อาการ สาเหตุ การตรวจวินิจฉัยและการรักษาเนื้องอกของมดลูก (Uterine fibroids)

เนื้องอกมดลูก (Uterine fibroids)

เนื้องอกมดลูก คือเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง พบได้ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ เนื้องอกอาจมีเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อนได้พร้อมกัน

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


เนื้องอกมดลูก

เนื้องอกมดลูก หรือ เนื้องอกกล้ามมดลูก คือเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง พบได้ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ เนื้องอกอาจมีเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อนได้พร้อมกัน

เนื้องอกของมดลูกมีขนาดแตกต่างกันไป บางครั้งมีขนาดเล็ก ตรวจไม่พบจากการตรวจร่างกาย หรือมีขนาดใหญ่สตรีสามารถคลำพบได้ด้วยตนเอง ก้อนเนื้องอกอาจมีขนาดคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ค่อย ๆ โตขึ้น โตขึ้นอย่างเร็ว หรือเล็กลงเมื่อตรวจติดตามไป การเปลี่ยนแปลงขนาดนี้มักขึ้นอยู่กับสภาวะฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ตั้งครรภ์หรือภาวะหมดประจำเดือน

เนื้องอกของมดลูกแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ ตามตำแหน่ง เนื้องอกที่ยื่นเข้าไปในโพรงมดลูกจะเรียกว่าเนื้องอกโพรงมดลูก (submucous fibroid) เนื้องอกในชั้นกล้ามเนื้อมดลูกจะเรียกว่าเนื้องอกของกล้ามเนื้อมดลูก (intramural fibroid) หากเนื้องอกที่ยื่นออกไปนอกมดลูกจะเรียกว่าเนื้องอกที่ผิวด้านนอกมดลูก (subserous fibroid) ในบางราย เนื้องอกอาจคร่อมตำแหน่งกันได้

เนื้องอกมดลูก เกิดจากสาเหตุอะไร? และมีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง?

เนื้องอกมดลูก เกิดจากสาเหตุอะไรนั้น ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า เนื้องอกน่าจะเกิดมาจากเซลล์เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อของมดลูก หรือ เซลล์ต้นกำเนิดที่แบ่งตัวมากผิดปกติ จนกลายเป็นก้อนเนื้อ สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่

  • เชื้อชาติ สตรีผิวดำมีแนวโน้มที่จะมีเนื้องอกมดลูกได้บ่อยมากกว่าสตรีเชื้อชาติอื่น มักพบตั้งแต่ในวัยเด็ก ก้อนเนื้องอกมีจำนวนมาก มีขนาดใหญ่ และทำให้เกิดอาการผิดปกติได้บ่อยกว่าชนชาติอื่น ๆ
  • ปัจจัยด้านพันธุกรรม ลักษณะยีนของก้อนเนื้องอกต่างไปจากเซลล์ปกติ ทำให้พบเนื้องอกของมดลูกได้บ่อยในสตรีที่มีสมาชิกในครอบครัวมีเนื้องอกมดลุก
  • ปัจจัยด้านฮอร์โมน ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนมีส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของโครงสร้างและเนื้อเยื่อมดลูกปกติและเนื้องอกมดลูก ในก้อนเนื้องอกจะมีค่าฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนสูงกว่าเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกปกติ การมีประจำเดือนเร็วขณะที่อายุน้อย (มีการทำงานของฮอร์โมนเร็ว) จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงประการหนึ่ง ในขณะที่ วัยหมดประจำเดือนที่การผลิตฮอร์โมนลดลง เนื้องอกจึงมักมีขนาดเล็กลง
  • ปัจจัยอื่น ๆ เนื้องอกอาจถูกกระตุ้นโดยสารต่าง ๆ เช่น สารกระตุ้นการเจริญเติบโต (growth factor) ที่พบในสารภายนอกเซลล์ (extracellular matrix; ECM) ซึ่งมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพของเซลล์ซึ่งช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อ
  • ภาวะสารอาหาร เช่น ภาวะอ้วน การขาดวิตามินดี การบริโภคเนื้อแดงเป็นประจำ การบริโภคผัก ผลไม้ หรือผลิตภัณฑ์จากนมน้อย หรือดื่มสุราเป็นประจำก็อาจเป็นสาเหตุได้เช่นกัน

เนื้องอกมดลูก มีอาการอย่างไร?

