โรคเอดส์ (HIV/AIDS) สาเหตุ อาการ การรักษา

โรคเอดส์ (HIV/AIDS)

โรคเอดส์ (AIDS) หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง คือ ระยะสุดท้ายของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ที่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 หรือ T-cells ในระบบภูมิคุ้มกันร่างกายถูกทำลาย ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดต่ำ

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน

โรคเอดส์ (HIV/AIDS) คืออะไร?

โรคเอดส์ (AIDS) หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง คือ ระยะสุดท้ายของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ที่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 หรือ T-cells ในระบบภูมิคุ้มกันร่างกายถูกทำลาย ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดต่ำ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ และนำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนหรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น วัณโรค โรคปอดอักเสบ PJP หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ รวมถึงมะเร็งบางชนิด ปัจจุบัน การรักษา HIV มีความก้าวหน้า สามารถวินิจฉัยโรคได้เร็ว มียาต้านไวรัสประสิทธิภาพสูงที่ให้ผลดีในการรักษา ช่วยเพิ่มปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

โรคเอดส์ (AIDS) เกิดจากอะไร?

โรคเอดส์ (Immune deficiency syndrome: AIDS) เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี (Human immunodeficiency virus: HIV)  ในร่างกาย และมีการดำเนินโรคไปแล้วเป็นระยะเวลาประมาณ 10 ปี เชื้อ HIV จึงพัฒนาสู่โรคเอดส์เต็มขั้น เมื่อเชื้อ HIV เข้าสู่ร่างกายจะทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย จนทำให้ไม่มีภูมิต้านทานเพียงพอในการป้องกันตนเองจากเชื้อโรคภายนอกที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดโรคเฉียบพลัน โรคแทรกซ้อน หรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่มีความรุนแรง และยากแก้การรักษา

โรคเอดส์เป็นเชื้อไวรัสในตระกูลรีโทรไวรัส (Retrovirus) ซึ่งเป็นไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็นแบบอาร์เอ็นเอ (RNA) รีโทรไวรัสมีคุณสมบัติพิเศษ คือการเปลี่ยนสารพันธุกรรมของตนเองให้เป็น DNA ของเซลล์โฮสต์ได้ จากนั้นจะแทรกแซงการทำงานในโครโมโซมของเซลล์โฮสต์และป้อนคำสั่งแทนที่ DNA ของเซลล์โฮสต์ และแบ่งตัวเพิ่มจำนวนไปเรื่อย ๆ

ระยะการติดเชื้อ HIV มีกี่ระยะ?

ระยะการติดเชื้อ HIV มี 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 ระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อ HIV (Primary infections: Acute HIV) เป็นระยะแรกของการติดเชื้อเอชไอวี ในช่วง 2-4 สัปดาห์แรกหลังการได้รับเชื้อ ในระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อ HIV นี้ ไวรัสจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 หรือ T-cells ให้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะต่อสู้โดยการค่อย ๆ เพิ่มจำนวน CD4 ในร่างกายเพื่อต่อต้านเชื้อไวรัส แม้ว่าปริมาณ CD4 จะไม่มากเท่ากับขณะก่อนติดเชื้อก็ตาม ในระยะนี้ เป็นระยะที่ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ จึงจำเป็นต้องป้องกันการแพร่เชื้ออย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อบางรายอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลย จึงทำให้สูญเสียโอกาสในการพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับยาต้านไวรัส ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม จนนำไปสู่การแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นในเวลาต่อมา
  • ระยะที่ 2 ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ (Clinical latent infection: Chronic HIV) เป็นการติดเชื้อระยะแฝงที่เชื้อไวรัส HIV อยู่ในร่างกายโดยไม่แสดงอาการใด ๆ (Asymptomatic HIV infection) ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีสภาพร่างกายเป็นปกติเหมือนบุคคลทั่วไป ในระยะนี้ เชื้อ HIV จะแบ่งจำนวนไปเรื่อย ๆ และค่อย ๆ ทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 หรือ T-cells ในระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ให้ลดจำนวนน้อยลงไปเรื่อย ๆ โดยจะมีระดับ CD4 ในร่างกายระหว่าง 200-1000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดต่ำ และเกิดการเจ็บป่วยง่ายขึ้น โดยทั่วไป การดำเนินโรคในระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี ผู้ติดเชื้อที่มีการดำเนินโรคเร็ว (Rapid progressor) อาจใช้เวลาในระยะนี้เพียง 2-5 ปี แต่ในผู้ติดเชื้อที่ร่างกายสามารถควบคุมเชื้อได้ดีเป็นพิเศษ (Elite controller) อาจยืดระยะเวลาการดำเนินโรคในระยะนี้ได้ 10-15 ปี
  • ระยะที่ 3 ระยะเอดส์เต็มขั้นหรือระยะโรคเอดส์ (Progression to AIDS) เป็นระยะที่การติดเชื้อ HIV ได้พัฒนากลายเป็นโรคเอดส์โดยสมบูรณ์ ผู้ติดเชื้อในระยะนี้จะมีระดับ CD4 ในร่างกายน้อยกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ทำให้ร่างกายอ่อนแอลงอย่างมากจนนำไปสู่การการเกิดโรคแทรกซ้อน และโรคติดเชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic infection: Ols)


