เลือกหัวข้อที่อ่าน
- ฝากครรภ์ สำคัญอย่างไร?
- ฝากครรภ์ครั้งแรก เมื่อไหร่ดี?
- การฝากครรภ์ มีกี่ครั้ง?
- การฝากครรภ์ครั้งแรก ตรวจอะไรบ้าง?
- ฝากครรภ์ 9 เดือน ตรวจอะไรบ้าง
- การฝากครรภ์คุณภาพ คืออะไร?
- การดูแลสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์
- ฝากครรภ์ โรงพยาบาลเมดพาร์ค
- ลงทะเบียนรับสิทธิ์ส่วนลดพิเศษ
ฝากครรภ์ (Antenatal care)
การฝากครรภ์ (Antenatal care) คือ การดูแลสุขภาพตั้งแต่เมื่อเริ่มตั้งครรภ์จนถึงวันกำหนดคลอด การฝากครรภ์ควรเริ่มทำทันทีที่รู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์โดยการนัดตรวจสุขภาพกับสูตินรีแพทย์เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ เริ่มฝากครรภ์ ตรวจหาความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ และติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ไปจนถึงการเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจ และการรับคำแนะนำในการปฏิบัติตนที่ถูกวิธีเพื่อให้ตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ และสามารถตั้งครรภ์ได้อย่างมีคุณภาพ คุณแม่มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ลูกในครรภ์มีพัฒนาการร่างกายที่สมบูรณ์ ปลอดจากภาวะแทรกซ้อนตลอดการตั้งครรภ์ จนถึงวันกำหนดคลอดที่คุณแม่สามารถให้กำเนิดลูกน้อยได้อย่างปลอดภัย
ฝากครรภ์ สำคัญอย่างไร?
การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญ เมื่อตั้งครรภ์ ทั้งคุณแม่และลูกน้อยล้วนมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น การแท้งบุตร การเสียชีวิตของมารดาขณะตั้งครรภ์ ทารกพิการหรือความผิดปกติแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ เช่น ภาวะดาวน์ซินโดรม ภาวะทารกไม่มีกะโหลกศีรษะ ปากแหว่งเพดานโหว่ ธาลัสซีเมีย หรือภาวะครรภ์เสี่ยงสูง รวมถึงภาวะติดเชื้อในทารกแรกเกิด ทารกน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ การฝากครรภ์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการช่วยค้นหาความเสี่ยงทุกชนิดในการตั้งครรภ์ ทั้งก่อนการตั้งครรภ์ ระหว่างการตั้งครรภ์ วันคลอด และหลังการคลอดเพื่อให้ทุกระยะของการตั้งครรภ์เป็นไปด้วยความปลอดภัย ปราศจากภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้ได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงทีในกรณีที่มีความจำเป็น
ฝากครรภ์ครั้งแรก เมื่อไหร่ดี?
ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรเริ่มฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่ากำลังตั้งครรภ์ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มฝากครรภ์ คือ ช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 4-8 สัปดาห์ และไม่ควรเกิน 12 สัปดาห์ นับจากวันแรกของประจำเดือนรอบสุดท้าย อย่างไรก็ตาม สูตินรีแพทย์แนะนำว่าช่วงระยะเวลาที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นฝากครรภ์ คือ 1 เดือน ก่อนการตั้งครรภ์ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถทำนัดกับคุณหมอเพื่อวางแผนการมีบุตรและทำการตรวจสุขภาพเชิงลึกเพื่อระบุปัญหาสุขภาพ โรคทางกรรมพันธุ์ หรือภาวะมีบุตรยากของทั้งฝ่ายหญิงและชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากฝ่ายหญิงมีปัญหาด้านสุขภาพก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ และมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยสูตินรีแพทย์ผู้ชำนาญการในทุกระยะตั้งครรภ์จนถึงวันกำหนดคลอดและรวมไปจนถึงระยะหลังคลอด
การฝากครรภ์ มีกี่ครั้ง?
จำนวนนัดหมายในการฝากครรภ์ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เริ่มต้นฝากครรภ์ สุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ และความเสี่ยงมากหรือน้อยของการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ โดยทั่วไป ตารางนัดหมายสำหรับการฝากครรภ์ในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุระหว่าง 18-35 ปี ที่มีสุขภาพดี มีดังนี้
- อายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ นัดหมายทุก ๆ 4 สัปดาห์
- อายุครรภ์ระหว่าง 28-32 สัปดาห์ นัดหมายทุก ๆ 2-3 สัปดาห์
- อายุครรภ์ระหว่าง 32-40 สัปดาห์ นัดหมายทุก ๆ สัปดาห์
ทั้งนี้ แพทย์อาจทำนัดหมายให้ถี่ขึ้นตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง
การฝากครรภ์ครั้งแรก ตรวจอะไรบ้าง?
- การซักประวัติ สูตินรีแพทย์ทำการซักประวัติสุขภาพอย่างละเอียด โดยรวมถึง
- ประวัติประจำเดือน วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย (Last menstrual period: LMP)
- โรคประจำตัว ยารักษาโรค ประวัติการแพ้ยา
- ประวัติการตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์แฝด การคลอดบุตร การแท้งบุตร ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ขณะคลอด และหลังคลอด ประวัติการผ่าตัด เช่น เนื้องอกมดลูก ซีสต์รังไข่ ประวัติอุบัติเหตุ
- ประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันที่มีโรคทางกรรมพันธุ์ เช่น เบาหวาน ธาลัสซีเมีย ดาวน์ซินโดรม
- ประวัติการสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติดของคุณแม่ตั้งครรภ์และ/หรือบุคคลในครอบครัวเดียวกัน
- ชั่งน้ำหนัก เพื่อประเมินความสัมพันธ์น้ำหนักระหว่างคุณแม่ตั้งครรภ์กับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ โดยคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นครึ่งกิโลกรัมในทุกสัปดาห์
- วัดส่วนสูง เพื่อประเมินภาวะคลอดยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีส่วนสูงน้อยกว่า 140 เซนติเมตร ที่อาจเสี่ยงภาวะคลอดยากเนื่องจากมีอุ้งเชิงกรานแคบ โดยสูตินรีแพทย์จะวางแผนการทำคลอดที่เหมาะสมกับคุณแม่เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการคลอด
- วัดความดันโลหิต เพื่อประเมินความดันโลหิตทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูงในระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งผลให้ไตและอวัยวะอื่น ๆ ทำงานผิดปกติ อาจทำให้ทารกน้ำหนักแรกเกิดน้อยและคลอดก่อนกำหนด ความดันโลหิตต่ำในระหว่างตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้ทารกเจริญเติบโตช้า น้ำหนักแรกเกิดน้อย และคลอดก่อนกำหนด
- ตรวจร่างกาย เพื่อประเมินสุขภาพและความพร้อมด้านร่างกายของคุณแม่ โดยตรวจหาความผิดปกติของร่างกาย เช่น ภาวะซีด ตัวเหลืองตาเหลือง อาการบวม คอโต ตรวจการเต้นของหัวใจ ตรวจปอด ตรวจหน้าท้องเพื่อประเมินการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
- ตรวจปัสสาวะ เพื่อวัดปริมาณน้ำตาลและประเมินความเสี่ยงเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ตรวจการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ตรวจวัดระดับโปรตีนเพื่อประเมินการทำงานของไต หากไตทำงานผิดปกติและมีความดันโลหิตสูงร่วมอาจทำให้เกิดภาวะครรภ์เสี่ยงสูง รวมถึงตรวจภาวะขาดน้ำ ตรวจคีโตน และตรวจแบคทีเรียในปัสสาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์
- ตรวจเลือด ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC; Hct/Hb MCV) ตรวจกรุ๊ปเลือด (Blood group ABO) ตรวจพาหะธาลัสซีเมีย (DCIP) ตรวจหมู่เลือดระบบพิเศษ (Rh) ตรวจไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) และอาจมีการตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น การตรวจ TSH การตรวจ Ferritin test ตรวจระบบภูมิคุ้มกัน ไวรัสหัดเยอรมัน โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ตรวจหาเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV) หรือ ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส (VDRL) ที่เป็นเหตุให้ทารกพิการหรือเสียชีวิต
- ตรวจอัลตราซาวด์ทางหน้าท้อง เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ ตรวจครรภ์แฝด ตรวจดูถุงตั้งครรภ์ ตำแหน่งของรก เพศของทารก ความสมบูรณ์ของทารก โครงสร้างอวัยวะ หัวใจ จำนวนนิ้วมือนิ้วเท้า ตรวจโครงสร้างกะโหลกศีรษะ สมอง ใบหน้า ตรวจท่าทางของทารก ตรวจหาโครงสร้างที่ผิดปกติ ตรวจวัดปริมาณน้ำคร่ำ เป็นต้น
- ยืนยันการตั้งครรภ์ ระบุอายุครรภ์ การคะเนกำหนดคลอด (EDC/EDD) โดยนับจากวันแรกของประจำเดือนรอบสุดท้าย
เมื่อการฝากครรภ์ครั้งแรกเสร็จสิ้น สูตินรีแพทย์จะบันทึกข้อมูลสุขภาพของคุณแม่และลูกลงในระบบ จ่ายวิตามินบำรุงครรภ์ และทำนัดเพื่อตรวจครรภ์เป็นระยะตามโปรแกรมการฝากครรภ์ โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ไตรมาส ทั้งนี้ ความถี่ของนัดหมายแพทย์จะขึ้นอยู่กับอายุครรภ์และความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ของคุณแม่ตั้งครรภ์
ฝากครรภ์ 9 เดือน ตรวจอะไรบ้าง
ฝากครรภ์ไตรมาสที่ 1 (ช่วงอายุครรภ์ 1-14 สัปดาห์)
สูตินรีแพทย์นัดตรวจทุก ๆ 4 สัปดาห์ เพื่อประเมินสุขภาพครรภ์ของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ รวมถึงการวางแผนดูแลตั้งแต่เริ่มต้น
- ตรวจปัสสาวะ เพื่อวัดระดับโปรตีน ระดับน้ำตาล ตรวจเชื้อแบคทีเรีย หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ตรวจเลือด (การฝากครรภ์ครั้งที่ 1) ตรวจหากรุ๊ปเลือด โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ไวรัสตับอักเสบบี ซิฟิลิส ตรวจพาหะธาลัสซีเมีย เป็นต้น
- ตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม NIPT (ช่วงอายุครรภ์ 12-16 สัปดาห์) เพื่อหาสารบ่งชี้ภาวะดาวน์ซินโดรม และความผิดปกติทางพันธุกรรมอื่น ๆ
- ตรวจอัลตราซาวด์ทางหน้าท้อง หรือ ตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอด เพื่อระบุอายุครรภ์และการคะเนวันคลอด ตรวจการตั้งครรภ์ทารกตามปกติในมดลูก ตรวจครรภ์แฝด ตรวจหาความผิดปกติของโครงสร้างอวัยวะของทารก ขนาดตัวของทารก การเต้นของหัวใจ
- ตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน เพื่อป้องกันฟันผุขณะตั้งครรภ์ ที่อาจส่งผลให้คลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักแรกเกิดน้อย และภาวะครรภ์เป็นพิษ
- ตรวจประเมินสุขภาพจิต สภาพอารมณ์ ความเครียด อาการซึมเศร้า ความพร้อมของอารมณ์และจิตใจในการตั้งครรภ์ และความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
- วิตามินบำรุงครรภ์ สูตินรีแพทย์ให้วิตามินบำรุงครรภ์เสริม ประกอบไปด้วย ธาตุเหล็ก กรดโฟลิก แคลเซียม รวมถึงวิตามินที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์
- บันทึกผลการฝากครรภ์ไตรมาสที่ 1 สูตินรีแพทย์บันทึกผลการตรวจสุขภาพครรภ์ไตรมาสที่ 1 ลงในระบบ
ฝากครรภ์ไตรมาสที่ 2 (ช่วงอายุครรภ์ 15-28 สัปดาห์)
สูตินรีแพทย์นัดตรวจทุก ๆ 3-4 สัปดาห์ ติดตามพัฒนาการทารกในครรภ์ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน
- ตรวจเลือด เพื่อคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ (50 g. Glucose challenge test)
- ตรวจปัสสาวะ เพื่อวัดระดับโปรตีน และระดับน้ำตาลในปัสสาวะ (Urine Strip Test)
- ฉีดวัคซีน แพทย์จะพิจารณาการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (ขึ้นอยู่กับประวัติการได้รับวัคซีนของแต่ละบุคคล)
- ตรวจอัลตราซาวด์ทางหน้าท้อง และ ตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอด ตรวจเพศของทารกว่าเป็นหญิงหรือชาย ตรวจพัฒนาการการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ตรวจความสมบูรณ์ของอวัยวะ วัดความยาวปากมดลูก
- เจาะตรวจน้ำคร่ำเพื่อหาโครโมโซมที่ผิดปกติ (Amniocentesis) เฉพาะในกรณีที่มีความเสี่ยงภาวะดาวน์ซินโดรม (ในระหว่างช่วงอายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์)
- *วัคซีนโควิด 19 สูตินรีแพทย์จะพิจารณาการให้วัคซีนป้องกัน COVID 19 (ขึ้นอยู่กับประวัติการได้รับวัคซีนของแต่ละบุคคล)
- วิตามินบำรุงครรภ์ สูตินรีแพทย์ให้วิตามินบำรุงครรภ์เสริมอย่างต่อเนื่อง
- บันทึกผลการฝากครรภ์ไตรมาสที่ 2 สูตินรีแพทย์บันทึกผลการตรวจสุขภาพครรภ์ไตรมาสที่ 2 ลงในระบบ
ฝากครรภ์ไตรมาสที่ 3 (ช่วงอายุครรภ์ 29-40 สัปดาห์)
สูตินรีแพทย์นัดตรวจทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ เพื่อวางแผนการคลอด การปฏิบัติตนก่อนคลอด การสังเกตอาการนำก่อนคลอด
- การตรวจเลือด เพื่อตรวจความเข้มข้นของเลือด โรคติดเชื้อ ตรวจหาแอนติเจนของเชื้อ HIV ตรวจซิฟิลิส เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนคลอด
- ตรวจหาเชื้อสเตร็ปโตคอคลัสกรุ๊ปบี ในระหว่างการตั้งครรภ์ (GBS Group B streptococcus)
- ตรวจอัลตราซาวด์ทางหน้าท้อง เพื่อคำนวณน้ำหนักคุณแม่และทารกในครรภ์ ประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์
- ตรวจประเมินท่าของทารกในครรถ์ ระดับยอดมดลูก และการกลับหัวของทารกลงสู่อุ้งเชิงกราน
- การสังเกตการดิ้นของทารกในครรภ์ สอนนับการดิ้นของทารกในครรภ์ ฟังเสียงเต้นหัวใจเต้นของทารก
- การสังเกตอาการนำก่อนคลอด อาการแสดงที่บ่งบอกว่าต้องรีบเดินทางมาที่ รพ. เช่น อาการเจ็บครรภ์คลอด น้ำคร่ำเดิน มีมูกเลือด ปากมดลูกเปิด
- การสังเกตอาการผิดปกติก่อนคลอด อาการที่ผิดปกติก่อนถึงกำหนดคลอดที่บ่งบอกว่าต้องรีบเดินทางมาที่ รพ. โดยเร็วเพื่อให้แพทย์ตรวจอาการ เช่น เจ็บครรภ์ก่อนคลอด เลือดออกทางช่องคลอด จุกแน่นลิ้นปี่บริเวณใต้ชายโครงขวา ตาพร่ามัว ทารกดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้น ปวดหัว หรือมีไข้ร่วม
- คำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพ สูตินรีแพทย์ และพยาบาลผดุงครรภ์จะให้คำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพ โภชนาการ การเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นคุณพ่อ คุณแม่มือใหม่ การเตรียมตัวคลอด การดูแลทารกแรกเกิดอย่างถูกวิธี และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
- วางแผนการคลอดที่เหมาะสม สูตินรีแพทย์วางแผนการคลอดที่เหมาะสมกับทั้งคุณแม่และลูกน้อย ทั้งการคลอดแบบธรรมชาติหรือการผ่าคลอด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ
- การวางแผนการคุมกำเนิดหลังคลอด สูตินรีแพทย์วางแผนการคุมกำเนิดหลังคลอดให้กับคุณพ่อและคุณแม่
- วิตามินบำรุงครรภ์เสริม สูตินรีแพทย์ให้วิตามินบำรุงครรภ์เสริมอย่างต่อเนื่อง
- บันทึกผลการฝากครรภ์ไตรมาสที่ 3 สูตินรีแพทย์บันทึกผลการตรวจสุขภาพครรภ์ไตรมาสที่ 3 ลงในระบบ
การฝากครรภ์คุณภาพ คืออะไร?
