เตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร : น้ำหนักตัวและพฤติกรรมของทารกในครรภ์ สารอาหารที่จำเป็น Preconception planning for expectant parents

เตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร

ในการให้กำเนิดบุตรที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์นั้น การเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร ทั้งด้านร่างกาย จิตใจและสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ

แชร์

เลือกเรื่องที่ต้องการอ่าน

    1. การเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร

    ในการให้กำเนิดบุตรที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์นั้น การเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร ทั้งด้านร่างกาย จิตใจและสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ การเตรียมความพร้อมทางร่างกายที่ดีของมารดาตั้งแต่ก่อนมีบุตรจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดกับมารดาและบุตรได้ วัตถุประสงค์ของการเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตรก็เพื่อที่จะค้นหาความเสี่ยงต่าง ๆ ในคู่สามีภรรยาที่อาจส่งผลกระทบต่อบุตร และทำการจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้นให้ส่งผลเสียต่อการมีบุตรน้อยที่สุด รวมถึงส่งเสริมสุขภาพในด้านต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมกับการตั้งครรภ์ในอนาคต

    ความสำคัญของการเตรียมความพร้อมก่อนการมีบุตร

    • เพื่อการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย
    • กำเนิดบุตรที่มีสุขภาพแข็งแรง มีภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุด

    การเตรียมความพร้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งการส่งเสริมภาวะที่เหมาะสมกับการมีบุตร ปรับร่างกายให้เหมาะสม ด้านอาหาร การออกกำลังกาย น้ำหนักตัว พฤติกรรม และการตรวจคัดกรองก่อนแต่งงานและก่อนมีบุตรหาความเสี่ยงทางสุขภาพที่อาจกระทบกับการตั้งครรภ์และการมีบุตร ผู้ที่วางแผนแต่งงานหรือมีบุตรร่วมกันนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องได้รับการตรวจสุขภาพ เพื่อตรวจดูความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย ดูเรื่องโรคติดต่อโดยเฉพาะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงโรคทางพันธุกรรมที่สามารถถ่ายทอดไปสู่บุตรที่จะเกิดมาได้ 

    วัตถุประสงค์ของการตรวจคัดกรองก่อนแต่งงานและก่อนมีบุตร

    • เพื่อตรวจสุขภาพของชายหญิงและคู่สมรส
    • ระบุความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับบุตร
    • วางแผนป้องกันโรคที่อาจจะเกิดกับคู่สมรสหรือบุตรที่จะเกิดมา
    • ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ชายหญิงและคู่สมรสในการดูแลตัวเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร

    โดยจะทำการตรวจประเมินสุขภาพร่างกายทั่วไป อันได้แก่การที่แพทย์ทำการซักประวัติสุขภาพโดยรวม ประวัติโรคประจำตัว และการเจ็บป่วยต่าง ๆ พฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และทำการตรวจร่างกายทั่วไป และการตรวจเลือดในคู่สมรสก่อนแต่งงานและก่อนมีบุตร ซึ่งเป็นการตรวจเลือดเพื่อหาความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อคู่สมรสและบุตรที่จะเกิดมาได้


    2. ผลของน้ำหนักตัวต่อการตั้งครรภ์และการมีบุตร

    น้ำหนักตัวที่มากหรือน้อยเกินไปส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์และการมีบุตรได้ทั้งสิ้น โดยมีการศึกษาพบว่าในฝ่ายหญิง น้ำหนักตัวที่มากเกินไปสัมพันธ์กับภาวะประจำเดือนผิดปกติ มาไม่สม่ำเสมอ ไข่ไม่ตก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพไข่ และมีผลต่อเยื่อบุโพรงมดลูก อาจมีผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อนในโพรงมดลูกได้ นอกจากนี้ในผู้มีบุตรยากที่รักษาโดยการกระตุ้นไข่และทำเด็กหลอดแก้ว มีการศึกษาพบว่าในฝ่ายหญิงที่มีน้ำหนักตัวมาก มีการตอบสนองของรังไข่ต่อยากระตุ้นไข่น้อยกว่า ทำให้จำเป็นต้องใช้ยากระตุ้นไข่ในขนาดที่มากกว่า ใช้เวลากระตุ้นไข่นานกว่า และได้จำนวนไข่จากการเก็บไข่น้อยกว่าหญิงที่มีน้ำหนักตัวปกติ นอกจากนี้ยังพบว่าในการทำเด็กหลอดแก้ว ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากมีอัตราการยกเลิกการกระตุ้นไข่ระหว่างการทำเด็กหลอดแก้วสูงกว่า และอัตราการตั้งครรภ์ก็ต่ำกว่าผู้ที่มีน้ำหนักปกติอีกด้วย 