อาการของผู้ติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์เป็นอย่างไร?

อาการของผู้ติดเชื้อ HIV ในระยะที่ 1 ระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อ (Primary infections: Acute HIV)

ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ในระยะแรกเริ่ม จะเข้าสู่ภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อ (Acute retroviral syndrome: ARS) โดยจะปรากฏอาการประมาณ 1-2 สัปดาห์แรกหลังจากติดเชื้อ จากนั้นอาการจะหายไป โดยจะมีอาการคล้ายไข้หวัด มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีเหงื่อออกตอนกลางคืน ผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นแผลในปาก ผู้ที่ติดเชื้อบางรายอาจมีอาการ เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว น้ำหนักตัวลดลง และมีฝ้าขาวในช่องปาก

อาการของผู้ติดเชื้อ HIV ในระยะที่ 2 ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ (Clinical latent infection: Chronic HIV)

โดยทั่วไป ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส HIV ในระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ หรือระยะสงบทางคลินิก (Clinical latency stage)  ในช่วง 5-10 ปีโดยประมาณหลังติดเชื้อ HIV โดยจะไม่แสดงอาการใด ๆ  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของเชื้อ HIV ที่ได้รับและภูมิคุ้มกันร่างกายของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส HIV ระยะนี้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำอาจแสดงออกซึ่งอาการ หรือโรคบางโรค ดังนี้

  • ระยะติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย ได้แก่ ผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีระดับ CD4 ในร่างกายมากกว่า 500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ผู้ติดเชื้ออาจจะมีไข้ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต แผลร้อนในในช่องปาก ผิวหนังอักเสบที่หนังศีรษะ ฝ้าขาวที่ลิ้น เชื้อราที่เล็บ และโรคสะเก็ดเงิน (ในผู้ที่เคยเป็นมาก่อน)
  • ระยะติดเชื้อที่มีอาการปานกลาง ได้แก่ ผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีระดับ CD4 ในร่างกายระหว่าง 200-500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ผู้ติดเชื้ออาจมีไข้แบบเป็น ๆ หาย ๆ ต่อเนื่องหลายเดือนติดต่อกัน ต่อมน้ำเหลืองโตที่คอ รักแร้ หรือขาหนีบ เริมที่ปาก หรือเริมที่อวัยวะเพศ (แบบเรื้อรัง) ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เชื้อราในช่องปากหรือบริเวณปากมดลูก ท้องเสียแบบเรื้อรัง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ งูสวัด ไซนัสอักเสบเรื้อรัง และโรคปอดอักเสบ

