Ear Infection (Middle Ear) หูอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ

หูชั้นกลางอักเสบ

โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันเป็นการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในหูชั้นกลาง หูชั้นกลางคือพื้นที่บริเวณด้านหลังแก้วหู โรคหูชั้นกลางอักเสบมักจะเกิดกับเด็กมากกว่าผู้ใหญ่

แชร์

หูชั้นกลางอักเสบ

โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันเป็นการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในหูชั้นกลาง หูชั้นกลางคือพื้นที่บริเวณด้านหลังแก้วหู โรคหูชั้นกลางอักเสบมักจะเกิดกับเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ การรักษาโรคส่วนใหญ่มักจะเป็นการบรรเทาความเจ็บปวด และการควบคุมเชื้อโรคเนื่องจากการติดเชื่้อในหูมักจะหายได้เองในที่สุด ผู้ป่วยบางคนมักจะเกิดการติดเชื้อในหูได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ผู้ป้วยที่การติดเชื้อในหูชั้นกลางซ้ำ ๆ จะมีโอกาสมีปัญหาการได้ยินและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ

อาการอักเสบของหูจะก่อให้เกิดอาการที่แตกต่างกันออกไปในเด็กและผู้ใหญ่ สำหรับเด็ก อาการอาจจะรวมถึงการปวดหู การดึงหรือขยี้หูตัวเอง ปัญหาในการนอนหลับ อารมณ์ฉุนเฉียว การร้องไห้มากกว่าปกติ (excessive crying) เด็กอาจจะพบปัญหาการได้ยิน หรือปัญหาในการตอบสนองต่อเสียง ทรงตัวไม่ได้ มีไข้ในอุณหภูมิที่ 38 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า นอกจากนี้อาการอย่าง ของเหลวไหลออกจากหู ปวดศรีษะ หรือเบื่ออาหารก็เป็นอาการที่พบได้บ่อยในเด็ก อาการที่มักจะพบบ่อยในผู้ใหญ่ คือ ปวดหู มีของเหลวที่ไหลออกจากหู หรืออาจมีปัญหาการได้ยิน

เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

ผู้ปกครองควรทำการนัดแพทย์เพื่อให้แพทย์ หากพบลักษณะอาการตามที่กล่าวมามากกว่า 1 วัน หรือหากอาการดังเกล่าเกิดขึ้นกับเด็กอายุ 6 เดือนหรือน้อยกว่า หากพบว่าเด็กมีอาการปวดหูในระดับรุนแรง เด็กควรได้รับการรักษาทันที หรือเด็กอาจรู้สึกไม่สบายตัว อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นโดยเฉพาะหลังจากการเป็นโรคหวัด หรือมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน นอกจากนี้หากพบว่ามีร่องรอยของเหลวไหลออกจากหูเช่นน้ำหนอง หรือของเหลวชนิดอื่นๆ ผู้ปกครองควรรีบทำการปรึกษาแพทย์เพราะอาจบ่งชี้ถึงภาวะต่างๆ

สาเหตุโรคหูชั้นกลางอักเสบ

แบคทีเรียหรือไวรัสคือสาเหตุของการเกิดการติดเชื้อในหู การติดเชื้อในหูมักจะเป็นอาการหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นหลังจากอาการเจ็บป่วยอย่าง โรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคภูมิแพ้ โรคเหล่านี้ก่อให้เกิดอาการคัดจมูก หรือการบวมบริเวณโพรงจมูก ช่องคอ และท่อยูสเตเชียน ท่อยูสเตเชียนเป็นท่อขนาดเล็กที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางและช่องคอคอ

นอกจากนี้ยังมีภาวะอื่น ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นในหูชั้นกลางที่อาจมีความเชื่อมโยงกับการติดเชื้อในหู รวมถึงยังมีการติดเชื้อจากโรคอื่นๆที่มีอาการคล้ายคลึงกันและเกิดขึ้นในบริเวณหูชั้นกลาง  