    นอกจากภาวะอ้วนจะทำให้มีบุตรยากขึ้นและการทำเด็กหลอดแก้วสำเร็จยากขึ้นแล้ว เมื่อมีการตั้งครรภ์ ก็ยังเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ทั้งในมารดาและทารกมากกว่าคนน้ำหนักปกติอีกด้วย โดยมีการศึกษาพบว่า เกิดภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์ รวมทั้งภาวะครรภ์เป็นพิษเพิ่มขึ้น มีทารกคลอดก่อนกำหนด ตัวเล็กหรือตัวใหญ่กว่าอายุครรภ์เพิ่มขึ้น รวมถึงมีอัตราการตายคลอดของทารกเพิ่มขึ้นด้วย

    ในฝ่ายชายภาวะอ้วนสัมพันธ์กับคุณภาพน้ำอสุจิที่แย่ลง โดยพบอุบัติการของภาวะความเข้มข้นของอสุจิน้อยและอสุจิเคลื่อนไหวผิดปกติเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการที่ในคนอ้วนถุงอัณฑะจะอยู่ใกล้กับตัวมากกว่าในคนปกติ ทำให้อุณหภูมิในอัณฑะสูงกว่าปกติ อุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสร้างอสุจิ นอกจากนี้ ภาวะอ้วนยังสัมพันธ์กับภาวะอวัยวะเพศไม่แข็งตัวซึ่งจะมีผลต่อการมีเพศสัมพันธ์และการมีบุตรได้

    น้ำหนักตัวที่เหมาะสมกับการมีบุตร

    ในระยะหลังนี้ ภาวะน้ำหนักเกินและภาวะอ้วนจัดเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่พบมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเกือบทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ภาวะอ้วนคือภาวะที่มีน้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์จากที่มีไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป ซึ่งภาวะนี้มักจะสัมพันธ์กับการเกิดโรคตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ฯลฯ นอกจากเรื่องสุขภาพส่วนตัวแล้ว ภาวะน้ำหนักเกินและภาวะอ้วนของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายยังส่งผลต่อการมีบุตรได้อีกด้วย

    การที่จะทราบว่าตัวเรามีภาวะน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วนหรือไม่นั้น สามารถดูจากค่าดัชนีมวลกาย โดยค่าดัชนีมวลกายคำนวณได้จากการนำน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงในหน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง (รูปสูตร) ค่าดัชนีมวลกายปกติอ้างอิงจากองค์การอนามัยโลกคือ 18.5 – 22.9 กิโลกรัม/เมตร2 (ตาราง BMI ระดับต่าง ๆ)      

    โดยน้ำหนักตัวที่เหมาะสม ไม่มีภาวะน้ำหนักเกินและภาวะอ้วน ทั้งในฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย มีความสำคัญต่อการคลอดที่ปลอดภัยและมีบุตรที่แข็งแรง ดังนั้น ผู้ที่วางแผนจะมีบุตรควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่มีค่าดัชนีมวลกายปกติ คือ 18.5 – 22.9 กิโลกรัม/เมตร2 


