ภาวะหมดไฟ
ภาวะหมดไฟ (Burnout syndromes) หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ ภาวะที่บุคคลเกิดความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ที่สะสมต่อเนื่องกัน อันเป็นผลพวงมาจากความเครียดและความกดดันในที่ทำงาน โดยไม่ได้รับการจัดการทางอารมณ์ที่ดี หรือขจัดอารมณ์เหล่านั้นออกไป ทำให้รู้สึกสูญเสียพลังงาน เหนื่อยล้า อ่อนแรง หมดใจ หรือหมดไฟในการทำงาน มีทัศนคติในแง่ลบเกี่ยวกับที่ทำงานหรืองานที่ทำ ทำให้ไม่มีความสุขในการทำงาน หมดแรงจูงใจในการทำงาน มีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ส่งผลต่อความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างและเพื่อนร่วมงาน ภาวะหมดไฟในระยะยาวบั่นทอนจิตใจและร่างกาย จนอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่โรคเครียด โรคนอนไม่หลับ โรคซึมเศร้า หรือโรคอื่น ๆ และรวมไปถึงปัญหาในการแสดงออกเชิงอารมณ์ และพฤติกรรมอื่น ๆ อีกด้วย
ภาวะหมดไฟ หรือ burnout syndromes คืออะไร?
ภาวะหมดไฟ หรือ burnout syndromes คือ ภาวะมลพิษทางอารมณ์ที่เกิดจากการสะสมความเครียดจากการทำงานมาในระยะหนึ่ง จนเกิดเป็นความเหนื่อยล้าที่ส่งผลต่อสุขภาพใจและกาย องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ขึ้นทะเบียนให้การรับรองภาวะหมดไฟ เป็นโรคใหม่ที่เกิดขึ้นกับผู้คนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความเร่งรีบ กดดัน จนทำให้รู้สึกหมดพลัง หมดไฟ ไร้เรี่ยวแรง หมดแรงจูงใจในการทำงานและการใช้ชีวิต ผู้ที่มีภาวะหมดไฟในการทำงานควรเข้ารับการการรักษาและรับการบำบัดกับแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์เพื่อให้ทราบถึงที่มาของปัญหา และร่วมกันหาแนวทางในการจัดการกับปัญหา อันเป็นที่มาของความเครียด
สาเหตุของภาวะหมดไฟ คืออะไร?
สาเหตุหลักของภาวะหมดไฟ คือ การได้รับแรงกดดันจากการทำงาน และจากการปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างบุคคลที่สะสมต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจนรู้สึกว่าไม่สามารถจัดการงานต่าง ๆ ทั้งหมดได้ นำไปสู่ภาวะเครียดเรื้อรังทางอารมณ์ โดยอาจมีสาเหตุจากบรรยากาศการทำงานที่ตึงเครียด ภาระความรับผิดชอบงานที่หนักอึ้ง หรือชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน จนทำให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอาการหลัก ดังนี้
- ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์และรู้สึกหมดใจในการทำงาน (Emotional exhaustion) มีความรู้สึกหมดพลัง สูญเสียพลังงาน มีภาวะอ่อนล้า อ่อนเพลีย รู้สึกหมดแรงเมื่อหมดเวลาทำงาน
- ความรู้สึกแปลกแยกจากบุคคลอื่น (Depersonalization) มีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินทั้งกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ลูกน้องในทีม บุคคลอื่น ๆ ในที่ทำงานหรือบุคคลภายนอกที่ต้องติดต่อสื่อสาร รู้สึกเฉยเมย เฉยชา ไร้ชีวิตชีวา และไม่มีความผูกพันกับบุคคลหรือองค์การที่ทำงานอยู่
- ความนับถือตนเองต่ำ รู้สึกไร้ค่า ไร้ความสามารถ และรู้สึกไม่ประสบความสำเร็จในการทำงาน (Low self-esteem) มีความนับถือตนเองต่ำ มีความรู้สึกตนเองไร้ความสามารถ มีความรู้สึกแง่ลบต่องานที่ทำ รู้สึกยากลำบากในการรับมือกับปัญหา ไม่สามารถแก้ปัญหาในการทำงานได้ รู้สึกล้มเหลวในการทำงาน ไร้แรงจูงใจที่จะไปต่อให้ประสบความสำเร็จ หมดไฟในการทำงาน
อาการ และสัญญาณเตือนของภาวะหมดไฟ เป็นอย่างไร?