  • หูชั้นกลางอักเสบและมีน้ำในหู (Otitis media with effusion) คือการที่มีอาการบวมหรือมีของเหลวอยู่ในบริเวณหูชั้นกลางแต่ไม่ได้มีสาเหตมาจากแบคทีเรียหรือไวรัส แต่อาจจะมีสาเหตจากความผิดปกติหรือมีสิ่งอุดตันภายในท่อยูสเตเชียน
  • หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันและมีน้ำในหู (Chronic otitis media with effusion) คือการมีของเหลวลงเหลืออยู่ในหูชั้นกลาง โดยจะเกิดขึ้นเมื่อมีการกลับมาเกิดซ้ำโดยไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อจากแบคทีเรียหรือไวรัส เนื่องจากเด็กมีโอาสติดเชื้อในหูได้ง่าย นี่จึงเป็นสาเหตที่โรคนี้สามารถมีการเกิดซ้ำๆ หากเกิดอาการรุนแรง อาจส่งผลให้มีปัญหาการได้ยินได้
  • หูชั้นกลางอักเสบชนิดเรื้อรัง (Chronic suppurative otitis media) เป็นการติดเชื้อในหูที่ไม่สามารถรักษาด้วยการรักษาทั่วไป โรคหูชั้นกลางอักเสบชนิดเรื้อรังสามารถทำให้เกิดภาวะเยื่อแก้วหูทะลุ (perforated eardrum) หรือแก้วหูเป็นรู


ปัจจัยเสี่ยง

  • เด็กเล็ก (อายุระหว่าง 6 เดือน-2 ปี) - เด็กเล็กมีแนวโน้มจะติดเชื้อในหูมากกว่าเด็กในวัยอื่นๆ เนื่องจากภูมิต้านทานยังน้อยและยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ขนาดและรูปทรงของท่อยูสเตเชียนยังเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในหูสำหรับเด็กเล็กอีกด้วย
  • สถานรับเลี้ยงเด็ก - เด็กที่ได้รับการดูแลในรูปแบบกลุ่มมักจะมีโอกาสเป็นโรคหวัดและติดเชื้อในหูมากกว่าเด็กที่อยู่ที่บ้าน เนื่องจากเด็กที่อยู่รวมเป็นกลุ่มจะมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคและโรคต่างๆมากกว่า
  • การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ - เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่จะมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมจากขวด
  • โรคที่เกิดจากอากาศที่เปลี่ยนแปลง - ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ที่มีสาเหตจากอากาศที่เปลี่ยนแปลงช่วงฤดูหนาว มักจะมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อในหู เนื่องจากช่วงนี้มักมีปริมาณเกสรดอกไม้ที่เพิ่มมากขึ้น
  • คุณภาพอากาศแย่ - ผู้ป่วยที่มักจะสัมผัสกับควันบุหรี่หรือมลพิษทางอากาศ มักจะมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อในหู
  • กลุ่มชนพื้นเมืองอะแลสกา (Alaskan Native Heritage) - การติดเชื้อในหูมักจะพบได้บ่อยกับกลุ่มชนพื้นเมืองอะแลสกา
  • อาการปากแหว่งเพดานโหว่ (cleft palate) - เด็กที่มีอาการของปากแหว่งเพดานโหว่มักจะเกิดการติดเชื้อในหู เนื่องจากโครงสร้างของกระดูกและกล้ามเนื้อของภาวะนี้ ทำให้เป็นการยากที่ท่อยูสเตเชียนจะทำการระบายของเหลว


การวินิจฉัยโรค
หูชั้นกลางอักเสบ

ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและการตรวจโดยแพทย์ แพทย์จะทำการใช้กล้องส่องตรวจหู (otoscope) ในการส่องดูหู ช่องคอ และโพรงจมูก นอกจากนั้นแพทย์จะทำการฟังอัตราการหายใจของเด็กด้วยเครื่องฟังตรวจ (stethoscope) แพทย์ และจะใช้อุปกรณ์เฉพาะทางในการส่องกล้องเพื่อตรวจเยื่อแก้วหู (pneumatic otoscope) สำหรับการวินิจฉัยการติดเชื้อในหู อุปกรณ์ดังกล่าวจะช่วยให้แพทย์สามารถเห็นด้านในหูและสังเกตของเหลวด้านหลังแก้วหู วิธีการตรวจนี้ทำได้ด้วยการพ่นอากาศเบา ๆ บริเวณแก้วหู วิธีการสังเกตของแพทย์คือการตอบสนองต่อแรงอากาศของแก้วหู หากหูของเด็กไม่มีการตอบสนองหรือมีการตอบสนองน้อยนั้นหมายความว่ามีของเหลวอยู่ด้านในหูชั้นกลาง