    3. สารอาหารกับการมีบุตร

    ในการเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตรนั้น การรับประทานอาหารอย่างไรจึงจะเหมาะสมเป็นเรื่องหนึ่งที่คู่สมรสมักถามแพทย์อยู่เสมอ เพราะนอกจากสารอาหารจะส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของมารดาให้มีสุขภาพแข็งแรง เตรียมพร้อมเป็นผู้ที่ตั้งครรภ์และให้กำเนิดแล้วนั้น สารอาหารบางชนิดอาจมีผลดี ช่วยบำรุงไข่และอสุจิ ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ง่ายขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้การขาดสารอาหารหรือการได้รับสารอาหารชนิดนั้นในปริมาณที่น้อยเกินไปอาจมีผลเพิ่มภาวะแท้งหรือความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ได้

    สารอาหารที่อาจมีผลต่อการมีบุตรในฝ่ายหญิง

    • คาร์โบไฮเดรต
      ปริมาณและคุณภาพของสารอาหารคาร์โบไฮเดรตในอาหารอาจมีผลต่อการทำงานและการสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจนของรังไข่ในฝ่ายหญิง โดยการรับประทานอาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตมากและมีดัชนีน้ำตาล หรือ Glycemic index สูง อาจมีผลต่อภาวะไข่ไม่ตก ดัชนีน้ำตาลคือการจัดลำดับอาหารชนิดคาร์โบไฮเดรตว่ามีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดมากน้อยเพียงใดหลังจากรับประทานอาหารชนิดนั้น 1-2 ชั่วโมง โดยอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูงจะดูดซึมเร็วกว่า และเป็นเหตุให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงกว่าอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ

      ในผู้หญิงที่มีภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (PCOS) มีการศึกษาพบว่า การลดอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสามารถทำให้การทำงานของรังไข่ดีขึ้น ไข่ตกดีขึ้น และมีระดับฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจนที่ต่ำลงได้ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาไม่ได้พบความสัมพันธ์นี้ในกลุ่มคนปกติที่มีประจำเดือนมาสม่ำเสมอ
    • โฮลเกรน
      โฮลเกรน (Whole grain) คือธัญพืชเต็มเมล็ดผ่านการขัดสีน้อย ทำให้ยังคงคุณค่าสารอาหารอย่างครบถ้วน โดยในโฮลเกรนมีสารที่คุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระและต่อต้านการอักเสบ ซึ่งอาจส่งผลดีต่อการมีบุตรได้ มีการศึกษาพบว่า การรับประทานโฮลเกรนในช่วงที่เตรียมความพร้อมก่อนมีบุตรมีผลช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์และการให้กำเนิดบุตรที่มีชีวิตได้
    • กรดไขมัน
      กรดไขมันมีหลายชนิด โดยทั่วไปแบ่งเป็นกรดไขมันอิ่มตัวและกรดไขมันไม่อิ่มตัว กรดไขมันมีบทบาทในกระบวนการมีบุตรในหลาย ๆ แง่มุม เช่น กรดไขมันเป็นแหล่งพลังงานสำหรับการเจริญของไข่และการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในระยะแรก นอกจากนี้ กรดไขมันยังเป็นสารตั้งต้นของสารสำคัญหลายชนิดที่มีผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อนและการตั้งครรภ์
      • ไขมันทรานส์ (Trans fat)
        ไขมันทรานส์ เป็นไขมันไม่อิ่มตัวที่พบไม่บ่อยในธรรมชาติ มักเกิดจากการสังเคราะห์ขึ้น จากการปรุงอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวที่ผ่านความร้อนสูง เช่น การอบหรือ ทอด ไขมันทรานส์เพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจขาดเลือด โดยไปเพิ่มคอเรสเตอรอลตัวร้าย LDL ลดไขมันคอเรสเตอรอลตัวดี HDL เพิ่มไตรกลีเซอไรด์และเพิ่มการอักเสบทั่วร่างกาย ในส่วนที่เกี่ยวกับการมีบุตรนั้น มีการศึกษาพบว่า ไขมันทรานส์มีความสัมพันธ์กับภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินและภาวะไข่ไม่ตก โดยในผู้หญิงที่บริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์มาก พบปัญหามีบุตรยากที่มีสาเหตุจากไข่ไม่ตกและเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่มากกว่ากลุ่มที่บริโภคไขมันประเภทอื่น 
      • โอเมก้า 3
        โอเมก้า 3 เป็นไขมันไม่อิ่มตัวชนิดหนึ่ง ที่พบมากในน้ำมันสัตว์และพืชทะเล ในด้านการมีบุตร มีการศึกษาพบว่า โอเมก้า 3 เพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเทอโรน และลดความเสี่ยงของไข่ไม่ตก นอกจากนี้ยังพบว่า การบริโภคโอเมก้า 3 ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ได้ในบางการศึกษา และการบริโภคอาหารที่มีโอเมก้า 3 ปริมาณมากยังช่วยลดความเสื่อมของรังไข่ตามวัยได้อีกด้วย

