อาการ สาเหตุ และการตรวจวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน (Parkinson disease)

โรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสัน (Parkinson disease) คือโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งในผู้สูงอายุคิดเป็นความชุกประมาณร้อยละ 1 ในผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โรคพาร์กินสันมีความสำคัญต่อการสาธารณสุข

แชร์

โรคพาร์กินสันคืออะไร

โรคพาร์กินสัน (Parkinson disease) คือโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งในผู้สูงอายุคิดเป็นความชุกประมาณร้อยละ 1 ในผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โรคพาร์กินสันมีความสำคัญต่อการสาธารณสุขไทย เพราะเป็นโรคที่ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทุพพลภาพ เพิ่มอัตราการเสียชีวิต และยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลอีกด้วย

อาการโรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสันมีอาการแสดงหลักที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวผิดปกติ (Motor Symptoms) ประกอบด้วย

  • อาการเคลื่อนไหวช้า
  • อาการสั่นขณะอยู่เฉย
  • อาการแข็งเกร็ง
  • การทรงตัวลำบาก

ซึ่งอาการของโรคพาร์กินสันเหล่านี้นำไปสู่การหกล้ม รวมเรียกว่า อาการพาร์กินโซนิซึ่ม นอกจากนี้แล้วผู้ป่วยพาร์กินสันยังมีอาการที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหว (Non-motor Symptoms) หรืออาการที่เป็นสัญญาณเตือนก่อนเป็นโรคพาร์กินสันเรียกว่า Prodromal symptoms ได้แก่

  • อาการนอนละเมอในกลางดึก
  • อาการดมกลิ่นหรือรับรสอาหารไม่ได้
  • อาการท้องผูกเรื้อรัง
  • อาการซึมเศร้า

แต่ขอเน้นก่อนว่าไม่ใช่คนที่นอนละเมอทุกรายจะเป็นอาการของโรคพาร์กินสันเสมอไป เนื่องจากอาการที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้มีความเฉพาะเจาะจงกับโรคพาร์กินสันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าคนที่มีอาการเหล่านี้ ร่วมกับประวัติครอบครัวของโรคพาร์กินสันแล้วโอกาสของการเป็นโรคพาร์กินสันก็จะเพิ่มขึ้น อาการเตือนเหล่านี้ในทางการแพทย์บ่งบอกถึงภาวะเสื่อมทางระบบประสาทได้เริ่มขึ้นในบริเวณก้านสมองส่วนล่างซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการนอนหลับ และระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการขับถ่าย เป็นต้น ซึ่งหลักฐานทางการวิจัยได้บ่งบอกว่าอาการเหล่านี้อาจเกิดก่อนอาการพาร์กินสันทางการเคลื่อนไหวได้นานมากถึง 6-20 ปี

สาเหตุโรคพาร์กินสัน

ในปัจจุบันเราไม่สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยว่าเป็นโรคพาร์กินสันตามอาการเตือนเหล่านี้ได้ อันเนื่องมาจากการขาดความเฉพาะเจาะจงของอาการเหล่านี้ อาการเหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งในสัญญาณเตือนที่บอกให้ผู้ป่วยรู้ว่า ระบบประสาทส่วนกลางเริ่มเกิดความเสื่อม ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเหล่านี้อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะเริ่มแสดงอาการเคลื่อนไหวผิดปกติออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นอาการที่จะทำให้ผู้ป่วยรับรู้ว่าได้อย่างชัดเจนว่าเป็นอาการของโรคพาร์กินสัน ดังเช่นที่ผู้ป่วยรายหนี่งได้พูดถึงอาการตะคริว หรือปัญหาของการใส่รองเท้า ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นอาการเพียงเล็กน้อย แต่ความเป็นจริงแล้วระดับของโดพาร์มีน (Dopamine) ได้เริ่มลดลงมานานแล้วก่อนหน้าที่อาการจะแสดงออก

โรคพาร์กินสันความจริงแล้วเริ่มที่ไหน ยังไม่มีใครทราบอย่างแท้จริง แต่ข้อมูลของการศึกษาในปัจจุบันได้บอกถึงการเสื่อมของระบบประสาทในโรคพาร์กินสันว่าอาจเริ่มจากระบบประสาทอัตโนมัติส่วนปลายที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้ ซึ่งสามารถอธิบายอาการท้องผูกซึ่งเป็นหนึ่งในอาการเตือนได้ และการเสื่อมของระบบประสาทจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมายังบริเวณก้านสมองส่วนล่างซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการนอนละเมอ จนกระทั่งการเสื่อมนั้นมาถึงก้านสมองส่วนบนผู้ป่วยจะมีอาการสั่นและการเคลื่อนไหวช้าเกิดขึ้น

