ตำแหน่งและการทำงานของรังไข่
รังไข่เป็นอวัยวะหนึ่งของอวัยวะสืบพันธุ์สตรี อยู่ในอุ้งเชิงกราน ชิดและใต้ท่อนำไข่ซึ่งอยู่ด้านข้างต่อกับมดลูกทั้ง 2 ด้าน จึงเรียกรวมกันกับท่อนำไข่ว่า ‘ปีกมดลูก’
รังไข่มีขนาดและรูปร่างเหมือนเมล็ดถั่วอัลมอนด์ มีถุงไข่ ซึ่งมีไข่ หรือเซลล์สืบพันธุ์อยู่ภายในจำนวนมากบริเวณเนื้อเยื่อด้านนอกของรังไข่ ในแต่ละเดือนถุงไข่จะโตเต็มที่และมีการตกไข่ออกมาในช่วงกลางรอบประจำเดือนของสตรีวัยเจริญพันธุ์ โดยไข่จะเคลื่อนไปตามท่อนําไข่ซึ่งเมื่อมีอสุจิจากเพศชาย จะมีการปฏิสนธิกัน กลายเป็นตัวอ่อน เคลื่อนไปฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูกและเจริญเติบโตไปเป็นทารก โดยถ้าไม่มีอสุจิหรือไม่มีการปฏิสนธิ ไข่จะฝ่อสลายไปในขณะที่เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน นอกจากนั้นเนื้อเยื่อของรังไข่ยังทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศหญิง ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน
ถุงน้ำหรือก้อนของรังไข่
ซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่ เป็นคำเรียกทั่วไป หมายถึง ถุงที่มีสารน้ำหรือของเหลวอยู่ภายใน โดยอาจพบบนผิวหรือด้านในของรังไข่
โดยทั่วไปก้อนของรังไข่จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ
- กลุ่มแรก คือ ถุงน้ำหรือซีสต์ที่เกิดจากการทำงานตามปกติของรังไข่ มีลักษณะ คือ
- มักจะมีขนาดไม่ใหญ่ (มักไม่เกิน 8 ซม.)
- ไม่มีบริเวณเนื้อตัน
- มักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ
- มีโอกาสเกิดขึ้นและยุบลงไปได้เองในแต่ละรอบเดือนหรือภายใน 2-3 เดือน
- ไม่จำเป็นต้องรักษา
ชนิดของ functional cyst ที่พบบ่อย
- Follicular cyst โดยปกติถุงน้ำจะแตกและปล่อยไข่ออกมาช่วงกลางของรอบเดือน แต่ถ้าถุงน้ำไม่แตก ถุงน้ำจะโตและกลายเป็นถุงน้ำรังไข่ชนิดนี้
- Corpus luteum cyst ถุงไข่ที่มีไข่ตกออกไปแล้ว จะเปลี่ยนสภาพไปเป็น corpus luteum (มีสีเหลือง อาจมีเลือดอยู่ภายใน) ซึ่งถ้าไม่มีการตั้งครรภ์ก็จะฝ่อไปภายในประมาณ 10 วัน
- กลุ่มที่ 2 คือ ถุงน้ำหรือก้อนที่เกิดจากพยาธิสภาพอื่น ๆ เช่น การที่มีเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือ ไปเจริญเติบโตที่รังไข่ หรือที่เรียกว่าช็อกโกแลตซีสต์ หรืออาจเป็นถุงน้ำที่เป็นก้อนหนอง ซึ่งเกิดจากการอักเสบมีการคั่งของก้อนหนองบริเวณปีกมดลูกซึ่งรวมถึงท่อนำไข่และรังไข่
- กลุ่มที่ 3 คือ ถุงน้ำหรือก้อนที่เป็นเนื้องอกของรังไข่ซึ่งอาจจะเป็นเนื้องอกธรรมดาหรือเนื้องอกชนิดร้าย (มะเร็ง)
- เนื้องอกธรรมดา ตัวอย่างของเนื้องอกในกลุ่มนี้ที่พบได้บ่อย ได้แก่ dermoid tumor หรือ benign teratoma ที่มีส่วนประกอบเป็นเนื้อเยื่อหลายชนิด เช่น ผม ฟัน หรือผิวหนังซึ่งสร้างไขมัน เนื้องอกหรือถุงน้ำชนิดอื่นที่เจริญมาจากเยื่อบุผิวของรังไข่ เช่น serous หรือ mucinous tumor เป็นต้น
- เนื้องอกมะเร็ง ซึ่งอาจมีลักษณะเป็นถุงน้ำและมักมีบริเวณเนื้อตัน หรือเป็นก้อนเนื้อตันทั้งหมด เช่น serous หรือ mucinous cystadenocarcinoma เป็นต้น
