรมาพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงความเครียดหรืออารมณ์โกรธ เพราะจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว

การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกาย สอบถามโรคประจำตัวของผู้ป่วย แพทย์อาจให้ทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยว่ามีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ ชนิดใด บ่อยและรุนแรงแค่ไหน และตรวจหาสาเหตุอาการ เช่น โรคต่อมไทรอยด์หรือโรคหัวใจ

วิธีการตรวจสอบวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้แก่

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG or EKG)
  • การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยเครื่อง Holter monitor
  • การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยเครื่อง Event recorder
  • เครื่องตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram)
  • เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจชนิดฝังใต้ผิวหนัง (Implantable loop recorder)
  • การตรวจสมรรถภาพหัวใจ เพื่อวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจหรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่อาจสัมพันธ์กับการออกกำลังกาย
  • การทดสอบภาวะการเป็นลมหมดสติด้วยเตียงปรับระดับ
    ผู้ป่วยจะนอนราบลงบนเตียงปรับระดับขณะที่แพทย์จะตรวจสอบความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เตียงจะยกขึ้นจนผู้ป่วยอยู่ในท่าเกือบยืน แพทย์จะประเมิน ติดตาม เพื่อดูการตอบสนองต่อการเปลี่ยนท่า มักทดสอบในรายที่สงสัยว่าอาการหมดสติเป็นลมเกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดเพี้ยน (neurocardiogenic syncope)
  • การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Cardiac Electrophysiologic Testing)
    แพทย์จะใส่สายสวนพร้อมขั้วไฟฟ้าผ่านเส้นเลือดเข้าไปยังบริเวณหัวใจ ขั้วไฟฟ้าจะจับสัญญาณกระแสไฟฟ้าที่วิ่งผ่านหัวใจ แพทย์จะทำการวัดค่าไฟฟ้าต่าง ๆ ภายในหัวใจ กระตุ้นหัวใจที่ตำแหน่งต่าง ๆ ด้วยไฟฟ้าด้วยจังหวะต่าง ๆ (ตามมาตรฐานการทดสอบ) เพื่อวินิจฉัยว่ามีภาวะหัวใจผิดจังหวะ ตรวจหาตำแหน่งของความผิดปกติ ในผู้ป่วยจำนวนมากมักทำเพื่อจะดำเนินการรักษาต่อเนื่องด้วยการจี้ทำลายตำแหน่งที่เป็นสาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะเพื่อให้หายจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การตรวจร่างกายเป็นประจําอาจเพียงพอในบางราย แต่ถ้าอาการไปเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจที่รุนแรงหรือรบกวนชีวิตประจําวัน แพทย์อาจแนะนําให้รับประทานยา เข้ารับการบำบัดรักษา รับการใส่สายสวนหรือผ่าตัดหัวใจ

ยา

ผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติส่วนใหญ่ต้องรับประทานยาเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจ ผู้ที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วบางรายอาจจำเป็นต้องทานยากันเลือดแข็งตัวเพื่อป้องกันการก่อตัวของลิ่มเลือด ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อน

การบำบัดรักษา

  • การทำ Vagal Maneuvers
    เป็นวิธีชะลออัตราการเต้นของหัวใจด้วยการกระตุ้นประสาทเวกัสซึ่งควบคุมการเต้นของหัวใจ โดยหยุดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยการไอ จุ่มหน้าลงในน้ำเย็น และการกลั้นลมหายใจแล้วเบ่งลม แพทย์อาจแนะนำวิธีนี้ในรายที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติบางชนิด (supraventricular tachycardia)
  • การกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า (Cardioversion)
    เป็นการส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูงผ่านขั้วไฟฟ้าวางที่หน้าอกไปกระตุกหัวใจให้กลับเป็นจังหวะปกติโดยเร็ว มักใช้กับผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดที่ใช้ยาแล้วไม่ได้ผล โดยเฉพาะที่ไม่มีอาการรุนแรง เช่น ความดันโลหิตต่ำ แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หัวใจล้มเหลวร่วมด้วย ซึ่งเป็นการฟื้นฟูการเต้นของหัวใจด้วยด้วยการส่งกระแสไฟฟ้าผ่านหน้าอก