วิธีการตรวจอื่น ๆ

แพทย์อาจแนะนำให้มีการตรวจเพิ่มเติม หากแพทย์มีความกังวลเกี่ยวกับผลวินิจฉัย หรือหากการติดเชื้อของเด็กไม่มีการตอบสนองต่อการรักษา หรือหากมีภาวะร้ายแรงอื่นๆที่กินระยะเวลานานและเกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว

  • การตรวจเพื่อประเมินการทำงานของหูชั้นกลาง (Tympanometry) - คือการตรวจที่วัดการเคลื่อนไหวของแก้วหู ในการตรวจแบบ Typanometry แพทย์จะทำการปร้บระดับความดันในช่องหูเพื่อจะดูการเคลื่อนไหวของแก้วหู การตรวจประเภทนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินการทำงานของแก้วหู เนื่องจากการตรวจแบบนี้จะใช้วิธีการวัดแรงดันทางอ้อม (indirect pressure measurement) เพื่อการวัดหูชั้นกลาง
  • การตรวจการกระตุกอัตโนมัติของกล้ามเนื้อหูชั้นกลาง (Acoustic reflectometry) - เป็นการวัดของเหลวในหูชั้นกลางทางอ้อม การตรวจจะช่วยประเมินเสียงที่สะท้อนกลับมาจากแก้วหู หากแพทย์พบของเหลวในหูชั้นกลาง แก้วหูจะไม่สามารถสะท้อนเสียงกลับมาได้ เนื่องจากเกิดแรงดันมากขึ้น โดยในภาวะปกติแก้วหูจะสามารถซึมซับเสียงได้เกือบทั้งหมด
  • การเจาะเยื่อแก้วหูเพื่อดูดน้ำออกจากหูชั้นกลาง (Tympanocentesis) - คือการที่แพทย์เจาะเยื่อแก้วหูด้วยการใช้ท่อขนาดเล็กเจาะเข้าไปที่แก้วหู เพื่อดูดน้ำออกจากหูชั้นกลาง น้ำที่ได้จากการดูดจะถูกนำไปตรวจหาไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย วิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกหากเด็กไม่มีการตอบสนองต่อการรักษาแบบอื่น ๆ
  • แพทย์อาจจะแนะนำให้ปรึกษานักตรวจการได้ยิน (audiologist) นักแก้ไขการพูด (speech therapist) หรือ นักกระตุ้นพัฒนาการ (developmental therapist) สำหรับการตรวจเพิ่มเติม ในกรณีที่พบว่ามีการติดเชื้อในหูซ้ำๆ หรือพบว่ามีน้ำเพิ่มขึ้นในบริเวณหูชั้นกลาง แพทย์จะทำการตรวจเพื่อประเมินทักษะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการฟัง การพูด ความเข้าใจภาษาหรือพัฒนาการด้านต่างๆ

การวินิจฉัยแต่ละแบบมีความหมายว่าอย่างไร

  • โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (Acute otitis media) เป็นการติดเชื้อในหูที่เกิดขึ้นชั่วคราว หากแพทย์พบน้ำในหูชั้นกลาง และพบว่าผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อทีมีอาการเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน แพทย์อาจจะทำการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน
  • หูชั้นกลางอักเสบและมีน้ำในหู (Otitis media with effusion) คือเมื่อแพทย์ตรวจพบน้ำขังในหูชั้นกลาง แต่ไม่พบลักษณะอาการอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นถึงการติดเชื้อ
  • หูชั้นกลางอักเสบชนิดเรื้อรัง (Chronic suppurative otitis media) - เมื่อแพทย์พบร่องรอยการอักเสบของหูที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานจนทำให้เกิดการฉีกขาดของแก้วหู การพบน้ำหนองในหูมักจะถูกเชื่อมโยงกับโรคหูชั้นกลางอักเสบชนิดเรื้อรัง