        ในผู้มีบุตรยากที่รักษาด้วยเด็กหลอดแก้ว โอเมก้า 3 ก็มีผลดีเช่นกัน โดยมีการศึกษาพบว่า ทุก 1% ของระดับโอเมก้า 3 ในเลือดที่เพิ่มขึ้น สามารถเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์และการให้กำเนิดบุตรที่มีชีวิตได้ถึง 8%

        โดยสรุปการบริโภคอาหารที่มีโอเมก้า 3 มากและไขมันทรานส์น้อยส่งผลดีต่อการมีบุตร ทั้งในผู้ที่เตรียมตัวมีบุตรและผู้มีบุตรยาก
    • โปรตีน
      สารอาหารโปรตีนมีในเนื้อสัตว์หลายชนิด เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา เนื้อวัว รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนมวัว และถั่วชนิดต่าง ๆ ข้อมูลเรื่องประโยชน์และโทษของโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เนื้อปลา รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนมวัวต่อการมีบุตรนั้น ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด เนื่องจากมีประเด็นเรื่องความกังวลของสารปนเปื้อนต่าง ๆ ในเนื้อสัตว์และเนื้อปลา ส่วนการศึกษาในกลุ่มโปรตีนจากถั่วเหลืองนั้น ส่วนใหญ่ไม่พบผลเสียและอาจพบประโยชน์ต่อการมีบุตร 

      โดยสรุปแล้วจากข้อมูลที่มีในปัจจุบัน สารอาหารที่มีผลดีต่อการมีบุตรคือคาร์โบไฮเดรตที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำไขมันที่ประกอบด้วยไขมันไม่อิ่มตัวโอเมก้า 3 มากและมีไขมันทรานส์น้อย โปรตีนจากถั่วเหลือง  ส่วนรูปแบบอาหารที่น่าจะมีผลดีต่อการมีบุตรและควรจะรับประทานในผู้ที่เตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร ประกอบด้วย โฮลเกรน ธัญพืชขัดสีน้อย ผักผลไม้ และปลาที่มีไขมันโอเมก้า 3 ในปริมาณมาก

    สารอาหารที่มีผลต่อการมีบุตรในฝ่ายชาย

    ในกระบวนการสร้างอสุจินั้นจะมีกระบวนการที่ทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระค่อนข้างมาก และเนื่องจากรูปร่างเฉพาะของตัวอสุจิเองก็ทำให้มีข้อจำกัดในการป้องกันตัวเองจากสารอนุมูลอิสระเหล่านี้ นอกจากนี้ในการเปลี่ยนเป็นอสุจิที่สมบูรณ์เต็มที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงของส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ไปเป็นสารที่ไวต่อการเปลี่ยนเป็นสารอนุมูลอิสระ

