โรคกรดไหลย้อน (GERD) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรักษา โรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน มีความสัมพันธ์กับอาหารและพฤติกรรมบางอย่าง แต่ข้อแนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยกรดไหลย้อนในปัจจุบัน ไม่ได้มีข้อห้ามสำหรับอาหารชนิดใดเป็นพิเศษ เพียงแต่ให้ผู้ป่วยลองสังเกตเอาเองว่าอาหารชนิดใด

แชร์

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อน (GERD)

ในความเป็นจริงอาการของ โรคกรดไหลย้อน มีความสัมพันธ์กับอาหารและพฤติกรรมบางอย่าง แต่ข้อแนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยกรดไหลย้อนในปัจจุบัน ไม่ได้มีข้อห้ามสำหรับอาหารชนิดใดเป็นพิเศษ เพียงแต่ให้ผู้ป่วยลองสังเกตเอาเองว่าอาหารชนิดใดรับประทานแล้วกระตุ้นให้เกิดอาการ ก็แนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารชนิดนั้น ๆ

อาหารบางชนิดอาจจะทำให้หูรูดที่กั้นระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารมีแรงดันต่ำลง จึงไม่สามารถกั้นกรดไม่ให้ไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารได้ อาหารบางชนิดย่อยยากและอยู่ค้างในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ ก็จะทำให้มีอาการของกรดไหลย้อนเกิดขึ้นมาหลังรับประทานอาหาร มักจะเป็นอาหารกลุ่ม “เปรี้ยว เผ็ด เค็ม มัน”

ตัวอย่างอาหารที่ผู้ป่วยได้สังเกตตัวเองว่าเมื่อรับประทานแล้วทำให้เกิดอาการของกรดไหลย้อน ได้แก่

  • ของทอด
  • อาหารรสเผ็ดจัด
  • ของทอดที่โรยผงพริก
  • อาหารที่มีเปปเปอร์มินต์
  • อาหารที่มีไขมันสูง เช่น ไส้กรอก เบคอน ชีส กะทิ พิซซ่า
  • อาหารฟาสต์ฟู้ด
  • ช็อคโกแลต
  • ผลไม้รสเปรี้ยว
  • มะเขือเทศ
  • กระเทียม
  • หัวหอม

นอกจากนี้อาหารที่สร้างลมในกระเพาะ เช่น น้ำอัดลม ก็กระตุ้นให้เกิดอาการได้เช่นกัน

การดื่มกาแฟ ชา วันละ 6 หน่วยบริโภคต่อวันทำให้มีกรดไหลย้อนมากขึ้น

มีการศึกษาพบว่าการดื่มกาแฟ ชา วันละ 6 หน่วยบริโภคต่อวันทำให้มีกรดไหลย้อนมากขึ้น (1 หน่วยบริโภค เท่ากับ กาแฟ 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 180 ซีซี) หากดื่มในปริมาณที่เหมาะสม คือ วันละไม่เกิน 2 หน่วยบริโภค ก็จะไม่กระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อน แต่ถ้าหากดื่มในปริมาณแต่น้อยแล้วยังมีอาการ ก็ควรลดปริมาณลงอีกหรือหลีกเลี่ยงชั่วคราวเพื่อรักษากรดไหลย้อนให้หายก่อน

อาหารที่ผู้ป่วยกรดไหลย้อนบางท่านรับประทานแล้วบอกว่าทำให้อาการของกรดไหลย้อนดีขึ้น ได้แก่

  • กล้วย
  • ธัญพืช
  • ผักที่มีกากใยสูง

อาจเป็นไปได้ว่าอาหารเหล่านี้ทำให้มีการขับถ่ายที่ดีขึ้น เพราะอาการของกรดไหลย้อนในบางรายสัมพันธ์กับภาวะท้องผูก เมื่อมีการขับถ่ายที่ดีขึ้นจึงทำให้อาการของกรดไหลย้อนลดลง นอกจากนี้ผู้ป่วยกรดไหลย้อนควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในช่วง 2 - 3 ชั่วโมงก่อนเวลาเข้านอน เพื่อป้องกันการเกิดกรดไหลย้อนในเวลากลางคืน

ควรงดสูบบุหรี่ และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสิ่งเหล่านี้สัมพันธ์กับอาการกรดไหลย้อนที่แย่ลง ผู้ป่วยกรดไหลย้อนที่มีน้ำหนักเกิน (คือ มี BMI มากกว่า 25 kg/m2) หากลดน้ำหนักก็พบว่าทำให้มีอาการดีขึ้นได้ชัดเจน เพราะภาวะอ้วนลงพุงทำให้มีแรงดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น แรงดันที่เพิ่มมากขึ้นก็สามารถทำให้อาหารและกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารได้โดยง่าย

นอกจากนี้ผู้ที่มีอาการกรดไหลย้อนในเวลากลางคืน ควรจะนอนยกหัวสูงประมาณ 6 - 8 นิ้ว หรือ 15 - 20 เซนติเมตร และนอนตะแคงเอาด้านซ้ายลง หรือหลีกเลี่ยงการนอนตะแคงเอาด้านขวาลง

 

บทความโดย
แพทย์หญิงสุรีย์พร แจ้งศิริกุล

แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
ประวัติแพทย์

โรคกรดไหลย้อน (GERD) Infographic

เผยแพร่เมื่อ: 07 ก.พ. 2022

แชร์