อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคตากุ้งยิง (Hordeolum)

โรคตากุ้งยิง

ตากุ้งยิงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการอักเสบของต่อมไขมันหรือต่อมเหงื่อบริเวณเปลือกตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยมีประวัติต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน

แชร์

โรคตากุ้งยิง

ตากุ้งยิง (Hordeolum/Stye) มีอาการเริ่มต้น คัน ระคายเคือง ต่อมาจะเริ่มบวมแดง ตรงกลางเป็นหนองสีเหลืองคล้ายสิวขึ้นบริเวณเปลือกตาด้านนอก (External Hordeolum) หรือ เปลือกตาด้านใน (Internal Hordeolum) โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งบริเวณเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง ทำให้ผู้ป่วยตากุ้งยิงมีอาการระคายเคืองตา เจ็บตาและปวดระบมบริเวณเปลือกตา

ตากุ้งยิงเกิดจากอะไร

ตากุ้งยิงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการอักเสบของต่อมไขมันหรือต่อมเหงื่อบริเวณเปลือกตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยมีประวัติต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน มีประวัติเปลือกตาอักเสบ จะยิ่งทำให้การอักเสบจากการติดเชื้อเกิดได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคตากุ้งยิงคือ สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus)

สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดตากุ้งยิง

  • ภาวะต่อมไขมันหรือต่อมเหงื่ออุดตันบริเวณเปลือกตา
  • โรคเปลือกตาอักเสบ
  • เคยมีประวัติเป็นตากุ้งยิงมาก่อน
  • ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง อันเนื่องมาจากการพักผ่อนไม่เพียงพอหรือมีโรคประจำตัว
  • ขยี้ตาหรือสัมผัสดวงตาด้วยมือที่ไม่สะอาด หรือมีเชื้อแบคทีเรียสะสมอยู่
  • สวมคอนแทคเลนส์ที่ไม่สะอาด หรือไม่ได้ทำความสะอาดให้ดีก่อนนำมาใส่
  • ล้างทำความสะอาดเครื่องสำอางออกไม่หมด

ตากุ้งยิง หายเองได้หรือไม่

ตากุ้งยิงสามารถหายได้เอง โดยปกติหลังจากที่ตากุ้งยิงบวมขึ้นเป็นหัวฝีหรือหนองภายใน 4-5 วันแล้ว หนองอาจจะแตกและยุบไปเองโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษาหรือพบแพทย์ ทั้งนี้แนะนำให้ผู้ป่วยใช้วิธีประคบอุ่น โดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณตากุ้งยิงประมาณ 10-15 นาทีต่อครั้ง ประคบ 4-5 ครั้งระหว่างวัน ร่วมกับนวดเปลือกตาเบา ๆ เพื่อช่วยระบายหนองและไขมันที่อุดตัน ทั้งนี้หากหนองบริเวณที่เป็นตากุ้งยิงระบายออกไม่หมดหรือบริเวณแผลไม่สะอาด อาจมีการกลับมาติดเชื้อซ้ำได้อีก ผู้ป่วยจึงควรใส่ใจในเรื่องของความสะอาดเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยมีแนวโน้มอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง หรือเปลือกตาที่บวมแดงขยายออกบริเวณกว้างขึ้น ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากอาการตากุ้งยิง หากระบายหนองออกไม่หมด
หากหนองไม่ยุบหรือสลายตัวลง หนองอาจจับตัวเป็นก้อนแข็งหรือเป็นไตคั่งค้างอยู่บริเวณเปลือกตาสะสมต่อเนื่องและอาจมีโอกาสกลับมาอักเสบหรือเป็นซ้ำได้อีก หรือการอักเสบติดเชื้ออาจรุนแรงลามนอกเหนือเปลือกตาไปบริเวณแก้ม ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ป่วยควรมาพบจักษุแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี

การรักษาตากุ้งยิงโดยจักษุแพทย์

ในกรณีที่ผู่ป่วยมีความรู้สึกเจ็บปวดบริเวณตากุ้งยิงอย่างมาก มีอาการบวมแดงเป็นบริเวณกว้าง หนังตาปิด ตาพร่ามัวหรือมองไม่ชัด ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที โดยแพทย์จะทำการตรวจ วินิจฉัยและให้ยาสำหรับใช้ภายนอกเช่น ยาหยอดหรือยาป้าย ในบางรายที่มีอาการติดเชื้อมากหรือมีหนองสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก แพทย์อาจให้ยาปฎิชีวนะร่วม แพทย์จะเจาะตุ่มฝีหรือหนองและขูดบริเวณหนองออก (Incision and curettage) เพื่อเป็นการระบายหนองที่สะสมภายในเปลือกตาและทำการรักษาให้หายขาด ทั้งนี้การเจาะหนองออกควรกระทำโดยจักษุแพทย์เพื่อความสะอาด ปลอดภัยและลดโอกาสในการติดเชื้อของผู้ป่วยขณะทำหัตถการ ทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้เปลือกตามีรูปทรงที่ผิดรูปอันส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพของผู้ป่วยและเพื่อช่วยให้อาการอักเสบหายเร็วยิ่งขึ้นรวมถึงป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นตากุ้งยิงซ้ำ