โดยปกติแล้วเนื้องอกมดลูกขนาดเล็กมักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ อย่างไรก็ตาม สตรีที่มีเนื้องอกมดลูกอาจมีอาการต่าง ๆ ได้ขึ้นกับขนาด จำนวนและตำแหน่งของเนื้องอกนั้น ๆ  ได้แก่

  • มีเลือดประจำเดือนออกมาก หรือมานาน
  • ปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน
  • ปวดท้องน้อย
  • ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะลำบาก
  • ท้องผูก
  • ปวดหลังหรือปวดขา

ภาวะแทรกซ้อนของโรค

มักไม่ค่อยพบภาวะแทกซ้อนจากเนื้องอกมดลูก  ไม่เพิ่มความเสี่ยงของการกลายไปเป็นมะเร็ง ในรายที่ประจำเดือนมามาก อาจทำให้เกิดภาวะซีดและอ่อนเพลีย บางรายอาจจำเป็นต้องให้เลือดเพื่อทดแทนเลือดที่เสียไป

โดยทั่วไป เนื้องอกมดลูกจะไม่ส่งผลต่อการมีบุตร ยกเว้นเนื้องอกในโพรงมดลูกอาจทำให้มีบุตรยากหรือเกิดภาวะแท้ง  ในสตรีตั้งครรภ์ที่มีเนื้องอกมดลูก  อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น ภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด หรือภาวะคลอดก่อนกำหนด

อาการแบบไหนที่ควรพบแพทย์

ควรปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้

  • ประจำเดือนมามาก
  • มีอาการปวดท้องคงอยู่ตลอดหรือปวดท้องรุนแรงเฉียบพลัน
  • มีภาวะโลหิตจางหรือซีด
  • มีเลือดออกกระปริดกระปรอยหรือเลือดออกในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน
  • ปัสสาวะลำบากหรือท้องผูก
  • คลำก้อนได้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก้อนที่โตเร็ว

การตรวจวินิจฉัยเนื้องอกมดลูก มีกี่วิธี อะไรบ้าง?

ระหว่างการตรวจภายใน แพทย์จะตรวจดูและคลำปากมดลูก  มดลูกและปีกมดลูก  ในกรณีที่สงสัยว่ามีความผิดปกติ แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น

  • การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวนด์ ภาพจากอัลตราซาวนด์สามารถช่วยยืนยันว่ามีเนื้องอก ระบุตำแหน่งและขนาดของเนื้องอก การตรวจสามารถทำได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกโดยใช้หัวตรวจวางบนหน้าท้องหรือใส่ผ่านช่องคลอดทางหรือผ่านทางทวารหนัก
  • การตรวจทางรังสีวิทยา แพทย์อาจตรวจทางรังสีวิทยาอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับก้อนเนื้องอกและเพื่อวางแผนการรักษา
    • การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าช่วยให้ได้ภาพที่ละเอียด แพทย์สามารถเห็นจำนวน ขนาด ตำแหน่ง ลักษณะของก้อนและหลอดเลือดที่มาเลี้ยงก้อน สิ่งตรวจพบนี้จะช่วยให้เลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสตรีที่ต้องการมีบุตร สตรีวัยหมดหรือใกล้หมดประจำเดือนหรือสตรีที่มีเนื้องอกมดลูกขนาดใหญ่
    • การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก เป็นการตรวจอัลตราซาวนด์หลังจากที่ฉีดน้ำเกลือเข้าไปยังมดลูกเพื่อให้เห็นภาพเยื่อบุโพรงมดลูกและเนื้องอกโพรงมดลูกได้ดีขึ้นในสตรีที่ประจำเดือนมามากหรือพยายามมีบุตร
    • การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก เป็นการส่องกล้องเข้าไปในมดลูกหลังจากฉีดน้ำเกลือเพื่อขยายโพรงมดลูก ตรวจดูเยื่อบุโพรงมดลูกและประเมินรูที่ท่อรังไข่เปิดเข้าสู่โพรงมดลูก
    • การฉีดสีตรวจท่อนำไข่ เป็นการฉีดสีเพื่อประเมินโพรงมดลูกและท่อรังไข่ และหารอยโรคหรือเนื้องอกโพรงมดลูกและตรวจว่าท่อรังไข่อุดตันหรือไม่ แพทย์มักแนะนำในรายที่มีปัญหาเรื่องภาวะมีบุตรยาก
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจอื่น ๆ เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (complete blood count; CBC) เพื่อประเมินภาวะซีดหรือโลหิตจางจากการเสียเลือดจากการที่ประจำเดือนมามากผิดปกติ การตรวจหาความผิดปกติของระบบเลือด หรือการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับภาวะเลือดออก

เนื้องอกมดลูก ต้องรักษาอย่างไร? มีวิธีรักษาเนื้องอกมดลูกกี่วิธี?

