ภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัว
ภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัว คือ ภาวะการเต้นของหัวใจสองห้องบนที่ผิดปกติ สั่นรัว และเต้นไม่สอดคล้องกับหัวใจสองห้องล่าง ผู้ป่วยภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัวมักมีอาการใจสั่น และหายใจถี่ โดยอาการมักจะเกิดขึ้น หายไป และเกิดซ้ำได้อีกบ่อยครั้ง ก่อให้เกิดความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ ซึ่งนำไปสู่อาการอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตได้ หากลิ่มเลือดนั้นหลุดเข้าไปในกระแสเลือด
อาการหัวใจห้องบนเต้นระรัว
ภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัวนั้น อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว บ่อยครั้ง หรือถาวร ซึ่งอาการและการรักษาก็แปรผันไปตามความรุนแรงของภาวะของคนไข้แต่ละคน อาการทั่วไปที่พบในคนไข้ภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัวได้แก่ อาการหายใจถี่ ใจสั่น และเวียนศีรษะ ทั้งนี้พบว่าคนไข้บางรายอาจไม่มีอาการใดใดปรากฎขึ้น และอาจไม่ทราบว่าตนมีภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัว จนกว่าจะได้รับการวินิจฉัย หรือตรวจร่างกาย อย่างไรก็ดี หากพบว่ามีอาการเจ็บหน้าอก อาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนของภาวะหัวใจวาย ควรพบแพทย์หรือติดต่อห้องฉุกเฉินโดยเร่งด่วน
เพื่อเป็นการป้องกัน ไม่ให้ภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัวพัฒนาไปจนกระทั่งอยู่ในขั้นรุนแรง ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันทีเมื่อเกิดอาการข้างต้น เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยถึงความเป็นไปได้ของภาวะที่อาจเกิดขึ้น หรือความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจอื่น ๆ
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัว
ความผิดปกติของอัตราการเต้นของหัวใจนี้ เกิดขึ้นจากเกิดความผิดปกติของสัญญาณไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นจากหัวใจสองห้องบน ( The Artial ) โดยผนังหัวใจสองห้องด้านบนนั้นบรรจุกลุ่มเซล์ที่ทำหน้าที่จุดกำเนิดคลื่นกระแสไฟฟ้าที่เรียกว่า sinus node ที่ทำหน้าที่ผลิตสัญญาณควบคุมการเต้นของหัวใจ การเคลื่อนไหวของสัญญาณนี้ถูกส่งผ่านหัวใจสองห้องบน ทำให้เกิดการบีบตัวและส่งเลือดไปยังหัวใจและร่างกาย หากคลื่นกระแสไฟฟ้านี้ทำงานผิดปกติ จะส่งผลให้ระบบของหัวใจเต้นเต้นเร็วผิดปกติ ซึ่งโดยปกติทั่วไป อัตราการเต้นของหัวใจจะอยู่ที่ 60 -100 ครั้งต่อนาที ในขณะที่การเต้นของหัวใจในคนไข้ภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัวนั้น อาจสูงถึง 100 -175 ครั้งต่อนาที
ปัจจัยกระตุ้น ที่ก่อให้เกิดภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัวนั้นประกอบไปด้วย อายุ โรคหัวใจ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ประวัติการเจ็บป่วยของสมาชิกในครอบครัว ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะน้ำหนักตัวมากเกินปกติ หรือภาวะเรื้อรังอื่นๆ
พบว่าผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัวมากกว่าวัยอื่น ๆ และความเสี่ยงของภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัว มีโอกาสสูงขึ้นในคนไข้โรคหัวใจ และภาวะเรื้อรังอื่นๆ เช่น ภาวะน้ำหนักตัวมากเกินปกติ ภาวะความดันโลหิตสูง คนไข้โรคเบาหวาน ไทรอยด์ และโรคไตเรื้อรัง โดยผู้ที่มีประวัติสมาชิกครอบครัวป่วยด้วยภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัว ก็มีโอกาสเกิดของภาวะดังกล่าวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
การวินิจฉัยภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัว
โดยทั่วไปแพทย์จะวินิจฉัยความเป็นไปได้ของการเกิดภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัวโดยการซักประวัติ รวมไปถึงประวัติการใช้ยา และการตรวจร่างกาย โดยการทดสอบเพื่อวินิจฉัยภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัว ประกอบไปด้วย
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ Electrocardiogram ( ECG )
