เวชศาสตร์นิวเคลียร์หัวใจ (Nuclear Cardiology)
เวชศาสตร์นิวเคลียร์หัวใจ คือ หนึ่งในการตรวจวินิจฉัยเพื่อประเมินสมรรถภาพหัวใจ ซึ่งการตรวจนี้จะแสดงให้เห็นภาพการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ การเคลื่อนไหวของหัวใจ รวมถึงจังหวะการเต้นของหัวใจ ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยและแยกโรคหัวใจชนิดต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น
การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ คืออะไร?
การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เป็นการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของระบบหัวใจ ผ่านการใช้สารเภสัชรังสี ใส่เข้าไปภายในร่างกายแล้วปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปแบบของรังสี เพื่อให้เครื่องมือตรวจที่อยู่ภายนอก สามารถมองเห็นการทำงาน หรือความผิดปกติภายในหัวใจได้อย่างละเอียด ชัดเจน โดยไม่ต้องผ่าตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปวินิจฉัยโรค
โดยทั่วไป คนไข้อาจมีความกังวลเกี่ยวกับการได้รับสารเภสัชรังสี แต่สำหรับการตรวจวินิจฉัย คนไข้จะได้รับสารเภสัชรังสีในปริมาณน้อย และสลายตัวได้เองโดยไม่ตกค้างภายในร่างกาย จึงมีความปลอดภัยสูง ไม่เป็นอันตรายต่อไต หรือตับ การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ สามารถวินิจฉัยโรคหัวใจ และกล้ามเนื้อหัวใจได้หลายชนิด เช่น
- โรคหัวใจที่พบบ่อย เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นต้น
- โรคหัวใจที่พบได้ยาก และมีความซับซ้อน เช่น โรคอะไมลอยด์โดสิสหัวใจ, โรคซาร์คอยโดซิส โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ เป็นต้น
ทำไมควรมาตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์หัวใจ ที่โรงพยาบาลเมดพาร์ค
- ตรวจวินิจฉัยโดยอายุรแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์หัวใจ ที่มีความชำนาญ และมีประสบการณ์มากกว่า 25 ปี
- ทำงานเป็นทีมร่วมกันกับแพทย์ทุกสาขา โดยสามารถรับคำปรึกษา และเข้าถึงข้อมูลการตรวจรักษาที่เกี่ยวข้องกับภาวะของโรค ช่วยให้ผลการวินิจฉัยและรักษาโรคมีความถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น
- มีนักรังสีเทคนิค ที่มีประสบการณ์ในการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์หัวใจ
- มีอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้วินิจฉัยโรคได้ชัดเจนและแม่นยำ
- มีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความพร้อมในการรักษาภาวะผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด ทั้งโรคพบบ่อยและโรคยากซับซ้อน เมื่อตรวจพบสัญญาณของโรค ก็สามารถรักษาต่อได้ทันที
- มีทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ นักกายภาพบำบัดโรคหัวใจและหลอดเลือด และนักกำหนดอาหาร ให้การดูแลรักษา ฟื้นฟู และส่งเสริมสมรรถภาพหัวใจ เพื่อให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตภายหลังการรักษาที่ดีขึ้น
โรคและภาวะผิดปกติ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
- โรคหลอดเลือดหัวใจ
- ภาวะหัวใจล้มเหลว
- ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาผิดปกติแต่กำเนิด เป็นต้น
- ภาวะกระแสไฟฟ้าหัวใจถูกบล็อก
- ภาวะผิดปกติของหัวใจอื่น ๆ
- ภาวะผิดปกติทางการหายใจ เช่น หายใจไม่อิ่ม หายใจสั้น เป็นต้น
สัญญาณผิดปกติที่ควรตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์หัวใจ
- เจ็บแน่นหน้าอก เจ็บร้าวหน้าอกและอวัยวะใกล้เคียง เช่น ไหล่ แขน คอ กราม หลัง เป็นต้น
- เหนื่อยง่าย เมื่อทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง เช่น เดินไกล ขึ้นบันได เป็นต้น
- อ่อนเพลีย นอนราบไม่ได้
- หายใจสั้นลง หายใจไม่อิ่ม
