ผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบแผลเล็ก หรือแบบรุกล้ำน้อย (Minimally Invasive Spine Surgery - MIS)

ผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบแผลเล็ก (MIS)

การผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบรุกล้ำน้อยหรือแผลเล็ก (Minimally Invasive Spine Surgery: MIS) เป็นทางเลือกในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเสียหายน้อย อาการปวดหลังผ่าตัดน้อย และฟื้นตัวได้เร็ว

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


ผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบแผลเล็ก หรือแบบรุกล้ำน้อย
(Minimally Invasive Spine Surgery)

การผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบรุกล้ำน้อยหรือแผลเล็ก (Minimally Invasive Spine Surgery: MIS) เป็นทางเลือกในการผ่าตัดกระดูกสันหลังวิธีหนึ่ง ซึ่งโดยปกติแล้วในการผ่าตัดเปิดกระดูกสันหลังแบบดั้งเดิมจะทำการเปิดแผลยาวหนึ่งแผล เพื่อให้สามารถมองเห็นบริเวณที่ทำการผ่าตัดได้อย่างชัดเจน การเปิดแผลขนาดใหญ่นั้นทำให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อได้รับความเสียหายในบริเวณกว้างและผู้ป่วยมีอาการปวดหลังการผ่าตัดมากกว่า

แต่การผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบแผลเล็ก แพทย์จะกรีดผิวหนังเพื่อเปิดแผลขนาดเพียงครึ่งนิ้ว ในหนึ่งหรือหลายตำแหน่ง เพื่อใส่เครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กและกล้องเอนโดสโคป (endoscope) เข้าไป แพทย์จะทำการผ่าตัดผ่านรอยขนาดเล็กดังกล่าว ทําให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อได้รับความเสียหายน้อยกว่า อาการปวดหลังผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด การนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลสั้นและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ประเภทของการผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบแผลเล็ก

  • การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยการส่องกล้อง (Endoscopic spine surgery)
  • การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic-assisted spinal surgery) ช่วยเพิ่มความแม่นยําในการผ่าตัดและลดข้อผิดพลาดของมนุษย์
  • การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) สามารถช่วยทํานายว่าวิธีการผ่าตัดแบบใดที่มีแนวโน้มที่จะประสบความสําเร็จมากที่สุด


โรคกระดูกสันหลังประเภทใดที่สามารถรักษาได้ด้วยการส่องกล้องแบบ
แผลเล็ก

  • หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท
  • การติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง
  • การเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง
  • โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ
  • เนื้องอกกดทับไขสันหลัง
  • โรคกระดูกสันหลังคดและอาการหลังค่อม
  • ภาวะกระดูกสันหลังยุบตัว


ผู้ที่เหมาะกับการผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบ
แผลเล็ก

แพทย์จะประเมินอาการและสภาพร่างกายของผู้ป่วยและอาจให้การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัดก่อนที่จะพิจารณาการผ่าตัด เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เหมาะกับการผ่าตัดดังกล่าว

ความเสี่ยงของการผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบเปิดและแบบแผลเล็ก

ความเสี่ยงโดยทั่วไปของการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ได้แก่

  • ผลข้างเคียงจากยาระงับความรู้สึก
  • ภาวะปอดติดเชื้อหลังการผ่าตัด
  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด
  • การติดเชื้อที่แผลผ่าตัด
  • การสูญเสียเลือดระหว่างการผ่าตัด

ความเสี่ยงเฉพาะของการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ได้แก่

  • ภาวะน้ำหล่อเลี้ยงไขสันหลังรั่ว
  • ความเสียหายของเนื้อเยื่อโดยรอบ
  • ไขสันหลังหรือเส้นประสาทได้รับความเสียหาย ทําให้เกิดอาการปวดหรือเป็นอัมพาตได้ สําหรับการผ่าตัดปรับโครงสร้างกระดูกสันหลังมีความเสี่ยงในการเป็นอัมพาตอยู่ที่ 1 ใน 10,000 ราย


ประโยชน์ของการผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบ
แผลเล็ก

การผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบแผลเล็กมีข้อดีมากกว่าการผ่าตัดแบบเปิด ดังต่อไปนี้

