What Eye Tests Do I Need to Check My Eye Health Banner 1.jpg

การตรวจสุขภาพตา มีกี่ประเภท

การตรวจสุขภาพตา เป็นการตรวจวินิจฉัยที่ใช้วิธีการตรวจดวงตาหลาย ๆ อย่าง ยิ่งตรวจพบความผิดปกติได้รวดเร็วเท่าไร ก็จะทำให้ผลการรักษาดียิ่งขึ้นเท่านั้น

แชร์

เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยสุขภาพตาโดยรวม แพทย์จะทำการตรวจดวงตา ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

การตรวจกล้ามเนื้อตา
เป็นการตรวจดูความสัมพันธ์ การควบคุม และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อของลูกตาว่ามีความผิดปกติหรือไม่ จักษุแพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจมองตามวัตถุ เช่น มองตามปากกาที่เคลื่อนไปมาเพื่อดูการเคลื่อนไหวของลูกตา

การตรวจวัดการมองเห็น
เป็นการตรวจวัดความสามารถในการมองเห็น โดยให้ผู้เข้ารับการตรวจมองดูตัวอักษรขนาดต่าง ๆ บนแผ่นวัดสายตาที่อยู่ห่างออกไป จักษุแพทย์จะทำการตรวจดวงตาทีละข้าง แพทย์อาจให้ถือและอ่านตัวอักษรในระยะอ่านหนังสือเพื่อตรวจสอบการมองเห็นระยะใกล้

การตรวจวัดสายตา
เป็นการตรวจจุดโฟกัสที่ด้านหลังของลูกตา หากการหักเหของแสงในดวงตาผิดปกติ จะทำให้มีค่าสายตาผิดปกติ อาจจำเป็นต้องสวมแว่นตา คอนแทคเลนส์ หรือเข้ารับการผ่าตัดแก้ไขค่าสายตา

จักษุแพทย์จะใช้อุปกรณ์วัดสายตา autorefractor หรือ retinoscopy วัดค่าการหักเหของแสงโดยการส่องไฟเข้าไปในดวงตา เพื่อดูแสงที่สะท้อนออกมาจากด้านหลังของลูกตา แล้วจึงให้ผู้เข้ารับการตรวจมองผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า phoropter ซึ่งบรรจุเลนส์ค่าต่าง ๆ เอาไว้ เพื่อดูว่าเลนส์ใดที่เหมาะกับค่าสายตา

การตรวจประเภทนี้จะช่วยประเมินค่าเลนส์ที่คมชัดและสบายตาเหมาะกับผู้สวมใส่มากที่สุด

การตรวจลานสายตา
การตรวจลานสายตาเป็นการวัดขอบเขตการมองเห็นพื้นที่รอบนอกหรือด้านข้างขณะที่ดวงตามองไปยังจุดโฟกัสตรงกลาง โดยจักษุแพทย์อาจให้ทำการตรวจ ดังต่อไปนี้

  • การตรวจลานสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยผู้เข้ารับการตรวจจะมองที่หน้าจอและกดปุ่มทุกครั้งที่มองเห็นไฟกระพริบ
  • การตรวจลานสายตาแบบประจันหน้าหรือการหันหน้าเข้าหากัน ผู้เข้ารับการตรวจจะนั่งหันหน้าเข้าหาจักษุแพทย์ และใช้มือปิดตาข้างหนึ่ง มองตรง และแจ้งเมื่อมองเห็นวัตถุในมือจักษุแพทย์ขยับเข้ามาในลานสายตา
  • การตรวจลานสายตาด้วยเครื่องวัดลานสายตา Tangent screen หรือ Goldmann field exams ผู้เข้ารับการตรวจจะมองหน้าจอแล้วแจ้งจักษุแพทย์เมื่อเห็นวัตถุเคลื่อนเข้ามาหรือหายไป

จักษุแพทย์จะประเมินพื้นที่การมองเห็นหรือลานสายตาจากคำตอบของผู้เข้ารับการตรวจ

หากพบว่ามีปัญหาเรื่องการมองเห็นที่จุดใดจุดหนึ่ง การประเมินลักษณะความผิดปกติดังกล่าวจะช่วยวินิจฉัยได้ว่าเป็นอาการของโรคตาประเภทใด

