Pediatric and Adolescent Idiopathic Scoliosis Banner 1.jpg

ภาวะกระดูกสันหลังคดในเด็กและวัยรุ่น

ภาวะที่กระดูกสันหลังมีการคดเอียงออกทางด้านข้างตั้งแต่ 10 องศาขึ้นไป มักพบมากในช่วงวัยรุ่น และเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และมักไม่มีอาการ

แชร์

ภาวะกระดูกสันหลังคดในเด็กและวัยรุ่น

ภาวะกระดูกสันหลังคด เป็นภาวะที่กระดูกสันหลังมีการคดเอียงออกทางด้านข้างตั้งแต่ 10 องศาขึ้นไป มักพบมากในช่วงวัยรุ่น และเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในอัตราส่วน 10:1 โดยร้อยละ 80 ของภาวะนี้ยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดได้แน่ชัด อย่างไรก็ตามในบางกรณีสามารถพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะสมองพิการหรือในผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับระบบเส้นประสาทและกล้ามเนื้อผิดปกติ

โดยทั่วไปภาวะดังกล่าวผู้ป่วยมักไม่มีอาการ แต่ในบางกรณีอาจส่งผลให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรงตามมาได้ ยกตัวอย่างเช่น หากมีความคดเอียงของกระดูกสันหลังมากกว่า 60 องศาขึ้นไป จะส่งผลให้ขนาดช่องว่างภายในทรวงอกลดลง ทำให้ปอดไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่ เกิดอาการหายใจลำบากหรือหายใจไม่อิ่ม และหากความคดเอียงนั้นมากกว่า 90 องศา จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะระบบทางเดินหายใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวได้

โดยปกติ ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังจะทำการเฝ้าสังเกตอาการของเด็กที่มีภาวะดังกล่าว โดยการดูภาพถ่ายเอกซเรย์ เพื่อติดตามความคดเอียงว่ามีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ หากมีความคดเอียงที่เพิ่มมากขึ้น แพทย์อาจทำการรักษาโดยการให้ผู้ป่วยใส่อุปกรณ์พยุงหลังเพื่อป้องกันการคดเอียงที่มากขึ้น แต่หากพบว่าความคดเอียงของกระดูกสันหลังเป็นมากขึ้น อาจพิจารณาทำการรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อยับยั้งความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้

อาการกระดูกสันหลังคดในเด็กและวัยรุ่น

  • ไหล่สองข้างไม่เท่ากัน
  • สะบักข้างหนึ่งนูนกว่าอีกข้างหนึ่ง
  • บั้นเอวหรือสะโพกเอียงไม่เท่ากัน
  • หลังด้านหนึ่งนูนขึ้นมากกว่าอีกด้านหนึ่ง เมื่อทำการก้มตัวไปด้านหน้า


เมื่อไหร่ที่ควรมาพบแพทย์

ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจยืนยันภาวะดังกล่าวและเข้ารับการรักษาเมื่อพบว่ามีลักษณะทางร่างกายที่สังเกตได้ถึงความผิดปกติดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

สาเหตุการเกิดกระดูกสันหลังคดในเด็กและวัยรุ่น

ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่แท้จริงของภาวะนี้ได้ แต่มักพบว่าอาจมีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรม เนื่องจากสามารถส่งต่อรุ่นสู่รุ่นได้ นอกจากนี้กลุ่มโรคบางชนิดอาจทำให้เกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน ได้แก่

  • ความผิดปกติของระบบประสาทกล้ามเนื้อบางประการ เช่น ภาวะสมองพิการ หรือโรคกล้ามเนื้อเสื่อม
  • ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เป็นผลให้การเจริญเติบโตของกระดูกสันหลังผิดปกติ
  • การผ่าตัดทรวงอกตั้งแต่ยังเป็นทารก
  • การบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังหรือการติดเชื้อก่อนหน้านี้
  • ความผิดปกติของไขสันหลัง