การปฎิบัติตัวก่อนทำการเจาะตากุ้งยิง

  • งดใช้ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด เช่นกลุ่มยา warfarin หรือ aspirin ก่อนทำการเจาะเอาหนองออก โดยควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของอายุรแพทย์
  • ในวันที่ทำการเจาะตากุ้งยิง ควรล้างหน้า สระผมให้สะอาด งดการใส่ครีมหรือน้ำมันบริเวณศรีษะ งดการใช้เครื่องสำอางในการแต่งหน้า
  • หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝุ่น ควันและมลภาวะ

การปฎิบัติตัวหลังทำการเจาะตากุ้งยิง

แพทย์จะทำการปิดตาเอาไว้เพื่อเป็นการรักษาความสะอาดและป้องกันฝุ่นละอองเข้าตา ผู้ป่วยสามารถเปิดผ้าปิดตาออกเองได้เองหลังจากที่แพทย์ทำการเจาะเอาหนองออกแล้วภายใน 12-24 ชั่วโมง หรือตามแพทย์สั่ง

  • เมื่อเปิดผ้าปิดตาออกแล้ว ให้คนไข้เริ่มใช้ยาตามแพทย์สั่ง โดยหากมีอาการปวด สามารถทานยาแก้ปวดกลุ่ม Paracetamol ทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง ครั้งละ 1-2 เม็ด หรือตามคำแนะนำของแพทย์
  • หากมีอาการระคายเคือง ห้ามขยี้ตาเด็ดขาด
  • ในวันถัดมา ให้เริ่มทำความสะอาดรอบดวงตาด้วยผ้าสะอาดหรือสำลีชุบน้ำอุ่น บิดให้หมาดก่อนค่อย ๆ เช็ดทำความสะอาดรอบดวงตาอย่างระมัดระวัง
  • งดการใส่คอนแทคเลนส์
  • ในผู้ป่วยที่ต้องทานยาปฎิชีวนะ ควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจนหมด หยอดหรือป้ายยาตามแพทย์สั่งอย่างน้อย 7 วัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสโดยตรงบริเวณดวงตาและควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนการสัมผัสบริเวณรอบดวงตา
  • หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดตามาก เปลือกตาบวมช้ำมาก ตาแดง หรือมีอาการตาพร่ามัวควรรีบพบแพทย์ทันที

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดตากุ้งยิง

  • หลีกเลี่ยงการการใช้มือที่ไม่สะอาดขยี้ตา
  • หมั่นดูแลรักษาความสะอาดบริเวณรอบดวงตา ใบหน้าอย่างสม่ำเสมอ
  • ล้างเครื่องสำอาง และคอนแทคเลนส์ให้สะอาดก่อนนำมาใส่ทุกครั้ง
  • ทำความสะอาดเปลือกตาพร้อมประคบอุ่นและนวดเปลือกตากรณีมีภาวะต่อมไขมันอุดตันที่เปลือกตา

ตากุ้งยิง ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

โรคตากุ้งยิงไม่ใช่โรคติดต่อและสามารถรักษาให้หายขาดได้ ตากุ้งยิงสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย ดังนั้นการหมั่นรักษาความสะอาดย่อมเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อของแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุสำคัญของโรคตากุ้งยิง อย่างไรก็ตามหากท่านสงสัยว่ามีอาการเบื้องต้นของโรคตากุ้งยิง ควรรีบนัดหมายจักษุแพทย์เพื่อทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ ทั้งนี้เพื่อสุขภาพตาที่ดีของท่าน

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 29 พ.ย. 2022

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. บุรเวช อัศวพงศ์ไพบูลย์

    นพ. บุรเวช อัศวพงศ์ไพบูลย์

    • จักษุวิทยา
    • ประสาทจักษุวิทยา
    Ophthalmology, การผ่าตัดต้อกระจก, การใช้สารโบทูลินัมรักษาโรคใบหน้าครึ่งซีกกระตุก และ โรคกล้ามเนื้อเปลือกตาเกร็งกระตุก, เส้นประสาทตาผิดปกติ, ประสาทจักษุวิทยา
  • Link to doctor
    พญ. ปารีณา ชัยทนุวงศ์

    พญ. ปารีณา ชัยทนุวงศ์

    • จักษุวิทยา
    • ประสาทจักษุวิทยา
    Ophthalmology, ประสาทจักษุวิทยา
  • Link to doctor
    ผศ.(พิเศษ)นพ. สุภณัฐ อภิญญาวสีสุข

    ผศ.(พิเศษ)นพ. สุภณัฐ อภิญญาวสีสุข

    • จักษุวิทยา
    • ประสาทจักษุวิทยา
    การผ่าตัดต้อกระจก, การใช้สารโบทูลินัมรักษาโรคใบหน้าครึ่งซีกกระตุก และ โรคกล้ามเนื้อเปลือกตาเกร็งกระตุก, เส้นประสาทตาผิดปกติ, การกลอกตาผิดปกติและเส้นประสาทสมองเป็นอัมพาต, โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง