เลือกหัวข้อที่อ่าน
- โรคปากนกกระจอก มีอาการอย่างไร
- ปัจจัยเสี่ยงของโรคปากนกกระจอกมีอะไรบ้าง
- โรคปากนกกระจอกมีวิธีการรักษาอย่างไร
- โรคปากนกกระจอกมีวิธีป้องกันอย่างไร
- คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค
โรคปากนกกระจอกคืออะไร
โรคปากนกกระจอก (Angular Cheilitis) เป็นโรคติดเชื้อทางผิวหนัง มุมปากข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างมีลักษณะแห้ง แตก เป็นแผล ทำให้รู้สึกเจ็บ โรคปากนกกระจอกไม่ใช่โรคติดต่อ ต่างจากเริมที่ปากซึ่งเป็นโรคติดต่อทางผิวหนังผ่านการสัมผัสเชื้อไวรัส Herpes Simplex Virus
ใครที่มักเป็นโรคปากนกกระจอก
โรคปากนกกระจอกเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กและผู้สูงวัย ในเด็กอาจเกิดจากการดูดนิ้ว จุกนมหลอก ในผู้สูงวัยอาจมีสาเหตุมาจากการใส่ฟันปลอมหรือมุมปากตก
โรคปากนกกระจอก มีอาการอย่างไร
โรคปากนกกระจอกทำให้มุมปากแห้ง แตก บวม แดง เป็นแผล และเปื่อย
โรคปากนกกระจอกมีสาเหตุเกิดจากอะไร
โรคปากนกกระจอกเกิดจากการสะสมของน้ำลายที่บริเวณมุมปาก ทำให้มุมปากแห้ง เกิดเป็นแผล หากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียเข้าไปในแผลจะทำให้ติดเชื้อ ทั้งนี้มุมปากแห้งอาจมีสาเหตุมาจาก
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
- นอนน้ำลายไหล
- การใส่ฟันปลอมที่ไม่พอดีกับช่องปาก
- การติดเชื้อราแคนดิดา
- ปัญหาฟันไม่สบกัน
- การดูดนิ้วหรือดูดจุกนมหลอก
- การสวมหน้ากากอนามัย
ปัจจัยเสี่ยงของโรคปากนกกระจอกมีอะไรบ้าง
- โรคเรื้อรัง เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคเบาหวาน
- ดาวน์ซินโดรม ซึ่งทำให้ผิวแห้ง
- โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น HIV
- การขาดวิตามินบี ธาตุเหล็ก หรือโปรตีน
- น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว
- ผิวหน้าหย่อนคล้อยเนื่องจากอายุที่มากขึ้น
- การสูบบุหรี่
- ความเครียด
โรคปากนกกระจอกมีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร
อายุรแพทย์หรือแพทย์ผิวหนังจะซักประวัติ สอบถามอาการ และตรวจร่างกาย จากนั้นแพทย์อาจเก็บตัวอย่างแผลที่มุมปากไปตรวจดูว่ามีสาเหตุมาจากโรคเริมหรือเชื้อราหรือไม่ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อดูว่าโรคปากนกกระจอกมีสาเหตุมาจากการขาดสารอาหารหรือโรคอื่น ๆ หรือไม่
โรคปากนกกระจอกมีวิธีการรักษาอย่างไร
- ยาปฏิชีวนะ เช่น ยารับประทานหรือยาทาเฉพาะที่สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรีย
- การแก้ไขทันตอุปกรณ์ เช่น ฟันปลอมและอุปกรณ์จัดฟัน เพื่อให้สบฟันได้ดีขึ้น ลดการหมักหมมของน้ำลายบริเวณมุมปาก
- การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน ธาตุเหล็ก และวิตามินบี
- การทาครีมต้านเชื้อราหรือยาสเตียรอยด์ชนิดใช้ภายนอกเพื่อบรรเทาอาการปวดบวมที่มุมปาก และทาลิปมันหรือปิโตรเลียมเจลลี่เพื่อให้ริมฝีปากชุ่มชื้น
ทั้งนี้ระหว่างการรักษา ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการได้โดยประคบอุ่นหรือเย็นที่มุมปาก ไม่ใช้น้ำยาบ้วนหรือรับประทานอาหารรสเผ็ดที่อาจทำให้มุมปากระคายเคืองมากยิ่งขึ้น หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจ้าหรือที่ที่มีอากาศหนาวจัดที่อาจส่งผลให้ผิวแห้งแตกมากยิ่งขึ้น
โรคปากนกกระจอกมีวิธีป้องกันอย่างไร
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคือง
- รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่และดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว
- ดูแลให้ริมฝีปากชุ่มชื้นอยู่เสมอ
- ไม่สูบบุหรี่
- ไม่เลียริมฝีปาก
- ไม่ใช้เครื่องสำอางที่หมดอายุ
คำถามที่พบบ่อย
- ทำไมผู้ป่วยเบาหวานถึงเป็นโรคปากนกกระจอกบ่อย ๆ
ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อราแคนดิดาในช่องปาก เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลในเลือดซึ่งเป็นแหล่งอาหารของเชื้อราแคนดิดาในระดับที่สูง อีกทั้งภูมิคุ้มกันโรคของผู้ป่วยมักอ่อนแอ ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น การรับประทานอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน การออกกำลังกาย และการได้รับอินซูลินอย่างเหมาะสม จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันโรคปากนกกระจอกได้ - นอกจากโรคปากนกกระจอกแล้ว โรคอะไรที่อาจเป็นสาเหตุของอาการมุมปากแห้ง
- ผื่นแอกทินิกเคอราโทซิส หรือผื่นผิวหนังเป็นสะเก็ด ซึ่งเป็นโรคก่อนมะเร็ง
- เชื้อไวรัส Herpes simplex virus type 1 (HSV-1) สาเหตุของเริมที่ปาก
- รอยโรคสีขาว (Leukoplakia) ในปาก ซึ่งอาจกลายเป็นมะเร็ง
- มะเร็งช่องปาก
- ภาวะไลเคนอยด์ในช่องปาก เป็นกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง
- โรคซิฟิลิส
คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค
โรคปากนกกระจอก เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย และเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากมุมปากแห้งแตก ผู้ป่วยอาจทาขี้ผึ้งหรือปิโตรเลียมเจลลี่ที่มุมปากเพื่อบรรเทาอาการ หากไม่หาย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยอย่างเหมาะสม