สรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

ชั้น 8 เคาน์เตอร์ D (WEST Lift)

โทร. 02-090-3104

8:00 - 20:00 น.

สรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Cardiac electrophysiology)

สรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ เป็นศาสตร์การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ 
“ระบบไฟฟ้า” หัวใจทำหน้าที่กระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัว สูบฉีดเลือดเพื่อส่งออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

ระบบไฟฟ้าหัวใจ คืออะไร

ระบบไฟฟ้าหัวใจ ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ จุดกำเนิดไฟฟ้าหัวใจและทางเดินไฟฟ้าหัวใจ คลื่นไฟฟ้าหัวใจมีจุดกำเนิดจากกลุ่มเซลล์พิเศษในห้องบนขวา หรือ SA Node ซึ่งจะปล่อยคลื่นไฟฟ้าออกมาโดยอัตโนมัติที่ ความถี่ 60 - 100 ครั้งต่อนาที คลื่นไฟฟ้าจะเดินทางผ่านทางเดินไฟฟ้าหัวใจ จากหัวใจห้องบนขวาไปยังห้องบนซ้าย แล้วลงมาที่ AV Node ซึ่งจะชะลอคลื่นไฟฟ้าหัวใจเล็กน้อย เพื่อให้เลือดจากการบีบตัวของห้องหัวใจด้านบนเติมเข้าสู่ห้องหัวใจล่างได้เต็มที่ จากนั้นคลื่นไฟฟ้าจะเคลื่อนผ่าน Bundle of His และ Bundle Branch ทั้งด้านขวาและซ้าย เพื่อกระตุ้นการบีบตัวของห้องหัวใจล่างทั้งขวาและซ้าย ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานประสานกันและสูบฉีดเลือดเข้าสู่หลอดเลือดแดง ส่งออกซิเจนและสารอาหารไปทั่วร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปกติแล้วการเคลื่อนตัวของคลื่นไฟฟ้าในหัวใจแต่ละห้องจะทำงานสัมพันธ์กันอย่างเป็นระเบียบ แต่ถ้าระบบไฟฟ้าหัวใจมีการทำงานผิดพลาด หรือเกิดไฟฟ้าหัวใจลัดวงจร ก็จะนำไปสู่ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Heart arrhythmia) เช่น ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (Tachycardia) และภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia) หากมีความรุนแรง และไม่ได้รับการรักษาทันที อาจทำให้เสียชีวิตได้

อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ดูแลรักษาคนไข้อย่างไร

อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ รับบทบาทเป็น “ช่างไฟฟ้าหัวใจ” ทำหน้าที่สืบหาสาเหตุของการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรภายในระบบไฟฟ้าหัวใจ ด้วยการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ พร้อมหาวิธีป้องกันและแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ โดยพิจารณาวิธีรักษาของคนไข้ตามความเหมาะสม แตกต่างกันไปเป็นรายบุคคล เช่น รับประทานยา ใส่สายสวนหัวใจและจี้ไฟฟ้ารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ ใช้อุปกรณ์กระตุก/กระตุ้นหัวใจ หรือฝังอุปกรณ์กระตุ้นหัวใจ เพื่อให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำกิจกรรมในชีวิตประจำได้ดีโดยไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะขึ้นอีกเมื่อไหร่ 

การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ คืออะไร

การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Cardiac electrophysiologic study) เป็นหัตถการที่มีการรุกล้ำร่างกายน้อย ระหว่างการตรวจแพทย์จะสอดสายสวนหัวใจพร้อมขั้วไฟฟ้าผ่านหลอดเลือดดำบริเวณขาหนีบขึ้นไปยังห้องหัวใจ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ ชนิดของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และตำแหน่งที่เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังสามารถรักษาต่อโดยการจี้หัวใจด้วยพลังงานคลื่นความถึ่วิทยุเพื่อทำลายตำแหน่งที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ทันที ช่วยให้คนไข้หายดี หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

ทำไมควรมาตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ที่เมดพาร์ค

  • ตรวจรักษาโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ มีประสบการณ์สูง ด้านการดูแลภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่มีความยากและซับซ้อน 
  • ทำงานเป็นทีมร่วมกับแพทย์ผู้ชำนาญการสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละบุคคล
  • มีห้องปฏิบัติการสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Cardiac electrophysiology lab: EP Lab) พร้อมเครื่องมือแพทย์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาได้ดียิ่งขึ้น
  • มีศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก ประสบการณ์สูงกว่า 15 ปี พร้อมดูแลทันทีที่ได้รับการร้องขอ
  • มีพยาบาลวิชาชีพ และสหวิชาชีพ ที่มีความชำนาญด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ร่วมดูแลอย่างดี ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการรักษา
  • มีทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ และนักกายภาพบำบัดโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไข้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพ

โรคและภาวะผิดปกติ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีหลายประเภท ดังนี้

  • ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ มีอัตราการเต้นของหัวใจในขณะพัก สูงกว่า 100 ครั้งต่อนาที สามารถแยกย่อยออกเป็นภาวะผิดปกติเพิ่มเติม ดังนี้
    • ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว
    • ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
    • ภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ
    • ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ 
    • ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว 
  • ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ มีอัตราการเต้นของหัวใจในขณะพัก น้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที สามารถแยกย่อยออกเป็นภาวะผิดปกติเพิ่มเติม ดังนี้
    • โรคปมไฟฟ้าหัวใจเสื่อม
    • การอุดกั้นของการนำไฟฟ้า เช่น การนำไฟฟ้าจากหัวใจห้องบนไปยังหัวใจห้องล่างได้ช้าลงหรือถูกขัดขวาง ภาวะคลื่นไฟฟ้าหัวใจถูกบล็อก  เป็นต้น
  • ภาวะหัวใจเต้นสะดุด เป็นภาวะที่หัวใจเต้นเร็วกว่าจังหวะการเต้นปกติโดยอาจมีต้นกำเนิดสัญญาณผิดปกติจากหัวใจห้องบนหรือห้องล่าง ทำให้รู้สึกได้ว่าหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ส่วนมากไม่อันตรายถึงแก่ชีวิต

สัญญาณผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มักไม่มีสัญญาณบ่งชี้ที่ทำให้ทราบล่วงหน้าว่าเป็นโรคดังกล่าว แต่มักตรวจพบโดยบังเอิญระหว่างตรวจร่างกาย หรือตรวจพบเนื่องจากมีอาการของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เต้นผิดปกติ โดยอาการที่อาจสังเกตได้ คือ

  • เจ็บแน่นหน้าอก
  • รู้สึกวูบที่หัวใจ
  • หัวใจไม่ทัน หายใจไม่อิ่ม 
  •  หัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
  • เหงื่อออกมาก 
  • เหนื่อยง่าย ใจสั่น
  • อ่อนเพลียง่าย
  • เวียนศีรษะ เป็นลม 
  • หมดสติเฉียบพลัน

หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ควรพบแพทย์โดยเร็ว หากเป็นลมหมดสติ ชีพจรเต้นผิดปกติ หรือหยุดหายใจ ควรเรียกรถฉุกเฉินทันที พร้อมกับทำ CPR เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิต หรือกระตุกหัวใจด้วยเครื่อง AED เพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นจังหวะปกติ

ใครบ้างที่มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการเหล่านี้

  • คนในครอบครัวเดีวยกันมีประวัติป่วยด้วยโรคหัวใจ
  • เป็นโรคหัวใจชนิดต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หัวใจวาย 
  • ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไทรอยด์เป็นพิษ 
  • มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • สูบบุหรี่ ใช้ยาเสพติด ดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป
  • มีภาวะเครียด วิตกกังวล พักผ่อนไม่เพียงพอ