    • ไขมัน
      ในการเปลี่ยนแปลงของอสุจิเป็นอสุจิที่สมบูรณ์เต็มที่นั้นจะมีการเปลี่ยงแปลงของไขมันที่เป็นองค์ประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ไปเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวมากขึ้นโดยเฉพาะไขมันไม่อิ่มตัวกลุ่มโอเมก้า 3 โดยมีการศึกษาพบว่าในอสุจิที่สมบูรณ์เต็มที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวกลุ่มโอเมก้า 3 ชนิดดีเอชเอมากถึง 20% เมื่อเทียบกับในอสุจิที่ยังไม่สมบูรณ์ที่มีโอเมก้า 3 ชนิดดีเอชเอเพียง 4% ซึ่งกรดไขมันไม่อิ่มตัวโอเมก้า 3 สัมพันธ์กับความเข้มข้นของตัวอสุจิ รูปร่างและการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิที่ดี โอเมก้า 3 เหล่านี้มีอยู่ในอาหารจำพวกปลา อาหารทะเล และถั่วในกลุ่มวอลนัต นอกจากนี้ มีการศึกษาที่ทำในกลุ่มผู้ชายที่มีปัญหาด้านปริมาณ รูปร่างและการเคลื่อนไหวของอสุจิ พบว่า การให้โอเมก้า 3 เสริมสามารถช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของตัวอสุจิได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากปริมาณและคุณภาพของอสุจิที่ดีขึ้นแล้ว ในการศึกษาในผู้ที่ต้องการมีบุตร การรับประทานอาหารประเภทปลาที่มีโอเมก้า 3 สูงในฝ่ายชายยังสัมพันธ์การมีบุตรได้เร็วกว่าและพบปัญหามีบุตรยากน้อยกว่า

      ในทางตรงกันข้ามกรดไขมันทรานส์และกรดไขมันอิ่มตัวที่พบมากในอาหารอบ อาหารทอดกลับมีผลเสีย โดยสัมพันธ์กับน้ำอสุจิที่มีอสุจิปริมาณน้อยและคุณภาพไม่ดี

      ดังนั้นในฝ่ายชายที่เตรียมความพร้อมก่อนมีบุตรควรรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 เช่น เนื้อปลา อาหารทะเล ถั่ววอลนัต และควรหลีกเลี่ยงอาหารอบ อาหารทอดที่มีกรดไขมันทรานส์และกรดไขมันอิ่มตัว ในปริมาณสูง
    • สารต้านอนุมูลอิสระ
      ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าในกระบวนการสร้างอสุจินั้นทำให้เกิดการสร้างสารอนุมูลอิสระได้มาก และจากรูปร่างที่จำเพาะของตัวอสุจิเองก็มีความบอบบางต่อสารอนุมูลอิสระได้มากกว่าปกติ จากข้อมูลที่รวบรวมถึงปัจจุบันพบว่าการให้สารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซีและวิตามินอีเสริมในฝ่ายชายที่รักษามีบุตรยากอยู่ สามารถเพิ่มคุณภาพของอสุจิได้ โดยเฉพาะเรื่องการเคลื่อนไหว นอกจากนี้ยังอาจเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์และการคลอดมีชีวิตได้  
    • โฟลิก
      โฟลิกสำคัญในกระบวนการสร้างสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างอสุจิ โดยมีการศึกษาพบว่าการให้โฟลิกเสริม 5-15 มิลลิกรัมต่อวันเป็นระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือนนั้นสามารถเพิ่มความเข้มข้นของตัวอสุจิในน้ำอสุจิได้ถึง 53 – 70 % และสามารถเพิ่มตัวอสุจิที่เคลื่อนไหวได้ดีได้ถึง 2 เท่า   
    • สังกะสี
      สังกะสีเป็นสารอาหารที่พบบ่อยมากในอาหารเสริมสำหรับฝ่ายชายที่ต้องการมีบุตร โดยปริมาณสังกะสีที่มากเพียงพอในน้ำอสุจิสำคัญกับการเคลื่อนไหวและการทำงานที่ปกติของตัวอสุจิ มีการศึกษาพบว่าการให้สังกะสีเสริมในฝ่ายชายสามารถเพิ่มปริมาตรของน้ำอสุจิ เพิ่มสัดส่วนของตัวอสุจิที่รูปร่างปกติและเคลื่อนไหวดีในน้ำอสุจิได้

