อาการ สาเหตุ การวินิจฉัยและการรักษามะเร็งตับ (Liver Cancer)

มะเร็งตับ

มะเร็งตับ (Liver Cancer) มี 2 ประเภท ได้แก่ มะเร็งตับชนิด Primary และมะเร็งตับชนิด Secondary ชนิด Primary เกิดขึ้นภายในตับ ส่วนชนิด Secondary คือการกระจายของมะเร็งจากอวัยวะอื่น ๆ มายังตับ

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


มะเร็งตับ

มะเร็งตับนั้น มี 2 ประเภท ได้แก่ มะเร็งตับชนิด Primary และมะเร็งตับชนิด Secondary

  • มะเร็งตับชนิด Primary เกิดขึ้นภายในตับแบ่งเป็นสองชนิด ได้แก่ มะเร็งของเนื้อเยื่อของตับ (Hepatocellular Carcinoma) และมะเร็งท่อน้ำดีภายในตับ (Intrahepatic cholangiocarcinoma) 
  • มะเร็งตับชนิด Secondary คือ การกระจายของมะเร็งที่มีจุดเริ่มต้นที่อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายมายังบริเวณตับ  (Metastatic Liver Cancer) โดยในบทความนี้จะพูดถึงมะเร็งของเนื้อเยื่อตับชนิด hepatocellular carcinoma (HCC) เท่านั้น

อาการโรคมะเร็งตับ

มะเร็งตับในระยะเริ่มต้นไม่แสดงอาการ  ผู้ที่ก้อนในตับมีขนาดใหญ่มากจนทำให้ตับมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจมีอาการดังนี้

  • สังเกตเห็นก้อนเนื้อใต้โครงกระดูกซี่โครง
  • ปวดบริเวณช่องท้องด้านขวาซึ่งอาจร้าวไปยังบริเวณไหล่ขวาได้
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ คลื่นไส้ หรือเบื่ออาหาร
  • มีอาการอ่อนเพลีย
  • มีปัสสาวะสีเข้ม หรือผิวหนังและเยื่อบุตาขาวมีสีเหลืองขึ้น
  • ท้องอืด

สาเหตุของโรคมะเร็งตับ

มะเร็งตับ เกิดจากการกลายพันธุ์และเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ตับ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติของตับมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การดื่มสุรา หรือไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี หรือภาวะภูมิต้านตับ (autoimmune hepatitis) อย่างไรก็ดีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง หรือไขมันพอกตับ อาจเกิดมะเร็งตับได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีภาวะตับแข็งนำมาก่อน

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งเซลล์ตับ

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งตับ ได้แก่ โรคตับเรื้อรังชนิดต่าง ๆ ที่กล่าวแล้วข้างต้น นอกจากนี้ปัจจัยเสริมที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับ ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวเกินร่วมกับอาจจะมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะไขมันพอกตับ การได้รับสารพิษบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน และปัจจัยทางด้านเพศ โดยพบว่าเพศชายมีโอกาสเป็นมะเร็งตับมากกว่าเพศหญิง

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ

โดยทั่วไปผู้ป่วยที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็งจากสาเหตุต่าง ๆ รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง (รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบีด้วย) ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นจะต้องได้รับการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน ร่วมกับตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ (AFP) ในเลือด ทุก ๆ 6 เดือนเพื่อเป็นการเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งตับ เมื่อตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจอัลตร้าซาวด์แล้วในลำดับถัดไป แพทย์จะทำการตรวจทางรังสีที่ให้ภาพได้ชัดเจนขึ้น ได้แก่ การการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือ การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อทำการยืนยันการวินิจฉัย โดยทั่วไปการอาศัยการตรวจทางรังสีวิทยาที่เข้าได้กับมะเร็งตับ ร่วมกันกับภาวะเสี่ยงจากโรคตับนั้นเพียงพอที่จะให้การวินิจฉัยภาวะมะเร็งตับโดยไม่จำเป็นต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อ

