เปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกเทียมผ่านสายสวนรักษาลิ้นหัวใจตีบ - Transcatheter Aortic Valve Replacement (TAVR)

รักษาลิ้นหัวใจตีบขั้นรุนแรงโดยเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม

การรักษาด้วยวิธีเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกเทียมผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบขั้นรุนแรงโดยเฉพาะ ด้วยข้อมูลจากการศึกษาทดลองมาเป็นระยะเวลายาวนาน

แชร์

เปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกเทียมผ่านสายสวนรักษาลิ้นหัวใจตีบ

การรักษาผู้ป่วยลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบขั้นรุนแรงด้วยวิธีเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกเทียมผ่านสายสวน (Transcatheter Aortic Valve Replacement-TAVR) ลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบขั้นรุนแรง (Severe aortic stenosis) มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป มีสาเหตุหลัก 2 ประการคือ 1) ลิ้นหัวใจเอออร์ติกผิดปกติแต่กำเนิด (Bicuspid aortic valve) และ 2) การเสื่อมสภาพของลิ้นหัวใจเอออร์ติกตามอายุ (Degenerative aortic valve) โดยจะมีการสะสมของหินปูนและ เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ลิ้นหัวใจทำให้ลิ้นหัวใจหนาขึ้น แข็งขึ้น จนลิ้นไม่สามารถเปิดได้กว้างอย่างปกติในขณะที่หัวใจห้องล่างซ้ายบีบตัวเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย  ส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีภาวะโรคนี้มีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง เจ็บแน่นหน้าอก  เป็นลมหมดสติ ไปจนถึงมีอาการหัวใจวาย จากสถิติพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการ ดังกล่าวร้อยละ 50 มีโอกาสเสียชีวิตเฉียบพลันได้ภายใน 2- 5 ปี

ภาพที่ 1 แสดงลิ้นหัวใจเอออร์ติกปกติ

ภาพที่ 2 แสดงลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ

ด้วยความรุนแรงของโรคดังกล่าว จึงเป็นเหตุผลให้ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาก่อนที่อาการจะทรุดลงหรือเสียชีวิตเฉียบพลัน

การรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบขั้นรุนแรง

วิธีการรักษามาตรฐานสำหรับโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบขั้นรุนแรง คือ การผ่าตัดเปิดหน้าอกเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เป็นการรักษาที่ได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงไม่มาก โดยมีอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 1–2

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เหมาะกับการผ่าตัดดังกล่าว เช่น ผู้ป่วยที่มีอายุมากและมีโรคประจำตัวหลายโรค หรือ เคยได้รับการผ่าตัดเปิดช่องอกมาก่อนแล้วในอดีต ผู้ป่วยเหล่านี้มีสภาพร่างกายที่ไม่สามารถทนต่อการผ่าตัดใหญ่ได้ และอาจมีอัตราการเสียชีวิตจากการผ่าตัดได้สูงถึงร้อยละ 20 หรือมากกว่า เป็นเหตุให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งถูกปฏิเสธการผ่าตัด เนื่องจากมีความเสี่ยงในการผ่าตัดสูง จนในที่สุดแล้วผู้ป่วยต้องเสียชีวิตด้วย อาการต่างๆ ดังได้กล่าวข้างต้น ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้พลาดโอกาสในการรักษาเพื่อต่อชีวิตให้ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นที่ควรจะเป็น

ภาพที่ 3 และ 4 แสดงลิ้นหัวใจเอออร์ติกเทียมและอุปกรณ์ที่ใช้ในการใส่ลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวน


การรักษาด้วยวิธีเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกเทียมผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด
(Transcatheter Aortic Valve Replacement, TAVR) เป็นนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อการรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบขั้นรุนแรงโดยเฉพาะ ด้วยข้อมูลจากการศึกษาทดลองมาเป็นระยะเวลายาวนาน ส่งผลให้การรักษาด้วยวิธีนี้ในที่สุดแล้วได้เป็นวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน ยอมรับกันในระดับสากลในปัจจุบัน โดยมีผลการรักษาที่มีข้อมูลเชิงสถิติ ยืนยันว่า สามารถลดอัตราการเสียชีวิต ลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล ลดระยะเวลาการพักฟื้น ลดอัตราการกลับเข้านอนโรงพยาบาลซ้ำ และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้ป่วยได้อย่างชัดเจน

หลักการของวิธีเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกเทียมผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดช่องอก คือเป็นหัตถการที่มีการ ใส่ลิ้นหัวใจเทียมเข้าไปครอบทับลิ้นหัวใจเอออร์ติกเดิมผ่านทางหลอดเลือดแดงที่มีขนาดใหญ่ทางท่อนำหรือสายสวนลิ้นหัวใจเทียมเป็นเนื้อเยื่อที่ถูกยึดติดอยู่กับโครงขดลวดชนิดพิเศษถูกม้วนหรือบีบอัดให้เล็กลง เพื่อจะเข้าไปอยู่ในอุปกรณ์ลักษณะเป็นท่อสายสวนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8-10 มิลลิเมตร ที่จะถูกสอดผ่านหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ (Transfemoral route) หลอดเลือดแดงบริเวณยอดอกหรือรักแร้ (Trans subclavian or trans axillary route) หลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้า (Direct aortic route) หรือ ผ่านช่องอกโดยตรงเข้าสู่หัวใจห้องล่างซ้าย (Trans apical route) แล้วแต่กรณี เพื่อไปวางลิ้นหัวใจเทียมดังกล่าวตรงตำแหน่งของลิ้นหัวใจเอออร์ติก โดยอาศัยการฉายภาพเอกซเรย์เพื่อวางตำแหน่งลิ้นดังกล่าว

ภาพที่ 5 ภาพเอกซเรย์แสดงลิ้นหัวใจเอออร์ติกเทียมหลังจากถูกใส่ผ่านสายสวน

หลังจากวางลิ้นหัวใจเทียมในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว ลิ้นหัวใจเทียมดังกล่าวจะสามารถทำงานได้ทันที วิธีการนี้ผู้ป่วยจะมีเพียงรอยแผลขนาดเล็ก ตรงบริเวณที่ใส่สายสวนเข้าไปเท่านั้น ทำให้เสียเลือดน้อย แผลหายอย่างรวดเร็ว และหลังการรักษาฟื้นตัวได้เร็ว ผู้ป่วยมักจะกลับบ้านได้ภายในระยะเวลา 2-3 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่น

 

 

บทความโดย
พญ.ปิยนาฏ ปรียานนท์

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด เฉพาะทางการสวนหัวใจและหลอดเลือด
ประวัติแพทย์ คลิก

เผยแพร่เมื่อ: 23 พ.ค. 2021

แชร์