สตรีส่วนใหญ่ที่มีเนื้องอกมดลูก มักไม่จำเป็นที่จะต้องให้การรักษาในรายที่มีอาการ การรักษาเนื้องอกมดลูกมีหลายวิธี นรีแพทย์จะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับสตรีแต่ละราย ได้แก่

การเฝ้าระวัง

เนื้องอกมดลูกที่ไม่มีอาการใด ๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย สามารถเฝ้าระวังและตรวจติดตามได้

การใช้ยา

แพทย์อาจให้ยารวมถึงฮอร์โมนเพื่อลดอาการที่เกิดจากเนื้องอกมดลูก เช่น เพื่อบรรเทาอาการปวดหรืออาการประจำเดือนมามาก เนื้องอกอาจมีขนาดเล็กลง แต่จะไม่หายไปเอง ยาที่ใช้ เช่น

  • ยาฮอร์โมน
    • ฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน (GnRH) ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน (GnRH) จะยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ทำให้ร่างกายเกิดภาวะคล้ายวัยหมดประจำเดือนชั่วคราว อาจมีการให้ยาเพื่อลดขนาดเนื้องอกก่อนทำการผ่าตัด
      ข้อเสียของยา คือ อาจทำให้รู้สึกร้อนวูบวาบ และกระดูกพรุนในกรณีที่ใช้ยาต่อเนื่องนานเกิน 6 เดือน หากเลิกใช้ยา เนื้องอกมดลูกอาจโตกลับขึ้นมาได้อีก
    • ห่วงอนามัยคุมกำเนิดชนิดที่มีโปรเจสเตอโรน การใช้ห่วงอนามัยที่มีโปรเจสเตอโรนจะช่วยบรรเทาอาการประจำเดือนมามากเนื่องจากเนื้องอกมดลูก อย่างไรก็ตาม เนื้องอกจะไม่เล็กลงหรือหายไป
    • ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ยาจะช่วยบรรเทาอาการประจำเดือนมามาก แต่จะไม่ทำให้เนื้องอกมดลูกเล็กลง
  • ยาอื่น ๆ กรดทราเนเซามิค (tranexamic acid) จะยับยั้งการสลายตัวของลิ่มเลือดและยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นยาที่ไม่ใช่ฮอร์โมน สามารถใช้ในวันที่ประจำเดือนมามากเพื่อช่วยลดปริมาณประจำเดือน และบรรเทาอาการปวดท้อง หากประจำเดือนมามากและมีภาวะซีด ควรรับประทานวิตามินและธาตุเหล็ก

การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด

การใช้อัลตราซาวด์นำทางโดยภาพคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI-FUS) เป็นการรักษาเนื้องอกแบบไม่ต้องผ่าตัดเพื่อรักษามดลูกไว้ สามารถทำการรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ โดยจะใช้เครื่อง MRI ตรวจเพื่อระบุตำแหน่งและขอบเขตของเนื้องอก แล้วจึงใช้ห้วอัลตราซาวด์ส่งคลื่นเสียงพลังงานสูงสร้างความร้อนไปทำลายเนื้องอก

การผ่าตัดแบบรุกรานน้อย (Minimally invasive procedures)

เป็นวิธีการรักษาที่ทำให้เนื้องอกฝ่อแทนการผ่าตัดนำเนื้องอกออก หรือตัดเฉพาะก้อนเนื้องอกออก ซึ่งแตกต่างจากการผ่าตัดใหญ่ โดยผู้ป่วยจะกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วกว่า

การใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือด (Uterine artery embolization)

เป็นการปล่อยสารที่ทำหน้าที่เป็นลิ่มเข้าไปในหลอดเลือดบริเวณมดลูกเพื่อยับยั้งการส่งเลือดไปเลี้ยงเนื้องอก ทำให้เนื้องอกฝ่อและสลายไป แม้ภาวะที่รังไข่หรืออวัยวะอื่น ๆ จะขาดเลือดไปเลี้ยงเช่นเดียวกับการผ่าตัดเอามดลูกออก แต่วิธีการนี้จะลดความเสี่ยงของการเสียเลือดได้

การรักษาด้วยคลื่นความถี่สูง (Radiofrequency ablation)

