ตับวายเฉียบพลัน (Acute Liver Failure) อาการ สาเหตุ การตรวจวินิจฉัย และการรักษา

ตับวายเฉียบพลัน

เมื่อตับไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้ นอกจากตับจะเสียหายแล้วยังส่งผลให้อวัยวะอื่น ๆ ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ยิ่งถ้าถึงขั้นตับวายก็ยากจะกู้คืนตับให้กลับมาดังเดิม

แชร์

ตับวายเฉียบพลัน

ตับวาย เป็นหนึ่งในภาวะอันตรายที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากตับเป็นอวัยวะสำคัญและมีขนาดใหญ่ที่สุดในช่องท้อง เปรียบเสมือนโรงงานใหญ่ที่ทำหน้าที่จัดการสารอาหาร ทำลายพิษที่เข้าร่างกายและสร้างภูมิคุ้มกัน เมื่อตับไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้ นอกจากตับจะเสียหายแล้วยังส่งผลให้อวัยวะอื่น ๆ ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ยิ่งถ้าถึงขั้นตับวายก็ยากจะกู้คืนตับให้กลับมาดังเดิม

อาการของตับวายเฉียบพลัน

  • ผิวและลูกตาเหลือง (ดีซ่าน)
  • จุกบริเวณชายโครงด้านขวา
  • ท้องบวม (ท้องมาน)
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ความรู้สึกไม่สบายตัว
  • สับสน
  • ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนไป
  • ลมหายใจอาจมีกลิ่นเหม็นอับเนื่องจากมีของเสียคั่งในร่างกาย
  • อาการสั่น


สาเหตุของภาวะตับวายเฉียบพลัน

ตับวายเฉียบพลันเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ตับได้รับความเสียหายอย่างมาก จนไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป โดยสาเหตุที่เป็นไปได้ มีดังนี้
  • การกินยาเกินขนาด เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของภาวะตับวายเฉียบพลัน โดยสถานการณ์ที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่การรับประทานยาในปริมาณสูงที่มีจุดประสงค์เพื่อการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะยาพาราเซตามอล
  • การแพ้ยา เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และยากันชัก ในผู้ป่วยที่มีปฏิกริยาการแพ้ยารุนแรงจนส่งผลกระทบต่อตับอาจนำมาภาวะตับวายเฉียบพลันได้
  • อาหารเสริมและสมุนไพรบางชนิด
  • ไวรัสตับอักเสบและไวรัสอื่นๆ ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ บี และอี อาจทำให้เกิดตับวายเฉียบพลันได้
  • สารพิษ สารพิษที่อาจทำให้ตับวายเฉียบพลัน เช่น สารเคมีในอุตสาหกรรมที่พบในสารทำความเย็นและตัวทำละลายสำหรับแว็กซ์เคลือบเงาและวัสดุอื่นๆ สามารถทำให้ตับวายเฉียบพลันได้
  • โรคแพ้ภูมิตัวเอง ที่ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยทำลายเซลล์ตับ ทำให้เกิดการอักเสบและการบาดเจ็บ จนเกิดอาการตับวายได้
  • โรคหลอดเลือดในตับ การอุดตันในหลอดเลือดหรือการลดลงของเลือดที่ไปเลี้ยงตับของตับอาจนำไปสู่ภาวะตับวายเฉียบพลันอันเนื่องมาจากการขาดเลือดได้
  • โรคเมตาบอลิซึม โรคที่มีการสะสมของสารทองแดงในตับ หรือโรค Wilson และภาวะตับคั่งไขมันเฉียบพลันขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น
  • โรคมะเร็ง ในระยะแพร่กระจาย หากก้อนมะเร็งกระจายไปในเนื้อตับเป็นบริเวณกว้าง และกินที่ทดแทนเนื้อตับที่ปกติ จะนำไปสู่ภาวะตับวายได้
  • ฮีทสโตรค การออกกำลังกายอย่างหนักในสภาพแวดล้อมที่ร้อนอาจทำให้ตับวายเฉียบพลันได้

นอกจากนี้ภาวะตับวายเฉียบพลันบางกรณี ก็อาจไม่มีสาเหตุชัดเจน

ภาวะแทรกซ้อน

  • ภาวะสมองบวม ทำให้เกิดแรงกดดันในสมองซึ่งอาจนำไปสู่การลดลงของระดับความรู้สึกตัวและอาการชัก
  • เลือดออกผิดปกติ ผู้ป่วยที่มีภาวะตับวายจะมีการแข็งตัวของเลือดที่ช้ากว่าปกติเนื่องจากตับไม่สามารถสร้างสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้ นำมาสู่ภาวะเลือดออกง่ายในบริเวณอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารมักพบได้บ่อย เนื่องจากผู้ป่วยบางรายมีแรงดันหลอดเลือดในช่องท้องสูงด้วย
  • การติดเชื้อ ผู้ที่เป็นโรคตับวายเฉียบพลันมีแนวโน้มที่จะเกิดการติดเชื้อได้ เนื่องจากระดับภูมิต้านทานของร่างกายลดต่ำลง ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือด ทางเดินหายใจ และทางเดินปัสสาวะ
  • ไตวายเฉียบพลัน ภาวะไตวายเฉียบพลันอาจเกิดควบคู่กันกับตับวายได้ในผู้ป่วยที่ได้มีสาเหตุมาจากภาวะแพ้ยา หรือได้รับสารพิษบางอย่าง หรืออาจเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกดขึ้นภายหลังจากที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อแทรกซ้อน