ถุงน้ำหรือก้อนรังไข่กลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 นับเป็นความผิดปกติที่เกิดจากพยาธิสภาพที่ต้องทำการรักษา มิฉะนั้น จะมีอันตรายต่อสุขภาพหรือแม้แต่ชีวิตของสตรีนั้น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการแตก รั่ว ลุกลามหรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะถุงน้ำหรือก้อนของรังไข่ เช่น
- ภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง ทำให้มีถุงไข่โตขึ้นจากของเหลวภายใน และมีจำนวนมาก
- การใช้ยาฮอร์โมนกระตุ้น ทำให้มีถุงไข่เจริญขึ้นจำนวนมาก
- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ไปนอกมดลูก พยาธิสภาพอาจดำเนินมากขึ้นจนกลายเป็นช็อกโกแลตซีสต์
- ภาวะติดเชื้ออักเสบในอุ้งเชิงกรานเรื้อรังหรือรุนแรง กลายเป็นก้อนฝีหนองของรังไข่หรือปีกมดลูก
- ประวัติเคยมีถุงน้ำหรือก้อนรังไข่มาก่อน
- ประวัติของสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งชนิดอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กัน
อาการ
ภาวะถุงน้ำหรือก้อนรังไข่ที่มีขนาดเล็กมักไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติ แต่ถ้าถุงน้ำหรือก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้นอาจทำให้มีอาการต่าง ๆ เช่น
- อาการที่เกิดจากการก้อนกดเบียด
- เบื่ออาหาร อิ่มเร็ว
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน
- ท้องมานน้ำ ท้องบวม แน่นท้อง คลำก้อนได้
- ปัสสาวะบ่อย ท้องเสีย หรือท้องผูกเรื้อรัง
- อาการในระบบทั่วไป เช่น น้ำหนักขึ้นหรือลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- อาการอื่น ๆ ที่อาจแสดงว่าก้อนมะเร็งลุกลาม หรือแพร่กระจายไปที่อื่น ๆ เช่น ไอ ตัวเหลือง ตาเหลือง เป็นต้น
- อาการจากภาวะอื่น ๆ ที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อน เช่น
- ภาวะที่มีการบิดขั้วของรังไข่ ขัดขวางหรือตัดการไหลเวียนของเลือดไปยังรังไข่ เนื้อเยื่อตายและ/หรือมีเลือดออก ทำให้มีอาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
- ภาวะถุงน้ำหรือก้อนรังไข่แตก อาจทำให้มีเลือดออกภายในช่องท้อง เกิดอาการปวดอย่างรุนแรง หรือช็อค (อ่อนแรง เวียนศีรษะ มือ เท้า และตัวเย็น) ความเสี่ยงที่ถุงน้ำในรังไข่จะมีโอกาสแตกจะสูงขึ้นเมื่อก้อนขนาดใหญ่ขึ้น มีการกระแทกบริเวณท้องน้อย หรือออกกำลังอย่างหนักหักโหม
การป้องกัน
หลีกเลี่ยงหรือลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังกล่าวเบื้องต้น อย่างไรก็ตามยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะถุงน้ำหรือก้อนของรังไข่อย่างชัดเจน ควรหมั่นสังเกตและเฝ้าระวังอาการผิดปกติต่าง ๆ ด้วยตนเอง พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ สามารถตรวจพบถุงน้ำหรือก้อนในขณะที่ยังไม่มีขนาดใหญ่มาก จะทำให้พบสิ่งผิดปกติได้เร็วขึ้นโดยที่ยังไม่มีอาการชัดเจน ควรปรึกษานรีแพทย์ ถ้ามีอาการผิดปกติใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการที่คงอยู่หรือเรื้อรัง อาการรุนแรงหรือเฉียบพลันบริเวณท้องน้อย หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ ที่ไม่ทราบสาเหตุ