ภาวะแทรกซ้อน

  • ภาวะการหายใจลำบาก - เนื่องจากกระดูกสันหลังที่คดมากกว่า 60 องศา จะส่งผลทำให้ช่องว่างภายในทรวงอกลดน้อยลง ทำให้ปอดไม่สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มที่
  • อาการปวดหลังเรื้อรัง - สำหรับคนที่มีอาการในวัยเด็กมักจะส่งผลต่ออาการเรื้อรังเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบุคคลดังกล่าวไม่ได้เข้ารับการรักษา หรือพบว่าความคดเอียงมากผิดปกติ
  • ความวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปร่าง - กระดูกสันหลังคดจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่ออาการเริ่มรุนแรงมากขึ้น เช่น สะโพก หัวไหล่ไม่สมดุล อาการซี่โครงยื่นออกมาด้านหน้า เอวและลำตัวเอียงออกด้านข้าง ผู้ป่วยที่เป็นภาวะกระดูกสันหลังคดมักมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปร่างของตัวเอง


การวินิจฉัยภาวะกระดูกสันหลังคดในเด็กและวัยรุ่น

แพทย์จะทำการซักประวัติโดยละเอียด และในการตรวจร่างกายจะให้ผู้ป่วยยืนหันหลังและก้มตัวไปด้านหน้าโดยปล่อยมือทิ้งลงอิสระ เพื่อเปรียบเทียบความนูนของสะบักและซี่โครงทั้งสองด้าน ทั้งนี้แพทย์อาจทำการตรวจระบบประสาทเพื่อหาความผิดปกติที่เกี่ยวกับระบบประสาทและกล้ามเนื้อกล้ามเนื้อ หรือตรวจปฏิกิริยาตอบสนองซึ่งอาจพบความผิดปกติได้

การวินิจฉัยด้วยภาพถ่ายเอกเรย์

การเอกซเรย์โดยทั่วไปสามารถช่วยในการวินิจฉัยภาวะดังกล่าวได้ และยังสามารถบ่งบอกถึงความรุนแรงของภาวะนี้ได้ นอกจากนี้เมื่อตรวจพบภาวะดังกล่าว แพทย์อาจทำการส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจทางภาพถ่ายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความคมชัดสูง (Magnetic Resonance Imaging; MRI) เพื่อหาสาเหตุการเกิดภาวะดังกล่าว

การรักษาภาวะกระดูกสันหลังคดในเด็กและวัยรุ่น

แนวทางการรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค หากผู้ป่วยมีภาวะกระดูกสันหลังคดเอียงเล็กน้อยมักไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา โดยแพทย์จะนัดติดตามอาการเป็นระยะจนกว่าจะมั่นใจว่าไม่เกิดความคดเอียงที่มากขึ้น แต่หากพบว่ามีความคดเอียงที่มากขึ้น แพทย์อาจพิจารณาทำการรักษาโดยการแนะนำให้ผู้ป่วยใส่อุปกรณ์พยุงหลังเพื่อไม่ให้มีการคดเอียงที่มากขึ้น แต่หากพบว่าความคดเอียงดังกล่าวส่งผลให้เกิดการทุพพลภาพในอนาคตต่อตัวผู้ป่วย แพทย์อาจพิจารณาทำการรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อหยุดยั้งความคดเอียงนั้นๆก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนในอนาคตได้

ปัจจัยในการพิจารณาแนวทางการรักษา

  • ช่วงอายุของการเจริญเติบโตของกระดูก - หากพบว่ากระดูกสันหลังอยู่ในวัยที่หยุดการเจริญเติบโตแล้ว ความเสี่ยงในการเกิดการคดเอียงที่มากขึ้นลดน้อยลง
  • องศาหรือระดับความคดเอียง
  • เพศ -  เด็กผู้หญิงจะมีความเสี่ยงของความรุนแรงโรคมากกว่าเด็กผู้ชาย

การใช้อุปกรณ์พยุงหลัง

แพทย์อาจเสนอแนวทางการใช้เครื่องพยุงหลังหากพบว่ากระดูกของผู้ป่วยยังอยู่ในช่วงของการเจริญเติบโต และมีอาการที่มีความรุนแรงระดับปานกลาง โดยการใช้อุปกรณ์จะไม่ได้ช่วยในการรักษาแต่สามารถช่วยให้อาการไม่ทรุดลงกว่าเดิม โดยส่วนมากมักทำจากวัสดุพลาสติก และสามารถดัดแปลงให้เข้ากับสัดส่วนรูปร่างได้ โดยจะไม่ปรากฏเมื่อสวมใส่เสื้อผ้า อุปกรณ์จะทำการรัดบริเวณใต้วงแขน ซี่โครง หลังส่วนล่าง และสะโพก และต้องใส่เป็นเวลาประมาณ  20-23 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเด็กที่สวมใส่อุปกรณ์พยุงหลังจะสามารถร่วมกิจกรรมต่างๆได้อย่างปกติ โดยสามารถสวมใส่ได้เมื่อจะทำการเล่นกีฬา หรือการทำกิจกรรมอื่นๆ