เมื่อ
ใดควรพบแพทย์

ภาวะตับวายเฉียบพลัน สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วในคนที่อาจไม่เคยทราบหรือไม่เคยมีประวัติการเป็นโรคตับมาก่อน และเป็นอันตรายถึงชีวิตหากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที ดังนั้นหากท่านหรือคนใกล้ตัวมีอาการที่ชวนให้สงสัยภาวะตับวายเฉียบพลัน เช่น ตัวเหลือตาเหลือง (ดีซ่าน) ท้องมาน อาจจะร่วมกับระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนไปจากเดิม ร่วมกับมีเหตุปัจจัยอันพึงจะทำให้เกิดภาวะตับวายดังที่กล่าวไปข้างต้น แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ทันที

การป้องกันภาวะตับวายเฉียบพลัน

  • ทำตามคำแนะนำเกี่ยวกับยา ปรึกษาแพทย์และบอกรายละเอียดประวัติการแพ้ยา รวมถึงยาทั้งหมดที่ต้องใช้เป็นประจำ และหลีกเลี่ยงการใช้ยาทางเลือกต่าง ๆ เช่น สมุนไพร และอาหารเสริม หากต้องการใช้ควรสอบถามหรือปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยหรือใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หากสักหรือเจาะตามร่างกายควรเลือกร้านที่สะอาดและปลอดภัย
  • การฉีดวัคซีน เนื่องจากประเทศไทยมีความชุกของโรคไวรัสตับอักเสบบีค่อนข้างสูง ดังนั้นทุกคนควรทำการตรวจหาไวรัสตับอักเสบชนิดบีอย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงชีวิต และหากพบว่าไม่มีภูมิต้านทานต่อไวรัสตับอักเสบบีแนะนำให้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับเรื้อรังควรได้รับการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ ซึ่งหากไม่มีภูมิก็แนะนำให้ฉีดวัคซีนเช่นเดียวกัน
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเลือดและสิ่งคัดหลั่งจากร่างกายของผู้อื่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ หรือการสัมผัสเลือดหรือสิ่งคัดหลั่งจากร่างกายคนไข้ผ่านผิวหนังที่มีแผลหรือบริเวณเยื่อบุต่าง ๆ สามารถแพร่เชื้อไวรัสตับอักเสบได้ การใช้ใบมีดโกนหรือแปรงสีฟันร่วมกันอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
  • ผิวหนัง เมื่อจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมีที่เป็นพิษอื่น ๆ ให้ใส่ถุงมือ เสื้อแขนยาว หมวก และหน้ากากเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมี
  • ควบคุมน้ำหนัก โรคอ้วนอาจทำให้เกิดภาวะตับคั่งไขมัน ซึ่งนำไปสู่ภาวะตับอักเสบ และตับแข็งได้


การวินิจฉัยภาวะตับวายเฉียบพลัน

การตรวจและขั้นตอนที่ใช้ในการวินิจฉัยภาวะตับวายเฉียบพลัน ได้แก่
  • การซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อหาอาการและอาการแสดง รวมถึงปัจจัยเสี่ยงของภาวะตับวายเฉียบพลันดังกล่าวไว้ข้างต้น นอกจากนี้การตรวจร่างกายยังใช้เพื่อประเมิณระดับความรุนแรงของภาวะตับวายเฉียบพลันอีกด้วย
  • การตรวจเลือด การตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบว่าตับของคุณทำงานได้ดีเพียงใด โดยการตรวจค่าเอ็นไซม์ตับ และทดสอบระดับการแข็งตัวของเลือดซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ระดับการทำงานของตับ นอกจากนี้ยังทำการตรวจเพื่อหาสาเหตุของภาวะตับวาย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจหาไวรัสตับอักเสบชนิดต่าง ๆ , โรคภูมิคุ้มกัน หรือระดับของสารพิษหรือยาบางชนิด
  • การตรวจภาพถ่ายทางรังสีวิทยา เพื่อดูลักษณะทางกายวิภาคและรูปร่างของตับว่ามีลักษณะผิดปกติ หรือมีสิ่งกินที่ เช่น เนื้องอก หรือมะเร็ง หรือไม่ รวมทั้งประเมิณความผิดปกติของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงตับอีกด้วย ทั้งนี้แพทย์จะเลือกชนิดของการตรวจทางรังสีวิทยา ไม่ว่าจะเป็น การตรวจด้วยคลื่นเสียง (ultrasound) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง (CT) หรือการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) ตามความเหมาะสม
  • การเจาะตรวจชิ้นเนื้อตับ ในบางกรณีที่ไม่สามารถหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะตับวายได้แน่ชัด แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจชิ้นเนื้อตับ เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุ โดยการเจาะตรวจชิ้นเนื้อตับสามารถทำได้สองวิธี ได้แก่ การเจาะผ่านผิวหนัง หรือเจาะผ่านการใส่สายสวนหลอดเลือด อย่างไรก็ดีเนื่องจากความเสี่ยงในการเจาะชิ้นเนื้อตับในผู้ป่วยตับวายมีค่อนข้างสูง จึงมักต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการตัดสินใจทำในผุ้ป่วยแต่ละราย


การรักษาตับวายเฉียบพลัน

อาศัยการรักษาตามสาเหตุของการเกิดภาวะตับวาย เช่น การให้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี, การให้ยาต้านพิษในผู้ป่วยที่รับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาด หรือการให้ยาต้านการอักเสบและยากดภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิต้านตับ เป็นต้น แต่หากไม่สามารถแก้ไขสาเหตุของโรคได้ หรือแก้ไขแล้วไม่สามารถฟื้นฟูการทำงานของตับได้ แพทย์จะพิจารณาให้ผู้ป่วยเข้าสู่กระบวรการเข้ารับการปลูกถ่ายตับต่อไปตามความเหมาะสม


Acute Liver Failure bannerth
Acute Liver Failure

เผยแพร่เมื่อ: 03 ก.พ. 2021

แชร์