      โดยสรุปสารอาหารที่น่าจะส่งผลดีต่อการมีบุตรในฝ่ายชายคือโอเมก้า 3 โฟลิก สังกะสี สารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี วิตามินอี ส่วนสารอาหารที่อาจมีผลเสียคือกรดไขมันทรานส์และกรดไขมันอิ่มตัว


    4. พฤติกรรมต่าง ๆ กับการมีบุตร

    • การสูบบุหรี่
      การสูบบุหรี่ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายโดยรวมของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย รวมถึงส่งผลเสียต่อภาวะการเจริญพันธุ์ด้วย โดยมีการศึกษาพบว่าความชุกของปัญหามีบุตรยากสูงขึ้นและเวลาที่ใช้จนกว่าจะตั้งครรภ์สำเร็จนานขึ้นในกลุ่มที่ฝ่ายหญิงสูบบุหรี่ โดยระยะเวลาที่ใช้สัมพันธ์กับปริมาณบุหรี่ที่สูบในแต่ละวัน ยิ่งจำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวันมาก ระยะเวลากว่าจะตั้งครรภ์สำเร็จก็นานขึ้น โดยกลไกที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากในฝ่ายหญิงที่สูบบุหรี่นั้น เกิดจากการที่สารพิษในบุหรี่ มีผลต่อปริมาณและคุณภาพของไข่ มีการศึกษาพบว่า บุหรี่ทำให้ปริมาณไข่ในรังไข่ของฝ่ายหญิงลดลงเร็วกว่าปกติและผู้หญิงที่สูบบุหรี่จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็วกว่าผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 1-4 ปี ซึ่งก็เกิดจากการที่ไข่ในรังไข่ลดลงเร็วกว่านั่นเอง ในผู้มีบุตรยากที่ทำการรักษาด้วยเด็กหลอดแก้วพบว่าในกลุ่มของผู้หญิงที่สูบบุหรี่มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์สำเร็จจากเด็กหลอดแก้วน้อยกว่าผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ นอกจากนี้บุหรี่ยังสัมพันธ์กับการแท้ง การตั้งครรภ์นอกมดลูก และการคลอดก่อนกำหนดที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

      ในฝ่ายชายการสูบบุหรี่ก็ส่งผลเสียต่อการเจริญพันธุ์เช่นกัน โดยพบว่าในกลุ่มผู้ชายที่สูบบุหรี่ มีความเข้มข้นของอสุจิในน้ำอสุจิลดลงถึง 22 % เมื่อเทียบกับคนที่ไม่สูบและมีผลทำให้อสุจิมีรูปร่างผิดปกติมากขึ้นด้วย ซึ่งอาจส่งผลลดอัตราการเจริญพันธุ์ลงได้

      จะเห็นว่าการสูบบุหรี่ไม่ว่าในฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงก็ส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์และการมีบุตรทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่า หากสามารถเลิกบุหรี่ได้ก่อนตั้งครรภ์ ผลเสียเหล่านั้นสามารถหายไปและความเสี่ยงต่าง ๆ กลับมาอยู่ในระดับปกติได้ภายใน 1 ปีหลังเลิกบุหรี่ ดังนั้นในคนที่วางแผนมีบุตรจึงควรเลิกบุหรี่ก่อนปล่อยมีบุตรประมาณ 1 ปี

    • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
      ผลกระทบของแอลกอฮอล์กับการมีบุตรนั้น ยังไม่ค่อยชัดเจนนัก โดยจากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันพบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจมีผลเสียต่อการมีบุตรโดยเพิ่มการเกิดภาวะมีบุตรยากประมาณ 2 เท่าในฝ่ายหญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก คือมากกว่า 2 ดื่มมาตรฐานต่อวัน (2 standard drink/day) ในขณะที่ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณน้อยกว่านี้ โดยเฉพาะกรณีที่ดื่มน้อยกว่า 1 ดื่มมาตรฐานต่อวันนั้น ยังไม่พบว่ามีผลเสียใด ๆ