การทดสอบนี้ใช้เพื่อตรวจสอบการรับรู้ และบันทึกสัญญาณไฟฟ้าที่ส่งผ่านหัวใจ โดยอาศัยการติดเซ็นเซอร์ขนาดเล็กที่บริเวณหน้าอก และแขนทั้งสองข้าง - การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพา หรือ Holter Monitoring
การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยอาศัยเครื่อง ECG ที่มีขนาดเล็กที่สามารถพกพาได้ ในการสังเกตการณ์การเต้นของหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง หรืออาจยาวนานกว่านั้น โดยวิธีการนี้ช่วยให้แพทย์สามารถสังเกตการณ์กิจกรรมของหัวใจในกรณีที่การเต้นของหัวใจอาจแสดงอาการผิดปกติระหว่างวัน - การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพา หรือ Event Recorder
Event Recorder ทำหน้าที่เช่นเดียวกับ โดยการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพาแบบ Holter Monitoring มุ่งเน้นที่การบันทึกการเต้นของหัวใจที่มีระยะเวลายาวนานหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน โดยคนไข้จะต้องทำการกดปุ่มเมื่อเกิดอาการใจเต้นเร็วร่วมด้วย เพื่อบันทึกความถี่และจำนวนครั้งที่ความผิดปกติเกิดขึ้น โดยวิธีการนี้ช่วยให้สามารถสังเกตการณ์อาการผิดปกติของการเต้นของหัวใจ รวมไปถึงความผิดปกติของจังหวะการเต้นที่ผิดแปลกไปด้วย - ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ Echocardiogram
ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ที่มักคุ้นหูในชื่อ การตรวจเอ็กโค (Echo) วิธีการนี้อาศัยคลื่นความถี่สูงจำลองภาพหัวใจ เพื่อแสดงความผิดปกติที่เกิดขึ้น รวมไปถึงรูปร่างของหัวใจ สภาพลิ้นหัวใจ และลิ่มเลือดที่อาจเกิดขึ้นอยู่ภายใน - การตรวจเลือด (Blood Test)
การตรวจเลือดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาปัจจัยที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัว เช่น ไทรอยด์ หรือสสารอื่นที่อยู่ในเลือด - การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย หรือ Stress Test
การทดสอบนี้ช่วยให้แพทย์สังเกตการณ์ และตรวจสอบปฏิกริยาตอบสนองที่ผิดปกติ ของหัวใจระหว่างการออกกำลังกาย - การเอ็กซ์เรย์ทรวงอก Chest X-ray
การเอ็กซ์เรย์ทรวงอก มุ่งเน้นไปที่การหาความผิดปกติอื่น ๆ ในบริเวณ ปอดและหัวใจ เพื่อสืบหาปัจจัยที่อาจกระตุ้น หรือผลของความผิดปกติจากภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัว
การรักษาภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัว
การรักษาขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและระยะเวลาที่เกิดขึ้นของภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัว โดยการรักษามีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ
- การรีเซ็ท หรือควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ
- ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของภาวะสมองขาดเลือด (Stroke)
1. การรักษาเพื่อรีเซ็ทและควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ
เพื่อรีเซ็ทจังหวะการเต้นของหัวใจ สามารถกระทำได้โดยอาศัย วิธีการกระตุ้นกลับหัวใจ (Cardioversion) ซึ่งเป็นวิธีการที่นิยมใช้โดยทั่วไป โดยวิธีการจะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงและระยะเวลาที่เกิดภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัว ในแต่ละราย โดยมีวิธีหลักๆ 2 วิธี ได้แก่
- การช็อคหัวใจด้วยไฟฟ้า (Electrical Cardioversion) กระแสไฟฟ้าจะถูกส่งไปยังหัวใจ ผ่านแผ่นที่ถูกติดไว้บนหน้าอกของคนไข้ โดยวิธีการนี้จะทำการหยุดกิจกรรมของหัวใจชั่วขณะ เพื่อรีเซ็ทระบบของหัวใจให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ คนไข้มักจะได้รับยานอนหลับ ( Sedative ) ก่อนการรักษา ทั้งนี้แพทย์อาจใช้ยาอื่นร่วมในการรักษา
- การกระตุ้นกลับหัวใจโดยการใช้ยา (Cardioversion with Drug) ยารักษาการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ (Antiarrhythmics) เป็นตัวเลือกในการฟื้นฟูหัวใจให้เต้นเป็นปกติ โดยให้ยาผ่านการรับประทาน หรือผ่านหลอดเลือดดำ โดยคนไข้จะต้องพักอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอัตราการเต้นของหัวใจหลังได้รับยา เพื่อประเมินการรักษาในขั้นต่อไป หากพบว่าการเต้นกลับสู่ภาวะปกติ แพทย์มักจะให้ยาชนิดเดียวกันหรือคล้ายกันกับตัวยาที่ให้ในครั้งแรก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัวขึ้นซ้ำอีก