โดยส่วนมากการติดเชื้อในหูมักจะหายได้เองโดยไม่ต้องใช้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ดังนั้น การรักษาสำหรับการติดเชื้อในหูที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเด็ก จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ตั้งแต่อายุของเด็กจนไปถึงความรุนแรงของอาการ

การติดเชื้อในหูบางชนิดมักจะหายได้เองในช่วงสองถึงสามวันแรก ในขณะที่การติดเชื้อชนิดอื่นๆมักจะหายเองในช่วง 1-2 อาทิตย์โดยไม่จำเป็นต้องทำการรักษาเพิ่มเติม สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (American Academy of Pediatrics) และ สมาคมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวของอเมริกา  (American Academy of Family Physicians) กล่าวว่า การเฝ้าสังเกตอาการ (wait-and-see approach) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกแนะนำสำหรับเด็กอายุระหว่าง 6 ถึง 23 เดือนที่มีการปวดหูชั้นกลางแบบไม่รุนแรงในหูข้างเดียว ทางเลือกนี้เป็นอีกทางเลือกที่ผู้ปกครองควรใช้หากเด็กมีอาการเจ็บปวดน้อยกว่า 48 ชั่วโมงและมีไข้ในอุณหภูมิที่น้อยกว่า 39 องศา และยังสามารถใช้ได้กับสำหรับเด็กที่มีอายุมากกว่า 24 เดือน ที่มีการปวดหูแบบไม่รุนแรงในหูข้างเดียวหรือในหูทั้งสองข้าง การเฝ้าสังเกตอาการยังใช้ได้ในกรณีที่เด็กมีอาการปวดหูน้อยกว่า 48 ชั่วโมงและมีไข้ในอุณหภูมิที่น้อยกว่า 39 องศา

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าบางครั้งการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะจะช่วยในการรักษาอาการติดเชื้อในหูบางชนิดในเด็ก ผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับประโยชน์หรือความเสี่ยงของการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา เนื่องจากการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกิดการดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรีย

แพทย์อาจจะแนะนำรูปแบบการรักษาดังต่อไปนี้ เพื่อช่วยจัดการกับการปวด อันเกิดมาจากการติดเชื้อในหู

  • แพทย์จะทำการสั่งยาแก้ปวด เช่นกลุ่มยาอะเซตามีโนเฟน (อย่างไทลีนอล) หรือกลุ่มยาไอบูโพรเฟน (แอดวิล หรือมอทริน ไอบี) ซึ่งเป็นกลุ่มยาบรรเทาอาการปวดที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ยาเหล่านี้ควรจะใช้ตามขนาดที่ระบุไว้บนฉลาก
  • ยาหยอดหูที่่ช่วยระงับอาการปวด (Anesthetic drops) คือยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวด แพทย์จะทำการสั่งยานี้หากไม่พบรูหรือการฉีกขาดในแก้วหูของผู้ป่วย

แพทย์จะแนะนำการใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับการรักษาการติดเชื้อในหูในกรณีดังนี้

  • ผู้ป่วยเป็นเด็กอายุ 6 เดือน หรือมากกว่าที่มีอาการปวดหูระดับปานกลางถึงรุนแรงในหูข้างเดียวหรือสองข้าง โดยอาการปวดกินเวลานานกว่า 48 ชั่วโมงหรือเด็กมีไข้ในอุณหภูมิที่ 39 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า
  • ผู้ป่วยเป็นเด็กอายุระหว่าง 6 ถึง 23 เดือนและมีอาการปวดหูชั้นกลางแบบไม่รุนแรงในหูข้างเดียวหรือสองข้าง โดยอาการปวดกินเวลาน้อยกว่า 48 ชั่วโมงและเด็กมีไข้ในอุณหภูมิที่น้อยกว่า 39 องศา
  • ผู้ป่วยเป็นเด็กที่อายุ 24 เดือนหรือมากกว่าที่มีอาการปวดหูชั้นกลางแบบไม่รุนแรงในหูข้างเดียวหรือสองข้าง โดยอาการปวดกินเวลานานกว่า 48 ชั่วโมงและเด็กมีไข้ในอุณหภูมิที่น้อยกว่า 39 องศา