การวินิจฉัย
แพทย์จะสอบถามประวัติต่าง ๆ โดยละเอียดเพื่อหาปัจจัยเสี่ยง เช่น ประวัติส่วนตัว ประวัติประจำเดือน โรคประจำตัว การใช้ยา สมุนไพรและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ รวมถึงประวัติของสมาชิกอื่นในครอบครัว
ในกรณีที่มีอาการ แพทย์จะซักรายละเอียดของอาการ เช่น ระยะเวลาที่เริ่มมีอาการ ความรุนแรง ความสัมพันธ์กับประจำเดือน สิ่งที่บรรเทาอาการหรือทำให้อาการแย่ลง เช่น กิจกรรม ท่าทาง หรือยา เป็นต้น
หลังจากที่ได้ข้อมูลจากประวัติแล้ว แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ตรวจภายในและเลือกวิธีการตรวจอื่นเพิ่มเติมในกรณีที่พบหรือสงสัยว่ามีถุงน้ำหรือก้อน เพื่อประเมินลักษณะของก้อน
วิธีการตรวจต่าง ๆ เช่น
- การตรวจภาพทางรังสีวิทยา นรีแพทย์นิยมใช้การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจผ่านทางช่องคลอด (transvaginal ultrasound) เป็นการตรวจทางรังสีวิทยาเป็นลำดับแรก การตรวจทางรังสีวิทยาอื่น ๆ เช่น CT scan หรือ MRI การตรวจทางรังสีวิทยาจะช่วยประเมินตำแหน่ง ขนาดและลักษณะของถุงน้ำหรือก้อนรังไข่ว่ามีส่วนประกอบของของเหลวหรือก้อนเนื้อตัน/เนื้อตายที่อาจบ่งชี้ภาวะความเป็นมะเร็งของก้อน มดลูกและสิ่งผิดปกติอื่น ๆ ในอุ้งเชิงกราน
- การตรวจการตั้งครรภ์ ถ้าสตรีนั้นอยูในวัยเจริญพันธุ์ และมีข้อบ่งชี้จากประวัติหรือการตรวจร่างกาย
- การตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งรังไข่ ที่นิยมใช้กัน คือ ค่าโปรตีนในเลือดที่เรียกว่า CA125 ที่อาจพบสูงขึ้นในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ อย่างไรก็ตาม มีภาวะอื่น ๆ ที่อาจทำให้ค่า CA125 สูงขึ้นได้เช่นเดียวกัน เช่น ในช่วงหลังของรอบประจำเดือน ภาวะตั้งครรภ์ ภาวะอุ้งเชิงกรานหรือช่องท้องอักเสบ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกมดลูก เนื้องอกหรือมะเร็งชนิดอื่น ๆ เป็นต้น โดยแพทย์จะประเมินค่า CA125 ร่วมกับลักษณะอื่น ๆ ประกอบกัน
- การผ่าตัดส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดที่รุกรานน้อย (minimally invasive surgery) เพื่อประเมิน วินิจฉัยและเพื่อผ่าตัดรักษานำถุงน้ำหรือก้อนรังไข่ออกไปในคราวเดียวกัน
การรักษา
นรีแพทย์จะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับภาวะของถุงน้ำ/ก้อนรังไข่ ทางเลือก และแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับสตรีแต่ละราย โดยคำนึงถึง วัย ภาวะประจำเดือน ความต้องการมีบุตรในอนาคต อาการของผู้ป่วย รวมถึงธรรมชาติหรือพยาธิสภาพที่น่าจะเป็นของก้อน (จากวิธีการตรวจต่าง ๆ ดังกล่าวเบื้องต้น)
แนวทางการรักษาหลัก ๆ ได้แก่