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
- แขน ขา เท้าบวม
ใครบ้างที่มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการเหล่านี้
ปัจจัยที่มีผลต่อโรคและภาวะผิดปกติของหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ และหลอดเลือดหัวใจ มีดังนี้
- มีประวัติสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยโรคหัวใจที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจ
- มีประวัติตรวจพบคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
- มีประวัติป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไต โรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
- มีพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น สูบบุหรี่ รับประทานอาหารไขมันสูง ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น
การบริการทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์หัวใจ
ตรวจวินิจฉัยหาตำแหน่งของกล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือดมาเลี้ยง โดยใช้สารกัมมันตรังสีและเก็บภาพด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยการตรวจจะมีการเปรียบเทียบ 2 สภาวะ คือ
- การตรวจในสภาวะพัก
- การตรวจในสภาวะออกกำลังกาย คนไข้จะวิ่งออกกำลังกายบนสายพาน หรือถ้าหากขยับร่างกายไม่สะดวก จะใช้วิธีกระตุ้นด้วยยาเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจคล้ายกับสภาวะออกกำลังกาย
จากนั้นจะมีการนำภาพทั้ง 2 สภาวะ มาเปรียบเทียบกันเพื่อหาตำแหน่งของกล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือดมาเลี้ยง เพื่อพิจารณาหาแนวทางรักษาที่เหมาะสมต่อไป
อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ ที่ใช้ในการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์หัวใจ
- เครื่องออกกําลังกายแบบสายพาน
- เครื่องสเปกซีที (SPECT/CT) ใช้ถ่ายภาพรังสีแกมมาที่ปลดปล่อยออกมาจากสารเภสัชรังสี 99mTc-MIBI ร่วมกับการถ่ายภาพด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ และหัวใจห้องล่างซ้าย เป็นต้น
ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ในการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์หัวใจ
การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ มีความเสี่ยง ภาวะแทรกซ้อน และอันตรายจากรังสีน้อยมาก โดยทั่วไปจะมีความสัมพันธ์กับปริมาณรังสีที่ใช้ในการตรวจ ซึ่งในกรณีของการใช้เพื่อวินิจฉัยโรคจะมีปริมาณรังสีน้อยกว่าการรักษาโรค และไม่มีการตกค้างภายในร่างกาย
ในกรณีที่มีการใช้ยากระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจแทนการออกกำลังกายบนสายพาน อาจพบอาการข้างเคียง เช่น ความดันโลหิตต่ำ เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งเป็นเพียงอาการชั่วคราว และไม่เป็นอันตราย
อย่างไรก็ตาม การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ไม่เหมาะกับสตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่สงสัยว่าอาจตั้งครรภ์ เนื่องจากทารกในครรภ์อาจได้รับอันตรายจากการได้รับปริมาณรังสีที่มากเกินไป
คำถามที่พบบ่อย
- สารกัมมันตรังสี ที่ใช้ในการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์หัวใจ อันตรายไหม?
ไม่อันตราย และไม่มีผลต่ออวัยวะอื่น ๆ ข้อมูลสถิติทางการแพทย์ พบว่า ความเสี่ยงจากรังสีที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตเนื่องจากโรคมะเร็ง มีประมาณ 0.05% (1 ใน 2,000 คน) ในขณะที่ความเสี่ยงซึ่งเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ สูงถึง 25% (1 ใน 4 คน) - สารเภสัชรังสีที่ใช้ในการตรวจกล้ามเนื้อหัวใจ จะสลายตัวไปเองภายในเวลาเท่าไร?
ประมาณ 24 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดของสารเภสัชรังสีนั้น ๆ