ยาปฏิชีวนะมักจะถูกนำมารักษาโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน โดยไม่จำเป็นต้องรอเวลาเพื่อประเมินอาการ ควรใช้ยาติดต่อกันตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และไม่ควรหยุดใช้ยาเองแม้อาการดีขึ้น การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่ต่อเนื่องอาจส่งผลให้เกิดการดื้อยาปฏิชีวนะ หรือมีโอกาสกลับมาป่วยซ้ำ ควรสอบถามและปรึกษาแพทย์ในกรณีที่มีการลืมรับประทานยาปฏิชีวนะ

การใส่ท่อในหู (Ear tubes)

แพทย์จะทำการแนะนำการรักษาด้วยการใส่ท่อในหูเพื่อดูดน้ำออกจากหูชั้นกลางในกรณีที่แพทย์พบว่า เด็กมีอาการติดเชื้อซ้ำๆ และเป็นระยะเวลายาวนาน (โรคหูชั้นกลางอักเสบชนิดเรื้อรัง - chronic otitis media) วิธีการรักษาแบบนี้จะใช้กับเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบที่มีน้ำในหู หรือพบว่าหูมีปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าได้ทำการรักษาอาการติดเชื้อเรียบร้อยแล้ว

แพทย์อาจจะแนะนำให้เด็กทำรักษาด้วยการผ่าตัดเจาะแก้วหู (myringotomy) ซึงเป็นการผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอก โดยศัลยแพทย์จะทำการเจาะรูขนาดเล็กในแก้วหู และจะทำการดูดน้ำออกจากหูชั้นกลาง

ท่อขนาดเล็กอย่างท่อ tympanostomy จะถูกนำมาใช้ในการปรับสภาพความดันระหว่างช่องหูชั้นกลางกับอากาศด้านนอก ท่อยังสามารถช่วยป้องกันการก่อตัวของน้ำในหู ในบางครั้งท่อจะถูกใส่ไว้ในช่องหูเป็นระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปีและจะหลุดออกมาเองในที่สุด ท่อบางชนิดจะถูกใส่ไว้ในช่องหูเป็นระยะเวลาที่นานกว่านั้น และสามารถถอดออกได้ด้วยการผ่าตัดเท่านั้น แก้วหูของเด็กจะสามารถสมานได้เอง หลังจากได้ทำการถอดท่อออก

แนวทางการรักษาโรคหูชั้นกลางอักเสบชนิดเรื้อรัง (chronic suppurative otitis media)

โรคหูชั้นกลางอักเสบชนิดเรื้อรังคือการติดเชื้อในหูที่มความยากต่อการรักษา เนื่องจากโรคนี้ก่อให้เกิดรูหรือการฉีกขาดในบริเวณแก้วหู การรักษาของโรคส่วนใหญ่มักจะเป็นการที่แพทย์ทำการสั่งยาปฏิชีวนะในรูปแบบยาหยอดหู เพื่อใช้ในการรักษาโรคนี้ แพทย์จะแนะนำวิธีการดูดน้ำออกจากช่องหูก่อนเริ่มการรักษาด้วยการใช้ยาหยอดหู

การติดตามผล (Monitoring)

ปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเกี่ยวกับความถี่ของการนัดพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษา แพทย์อาจจะทำการแนะนำการตรวจการได้ยินและความเข้าใจภาษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถติดตามผลการรักษาของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เด็กมีการติดเชื้อที่เกิดขึ้นซ้ำๆ หรือมีการก่อตัวของน้ำในหูอย่างต่อเนื่องในหูชั้นกลาง

เผยแพร่เมื่อ: 13 ก.ย. 2020

แชร์