อาการ สาเหตุ การตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคอัลไซเมอร์ - Alzheimer's Disease - Symptoms, Causes, Diagnosis and Treatment

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Disease)

สาเหตุหลักของภาวะสมองเสื่อม มีอาการสูญเสียความทรงจำแบบค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้นตามลำดับ สัญญาณเริ่มแรก คือการลืมเหตุการณ์ ลืมกิจวัตรประจำวัน หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจสูญเสีย การตัดสินใจ การช่วยเหลือตนเอง

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


โรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์ พบเป็นสาเหตุหลักของภาวะสมองเสื่อม มีอาการสูญเสียความทรงจำแบบค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้นตามลำดับ สัญญาณเริ่มแรก คือ การลืมเหตุการณ์ ลืมการสนทนาหรือกิจวัตรประจำวัน หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจสูญเสีย การตัดสินใจ การวางแผน และการช่วยเหลือตนเอง ปัจจุบันมีวิทยาการในการตรวจวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ และมีการรักษาด้วยยาและการปรับพฤติกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบสมอง อย่างไรก็ดีในระยะท้ายของโรค ผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถในการทำงานของสมองเป็นอย่างมากจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและอาจเกิดการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนได้

อาการของโรคอัลไซเมอร์

อาการสำคัญและสัญญาณเริ่มแรกของโรคคือการสูญเสียความจำและมีอาการเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในช่วงแรกผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์อาจไม่รู้ตัวว่ามีปัญหาในการจดจำสิ่งต่าง ๆ แต่ญาติที่อยู่ใกล้ชิดจะสังเกตเห็นแนวโน้มความจำการรับรู้ที่ลดลงได้ดีกว่า

  • ความทรงจำ
    โรคอัลไซเมอร์ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความทรงจำ ซึ่งส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน อาการของโรคอัลไซเมอร์ คือพูดและถามประโยคเดิมซ้ำ ๆ ลืมการพูดคุยหรือเหตุการณ์ ลืมชื่อคนในครอบครัว วางของผิดที่ หลงในที่คุ้นเคย เป็นต้น
  • การคิดและการใช้เหตุผล
    ผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะสูญเสียทักษะและการตัดสินใจในการทำสิ่งต่าง ๆ เช่น ไม่สามารถคำนวณตัวเลขได้ ใช้สิ่งของผิดวิธี และลืมวิธีการทำงานพื้นฐานทั่วไปตามลำดับขั้น
  • บุคลิกภาพและพฤติกรรม
    ผู้ป่วยอาจมีอาการกระสับกระส่ายวุ่นวาย หรือมีภาวะแยกตัวไม่พูดก็ได้ มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการนอนหลับ อาจพบภาวะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดและก้าวร้าว ไม่สนใจการทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน เช่น การอาบน้ำ เป็นต้น
  • ทักษะที่เก็บรักษาไว้
    มีอยู่หลายความสามารถที่ถูกเก็บรักษาไว้แม้ในขณะที่อาการแย่ลงเพราะถูกควบคุมโดยส่วนต่าง ๆ ของสมองที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ ทักษะที่เก็บรักษาไว้รวมถึงการอ่านหนังสือเล่านิยายคิดถึงความทรงจำเก่า ๆ การร้องเพลงการเต้นรำและการวาดรูป

อาการ สาเหตุ การตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease)

เมื่อใดควรพบแพทย์

หากมีปัญหาความทรงจำผิดปกติ การตัดสินใจช้าลง บุคลิกภาพหรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ควรพบแพทย์เพื่อรับการประเมินและวินิจฉัยอย่างละเอียด

สาเหตุ

โรคอัลไซเมอร์เกิดจากหลายปัจจัยทั้งพันธุกรรม วิถีชีวิต และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม โรคมักจะเริ่มต้นในส่วนสมองที่ควบคุมความทรงจำ กลไกการเกิดโรคเชื่อว่ามีการสะสมของโปรตีนบางชนิด เช่น โปรตีน amyloid และ โปรตีน tau ผิดปกติในเซลล์ประสาท ทำให้เซลล์ประสาทเสื่อมสภาพ สูญเสียการทำงานเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ จนกระทั่งทำให้เซลล์สมองตาย โดยพยาธิสภาพดังกล่าวจะเกิดในส่วนอื่นๆของสมองด้วยตามลำดับ ทั้งนี้ระบบการทำงานของสมองมักถูกทำลายก่อนมีอาการแสดง