อาการของผู้ติดเชื้อ HIV ในระยะที่ 3 ระยะเอดส์เต็มขั้นหรือระยะโรคเอดส์ (Progression to AIDS)

ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ที่มีการดำเนินโรคมาจนถึงระยะที่ 3 หรือ 10 ปีโดยประมาณหลังติดเชื้อ HIV หรือระยะโรคเอดส์เต็มขั้นแล้วเท่านั้น จึงจะปรากฏสัญญาณและอาการของโรคเอดส์ โดยส่วนมาก อาการของโรคเอดส์คือการเกิดขึ้นของโรคแทรกซ้อน หรือโรคฉวยโอกาสอื่น ๆ หลาย ๆ โรครุมเร้าพร้อม ๆ กัน อันเนื่องมาจากระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลาย ทำให้เชื้อโรคอื่น ๆ เช่น เชื้อรา เชื้อไวรัส แบคทีเรีย โปรโตซัว เข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย ส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อน และโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่ยากต่อการรักษา เช่น ไข้เรื้อรัง วัณโรค โรคปอดอักเสบ PJP  เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อคริปโตคอคคัส ท้องเสียเรื้อรัง ร่างกายอ่อนเพลีย น้ำหนักลด ภาวะกลืนลำบาก หรือเจ็บคอเวลากลืนเนื่องจากหลอดอาหารอักเสบ มีผื่นคันตามตัว ผิวซีด สายตาพร่ามัว ไอเป็นเลือด มีเลือดออกจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เป็นจ้ำเขียว-แดง มีอาการตกขาวบ่อย (ในเพศหญิง) ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน อาการทางระบบประสาท เช่น หลงลืมง่าย ไม่มีสมาธิ ความจำเสื่อม แขนขาอ่อนแรง และอาจหมดสติจากการติดเชื้อในสมอง ผู้ที่เป็นโรคเอดส์เต็มขั้นส่วนใหญ่ มักมีอายุได้เพียง 2-3 ปี แล้วจึงเสียชีวิต

โรคเอดส์และ HIV ติดต่อได้อย่างไร?

โรคเอดส์ และเชื้อ HIV สามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งในร่างกาย ได้แก่ เลือด น้ำอสุจิ น้ำเหลือง สารหล่อลื่นตามธรรมชาติในช่องคลอด อวัยวะเพศชาย หรือทวารหนัก และน้ำนมแม่ โรคเอดส์ และเชื้อ HIV สามารถติดต่อกันผ่านพฤติกรรมดังต่อไปนี้

  • การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย โดยมีการสอดใส่ระหว่างอวัยวะเพศชาย-หญิง ทางทวารหนักระหว่างชาย-ชาย หรือระหว่างหญิง-หญิงที่มีการสัมผัสกับสารหล่อลื่นในช่องคลอด ทั้งนี้การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อ HIV ในผู้ป่วยเอดส์ทั่วโลกเกินกว่าร้อยละ 80
  • การใช้เข็มฉีดยา หรือกระบอกฉีดยาร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ HIV โดยมักพบพฤติกรรมดังกล่าวในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดโดยการฉีดสารเสพติดเข้าเส้นเลือด
  • การติดเชื้อ HIV ผ่านการสัมผัสกับเลือด หรือน้ำเหลืองจากบาดแผลเปิดภายนอกผิวหนัง หรือแผลในช่องปาก รวมถึงการใช้ของใช้ส่วนตัวที่มีลักษณะเป็นของมีคมร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ HIV เช่น เข็มสักผิวหนัง เข็มสักคิ้ว กรรไกรตัดเล็บ มีดโกน เข็มเจาะอวัยวะ เช่น เข็มเจาะหู หรือเข็มเจาะสะดือ
  • การติดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์ ในระหว่างการคลอดบุตร และการให้นมบุตร
  • การรับเลือดบริจาคที่ปนเปื้อนเชื้อ HIV ที่ไม่ผ่านการคัดกรองเชื้อมาก่อน โดยแทบไม่พบแล้วในปัจจุบันเนื่องจากกระบวนการตรวจสอบที่มีมาตรฐานหลายขั้นตอน


การวินิจฉัย HIV และโรคเอดส์มีวิธีการตรวจสอบอย่างไร?