การบริการของแพทย์เฉพาะทาง ด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

  • การตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ด้วยการใส่สายสวนหลอดเลือดดำบริเวณขาหนีบเข้าสู่ห้องหัวใจ
  • การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีหลายวิธี ดังนี้
    • รักษาด้วยยาควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ
    • จี้รักษาด้วยพลังงานคลื่นความถึ่วิทยุ
    • ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจแบบฝังถาวร
    • ใส่เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ
    • ใส่เครื่องชนิดกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจทั้ง 2 ห้องล่าง

อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ ที่ใช้ในการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวินิจฉัย มีดังนี้

  • เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่อง
  • เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติแบบพกพา

อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษา มีดังนี้

  • จี้รักษาด้วยพลังงานคลื่นความถึ่วิทยุ
  • ครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจแบบฝังถาวร 
  • เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ
  • เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจทั้ง 2 ห้องล่าง

อุปสรรคและข้อจำกัด ในการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

ข้อจำกัดในการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ อาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น อายุ สรีระของคนไข้ โรคบางชนิด ซึ่งส่วนมากแพทย์สามารถดูแลและรับมือได้อย่างเหมาะสม จึงเรียกได้ว่า การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ เป็นการวินิจฉัยที่นำไปสู่การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่มีประสิทธิภาพ แผลเล็ก ฟื้นตัวไว ช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน

ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ในการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

  • เลือดออก หรือเลือดคั่งบริเวณจุดใส่สายสวน
    ปวด บวม หรือเกิดการอักเสบบริเวณขาหนีบ ซึ่งเป็นจุดใส่สายสวน 
  • เกิดลิ่มเลือดอุดตันบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย (ความเสี่ยงน้อยกว่า 1%)
  • เกิดภาวะสายสวนทะลุผนังหัวใจ ทำให้เลือดออกบริเวณเยื่อหุ้มหัวใจ (ความเสี่ยง 1%)
  • เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ หรือหัวใจช้าผิดจังหวะ (ความเสี่ยง 1%)
  • เสียชีวิต (ความเสี่ยงน้อยกว่า 1%)

คำถามที่พบบ่อย

  • หลังรักษาด้วยการจี้ด้วยพลังงานคลื่นความถึ่วิทยุ มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำอีกไหม
    มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำประมาณ 2 - 10% ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจนั้น ๆ
  • หากมีเลือดออกบริเวณจุดที่ใส่สายสวนหัวใจ ต้องทำอย่างไร
    นอนราบ กดห้ามเลือด รีบแจ้งแพทย์หรือพยาบาลทันที
  • หลังการจี้รักษาด้วยพลังงานคลื่นความถึ่วิทยุ สามารถทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายตามปกติได้หรือไม่
    ทำได้ตามปกติ แต่หากพบว่ามีอาการคล้ายภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอีก ควรกลับมาพบแพทย์ทันที

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

เผยแพร่เมื่อ: 20 ต.ค. 2024

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. จิรภา แจ่มไพบูลย์

    พญ. จิรภา แจ่มไพบูลย์

    • เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
    • การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
    เวชศาสตร์ฟื้นฟู, การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ
  • Link to doctor
    นพ. วรวุฒิ รุ่งประดับวงศ์

    นพ. วรวุฒิ รุ่งประดับวงศ์

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
    การตรวจวินิจฉัยทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ, อายุรศาสตร์โรคหัวใจ
  • Link to doctor
    พญ. ศนิศรา จันทรจำนง

    พญ. ศนิศรา จันทรจำนง

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
    หัวใจเต้นผิดจังหวะ, การตรวจวินิจฉัยทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, ผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
  • Link to doctor
    นพ. ไพศาล บุญศิริคำชัย

    นพ. ไพศาล บุญศิริคำชัย

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
    อายุรกรรมโรคหัวใจ, การตรวจวินิจฉัยทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
  • Link to doctor
    นพ. วิพัชร พันธวิมล

    นพ. วิพัชร พันธวิมล

    • อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