    การผ่าตัด หรือ การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ

    • การรักษาด้วยการจี้ด้วยไฟฟ้าความถี่สูงผ่านสายสวน
      แพทย์จะใส่สายสวนติดขั้วไฟฟ้าผ่านเส้นเลือดเข้าไปยังหัวใจ โดยแพทย์จะจี้ทำลายตำแหน่งที่ผิดปกติในหัวใจโดยไฟฟ้าจะเปลี่ยนเป็นความร้อนทำลายเนื้อเยื่อหัวใจบริเวณเล็กที่เป็นปัญหา
    • เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจแบบฝังถาวร (Pacemaker)
      แพทย์จะฝังตัวคุมจังหวะหัวใจบริเวณหน้าอกใกล้กระดูกไหปลาร้าและติดสายพร้อมขั้วไฟฟ้าจากตัวคุมจังหวะหัวใจผ่านเส้นเลือดไปยังด้านในของหัวใจ หากเครื่องตรวจพบการเต้นหัวใจที่ช้า เครื่องจะส่งกระแสฟ้าเข้าไปกระตุ้นการเต้นของหัวใจ แพทย์มักแนะนำตัวคุมจังหวะหัวใจให้ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติที่อาการไม่ดีขึ้นที่ไม่มีสาเหตุที่สามารถแก้ไขได้
    • การฝังเครื่องกระตุกหัวใจ (implantable cardiac defibrillator)
      แพทย์จะทำการฝังเครื่องกระตุกหัวใจบริเวณหน้าอกใกล้กระดูกไหปลาร้า หากเครื่องตรวจพบการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติรุนแรง เครื่องจะส่งพลังงานสูงหรือต่ำไปกระตุ้นหรือกระตุกการเต้นของหัวใจให้จังหวะกลับเป็นปกติ วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องล่าง ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว หรือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดหัวใจหยุดเต้นจากหัวใจเต้นผิดจังหวะร้ายแรง (Ventricular fibrillation)
    • การผ่าตัดเปลี่ยนจังหวะหัวใจ Maze procedure
      ผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น Atrial fibrillation ที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดหัวใจด้วยเหตุอื่นอยู่แล้ว แพทย์อาจพิจารณาเพิ่มการรักษาวิธีดังกล่าวเพื่อรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะไปในคราวเดียวกัน

    การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต

    • เลิกสูบบุหรี่
    • ออกกําลังกายเป็นประจํา พยายามออกกําลังกาย 150-300 นาทีต่อสัปดาห์ที่ระดับปานกลางถึงมาก (moderate to high intensity)
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดเกลือและไขมันอิ่มตัว รับประทานผลไม้ ผัก และธัญพืชมากขึ้น
    • รักษาน้ำหนักตัวตามเกณฑ์
    • จัดการควบคุมความดันโลหิตและระดับคอเลสเตอรอล
    • งดดื่มแอลกอฮอล์
    • ติดตามการรักษากับแพทย์สม่ำเสมอ

    การรักษาทางเลือกโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

    ความเครียดอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของหัวใจ ผู้ป่วยสามารถนั่งสมาธิ ฝึกโยคะหรือเทคนิคการผ่อนคลายเพื่อบรรเทาความเครียดและป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ จากการวิจัยบางอันพบว่าการฝังเข็มสามารถช่วยลดการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติในรายที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามจําเป็นต้องมีการศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติม

    การเตรียมตัว

    ควรเข้ารับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจหากคิดว่ามีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ยิ่งตรวจพบโรคเร็วขึ้นเท่าใดการรักษาก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น

    หากมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะนานกว่า 2-3 นาที เจ็บหน้าอก หายใจไม่ทัน หรือจะเป็นลม รีบเรียกรถพยาบาลหรือให้คนในครอบครัวขับรถพาไปยังสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด

    สิ่งที่คุณสามารถทําได้

    • เมื่อทำการนัดพบแพทย์ ควรถามว่าจำเป็นต้องเตรียมตัวล่วงหน้า เช่น งดอาหาร หรือไม่
    • จดบันทึกอาการที่มี ไม่ว่าจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
    • จดบันทึกโรคประตัว ยา เหตุการณ์สําคัญในชีวิตที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ และประวัติของคนในครอบครัวที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน
    • พาเพื่อนหรือคนในครอบครัวมาด้วยเพื่อช่วยจําข้อมูล
    • ขณะมีอาการ หากมีอุปกรณ์ให้ตรวจและบันทึก ความดัน ชีพจร ระดับออกซิเจน และคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ปัจจุบันมีอุปกรณ์สวมใส่หลายแบบที่สามารถใช้บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ เช่น Smart watch บางยี่ห้อ

    บทความโดย

    • นพ. ไพศาล บุญศิริคำชัย
      นพ. ไพศาล บุญศิริคำชัย แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด เฉพาะทางด้านการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

    เผยแพร่เมื่อ: 23 ม.ค. 2023

    แชร์

    แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. จิรภา แจ่มไพบูลย์

    พญ. จิรภา แจ่มไพบูลย์

    • เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
    • การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
    เวชศาสตร์ฟื้นฟู, การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ
  • Link to doctor
    นพ. วิพัชร พันธวิมล

    นพ. วิพัชร พันธวิมล

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
  • Link to doctor
    พญ. ศนิศรา จันทรจำนง

    พญ. ศนิศรา จันทรจำนง

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
    หัวใจเต้นผิดจังหวะ, การตรวจวินิจฉัยทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, ผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
  • Link to doctor
    นพ. วรวุฒิ รุ่งประดับวงศ์

    นพ. วรวุฒิ รุ่งประดับวงศ์

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
    การตรวจวินิจฉัยทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ, อายุรศาสตร์โรคหัวใจ
  • Link to doctor
    นพ. ไพศาล บุญศิริคำชัย

    นพ. ไพศาล บุญศิริคำชัย

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
    อายุรกรรมโรคหัวใจ, การตรวจวินิจฉัยทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