การตรวจวินิจฉัยเอชไอวี (HIV) มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะหากผู้ที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ และรับยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพโดยเร็ว จะช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสพัฒนากลายไปเป็นโรคเอดส์ได้ในอนาคต ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัย HIV ที่มีประสิทธิภาพและได้ผลเร็ว มี 3 ประเภท ได้แก่

  1. การตรวจสอบแอนติเจน/แอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อเอชไอวี (Antigen/antibody tests) เป็นการตรวจสอบที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด โดยแพทย์จะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาแอนติเจน หรือโปรตีนของเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า p24 ( p24 antigen testing) และตรวจหาแอนติบอดี้ของร่างกายในคราวเดียวกัน โดยเป็นวิธีการตรวจหาเชื้อ HIV หลังจากสงสัยว่าได้รับเชื้อประมาณ 18-45 วันแรก ซึ่งเป็นระยะที่ร่างกายจะยังไม่สร้างแอนติบอดี้เพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส จึงทำให้ไม่สามารถตรวจพบด้วยวิธีการอื่น ๆ
  2. การตรวจหาแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV antibody tests) เป็นการตรวจหาเชื้อ HIV โดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาภูมิต้านทาน (Antibody) ต่อเชื้อ HIV เพื่อตรวจปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 หรือ T-cells ในร่างกาย พร้อมกับตรวจการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่ทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อไวรัส HIV โดยเป็นวิธีการตรวจหาเชื้อ HIV ที่สามารถทำได้หลังจากสงสัยว่าได้รับเชื้อประมาณ 23-90 วันแรก
  3. การตรวจหาสารทางพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี (Nucleic acid tests: NATs) เป็นการตรวจหาเชื้อ HIV โดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้อไวรัส HIV โดยเป็นวิธีที่แพทย์นิยมใช้ตรวจหาเชื้อไวรัสในเชิงปริมาณ (Viral load assays) ทั้งก่อนและหลังรับการรักษาเพื่อติดตามประเมินผลการรักษา อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วยวิธีการนี้จะไม่สามารถใช้เป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อ HIV และไม่สามารถใช้ตรวจทารกที่มารดาติดเชื้อ HIV ได้ การตรวจหาเชื้อ HIV ด้วยวิธีการนี้ สามารถทำได้หลังจากสงสัยว่าได้รับเชื้อประมาณ 10-33 วันแรก


การรักษาผู้ที่ติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์มีวิธีการอย่างไร?

ทันทีที่ผู้รับการตรวจ HIV ได้รับการยืนยันผลการตรวจเลือดเป็นบวก หรือติดเชื้อ HIV แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสในกลุ่ม ARV (Antiretroviral drugs) ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เพื่อต่อสู้ และช่วยกันยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส HIV โดยการให้ยาในกลุ่มนี้พร้อมกันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามากกว่าการรักษาด้วยยาชนิดเดียว กลุ่มยา ARV จะช่วยกันออกฤทธิ์ เสริมแรง ในการลดจำนวนเชื้อไวรัส HIV ให้ถึงจำนวนที่ไม่สามารถตรวจพบเชื้อ HIV ได้อีกต่อไป พร้อมกับช่วยฟื้นฟูและชะลอความเสื่อมของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ช่วยให้ผู้ติดเชื้อมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงเป็นปกติดีให้มากที่สุด

ผู้ที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อ HIV ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมงหลังสัมผัสโรค (Post-exposure prophylaxis: PEP) ควรรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อรับยา ARV เพื่อต้านเชื้อไวรัส และป้องกันไม่ให้ไวรัสพัฒนาไปอยู่ในระดับที่ตรวจพบและแสดงอาการได้