แพทย์จะทำการรักษาผ่านกล้องและคลื่นเสียง (Lap-RFA) โดยส่องกล้องผ่านแผลขนาดเล็กที่หน้าท้อง ระบุตำแหน่งเนื้องอก แล้วจะใส่อุปกรณ์พิเศษที่มีเข็มเล็ก ๆ เข้าไปยังก้อนเนื้องอก เข็มจะร้อนขึ้นเพื่อทำลายเนื้องอก มวลของเนื้องอกจะนุ่มลงและฝ่อไปภายใน 3-12 เดือน
การรักษาโดยวิธีนี้ แพทย์อาจทำการรักษาผ่านทางปากมดลูก โดยการใช้คลื่นเสียงหรืออัลตราซาวนด์ได้เช่นกั

การทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial ablation)

แพทย์จะใส่อุปกรณ์เข้าไปในมดลูก และใช้ คลื่นไมโครเวฟ หรือกระแสไฟทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อหยุดหรือลดปริมาณประจำเดือน วิธีการนี้ส่งผลให้มีบุตรยาก หรืออาจเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ถ้าไม่มีการคุมกำเนิด

การผ่าตัดก้อนเนื้องอกมดลูก

การผ่าตัดก้อนเนื้องอกมดลูกเป็นการผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกมดลูกออก เป็นการรักษาด้วยการผ่าตัดโดยสตรีนั้นยังรักษาภาวะการเจริญพันธุ์ไว้ได้

โดยทั่วไป ก่อนที่จะทำการผ่าตัด แพทย์จะประเมินความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งของก้อนโดยประเมินจากอายุของสตรีประวัติการโตเร็ว อาการและลักษณะจากภาพทางรังสีวิทยาของก้อน การตัดเอาก้อนเนื้องอกออกโดยที่ไม่รู้ก่อนว่าเป็นก้อนเนื้องอกชนิดมะเร็งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการใช้เครื่องมือปั่นให้ก้อนกลายเป็นชิ้นเล็ก ๆ (morcellation) เพื่อที่จะเอาก้อนออก การป้องกันการแพร่กระจายของมะเร็งอาจป้องกันได้ด้วยการปั่นก้อนให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ภายในถุงหรือขยายแผลให้ใหญ่ขึ้นเพื่อเอาก้อนออก

  • การผ่าตัดก้อนเนื้องอกมดลูกด้วยการส่องกล้องหรือใช้หุ่นยนต์ช่วย เป็นการใส่อุปกรณ์เข้าไปทางรูเจาะทางหน้าท้อง เหมาะสำหรับการผ่าเพื่อนำก้อนเนื้องอกมดลูกที่มีจำนวนไม่มากออก  แพทย์สามารถนำก้อนขนาดเล็กออกได้ทั้งก้อน ในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่ แพทย์จะตัด/ ปั่นเนื้องอกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ถุงเก็บชิ้นเนื้อและนำออกผ่านทางแผลหน้าท้องที่เจาะไว้ หรืออาจขยายแผลผ่าตัดเพื่อนำก้อนเนื้องอกออก
    ในการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย แพทย์จะใช้อุปกรณ์ติดกล้องฉายในช่องท้องเพื่อสร้างภาพ 3 มิติของมดลูกให้เห็นบนจอมอนิเตอร์ ทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำ อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์จะต้องใช้ทักษะการผ่าตัดมากกว่าวิธีอื่น
  • การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกโดยผ่านกล้องส่องในโพรงมดลูก ในกรณีของเนื้องอกโพรงมดลูก แพทย์จะสอดอุปกรณ์ผ่านไปทางช่องคลอด ปากมดลูก เข้าไปยังมดลูก แพทย์จะผ่าตัดนำเนื้องอกโพรงมดลูกออกขณะทำการส่องกล้องผ่าตัดโพรงมดลูกซึ่งอาจทำร่วมกับการทำลายเยื่อบุโพรงมดลูกด้วย

การผ่าตัดตามปกติ

  • การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกผ่านช่องท้อง แพทย์อาจแนะนำการรักษาวิธีนี้เป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยที่มีเนื้องอกหลายก้อน หรือมีขนาดใหญ่ แต่ยังต้องการมีบุตรแทนการตัดมดลูกออก อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดวิธีนี้อาจทิ้งรอยแผลที่มดลูกที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ในอนาคต
  • การผ่าตัดมดลูก เมื่อผู้ป่วยไม่ต้องการมีบุตรแล้ว สามารถผ่าตัดเอามดลูกออกได้เลย โดยส่วนใหญ่ป่วยมักจะเก็บรังไข่ไว้ได้ในกรณีที่ยังอยู่ในวัยก่อนหมดประจำเดือน หากมีการนำรังไข่ออกไปด้วย จะทำให้มีภาวะหมดประจำเดือนและต้องใช้ฮอร์โมนทดแทน