การใช้อุปกรณ์พยุงหลังจะสิ้นสุดเมื่อเด็กหยุดการเจริญเติบโต โดยเด็กผู้หญิงมักหยุดการเจริญเติบโตเมื่ออายุ 14 และเด็กผู้ชายเมื่ออายุ 16 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

การผ่าตัดแก้ไขภาวะกระดูกสันหลังคด

การผ่าตัดมีวัตถุประสงค์เพื่อยับยั้งการคดเอียงที่มากขึ้น ตลอดจนทำการยืดกระดูกสันหลังที่คดออกให้ใกล้เคียงกับลักษณะทางกายวิภาคปกติของกระดูกสันหลัง โดยในปัจจุบันมีวิธีการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะนี้ได้ดังนี้

  • การผ่าตัดแก้ไขภาวะกระดูกสันหลังคด โดยการใช้แท่งโลหะชนิดพิเศษที่สามารถยืดขยายได้ - หากตรวจพบว่ากระดูกสันหลังมีความคดเอียงมากตั้งแต่วัยเด็กเล็ก ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังจะทำการรักษาโดยการผ่าตัดดามแท่งโลหะชนิดพิเศษตามแนวกระดูกสันหลัง ซึ่งแท่งโลหะชนิดพิเศษนี้สามารถปรับยืดขยายได้ การรักษาวิธีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กระดูกสันหลังที่คดเอียงนั้นมีการเจริญเติบโตไปตามแนวของแท่งโลหะที่ดามไว้ ทำให้สามารถแก้ไขภาวะคดเอียงของกระดูกสันหลังไปพร้อมๆกับให้มีการเจริญเติบโตของกระดูกสันหลังควบคู่กันได้
  • การผ่าตัดแก้ไขภาวะกระดูกสันหลังคด แบบการเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง - ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังจะทำการผ่าตัดแก้ไขความคดเอียงและทำการเชื่อมข้อกระดูกเข้าด้วยกันหลังจากทำการแก้ไขความคดเอียงนั้นแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังกลับมาคดเอียงอีกภายหลังจากเข้ารับการผ่าตัดแล้ว
  • การผ่าตัดแก้ไขกระดูกสันหลังคดแบบการไม่เชื่อมข้อกระดูกสันหลัง - ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังจะทำการเปิดผิวหนังเป็นรอยแผลขนาดเล็กบริเวณด้านข้างลำตัว และทำการใส่สกรูผ่านทางรอยแผลเปิดนั้นๆ จากนั้นจะทำการใส่สายเคเบิลที่มีความยืดหยุ่นและความแข็งแรงสูงที่บริเวณสกรูที่ได้ใส่ไว้เบื้องต้น เพื่อขึงให้กระดูกที่คดเอียงนั้นกลับมาอยู่ในลักษณะตรงใกล้เคียงกับปกติ วิธีนี้จะไม่เสียความสามารถของข้อต่อกระดูกสันหลังภายหลังจากการผ่าตัด


ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และเคล็ดลับการดูแลตนเอง

ยังไม่พบว่ามีกิจกรรมใดที่เป็นสาเหตุ หรือสามารถช่วยทำให้กระดูกสันหลังคดหายได้ โดยผู้ป่วยที่มีความผิดปกติดังกล่าวยังสามารถทำกิจวัตรต่างๆรวมถึงการออกกำลังกายได้ตามปกติ

การรับมือและช่วยเหลือคนไข้กระดูกสันหลังคด

การรับมือกับภาวะกระดูกสันหลังคดอาจกระทำได้ยากในช่วงวัยรุ่น ซึ่งช่วงอายุดังกล่าว โดยปกติก็จะต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและทางด้านอารมณ์อยู่แล้ว ส่งผลทำให้มีความรู้สึกไม่มั่นใจและมีความกลัวต่อความผิดปกติดังกล่าวได้