ผู้ที่ไม่มีเชื้อ HIV ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV สามารถพบแพทย์เพื่อขอรับยา ARV เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้น ถือเป็นการใช้ยาเพื่อกันเชื้อไวรัส HIV ก่อนการสัมผัสโรค (Pre-exposure prophylaxis: PrEP) โดยผู้ที่มีความเสี่ยง จะต้องทานยาทุกวัน และพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหลังจากสัมผัสกับความเสี่ยงแล้ว

จากผลการรายงาน พบว่าผู้ที่สัมผัสกับเชื้อ HIV ที่ทานยา ARV ภายใน 72 ชั่วโมง มีผลการตรวจร่างกายเป็นลบ หรือไม่พบเชื้อ HIV  ในขณะที่ผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งสามารถรักษาอาการติดเชื้อจนหายขาดด้วยวิธีการรักษาแบบพิเศษ เช่น การปลูกถ่ายไขกระดูก ดังนั้นเป้าหมายในการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV ในปัจจุบันจึงมุ่งเน้นให้ผู้ติดเชื้อมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคเอดส์ รวมทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไวรัส HIV สู่ผู้อื่นได้ ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อจะต้องมีวินัยในการทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ เป็นประจำทุกวัน และรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

การป้องกันโรคเอดส์ และ HIV มีวิธีการอย่างไร?

โรคเอดส์ และการติดเชื้อ HIV สามารถป้องกันได้โดยโดยการลด ละ เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ติดเชื้อ HIV แล้วควรป้องการตนเองไม่ให้แพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ โดยวิธีการป้องกันโรคเอดส์ และการติดเชื้อ HIV มีดังนี้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์
  • หากมีแผลเปิดที่มีเลือดไหล ควรทำความสะอาดและปิดแผลให้สนิท
  • ไม่ใช้เข็มฉีดยา หรือกระบอกฉีดยาร่วมกันกับผู้อื่น
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ
  • ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน
  • พบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัส HIV ทันทีที่สงสัยว่าอาจสัมผัสกับเชื้อ HIV หรือก่อนการสัมผัสกับเชื้อ HIV
  • ตรวจเลือด หรือตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อวัดระดับภูมิคุ้มกันร่างกาย


ภาวะแทรกซ้อนของโรคเอดส์ เป็นอย่างไร?

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเอดส์ที่เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายจนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน หรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ได้แก่ วัณโรค โรคปอดอักเสบ PJP หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อคริปโตคอคคัส มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งผนังหลอดเลือด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งเม็ดเลือดขาว และภาวะโลหิตเป็นพิษ

คุณแม่ติดเชื้อ HIV สามารถส่งผ่านเชื้อสู่ลูกขณะตั้งครรภ์ได้หรือไม่?

คุณแม่ที่ติดเชื้อ HIV สามารถถ่ายทอดเชื้อสู่ลูกขณะตั้งครรภ์ได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์ได้ค้นพบวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อโรค HIV จากแม่สู่ลูกได้สำเร็จ ด้วยวิธีการทานยาต้านไวรัส ARV ขณะตั้งครรภ์ ที่ช่วยลดอัตราการติดเชื้อ HIV ของทารกในครรภ์มารดา ได้ถึงร้อยละ 8 ถึงแม้ว่ายาต้านไวรัสจะไม่ได้ป้องกันทารกในครรภ์จากการติดเชื้อได้ 100% ก็ตาม ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่มีเชื้อ HIV ที่ประสงค์จะตั้งครรภ์ คือการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานเพื่อปรึกษาแพทย์ถึงความเป็นไปได้ในการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย รวมถึงความเป็นไปได้ในการมีลูกด้วยวิธีการอื่น ๆ