ปัจจัยเสี่ยง

  • โรคอัลไซเมอร์มักพบในช่วงวัยอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
    มีงานวิจัยหนึ่งศึกษาพบว่า จากกลุ่มประชากรทั้งหมด 1,000 คน   แต่ละปีในช่วงอายุ 65 ปี ถึง 74 ปี มีการพบผู้ป่วย 2 คน  ในช่วงอายุ 75 ปี ถึง 84 ปี มีการพบผู้ป่วย 11 คน และในช่วง 85 ขึ้นไปมีการพบผู้ป่วย 37 คน สนับสนุนว่าอายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค
  • ประวัติครอบครัวและพันธุศาสตร์
    กลไกทางพันธุกรรมในครอบครัวส่วนใหญ่ของโรคอัลไซเมอร์ยังคงไม่สามารถอธิบายได้ แต่หากมีประวัติบุคคลคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์มากขึ้น ในปัจจุบันมีการค้นพบว่าหากมีพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง apolipoprotein E (APOE e4) ผิดปกติ จะส่งผลให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรมนี้จะเกิดโรคทั้งหมด
  • โรคดาวน์ซินโดรม
    คนที่เป็นโรคดาวน์ซินโดรมจำนวนมากจะพบภาวะโรคอัลไซเมอร์ร่วมด้วย โดยมีอาการเร็วกว่าคนปกติทั่วไป 10 หรือ 20 ปี สาเหตุหลักเป็นผลจากพันธุกรรมของโครโมโซมคู่ที่ 21
  • เพศ
    ความเสี่ยงระหว่างเพศชายและเพศหญิงมีความแตกต่างกันเล็กน้อย
  • การบาดเจ็บศีรษะอย่างรุนแรง
    บุคคลที่มีการบาดเจ็บทางศีรษะอย่างรุนแรงจะมีความเสี่ยงต่อเป็นอัลไซเมอร์
  • การนอนหลับที่ผิดปกติ
    มีงานวิจัยพบเจอว่าบุคคลที่มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น การหยุดหายใจขณะนอนหลับจะมีความเสี่ยงสูงกับการเป็นอัลไซเมอร์
  • วิธีการดำเนินชีวิตและโรคร่วม
    การขาดการออกกำลังกาย โรคอ้วน การสูบบุหรี่ โรคเบาหวานประเภท 2 ภาวะความดันโลหิตสูงและคอเลสเตอรอล โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

การวินิจฉัยโรค

  • การตรวจประเมินอาการจากผู้ป่วยและญาติใกล้ชิด
    การตรวจประเมินอาการจากผู้ป่วยและญาติใกล้ชิดเพื่อวินิจฉัยแยกภาวะทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรคทางกายที่มีอาการคล้ายกับโรคอัลไซเมอร์  หลังจากนั้นจะมีการตรวจวินิจฉัยด้วยการตรวจทดสอบประเมินด้านต่างๆ เช่น  ความจำ การบริหารจัดการ การคิดคำนวน ทักษะทางด้านมิติสัมพันธ์ โดยใช้แบบทดสอบประเมินความทรงจำ Thai Mental State Examination (TMSE), และ Montreal Cognitive Assessment (MoCA) ใช้เวลาประเมินทั้งหมดประมาณ 15-20 นาที
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
    การตรวจทางห้องปฏิบัติการทำให้ให้แพทย์แยกแยะสาเหตุของการสูญเสียความจำจากสาเหตุอื่น เช่น ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์หรือการขาดวิตามิน นอกจากนี้ยังมีการตรวจทางพันธุกรรมและการตรวจสารชีวภาพจากในเลือดและน้ำไขสันหลัง
  • ภาพถ่ายสมอง
    รูปภาพที่ได้จากการสแกนสมองจะสามารถให้การวินิจฉัยอัลไซเมอร์ได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้นตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและให้การวินิจฉัยแยกกลุ่มโรคความจำเสื่อมประเภทอื่น  ปัจจุบันมีการตรวจ เช่น Magnetic resonance imaging และ FDG Brain PET Scan

การรักษา

การรักษาในปัจจุบันเป็นการรักษาเพื่อช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น และยังไม่สามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ ยาช่วยเรื่องของความทรงจำและพฤติกรรม เช่น

  • Cholinesterase inhibitor ยากลุ่มนี้ทำงานโดยยับยั้งเอนไซม์ที่ไปทำลายสารสื่อประสาท ทำให้สารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่สื่อสารระหว่างเซลล์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เริ่มใช้ได้ในผู้ป่วยที่มีอาการตั้งแต่ระยะแรก เช่น ยา Galantamine. Rivastigmine. โดยมีทั้งในรูปแบบรับประทานและแผ่นแปะ
  • N-methyl-D-aspartate (NMDA) receptor antagonist ยากลุ่มนี้มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการระดับปานกลางถึงรุนแรง มักใช้ควบคู่กับยากลุ่ม Cholinesterase inhibitor เช่น ยา Memantine
  • ยาปรับพฤติกรรม และอารมณ์ เช่น ยาลดอาการกังวลหรือยานอนหลับประเภทต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการใช้ยาเพื่อลดการดำเนินของโรคหรือเพื่อป้องกันโรค แต่ยังไม่มีหลักฐานทางการรักษามากนัก เช่น vitamin E, แปะก๊วย (ginkgo) เป็นต้น