ทั้งนี้หากวัยรุ่นมีความรู้สึกไม่มั่นใจหรือมีความกลัวต่อการใช้ชีวิตจากการมีกระดูกสันหลังที่คดเอียง ควรเข้าร่วมการบำบัดรักษาแบบกลุ่ม เพื่อช่วยในการทำใจยอมรับโรคที่เกิดขึ้น การใช้อุปกรณ์พยุงหลัง หรือการผ่าตัดรักษาต่อไป ควรผลักดันให้เด็กมีความกล้าที่จะพูดกับเพื่อนๆ หรือหาความช่วยเหลืออื่น ๆ

การเตรียมตัวก่อนการพบแพทย์

โรงเรียนหลายแห่งมีกระบวนการตรวจเบื้อง่ต้นเพื่อค้นหาภาวะกระดูกสันหลังคด หากพบความผิดปกติดังกล่าว ควรพามาพบแพทย์เพื่อให้ทำการตรวจยืนยันหากสงสัยภาวะดังกล่าว

วิธีเตรียมตัวก่อนการนัดหมาย

  • จดรายละเอียดอาการของเด็ก
  • จดข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาทางการแพทย์ของเด็กที่ผ่านมา
  • จดข้อมูลเกี่ยวกับประวัติภาวะทางการแพทย์ของครอบครัว
  • จดคำถามที่จะถามแพทย์

สิ่งที่คาดหวังได้จากการพบแพทย์

คำถามสำคัญที่แพทย์อาจถาม มีดังต่อไปนี้

  • ผู้ปกครองสังเกตเห็นความผิดปกติดังกล่าวตอนที่ผู้ป่วยอายุเท่าใด
  • ภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดความเจ็บปวดต่อผู้ป่วยหรือไม่
  • ภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการหายใจของผู้ปวยหรือไม่
  • มีคนในครอบครัวที่ประสบปัญหาภาวะกระดูกสันหลังคดหรือไม่
  • ผู้ป่วยมีลักษณะของภาวะกระดูกสันหลังคดเอียงมากขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาหรือไม่
  • ประวัติประจำเดือนครั้งแรกของผู้ป่วย (ทำนายความคดเอียงที่อาจเกิดมากขึ้นในอนาคตได้)

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 04 ส.ค. 2022

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    รศ.นพ. ปัญญา ลักษณพฤกษา

    รศ.นพ. ปัญญา ลักษณพฤกษา

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    Orthopedics Surgery, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. ชัยวัฒน์ ปิยะสกุลแก้ว

    นพ. ชัยวัฒน์ ปิยะสกุลแก้ว

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. กฤษดากร ขจรกิตติศักดิ์

    นพ. กฤษดากร ขจรกิตติศักดิ์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ศิริชัย วิลาศรัศมี

    ผศ.นพ. ศิริชัย วิลาศรัศมี

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    Orthopedics Surgery, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    รศ.นพ. วีรศักดิ์ สิงหถนัดกิจ

    รศ.นพ. วีรศักดิ์ สิงหถนัดกิจ

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    Orthopedics Surgery, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. สมบัติ คุณากรสวัสดิ์

    นพ. สมบัติ คุณากรสวัสดิ์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    การผ่าตัดกระดูกสันหลัง, Orthopedics Surgery
  • Link to doctor
    นพ. วิทย์ โคธีรานุรักษ์

    นพ. วิทย์ โคธีรานุรักษ์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    ศัลยศาสตร์กระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. ทินกร ปลื้มวิทยาภรณ์

    นพ. ทินกร ปลื้มวิทยาภรณ์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    Orthopedics Surgery, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. ชัยยศ ทิรานนท์

    นพ. ชัยยศ ทิรานนท์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    การผ่าตัดกระดูกสันหลัง, Orthopedics Surgery
  • Link to doctor
    รศ.นพ. อัคคพงษ์ นิติสิงห์

    รศ.นพ. อัคคพงษ์ นิติสิงห์

    • ศัลยกรรมประสาท
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    ประสาทศัลยศาสตร์, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. เทวเจษฎา ภาเรือง

    นพ. เทวเจษฎา ภาเรือง

    • ศัลยกรรมประสาท
    • ศัลยกรรมไขสันหลัง
    ประสาทศัลยศาสตร์, ศัลยศาสตร์กระดูกสันหลัง
  • Link to doctor
    นพ. เตมีธ์  เสถียรราษฎร์

    นพ. เตมีธ์ เสถียรราษฎร์

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
    Orthopedics Surgery, การผ่าตัดกระดูกสันหลัง