HIV ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคเอดส์ได้

การยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสพัฒนาสู่ระยะของโรคเอดส์ คือหลักการสำคัญของการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV การรับการตรวจวินิจฉัยโรคเร็วเมื่อสัมผัสกับความเสี่ยงและรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน จะช่วยให้ผู้ที่ติดเชื้อมีภูมิคุ้มกันร่างกายคงที่ ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวเร็ว มีสุขภาพที่แข็งแรง ช่วยลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น และช่วยให้ใช้ชีวิตตามปกติได้

ในปัจจุบัน โรคเอดส์ยังไม่พบวิธีการรักษาให้หายขาด การตรวจเลือดเมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันหรือเมื่อสัมผัสกับความเสี่ยง รวมถึงการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ HIV สาเหตุสำคัญของโรคเอดส์ ผู้ที่มีโรคแทรกซ้อน หรือโรคฉวยโอกาสจากโรคเอดส์ ควรเข้ารับการรักษาโรคแบบองค์รวมเป็นระบบ โดยแพทย์ผู้ชำนาญการสหวิชาชีพที่มีประสบการณ์การรักษาโรคซับซ้อน หรือโรคเฉียบพลันร่วมกันแบบบูรณาการ เพื่อช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น และเพื่อช่วยให้ผู้ติดเชื้อมีชีวิตที่ยืนยาวได้

 

บทความโดย
พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด

แพทย์อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
ประวัติแพทย์


HIV/AIDS-Causes, Symptoms and Treatments

HIV/AIDS - Prevention - infographic TH

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 05 พ.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ.  ศิรญา ไชยะกุล

    พญ. ศิรญา ไชยะกุล

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    รศ.พญ. สิริอร วัชรานานันท์

    รศ.พญ. สิริอร วัชรานานันท์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, โรคติดเชื้อทั่วไป, การติดเชื้อในเวชบำบัดวิกฤต, โรคติดเชื้อหลังปลูกถ่ายอวัยวะหรือปลูกถ่ายไขกระดูก, โรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อราลุกลามหรือไวรัส
  • Link to doctor
    นพ. พีระวงษ์ วีรารักษ์

    นพ. พีระวงษ์ วีรารักษ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    นพ. จักกพัฒน์ วนิชานันท์

    นพ. จักกพัฒน์ วนิชานันท์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. มนต์เดช สุขปราณี

    ผศ.นพ. มนต์เดช สุขปราณี

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ รวมทั้งโรคแทรกซ้อน, การจัดการโรคไวรัสตับอักเสบชนิดซีและการปฏิบัติตัว, โรคติดเชื้อในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, การติดเชื้อในเวชบำบัดวิกฤต
  • Link to doctor
    พญ. รพีพรรณ  รัตนวงศ์นรา มอร์ด

    พญ. รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    สุขภาพนักเดินทาง การให้วัคซีน และประเมินสุขภาวะก่อนและหลังกลับจากต่างประเทศหรือพื้นที่เสี่ยง, โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ, การติดเชื้อทางเดินอาหาร, โรคติดเชื้อทั่วไป และการให้วัคซีน, การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ รวมทั้งโรคแทรกซ้อน, การติดเชื้อในระบบประสาท , โรคหนอนพยาธิ, ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, โรคติดเชื้อที่ผิวหนัง , โรคติดเชื้อที่เนื้อเยื่อ, โรคติดเชื้อที่กระดูก, โรคติดเชื้อที่ข้อ, โรคติดเชื้อทางเขตร้อน, การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ
  • Link to doctor
    รศ.นพ. พอพล โรจนพันธุ์

    รศ.นพ. พอพล โรจนพันธุ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    อายุรกรรมทั่วไป, อายุรกรรมผู้สูงอายุ
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ถนอมศักดิ์ อเนกธนานนท์

    ผศ.นพ. ถนอมศักดิ์ อเนกธนานนท์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ รวมทั้งโรคแทรกซ้อน, วัคซีน, โรคติดเชื้อในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, สุขภาพนักเดินทาง การให้วัคซีน และประเมินสุขภาวะก่อนและหลังกลับจากต่างประเทศหรือพื้นที่เสี่ยง, โรคติดเชื้อทางเขตร้อน