อาการ และสัญญาณเตือนของผู้ที่มีภาวะหมดไฟ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน
- อาการทางอารมณ์ เช่น รู้สึกเครียด เหนื่อยล้า อ่อนแรง ไม่สดชื่น ไม่มีความกระตือรือร้น รู้สึกเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวัง หดหู่ หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย เพิกเฉย ไม่พอใจในงานที่ทำ รู้สึกไม่มีความสุขในการทำงาน ไม่มีเป้าหมายในการทำงาน ไม่อยากมาทำงาน อยากลาออกจากงาน
- มีทัศนคติในแง่ลบ เช่น มองโลกในแง่ร้าย มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน หวาดระแวงเพื่อนร่วมงาน กล่าวโทษเพื่อนร่วมงาน มีความวิตกกังวล เลี่ยงปัญหา มองว่าตนเองไร้ความสามารถ ไม่มีประสิทธิภาพ ไร้ศักยภาพ ไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงานได้
- อาการแสดงออกทางด้านพฤติกรรม เช่น มีพฤติกรรมแยกตัว ห่างเหิน ปลีกตัว ชอบอยู่ตัวคนเดียว หวาดระแวงผู้อื่น มีอารมณ์แปรปรวน หุนหันพลันแล่น ไม่มีสมาธิในการทำงาน ขาดความความกระตือรือร้นเอาใจใส่ในงาน ไม่สามารถบริหารจัดการงานได้ มาทำงานสาย รู้สึกหมดเรี่ยวแรง และหมดไฟในการทำงาน
อาการแทรกซ้อนของภาวะหมดไฟ เป็นอย่างไร?
- การนอนผิดปกติ นอนไม่หลับ หลับยาก
- น้ำหนักตัวเพิ่ม หรือลดลงอย่างมาก
- มีอาการปวดกล้ามเนื้อ
- ภูมิต้านทานโรคต่ำ
- ความเครียดที่มากเกินไป
- เสี่ยงต่อการเสพติดแอลกอฮอล์ และสารเสพติด
- โรคซึมเศร้า
- โรคหัวใจ
- ความดันโลหิตสูง
- เบาหวานประเภทที่ 2
- เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย
ระยะอาการของภาวะหมดไฟ มีกี่ระยะ
ระยะอาการของภาวะหมดไฟตามการแบ่งระยะของ Miller & Smith (1993) แบ่งเป็น 5 ระยะ โดยภาวะหมดไฟในการทำงานจะค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นเป็นระยะ ๆ ดังนี้
- ระยะฮันนีมูน (The honeymoon) เป็นช่วงเริ่มงานของบุคคลส่วนใหญ่ เป็นระยะที่บุคคลมีไฟในการทำงาน พยายามที่จะทำงานอย่างเต็มที่ พยายามปรับตัวให้เข้ากับองค์กรและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นระยะที่บุคคลสามารถรับแรงกดดันจาการทำงานได้
- ระยะรู้สึกตัว (The awakening) เป็นระยะที่บุคคลเริ่มรู้สึกคาดหวังกับการทำงาน และอาจต้องรู้สึกผิดหวังเมื่อพบว่าไม่สามารถตอบสนองต่อการทำงานในองค์กรได้ รู้สึกว่าองค์กรมีความไม่สมดุลระหว่างปริมาณงาน ค่าตอบแทน และการเป็นที่ยอมรับในที่ทำงาน รู้สึกผิดพลาดในการทำงาน และไม่สามารถจัดการงานได้
- ระยะไฟตก (Brownout) เป็นระยะเริ่มต้นของภาวะหมดไฟ โดยเริ่มมีความรู้สึกเหนื่อยล้า โดยสามารถสังเกตเห็นได้ถึงอารมณ์ที่หงุดหงิด แปรปรวน เริ่มปลีกตัวออกห่างเพื่อนร่วมงานเพื่อหลีกหนีความคับข้องใจ วิพากษ์วิจารณ์องค์กรหรือที่ทำงานในแง่ลบ และอาจเริ่มมีการเสพติดการดื่มแอลกอฮอล์
- ระยะหมดไฟเต็มที่ (Full scale of burnout) เป็นระยะที่หมดไฟในการทำงานอย่างสมบูรณ์ รู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง และสูญเสียความมั่นใจ รู้สึกว่าตนเองล้มเหลวในการจัดการงาน ไม่ประสบความสำเร็จในการทำงาน หมด passion ในการทำงาน
- ระยะฟื้นตัว (The phoenix phenomenon) ผู้ที่มีภาวะหมดไฟในการทำงาน หากได้รับการผ่อนคลายความตึงเครียด หรือได้รับการบำบัดทางการแพทย์เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับปัญหา และรวมถึงการปรับวิธีคิด ปรับmindset ในการทำงาน และสร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิต ก็จะสามารถกลับมามีไฟในการทำงานและการดำเนินชีวิตได้ใหม่อีกครั้ง
วิธีแก้ burnout syndromes มีวิธีการอย่างไร?
