เลือกหัวข้อที่อ่าน
- โรคลมพิษจากการสัมผัสน้ำ หรือ อาการแพ้น้ำ
- โรคลมพิษจากการสัมผัสน้ำ มีอาการอย่างไร
- โรคลมพิษจากการสัมผัสน้ำ แพ้น้ำมีสาเหตุเกิดจากอะไร
- โรคลมพิษจากการสัมผัสน้ำ มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร
- โรคลมพิษจากการสัมผัสน้ำ มีวิธีการรักษากี่วิธี อะไรบ้าง
โรคลมพิษจากการสัมผัสน้ำ หรือ อาการแพ้น้ำ
โรคลมพิษจากการสัมผัสน้ำ (aquagenic urticaria) หรือบางคนเรียก อาการแพ้น้ำ เป็นปฏิกิริยาผื่นแพ้ผิวหนังที่พบได้ยาก เกิดขึ้นหลังจากผิวหนังสัมผัสกับน้ำ ซึ่งรวมถึงน้ำตาและเหงื่อ หลังจากสัมผัสน้ำจะเกิดอาการบวม คัน ผื่นลมพิษขนาด 1-3 มม. โดยอาการแพ้นี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่หลังสัมผัสน้ำและมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ยังมีลมพิษประเภทอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการคล้าย ๆ กัน เช่น ลมพิษจากความเย็น และ ลมพิษจากความร้อน หากสงสัยว่ามีอาการแพ้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม
โรคลมพิษจากการสัมผัสน้ำ มีอาการอย่างไร
หากเป็นโรคแพ้น้ำจะมีอาการดังต่อไปนี้
- ลมพิษขึ้นภายใน 30 นาทีหลังสัมผัสน้ำ
- ผิวปวดแสบปวดร้อน
- ผิวหนังแดง
- คันผิวหนัง
- ผิวหนังอักเสบ
- หายใจหวีดหรือหายใจหอบถี่ แต่อาการนี้มักพบได้น้อยราย
อาการมักจะหายได้เองภายใน 30-60 นาที เมื่อผิวไม่สัมผัสน้ำ
โรคลมพิษจากการสัมผัสน้ำ แพ้น้ำมีสาเหตุเกิดจากอะไร
สาเหตุที่แท้จริงของโรคแพ้น้ำยังไม่ได้รับการศึกษาในวงกว้าง แต่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าอาจเกิดจาก 2 สาเหตุนี้
- ปฏิกิริยาระหว่างน้ำกับไขมันบนผิวทำให้เซลล์มาสต์ (mast cells) ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นและหลั่งสารฮีสตามีนออกมาทำให้เกิดอาการแพ้
- สารก่อภูมิแพ้บนผิวหนังละลายเมื่อโดนน้ำ ทําให้เกิดอาการแพ้
โรคลมพิษจากการสัมผัสน้ำ มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร
- การตรวจร่างกายและการตรวจสอบประวัติทางการแพทย์
- การตรวจการแพ้น้ำ (Water Challenge Test) แพทย์จะวางผ้าชุบน้ำอุ่นบิดหมาด (อุณหภูมิ 35°C) ลงบนผิวของผู้เข้ารับการตรวจเป็นเวลา 20 นาทีเพื่อตรวจสอบว่ามีอาการแพ้หรือไม่ วิธีนี้ช่วยตัดข้อสงสัยเรื่องอาการแพ้จากลมพิษประเภทอื่น เช่น ลมพิษจากความเย็นและลมพิษจากความร้อน
โรคลมพิษจากการสัมผัสน้ำ มีวิธีการรักษากี่วิธี อะไรบ้าง
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคแพ้น้ำให้หายขาดได้และวิธีการรักษาโรคแพ้น้ำนั้นยังไม่ได้รับการวิจัยอย่างกว้างขวางเนื่องจากพบผู้แพ้น้ำได้น้อยมาก อย่างไรก็ตามวิธีการรักษาโรคแพ้น้ำประกอบไปด้วย
- การรับประทานยาแก้แพ้ ซึ่งมักเป็นวิธีรักษาแรกเริ่ม
- ยาทาเฉพาะที่สําหรับผิวหนัง เช่น ครีม หรือ อิมัลชัน
- การส่องไฟ โดยการใช้แสงยูวีเทียมเพื่อรักษาสภาพผิว แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรักษาด้วยวิธี้นี้หากการรับประทานยาแก้แพ้และยาทาเฉพาะที่ไม่ช่วยบรรเทาอาการได้
- การใช้ยาประเภทอื่น เช่น ยารักษาโรคหอบหืด อนาบอลิกสเตียรอยด์ หรือ ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อสารสื่อประสาทเพียงชนิดเดียวเพื่อช่วยบรรเทาอาการ