การดูแลการตั้งครรภ์ pregnancy care

การดูแลการตั้งครรภ์

เป็นการดูแลสุขภาพของแม่และทารกในครรภ์ทั้งขณะตั้งครรภ์และหลังคลอดบุตร ซึ่งเป็นขั้นตอนสําคัญที่จะทําให้ทั้งแม่และบุตรมีสุขภาพดี แข็งแรง

แชร์

การดูแลการตั้งครรภ์

การดูแลการตั้งครรภ์เป็นการดูแลสุขภาพของแม่และทารกในครรภ์ทั้งขณะตั้งครรภ์และหลังคลอดบุตร ซึ่งเป็นขั้นตอนสําคัญที่จะทําให้ทั้งแม่และบุตรมีสุขภาพดี แข็งแรง และยังเปิดโอกาสให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้เรียนรู้ทักษะพื้นฐานในการดูแลตนเองและบุตรจากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญ ทราบว่าอะไรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของบุตรในครรภ์ และรู้จักวิธีการดูแลทารกแรกเกิดและสุขภาพของตนเองหลังคลอดบุตร

การดูแลตัวเองก่อนการตั้งครรภ์สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่เริ่มวางแผนจะมีทารกหรืออย่างน้อย 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ โดยอาจเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีดังต่อไปนี้
  • เลิกสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • รับประทานกรดโฟลิกขนาดอย่างน้อย 400 ไมโครกรัมทุกวัน
  • ปรึกษาแพทย์เรื่องโรคประจำตัวและยาหรืออาหารเสริมที่รับประทานอยู่
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นอันตรายและสารพิษที่บ้านหรือที่ทํางาน

การฝากครรภ์

เมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ สิ่งที่ผู้หญิงทุกคนควรทำคือการไปฝากครรภ์ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการฝากครรภ์ทำให้หญิงตั้งครรภ์ได้พบแพทย์ตรวจสุขภาพร่างกายอย่างเป็นประจำ ช่วยลดความเสี่ยงระหว่างการตั้งครรภ์และเพิ่มอัตราการคลอดบุตรอย่างปลอดภัยและประสบความสําเร็จ โดยแพทย์จะตรวจสุขภาพครรภ์ ป้องกัน หรือรักษาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ฝากครรภ์จะมีความเสี่ยงที่จะให้กำเนิดทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยสูงถึง 3 เท่า และทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูงถึง 5 เท่ากว่าทารกที่เกิดจากแม่ที่ฝากครรภ์

ระหว่างการตั้งครรภ์

แพทย์จะทำการนัดตรวจ
  • ทุกเดือนในช่วง 6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
  • ทุกสองสัปดาห์ในเดือนที่ 7 และ 8 ของการตั้งครรภ์
  • ทุกสัปดาห์ในช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์
ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากอายุหรือปัญหาทางด้านสุขภาพ แพทย์จะทำการนัดตรวจบ่อยขึ้น
เมื่อไปตามนัดแพทย์จะทําการตรวจสุขภาพตามปกติ ซึ่งอาจรวมไปถึง
  • แพทย์พิจารณาการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะในบางช่วงขณะตั้งครรภ์
  • การตรวจวัดความดันโลหิต
  • การตรวจวัดน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์
  • การตรวจวัดการเจริญเติบโตและอัตราการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์
แพทย์จะทำการตรวจตําแหน่งของทารกในเดือนสุดท้าย ระหว่างการตั้งครรภ์นั้นหญิงตั้งครรภ์สามารถเข้าร่วมชั้นเรียนการเตรียมตัวเป็นคุณแม่มือใหม่ตามที่แพทย์แนะนำได้ โดยคุณแม่มือใหม่จะได้เรียนรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้างระหว่างการตั้งครรภ์ การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนคลอด วิธีการดูแลทารก เช่น การอาบน้ำและให้นม เป็นต้น

การดูแลหลังคลอด

หลังคลอดบุตรจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจของแม่ จึงจำเป็นที่แม่จะรู้ถึงวิธีดูแลตนเอง ซึ่งรวมไปถึงการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และการดูแลสุขภาพช่องคลอด

การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

เนื่องจากหน้าที่ใหม่ในการเป็นแม่ลูกอ่อน แม่อาจรู้สึกได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างท่วมท้น เพื่อจะที่ให้แม่ได้พักผ่อนและนอนหลับอย่างเพียงพอ แม่ควรนอนพร้อมทารก ตั้งเตียงนอนเด็กไว้ใกล้เตียงนอนของตัวเองเพื่อง่ายต่อการให้นมตอนกลางคืน และให้ผู้อื่นใช้ขวดนมป้อนทารกแทนตอนแม่พักผ่อนในยามจำเป็น

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

เนื่องจากร่างกายของแม่มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างและหลังการตั้งครรภ์ โภชนาการหลังคลอดที่เหมาะสมสามารถช่วยให้แม่ฟื้นความแข็งแรงและเริ่มให้นมบุตรได้ คุณแม่ที่ให้นมบุตรควรรับประทานอาการทุกครั้งที่รู้สึกหิว แต่ควรเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการแทนขนมหรืออาหารไขมันสูง และควรดื่มน้ำมาก ๆ อาหารที่รับประทานควรมีสารอาหารครบ 5 หมู่

การดูแลช่องคลอด

หลังคลอดบุตร อาจรู้สึกปวดช่องคลอด แสบเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย มีตกขาว หรือรู้สึกว่ามดลูกหดเกร็ง แพทย์มักนัดหมายติดตามอาการ 6 สัปดาห์หลังคลอดเพื่อตรวจและรักษาอาการที่มี ในช่วง 4-6 สัปดาห์แรกหลังคลอดควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เพื่อให้แผลในช่องคลอดหายสนิทเสียก่อน

ระหว่างและหลังการตั้งครรภ์คุณแม่ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงและไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของทั้งแม่และเด็ก

 

 

บทความโดย
พญ.พิมพกา ชวนะเวสน์
สูตินรีแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และสตรีวัยหมดประจำเดือน
ประวัติแพทย์
คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก

เผยแพร่เมื่อ: 24 ธ.ค. 2022

แชร์