การตรวจตาบอดสี
ผู้เข้ารับการตรวจจะมองไปที่แผ่นทดสอบตาบอดสีซึ่งประกอบไปด้วยจุดสีหลาย ๆ สี แล้วบอกตัวเลขหรือรูปภาพที่มองเห็น

หากผู้เข้ารับการตรวจไม่มีความผิดปกติจะสามารถบอกตัวเลขหรือรูปภาพที่มองเห็นได้อย่างถูกต้อง ในรายที่ตาบอดสีตั้งแต่กำเนิดจะมองไม่เห็นสีแดงและสีเขียว ส่วนในรายที่ตาบอดสีเนื่องจากโรคตา เช่น เส้นประสาทตาอักเสบหรือต้อหิน จะไม่สามารถแยกสีฟ้ากับสีเหลืองได้

การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ Slit-lamp
จักษุแพทย์จะตรวจวินิจฉัยส่วนต่าง ๆ ของดวงตา เช่น ขนตา เปลือกตา เยื่อบุตา กระจกตา ม่านตา เลนส์ตา โพรงของเหลวที่อยู่ระหว่างกระจกตาและม่านตา โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ Slit-lamp ซึ่งจะขยายและส่องไฟไปยังดวงตา แพทย์จะทำการหยดสีลงบนดวงตาเพื่อตรวจดูว่าพื้นผิวลูกตามีความเสียหายใด ๆ หรือไม่ โดยน้ำตาจะทำการชะล้างสีในตาออกไปได้เอง

การตรวจจอประสาทตา
การตรวจจอประสาทตา หรือ การส่องตรวจในตา เป็นการตรวจประเมินจอประสาทตา ขั้วประสาทตา และเส้นเลือดที่จอประสาทตา ก่อนทำการตรวจแพทย์จะหยอดยาเพื่อขยายม่านตาของผู้รับการตรวจเสียก่อน เพื่อให้สามารถตรวจวินิจฉัยบริเวณด้านหลังลูกตาได้

  • การตรวจทางตรง: จักษุแพทย์จะใช้กล้องส่องตรวจในตา โดยฉายแสงไปยังรูม่านตาเพื่อดูด้านหลังของลูกตา โดยอาจไม่จำเป็นต้องหยดยาขยายม่านตา
  • การตรวจทางอ้อม: เป็นการตรวจจอประสาทตาและโครงสร้างภายในลูกตาโดยการใช้เลนส์รวมแสงและแสงไฟ

การตรวจคัดกรองโรคต้อหิน
เป็นการตรวจวัดความดันลูกตาเพื่อตรวจประเมินดูว่ามีร่องรอยของโรคต้อหินหรือไม่ 

  • การวัดความดันลูกตาด้วยเครื่อง applanation tonometry แพทย์ทำการหยดยาหยอดตาที่มีสารเรืองแสงและยาชา แล้วใช้เครื่อง tonometer แตะลงบนกระจกตาเพื่อวัดความดันลูกตา
  • การวัดความดันลูกตาแบบไม่มีการสัมผัส โดยใช้ลมเป่าลงบนลูกตาเพื่อวัดความดันลูกตา อาจทำให้สะดุ้งตกใจเล็กน้อย

แพทย์จะใช้เครื่อง pachymeter วัดความหนาของกระจกตาผ่านคลื่นเสียงในรายที่ค่าความดันลูกตาสูงกว่าปกติหรือเส้นประสาทในตามีความผิดปกติ แพทย์อาจสั่งให้ทำการตรวจเพิ่มเติม โดยขึ้นอยู่กับอายุ ประวัติการรักษา และความเสี่ยงในการเกิดโรคของผู้เข้ารับการตรวจแต่ละราย

ผลการตรวจ
หลังตรวจจักษุแพทย์จะทำการอธิบายให้ผู้เข้ารับการตรวจทราบว่าควรได้รับการแก้ไขสายตาหรือพบโรคตาใด ๆ หรือไม่ หากจำเป็นต้องแก้ไขค่าสายตา แพทย์อาจให้ตัดแว่นหรือสวมใส่คอนแทคเลนส์ หากพบรอยโรค เช่น จอตาเสื่อม เบาหวานขึ้นตา หรือต้อหิน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจสอบเพิ่มเติมหรือหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม






บทความโดย
พญ.สุภาวดี เอื้อจงมานี
จักษุแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา
ประวัติแพทย์

เผยแพร่เมื่อ: 19 ต.ค. 2022

แชร์