นอกจากนี้การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและการช่วยเหลือจากคนในครอบครัวเป็นส่วนสำคัญของแผนการรักษา ยกตัวอย่างเช่น การเก็บสิ่งของเครื่องใช้ไว้ที่เดิมจะง่ายต่อการจดจำ ทำกิจวัตรประจำวันตามเวลาเดิม นอกจากนี้ญาติอาจมีบทบาทในการจัดยาให้รับประทานตามเวลา และให้ผู้ป่วยพกเครื่องมือสื่อสารซึ่งมีความสามารถในการบอกตำแหน่งได้เพื่อป้องกันการหลงทาง

คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

  1. คำถาม: โรคอัลไซเมอร์ คืออะไร
    คำตอบ: โรคอัลไซเมอร์ เกิดจากหลายปัจจัยทั้งพันธุกรรม วิถีชีวิต และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม โรคมักจะเริ่มต้นในส่วนสมองที่ควบคุมความทรงจำ กลไกการเกิดโรคเชื่อว่ามีการสะสมของโปรตีนบางชนิด ทำให้เซลล์ประสาทเสื่อมสภาพ สูญเสียการทำงานเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ จนกระทั่งทำให้เซลล์สมองตาย โดยพยาธิสภาพดังกล่าวจะเกิดในส่วนอื่นๆของสมองด้วยตามลำดับ ทั้งนี้ระบบการทำงานของสมองมักถูกทำลายก่อนมีอาการแสดง

  2. คำถาม: โรคอัลไซเมอร์ มีอาการอย่างไร
    คำตอบ:อาการสำคัญและสัญญาณเริ่มแรกของโรคคือการสูญเสียความจำและมีอาการเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในช่วงแรกผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์อาจไม่รู้ตัวว่ามีปัญหาในการจดจำสิ่งต่าง ๆ แต่ญาติที่อยู่ใกล้ชิดจะสังเกตเห็นแนวโน้มความจำการรับรู้ที่ลดลงได้ดีกว่า เช่น พูดและถามประโยคเดิมซ้ำ ๆ ลืมการพูดคุยหรือเหตุการณ์ ลืมชื่อคนในครอบครัว วางของผิดที่ หลงในที่คุ้นเคย เป็นต้น

  3. คำถาม: โรคอัลไซเมอร์ ต้องตรวจวินิจฉัยอะไรบ้าง
    คำตอบ: โรคอัลไซเมอร์ จะวินิจฉัยโดยตรวจประเมินอาการจากผู้ป่วยและญาติใกล้ชิด เพื่อวินิจฉัยแยกภาวะทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรคทางกายที่มีอาการคล้ายกับโรคอัลไซเมอร์  หลังจากนั้นจะมีการตรวจวินิจฉัยด้วยการตรวจทดสอบประเมินด้านต่าง ๆ เช่น  ความจำ การบริหารจัดการ การคิดคำนวน การวินิจฉัยโดยการถ่ายภาพมอง รูปภาพที่ได้จากการสแกนสมองจะสามารถให้การวินิจฉัยอัลไซเมอร์ได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้นตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและให้การวินิจฉัยแยกกลุ่มโรคความจำเสื่อมประเภทอื่น

  4. คำถาม: ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์อย่างไร
    คำตอบ: นอกจากการรักษาด้วยแล้ว การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและการช่วยเหลือจากคนในครอบครัวเป็นส่วนสำคัญของแผนการรักษา ยกตัวอย่างเช่น การเก็บสิ่งของเครื่องใช้ไว้ที่เดิมจะง่ายต่อการจดจำ ทำกิจวัตรประจำวันตามเวลาเดิม นอกจากนี้ญาติอาจมีบทบาทในการจัดยาให้รับประทานตามเวลา และให้ผู้ป่วยพกเครื่องมือสื่อสารซึ่งมีความสามารถในการบอกตำแหน่งได้เพื่อป้องกันการหลงทาง


โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) อาการ สาเหตุ การตรวจวินิจฉัยและการรักษา
โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) อาการ สาเหตุ การตรวจวินิจฉัยและการรักษา

บทความโดย

  • พญ. มนัสวรรณ์ สันทนานุการ
    พญ. มนัสวรรณ์ สันทนานุการ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านประสาทวิทยา เฉพาะทางด้านประสาทวิทยาโรคกล้ามเนื้อและเส้นประสาทไฟฟ้าวินิจฉัย

เผยแพร่เมื่อ: 11 ก.พ. 2021

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. ธารินี คัทรี

    พญ. ธารินี คัทรี

    • ประสาทวิทยา
    • ประสาทวิทยาโรคกล้ามเนื้อและเส้นประสาทไฟฟ้าวินิจฉัย
  • Link to doctor
    พญ. มนัสวรรณ์ สันทนานุการ

    พญ. มนัสวรรณ์ สันทนานุการ

    • ประสาทวิทยา
    • ประสาทวิทยาโรคกล้ามเนื้อและเส้นประสาทไฟฟ้าวินิจฉัย
    โรคกล้ามเนื้อและเส้นประสาท, อาการชา, โรคปวดศีรษะ, บ้านหมุน, โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง, โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง, เส้นประสาทส่วนปลายผิดปกติ, โรคเส้นประสาทอ่อนแรงเฉียบพลัน, การกดทับของเส้นประสาท