อย่างไรก็ดี ในผู้ป่วยบางรายที่มีโรคตับเรื้อรังแต่การตรวจทางรังสีให้ผลไม่แน่ชัดว่าเข้าได้กับมะเร็งตับ หรือในทางกลับกันในผู้ป่วยที่ภาพทางรังสีเข้ากันได้กับมะเร็งตับแต่ผู้ป่วยไม่มีปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคตับเรื้อรังเลย อาจจำเป็นต้องทำการเจาะตรวจชิ้นเนื้อเพื่อยืนยันการวินิจฉัย

การรักษาโรคมะเร็งตับ

โดยทั่วไปการรักษามะเร็งตับจำเป็นต้องคำนึงถึงสองปัจจัย ได้แก่ ขนาดหรือความรุนแรงของตัวก้อนมะเร็ง และสภาพการทำงานของตับของผู้ป่วย เนื่องจากมะเร็งตับมักเกิดในผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็งซึ่งการทำงานของตับลดลง ดังนั้นหากทำการรักษามะเร็งตับโดยไม่คำนึงถึงการทำงานพื้นฐานของตับอาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะตับวายได้ ดังนั้น ก่อนทำการรักษามะเร็งตับจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการรักษาโรคตับที่เป็นพื้นฐานให้ตับอยู่ในสภาวะที่พร้อมต่อการทำการรักษา ก่อนที่จะทำการรักษาก้อนมะเร็ง เช่น การรักษาไวรัสตับอักเสบบี การให้ผู้ป่วยหยุดดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด หรือ การให้ยาต้านการอักเสบในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิต้านตับ

หลักการทั่วไปของการรักษามะเร็งตับเมื่อตับอยู่ในสภาวะที่พร้อมจะทำการรักษา จะพิจารณาตามขนาดของก้อนมะเร็งเป็นหลัก ดังนี้

  • ในก้อนมะเร็งขนาดเล็ก อาจทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด หรือการจี้เข็มความร้อน
  • ก้อนมะเร็งที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจนไม่สามารถผ่าตัดได้ แต่ยังไม่ลุกลามเข้าบริเวณเส้นเลือดของตับจะทำการรักษาด้วยการฉีดยาเคมีบำบัดเข้าไปยังเส้นเลือดตับร่วมกับการอุดเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง
  • ในก้อนที่มีขนาดใหญ่จนลุกลามเข้าไปยังเส้นเลือดตับหรือมีการกระจายไปยังบริเวณอื่น อาจทำการรักษาด้วยการให้ยา ไม่ว่าจะเป็นยามุ่งเป้า, ยาเคมีบำบัด, การรักษาด้วยสารรังสีผ่านทางเส้นเลือดตับ หรือการฉายแสงเฉพาะที่
  • ในรายที่ก้อนไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนัก แต่ผู้ป่วยไม่สามารถทำการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด หรือการรักษาเฉพาะที่ได้เนื่องจากการทำงานของตับไม่เพียงพอนั้น อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยเข้ารับการปลูกถ่ายตับเป็นราย ๆ โดยต้องพิจารณาจากขนาดของก้อน, การลุกลาม, สภาวะร่างกายโดยรวมและโรคร่วมต่าง ๆ ของผู้ป่วย

เตรียมตัวก่อนพบแพทย์

ผู้ป่วยควรเตรียมข้อมูลก่อนพบแพทย์ เช่น อาการของโรค ยาที่ใช้เพื่อรักษาโรค และคำถามที่จะถามหมอหากมีข้อสงสัย เป็นต้น

เมื่อต้องมาพบแพทย์

ในช่วงที่มีการซักประวัติ แพทย์จะถามคำถามต่าง ๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลและประเมินความรุนแรงของตัวโรค เช่น อาการเริ่มขึ้นเมื่อไร อาการรุนแรงมากแค่ไหน หรือสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคด้วยหรือไม่ เป็นต้น

คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

  1. คำถาม: โรคมะเร็งตับ มีอาการอย่างไร?
    คำตอบ:
    มะเร็งตับ ในระยะเริ่มต้นไม่แสดงอาการ ผู้ที่ก้อนในตับมีขนาดใหญ่มากจนทำให้ตับมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจมีอาการดังนี้ ก้อนเนื้อใต้โครงกระดูกซี่โครง ปวดบริเวณช่องท้องด้านขวาอาจร้าวไปยังบริเวณไหล่ขวา น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ คลื่นไส้ หรือเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปัสสาวะสีเข้ม ผิวหนังและเยื่อบุตามขาวมีสีเหลืองขึ้น ท้องอืด เป้นต้น

  2. คำถาม: มะเร็งตับ เกิดจากอะไร?
    คำตอบ:
    มะเร็งตับ เกิดจากการกลายพันธุ์และเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ตับ ส่วนใหญ่มักมีโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติของตับมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง ส่วนหนึ่งที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง หรือไขมันพอกตับ อาจเกิดมะเร็งตับได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีภาวะตับแข็งนำมาก่อน

  3. คำถาม: ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นมะเร็งตับ คืออะไร?
    คำตอบ:
    ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งตับ ได้แก่ โรคตับเรื้อรังชนิดต่าง ๆ ปัจจัยทางพันธุกรรม ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินร่วมกับอาจจะมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะไขมันพอกตับ หรือการได้รับสารพิษบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เป็นต้น

  4. คำถาม: รักษาโรคมะเร็งตับอย่างไร?
    คำตอบ:
    การรักษามะเร็งตับจำเป็นต้องคำนึงถึงสองปัจจัย คือขนาดหรือความรุนแรงของตัวก้อนมะเร็งและสภาพการทำงานของตับ ในก้อนมะเร็งขนาดเล็ก อาจทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด หรือการจี้เข็มความร้อน ก้อนมะเร็งที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจนไม่สามารถผ่าตัดได้ แต่ยังไม่ลุกลาม อาจรักษาด้วยการฉีดยาเคมีบำบัดเข้าไปยังเส้นเลือดตับร่วมกับการอุดเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง ก้อนที่มีขนาดใหญ่จนลุกลามอาจทำการรักษาด้วยการให้ยา เช่น ยามุ่งเป้า ยาเคมีบำบัด การรักษาด้วยสารรังสีผ่านทางเส้นเลือดตับ หรือการฉายแสงเฉพาะที่ เป็นต้น

เผยแพร่เมื่อ: 05 ก.พ. 2021

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    รศ.นพ.ดร. วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์

    รศ.นพ.ดร. วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคมะเร็ง, การรักษามะเร็งโดยเคมีบำบัด, การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า, การรักษามะเร็งด้านอิมมูโนบำบัด, การดูแลแบบประคับประคอง
  • Link to doctor
    นพ. วิกรม เจนเนติสิน

    นพ. วิกรม เจนเนติสิน

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคมะเร็ง, การรักษามะเร็งโดยเคมีบำบัด, การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า, การรักษามะเร็งด้านอิมมูโนบำบัด
  • Link to doctor
    พญ. ศิยามล มิ่งมาลัยรักษ์

    พญ. ศิยามล มิ่งมาลัยรักษ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคมะเร็ง, การรักษามะเร็งโดยเคมีบำบัด, การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า, การรักษามะเร็งด้านอิมมูโนบำบัด, การดูแลแบบประคับประคอง
  • Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    รศ.พญ. นภา ปริญญานิติกูล

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
  • Link to doctor
    นพ. สุดปรีดา ชัยนิธิกรรณ

    นพ. สุดปรีดา ชัยนิธิกรรณ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคมะเร็ง, การรักษามะเร็งโดยเคมีบำบัด, การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า, การรักษามะเร็งด้านอิมมูโนบำบัด, การดูแลแบบประคับประคอง
  • Link to doctor
    นพ. อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์

    นพ. อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    • อายุรศาสตร์โรคเลือด
    • การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
    มะเร็งทางโลหิตวิทยา, การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์
  • Link to doctor
    พญ. สุรีรัตน์ จารุหทัย

    พญ. สุรีรัตน์ จารุหทัย

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคมะเร็ง, การรักษามะเร็งโดยเคมีบำบัด, การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า, การรักษามะเร็งด้านอิมมูโนบำบัด, การดูแลแบบประคับประคอง