การฝากครรภ์คุณภาพ คือ การฝากครรภ์ครั้งแรกก่อน 12 สัปดาห์ และมาพบแพทย์ตามนัดเพื่อฝากครรภ์อย่างน้อย 5 ครั้งตลอดระยะการตั้งครรภ์ เพื่อให้คุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้รับการดูแลสุขภาพอย่างครบถ้วนสมบูรณ์และดีที่สุดตลอดการตั้งครรภ์ไปจนถึงวันคลอดและหลังการคลอด
การฝากครรภ์ ต้องใช้อะไรบ้าง?
- บัตรประชาชนของคุณแม่และคุณพ่อ
- ประวัติการรักษาพยาบาล การเจ็บป่วย โรคประจำตัว การแพ้ยา ประวัติการตั้งครรภ์ จำนวนบุตร การคลอดบุตร
- ข้อมูลเกี่ยวกับรอบเดือนครั้งสุดท้าย โดยนับจากวันแรกของการมีรอบเดือนครั้งสุดท้าย
การดูแลสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์
- ทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ โดยอาจแบ่งเป็นมื้อหลัก 3 มื้อ และมื้อย่อย 2-3 มื้อ ประกอบไปด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีนที่มีไขมันต่ำ ไขมันชนิดดี ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด
- ทานวิตามินบำรุงครรภ์ที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่ โฟเลต ธาตุเหล็ก แคลเซียม และกรดไขมันโอเมก้า 3
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารอันตราย เช่น อาหารที่มีสารปรอท อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารหมักดอง นมสดไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์
- การออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดิน การว่ายน้ำ โยคะ เพื่อลดความเสี่ยงเบาหวาน ช่วยควบคุมน้ำหนัก และช่วยให้อารมณ์ดี
- ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อย 10 แก้วต่อวัน เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ ช่วยให้ระบบย่อยอาหาร ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้สะดวก
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเีพื่อลดความเหนื่อยล้า โดยเน้นท่านอนตะแคงเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงทารกในครรภ์ได้ดี
- ฝึกการผ่อนคลายความเครียด เช่น ฝึกการหายใจลึก ๆ การทำสมาธิ การร่วมพูดคุยและบุคคลในครอบครัวและคุณหมอ
ฝากครรภ์ โรงพยาบาลเมดพาร์ค
คลินิกสูตินรีเวช โรงพยาบาลเมดพาร์ค กรุงเทพ ประเทศไทย นำโดยทีมสูตินรีแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง ทีมพยาบาลผดุงครรภ์และทีมสหวิชาชีพที่มีประสบการณ์สูงในการฝากครรภ์และการทำคลอดให้ปลอดภัย พร้อมให้การดูแลสุขภาพของคุณแม่ตั้งครรภ์และพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์อย่างใกล้ชิดทุกระยะตั้งครรภ์ ช่วยเตรียมความพร้อมของคุณแม่และคุณพ่อในการเตรียมตัวคลอดตั้งแต่เมื่อเริ่มฝากครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ และในวันคลอดบุตร เพื่อให้ตลอดกระบวนการฝากครรภ์เป็นไปด้วยความราบรื่น ปลอดภัย ปราศจากภาวะแทรกซ้อน ทั้งคุณแม่และลูกน้อยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และสามารถคลอดได้อย่างปลอดภัย พร้อมทั้งให้การดูแลติดตามอาการหลังคลอดอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวได้เร็ว และช่วยให้ลูกน้อยเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ แข็งแรง เป็นสมาชิกคนสำคัญของครอบครัว