ข้อคำนึง คือ นอกเหนือจากการตัดมดลูกซึ่งเป็นการสูญเสียภาวะเจริญพันธุ์หรือโอกาสการมีบุตรโดยสมบูรณ์แล้ว การรักษาด้วยการทำหัตถการด้วยวิธีอื่น ๆ ได้แก่ การใส่ลิ่มเข้าไปในหลอดเลือด การรักษาด้วยคลื่นความถี่สูง การทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก หรือการผ่าตัดก้อนเนื้องอกมดลูกออกล้วนมีผลต่อภาวะการเจริญพันธุ์ได้เช่นกัน ผู้ป่วยและแพทย์ควรปรึกษาร่วมกันถึงแผนการในการมีบุตร ข้อดีข้อเสียและประเมินการรักษาแต่ละวิธีกับอาการต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยมี ทั้งนี้ เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

ความเสี่ยงของการเกิดเนื้องอกมดลูกใหม่

ข้อควรระวังประการหนึ่ง คือ สตรีที่ยังมีการทำงานของฮอร์โมนและได้รับการรักษาเนื้องอกมดลูกโดยไม่ได้ตัดมดลูกออก ยังมีโอกาสมีเนื้องอกมดลูกเกิดขึ้นใหม่ได้หลังการรักษา

การป้องกันของเนื้องอกมดลูกอย่างไร?

แม้ว่าจะไม่มีวิธีป้องกันการเกิดเนื้องอก การดำเนินชีวิตอย่างถูกสุขลักษณะ ควบคุมน้ำหนัก รับประทานอาหารกากใยสูงหรือการใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเนื้องอกได้

การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์

ก่อนพบแพทย์ สตรีควรเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ที่แพทย์อาจถาม หรือเตรียมคำถามที่มีเพื่อปรึกษากับแพทย์ก่อนการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษา ดังต่อไปนี้

  • ประวัติความเจ็บป่วยส่วนตัวและสมาชิกในครอบครัว
  • อาการที่มีไม่ว่าจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกับเนื้องอกมดลูก เช่น ระยะเวลาที่เริ่มมีอาการ ระยะเวลาที่มีอาการ ความถี่ ความสัมพันธ์กับประจำเดือน ความรุนแรงของอาการ ปัจจัยที่ทำให้อาการดีขึ้นหรือแย่ลง
  • ประวัติการใช้ยาหรืออาหารเสริมที่รับประทาน
  • จดคำถามที่ต้องการถามหรือต้องการทราบข้อมูล เช่น
  • รายละเอียดของก้อน เช่น ขนาด จำนวน ตำแหน่ง เป็นต้น
  • การตรวจวินิจฉัยที่จะทำ
  • ผลของการมีก้อนเนื้องอกมดลูก เช่น โอกาสการเป็นมะเร็ง ผลต่อการมีบุตร เป็นต้น
  • ทางเลือกของวิธีการรักษา ประโยชน์และความเสี่ยง ผลที่คาดหวัง เป็นต้น

อาการ การรักษาเนื้องอกมดลูก ที่ควรรู้ - Symptoms of Uterine Fibroids

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 26 ก.ย. 2022

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    ศ.พญ. ศิริวรรณ ตั้งจิตกมล

    ศ.พญ. ศิริวรรณ ตั้งจิตกมล

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • มะเร็งวิทยานรีเวช
    • นรีเวชวิทยา
    Gynecologic Oncology, Obstetric and Gynecological Pathology, Anatomical Pathology, Family Medicine, Obstetrics and Gynecology
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. นครินทร์ ศิริทรัพย์

    ผศ.นพ. นครินทร์ ศิริทรัพย์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • นรีเวชวิทยา
    • มะเร็งวิทยานรีเวช
    Gynecologic Oncology, Gynecology
  • Link to doctor
    พญ. อรวี ฉินทกานันท์

    พญ. อรวี ฉินทกานันท์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • นรีเวชวิทยา
    • สตรีวัยหมดประจำเดือน
    • การผ่าตัดช่องท้องผ่านกล้อง
    • นรีเวชทางเดินปัสสาวะ
    Urogynecology, Female Pelvic Reconstructive Surgery, Minimally Invasive Gynecology, Menopause