      แอลกอฮอล์ 1 ดื่มมาตรฐาน (1 standard drink หรือบางครั้งเรียกสั้นๆ ว่า 1 drink) นั้นคือ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ผสมอยู่ 10 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่ตับใช้เวลา 1 ชั่วโมง ในการขับออก โดย 1 ดื่มมาตรฐานของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละชนิดจะไม่เท่ากัน สำหรับเบียร์แอลกอฮอล์ 5% ปริมาณ 1 ดื่มมาตรฐานจะเท่ากับ 1 กระป๋องหรือ 1 ขวดเล็กคือ 330 มิลลิลิตร ส่วนวิสกี้หรือวอดก้าที่มีแอลกอฮอล์ 40-43% 1 ดื่มมาตรฐานจะอยู่ที่ 3 ฝาหรือ 30 มิลลิลิตรและหากเป็นไวน์ที่มีแอลกอฮอล์ 11-13% 1 ดื่มมาตรฐานคือ 1 แก้วหรือ 100 มิลลิลิตร

      ในฝ่ายชาย จากข้อมูลปัจจุบันยังไม่พบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำอสุจิแต่อย่างใด

      ดังนั้นในผู้ที่วางแผนจะมีบุตร ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากคือ มากกว่า 2 ดื่มมาตรฐาน (2 drink) ต่อวัน โดยเฉพาะในฝ่ายหญิง
    • คาเฟอีน
      คาเฟอีนพบในเครื่องดื่มพวกกาแฟ ชา ฯลฯ โดยในฝ่ายหญิง การได้รับคาเฟอีนปริมาณมากอาจส่งผลเสียต่อเรื่องการมีบุตร มีการศึกษาพบว่า การบริโภคคาเฟอีนมากกว่าวันละ 500 มิลลิกรัมหรือเทียบเท่ากับการรับประทานกาแฟ มากกว่า วันละ 5 แก้ว ทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์ลดลง นอกจากนี้ ในกรณีที่ตั้งครรภ์แล้ว หากรับประทานกาแฟมากกว่า 2-3 แก้วต่อวัน (คาเฟอีน 200-300 มิลิลิกรัมต่อวัน) จะเพิ่มโอกาสการแท้งบุตรด้วย

      ในฝ่ายชาย ยังไม่พบว่าการบริโภคคาเฟอีนส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำอสุจิ

      โดยรวมแล้วการบริโภคคาเฟอีนในปริมาณที่ไม่มากเกินไป เช่น รับประทานกาแฟ 1-2 แก้วต่อวัน ในช่วงเตรียมมีบุตรและขณะตั้งครรภ์ไม่ได้ส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ ดังนั้น ในผู้ที่เตรียมตัวมีบุตรสามารถ รับประทานกาแฟได้ ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากเกินไป คือไม่เกิน 1-2 แก้วต่อวัน   
    • การออกกำลังกายโยคะ
      การออกกำลังกายส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง การออกกำลังกายที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่ควรทำในช่วงที่เตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการศึกษาโดยตรงว่า การออกกำลังกายส่งผลให้มีบุตรยากหรือง่ายขึ้นแต่อย่างใด

      การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสุขภาพโดยทั่วไป วิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์การกีฬาอเมริกาแนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที ด้วยการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ วิ่ง หรือปั่นจักรยาน โดยอาจทำเป็นเวลาประมาณ 30 นาทีต่อวัน สัปดาห์ละ 5 วัน

      โยคะอาจมีผลดีต่อการมีบุตร โดยมีการศึกษาพบว่าโยคะทำให้ผ่อนคลายและลดความกังวลในผู้ที่มีบุตรยาก และอาจมีประโยชน์ในการช่วยเพิ่มความสำเร็จในผู้มีบุตรยากที่รักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ด้วย


    บทความโดย
    พญ.พิมพกา ชวนะเวสน์

    สูตินรีแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และสตรีวัยหมดประจำเดือน
    ประวัติแพทย์
    คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก

    Preconception Planning Info 3.jpg

    เผยแพร่เมื่อ: 12 ธ.ค. 2022

    แชร์