- ประเมินทางเลือกในการแก้ปัญหา ร่วมหารือพูดคุยกับหัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมงานเพื่อให้รับทราบถึงปัญหา เพื่อหาทางออกร่วมกันในการปรับเปลี่ยนงาน ลดปริมาณงาน หรือเรียงลำดับความสำคัญของงาน เพื่อให้สามารถทำงานได้สำเร็จตามเป้าหมายได้
- ขอการช่วยเหลือและการสนับสนุน ขอความช่วยเหลือในการทำงานจากหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนสนิท หรือคนรัก การได้รับการสนับสนุนในการทำงานจะช่วยให้สามารถรับมือกับปัญหาได้ และยังทำให้หัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานเข้าใจถึงภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่ไม่สมดุล เพื่อที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนงานให้สมดุลได้
- ออกกำลังกาย หรือลองทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น การออกกำลังกาย การทำสมาธิ โยคะ การดูหนัง ฟังเพลง ทั้งนี้ออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยให้จัดการกับความเครียดได้ดี และยังสามารถเปลี่ยนความสนใจจากเรื่องงาน เป็นความสนใจต่อเกมส์ กีฬา หรือกิจกรรมที่ทำได้ ทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น และกระปรี้กระเปร่า
- นอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ การนอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่อย่างมีคุณภาพ จะช่วยฟื้นฟูความเหนื่อยล้าในร่างกายให้กลับมามีพลัง ช่วยส่งเสริมการอยู่ดีมีสุข และช่วยทำให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงในระยะยาว
- การเจริญสติ การทำสมาธิ การกำหนดลมหายใจเข้า-ออก มีสติรับรู้ความรู้สึก ความคิด และการกระทำ จะช่วยทำให้จิตใจสงบ ผ่อนคลาย ไม่ฟุ้งซ่าน รวมทั้งการปรับ mindset หรือทัศนคติที่เป็นลบเกี่ยวกับที่ทำงาน งานที่ทำ หัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมงาน เพื่อไม่ให้รู้สึกเครียดและกดดัน ฝึกการมองด้านบวก รวมถึงการมองเห็นคุณค่าของตนเองที่มีความสำคัญกับองค์กร
การพัฒนาตนเอง สร้างแรงบันดาลใจไปสู่เป้าหมาย ช่วยแก้ภาวะหมดไฟได้
ผู้ที่กำลังเผชิญกับภาวะหมดไฟในการทำงาน ควรได้รับการบำบัดรักษาอาการโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อร่วมรับฟังปัญหา และหาทางออกให้กับปัญหาก่อนที่อาการจะสะสมก่อตัวเป็นความเครียดที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อการทำงาน บุคคลรอบข้าง และการดำเนินชีวิตจนกลายเป็นคนเก็บตัว กลัวสังคม และกลายเป็นโรคซึมเศร้าไปในที่สุด
วิธีการจัดการกับภาวะหมดไฟในการทำงานที่ดีที่สุด คือการจัดการกับความเครียด การปล่อยวางทางความคิด การทำจิตใจให้สบาย การแสวงหาความช่วยเหลือเพื่อหาทางออกร่วมกันในที่ทำงาน การมองโลกในแง่บวก การพัฒนาทักษะการจัดการ และการหาแรงบันดาลใจในการทำงาน การวางเป้าหมายในการทำงาน รวมถึงการพิจารณาข้อดี-ข้อเสียในการลาออกจากงาน และการค้นหาเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต จะช่วยรักษาอาการภาวะหมดไฟให้สิ้นสุดลง และช่วยให้อยู่กับปัจจุบันขณะได้อย่างมีความสุข
คุณกำลังมีภาวะซึมเศร้าอยู่หรือเปล่า?
ลองทำแบบประเมินระดับภาวะซึมเศร้าเบี้องต้นกันเลย