  • ใช้ยาสลบน้อยกว่า
  • ลดการสูญเสียเลือดจากการผ่าตัด
  • ทําให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อได้รับความเสียหายน้อยลง
  • ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ
  • อาการปวดหลังการผ่าตัดน้อยลง
  • ใช้ยาแก้ปวดน้อยลง
  • รอยแผลเป็นจากการผ่าตัดมีขนาดเล็ก
  • ระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลสั้นลง
  • ฟื้นตัวเร็วขึ้นและสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจําวันได้เร็ว


ขั้นตอนการผ่าตัด
กระดูกสันหลังแบบแผลเล็ก 

ก่อนการผ่าตัด

แนะนําให้ผู้ป่วยงดสูบบุหรี่และออกกําลังกายเป็นประจําเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อร่างกาย ช่วยให้การฟื้นตัวรวดเร็วยิ่งขึ้น หากกำลังรับประทานยาหรืออาหารเสริมอยู่ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อประเมินว่าจําเป็นต้องหยุดใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนี้หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทำปฏิกิริยากับยาระงับประสาท

แพทย์จะทำการเอกซ์เรย์หรือการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) กระดูกสันหลัง และให้ยาปฏิชีวนะก่อนการผ่าตัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ  ผู้ป่วยควรถามแพทย์ว่าจำเป็นต้องงดน้ำหรืออาหารก่อนเข้ารับการผ่าตัดหรือไม่

ระหว่างการผ่าตัด

แพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่หรือทั่วไปก่อนทําการผ่าตัด แล้วจึงเปิดแผลขนาดเล็กหนึ่งแผลหรือมากกว่านั้นผ่านทางหน้าอก หลัง หรือหน้าท้อง

แพทย์อาจใช้เครื่องฟลูออโรสโคป (fluoroscope) ซึ่งสามารถถ่ายภาพเอกซ์เรย์กระดูกสันหลังได้ทันทีระหว่างการผ่าตัดเพื่อกําหนดตําแหน่งของแผล และใช้กล้องเอนโดสโคป (endoscope) ซึ่งติดกล้องวิดีโอไว้ที่ส่วนปลาย ซึ่งจะถ่ายภาพภายในเพื่อแสดงบนจอมอนิเตอร์ระหว่างการผ่าตัด แพทย์จะใช้ท่อถ่างแผล (tubular retractors) เพื่อทำอุโมงค์ขนาดเล็กจากแผลไปยังพื้นที่ที่ต้องการผ่าตัดบนกระดูกสันหลัง โดยอุโมงค์ขนาดเล็กนี้จะเป็นพื้นที่ทำงานของแพทย์ เพื่อใส่เครื่องมือผ่าตัดหรือนำเอากระดูกหรือเนื้อเยื่อกระดูกสันหลังออกมาทางช่องทางนี้ จากนั้นแพทย์จะทำการปิดแผลด้วยการเย็บแผล เครื่องยิงเย็บ แผ่นปิดแผล หรือกาวติดแผล

หลังการผ่าตัด

โดยปกติผู้ป่วยจำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลา 3-5 วัน ระยะเวลาพักฟื้นจะขึ้นอยู่กับอายุ สุขภาพ โรค ความยากของการผ่าตัด และความเชี่ยวชาญของทีมผ่าตัด ผู้ป่วยบางรายอาจใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะหายดี การทำกายภาพบําบัดสามารถช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและเร่งให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรติดต่อแพทย์ทันที หากมีอาการดังต่อไปนี้หลังผ่าตัด

  • มีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • มีอาการปวดมากกว่าเดิม
  • มีของเหลวออกมาจากแผลเป็นจำนวนมาก (ปกติแล้วอาจมีของเหลวออกมาเล็กน้อย)

หากมีอาการหายใจลําบากหรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง ควรไปแผนกฉุกเฉินทันที

ก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบแผลเล็ก ผู้ป่วยควรทำการศึกษาและพิจารณาทีมผ่าตัดกระดูกสันหลังที่มีทักษะและประสบการณ์ โดยในทีมควรมีศัลยแพทย์กระดูก แพทย์กายภาพและการฟื้นฟู นักประสาทวิทยา และนักจิตวิทยาความเจ็บปวด และควรหาข้อมูลว่าทีมดังกล่าวทำการผ่าตัดกระดูกสันหลังมาแล้วกี่ครั้งและผลลัพธ์เป็นเช่นไร





บทความโดย
นพ.สมบัติ คุณากรสวัสดิ์

ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง
ประวัติแพทย์

ผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบแผลเล็ก Minimally Invasive Spine Surgery - MIS - Infographic TH

เผยแพร่เมื่อ: 25 เม.ย. 2023

แชร์