- การตรวจติดตาม หากซีสต์หรือก้อนมีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นถุงน้ำ ไม่มีเนื้อตัน (ไม่สงสัยว่าเป็นเนื้องอก) แพทย์จะแนะนำให้เฝ้าสังเกตอาการ อาจให้ยาบรรเทาตามอาการ และนัดตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นระยะ ๆ ด้วยการตรวจร่างกาย ตรวจภายในและการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของซีสต์
- การรักษาด้วยยาการรักษาด้วยยา เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนที่อาจช่วยในกรณีที่เป็นถุงน้ำที่เกิดจากการทำงานตามปกติของรังไข่ ยาฮอร์โมนสำหรับช็อกโกแลตซีสต์ หรือยาปฏิชีวนะสำหรับถุงน้ำที่เป็นก้อนหนองซึ่งเกิดจากการอักเสบของปีกมดลูก เป็นต้น
- การผ่าตัด
- ถุงน้ำหรือก้อนที่ควรพิจารณาผ่าตัดเพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอนและ/หรือเพื่อการรักษา คือ
- มีขนาดใหญ่ โตขึ้นเร็ว หรือมีอาการมากในสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ยังมีประจำเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่ไม่อาจระบุชัดเจนจากลักษณะทางคลินิกว่าเป็น functional cysts หรือ เนื้องอก
- คงอยู่หรือโตขึ้นหลังวัยหมดประจำเดือน
- ถุงน้ำหรือก้อนที่เกิดจากพยาธิสภาพอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เนื้องอก แต่มีขนาดใหญ่และ/หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา
- เป็นเนื้องอกของรังไข่ ไม่ว่าจะเป็นเนื้องอกธรรมดาหรือเนื้องอกชนิดร้าย (มะเร็ง) จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรักษาเอาก้อนออก และส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันข้อวินิจฉัย
- การผ่าตัดอาจเป็นไปได้หลายรูปแบบ เช่น
- ผ่าตัดเลาะเฉพาะถุงน้ำหรือก้อนออก โดยไม่จำเป็นต้องตัดรังไข่ออกทั้งหมด
- ผ่าตัดเอารังไข่ข้างเดียวออก ในกรณีที่ก้อนใหญ่และไม่มีเนื้อเยื่อรังไข่ปกติเหลืออยู่
- ผ่าตัดเอารังไข่ ท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้าง และมดลูกรวมทั้งแผ่นไขมันในช่องท้อง ต่อมน้ำเหลืองหลังเยื่อบุช่องท้องในกรณีที่เป็นมะเร็ง และให้การรักษาเพิ่มเติมตามความเหมาะสม ซึ่งในกรณีนี้ แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดควรเป็นแพทย์ผู้ชำนาญในการผ่าตัดมะเร็งนรีเวช
- วิธีการผ่าตัดอาจเป็นได้หลายรูปแบบ
- การผ่าตัดส่องกล้อง (laparoscopic surgery) โดยการเจาะรูทางหน้าท้องหรือผ่านทางช่องคลอด (transvagina) เพื่อใส่เครื่องมือเข้าไปทำการผ่าตัด
- การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (laparotomy)
- ถุงน้ำหรือก้อนที่ควรพิจารณาผ่าตัดเพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอนและ/หรือเพื่อการรักษา คือ
ทั้งนี้แพทย์และสตรีหรือผู้ป่วยควรจะปรึกษาและทำการตัดสินใจร่วมกัน (shared-decision making) เพื่อเลือกรูปแบบและวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด โดยประเมินจากลักษณะก้อน พยาธิสภาพและความต้องการของสตรีหรือผู้ป่วยแต่ละราย