ข้อมูลอาการโรคพาร์กินสันต่าง ๆ เหล่านี้มีความสำคัญในการตัดสินใจในการรักษาผู้ป่วยรายนี้ อย่างแรกก็คือ ระดับโดพาร์มีนที่ลดลงมานานควรได้รับการทดแทนโดยเร็วที่สุดอาการที่แสดงออกน้อยไม่ได้หมายถึงว่าอาการนั้นเพิ่งเริ่มเกิดขึ้น แต่สมองของคนเรามีความสามารถในการทดแทนหรือชดเชยอาการที่เป็นปัญหาถ้าจำเป็น (Compensatory mechanism)

เพราะฉะนั้นความเชื่อในสมัยก่อนที่เชื่อว่าจะเริ่มใช้วิธีรักษาโรคพาร์กินสันด้วยยา ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกตินั้นคงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว ซึ่งในปัจจุบันมีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันแล้วว่า “โรคพาร์กินสันต้องรักษาเร็ว” ข้อมูลสำคัญอีกอย่างที่ช่วยสนับสนุนการเริ่มรักษาเร็วก็คือว่าการรักษาในปัจจุบันช่วยชะลอความรุนแรงของโรคอย่างชัดเจนส่งผลให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาเร็วมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมีภาวะแทรกซ้อนน้อยลงและมีอายุที่ยืนยาวขึ้น และอีกเหตุผลหนึ่งในทางทฤษฎีแล้วการทดแทนระดับโดพาร์มีนจะช่วยให้สมองของผู้ป่วยไม่ต้องทำงานหนักมากเกินไปในช่วงของการทดแทนหรือชดเชยอาการที่ขาดหายไป

การวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคพาร์กินสันที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นเกณฑ์ทางคลินิกที่แพทย์ยอมรับในการใช้วินิจฉัยโรคพาร์กินสันในปัจจุบัน ขอเน้นว่าเกณฑ์นี้เป็นเกณฑ์ทางคลินิก ที่แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการของโรคพาร์กินสันได้จากการซักประวัติและการตรวจร่างกาย เพราะฉะนั้นถ้าเกณฑ์นี้ถูกใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคพาร์กินสัน จะมีความแม่นยำอยู่ที่ประมาณ 95% (ไม่มีเกณฑ์ไหนที่มีความแม่นยำเท่ากับ 100%)

ในกรณีถ้าอาการโรคพาร์กินสันมีความชัดเจน การตรวจเพิ่มเติมทางเอกซเรย์ ไม่ว่าจะเป็น MRI หรือการตรวจเลือดต่าง ๆ นั้นไม่มีความจำเป็น ในการวินิจฉัยโรคพาร์กินสันตามเกณฑ์นี้ ผู้ป่วยจะต้องมีอาการหลักของโรคพาร์กินสัน (ที่เรียกว่าอาการพาร์กินโซนิซึ่ม) และที่สำคัญคือผู้ป่วยจะต้องมีการเคลื่อนไหวที่ช้า (Bradykinesia) ซึ่งหมายถึงว่า ผู้ป่วยพาร์กินสันทุกคนจะต้องมีการเคลื่อนไหวช้าถ้าไม่ช้าก็คือไม่ใช่โรคพาร์กินสัน แต่ในผู้ป่วยพาร์กินสันระยะแรกนั้นอาการช้าอาจจะไม่ชัดเจนไม่สามารถสังเกตได้จากกิจกรรมโดยทั่วไปต้องอาศัยการตรวจร่างกายจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ในทางตรงกันข้าม อาการสั่นขณะมืออยู่เฉย (Tremor at rest) ซึ่งเป็นอาการโรคพาร์กินสันที่สังเกตได้ง่ายที่สุดและพบในผู้ป่วยพาร์กินสันประมาณ 70% ซึ่งหมายถึงว่าอาการสั่นนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นกับผู้ป่วยพาร์กินสันทุกราย โดยเฉพาะผู้ป่วยพาร์กินสันอายุน้อยที่มักมาด้วยอาการช้า และแข็งเกร็งข้างใดข้างหนึ่งของร่างกายโดยไม่มีอาการสั่น อาการหลักอื่น ๆ นั้นประกอบด้วยอาการแข็งเกร็ง (Rigidity) และการทรงตัวไม่ดี (Postural instability) อาการหลักทั้งหลายเหล่านี้รวมเรียกกันว่าอาการพาร์กินโซนิซึ่ม (Parkinsonism) ซึ่งอาการพาร์กินโซนิซึ่มนั้นสามารถมีได้หลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยคือโรคพาร์กินสัน (ประมาณ 70%) และสาเหตุอื่น ๆ ดังเช่นโรคพาร์กินสันเทียมเป็นต้น





บทความโดย
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ

แพทย์ผู้ชำนาญการด้านประสาทวิทยา เฉพาะทางโรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ
ประวัติแพทย์

เผยแพร่เมื่อ: 18 ก.พ. 2021

แชร์