ก่อนการรักษาด้วยยารักษาการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ คนไข้จำเป็นต้องให้ยาจำพวก ยาเจือจางเลือด (Blood-thinning Medications) และยาละลายลิ่มเลือด เพื่อป้องกันความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดที่อาจนำไปสู่ภาวะสมองขาดเลือด (Stroke) และควรให้ยาต่อไปอีกอย่างน้อย 1 เดือน ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ในการใช้ยาอย่างเคร่งครัด - การคงจังหวะการเต้นของหัวใจให้อยู่ในภาวะปกติ หลังการเข้ารับการรักษา เพื่อรีเซ็ทและควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจทั้งโดยการช็อคหัวใจด้วยไฟฟ้า (Electrical cardioversion) แพทย์อาจจ่ายยารักษาการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ (Antiarrhythmics) บางชนิด เพื่อคงจังหวะการเต้นของหัวใจให้อยู่ในสภาวะปกติ ยกตัวอย่างเช่น
- Amiodarone
- Flecainide
- Propafenone
- Sotalol
- Dofetilide
ชโดยยาดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิด อาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ และอ่อนเพลียได้ พบว่ายาข้างต้นอาจรบกวนการทำงานของหัวใจสองห้องล่าง (The Ventricle) ในคนไข้บางราย ซึ่งผลข้างเคียงนี้อาจก่อให้เกิดความรุนแรงของภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัวได้เช่นกัน
- การควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ ยาบางชนิดมีประสิทธิภาพในการควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจไม่ให้เร็ว ยกตัวอย่างเช่น
- Digoxin ยาประเภทนี้ช่วยควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจในขณะพัก แพทย์อาจจ่ายยาจำพวก ยาต้านแคลเซียม (Calcium Channel Blockers) ร่วมด้วย
- Beta blockers ยา Beta blockers ช่วยควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ ทั้งในขณะพักและระหว่างการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยผลข้างเคียงของยาอาจทำให้เกิดอาการความดันโลหิตต่ำ (Low blood pressure) และ ความดันโลหิตต่ำกว่าปกติ (Hypotension)
- ยาต้านแคลเซียม (Calcium channel blockers) ยาต้านแคลเซียมมีฤทธิ์ในการควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ แต่ควรหลีกเลี่ยงเนื่องจากก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือกระทั่งภาวะหัวใจล้มเหลวได้
- การสวนหัวใจ (Catheter) หรือ การผ่าตัด (Surgical Procedures) ในกรณีที่อาการของภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัวไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ การสวนหัวใจ หรือ การผ่าตัด (Surgical Procedures) เป็นอีกทางเลือกในการรักษา ที่มุ่งเน้นไปที่การทำลายเนื้อเยื่อหัวใจส่วนที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของสัญญาณไฟฟ้าหัวใจ เพื่อให้จังหวะการเต้นของหัวใจเข้าสู่สภาวะปกติ
- การรักษาด้วยไฟฟ้าคลื่นความถี่สูงผ่านสายสวนหัวใจ (Catheter Ablation) วิธีการรักษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายเนื้อเยื่อหัวใจที่เป็นเหตุให้เกิดภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัว โดยอาศัยคลื่นไฟฟ้าความถี่สูง (Radiofrequency Energy) ผ่านสายสวนทางหลอดเลือด เข้าสู่หัวใจ เพื่อทำลายเนื้อเยื่อต้นเหตุ และสร้างรอยแผลเป็นไว้ เพื่อช่วยให้จังหวะการเต้นของหัวใจกลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยการรักษานี้ ยังถูกใช้ในคนไข้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว หรือ ผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อยารักษาการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ (Antiarrhythmics drugs) ได้อีกด้วย
- การผ่าตัด (Maze Procedure) Maze Procedure คือวิธีการผ่าตัด ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายเนื้อเยื่อหัวใจส่วนที่เป็นสาเหตุของภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัว โดยการผ่าตัดนี้กระทำโดยการผ่าเปิดหัวใจ เมื่อทำลายเนื้อเยื่อต้นเหตุแล้ว จะทิ้งรอยแผลเป็นไว้ ซึ่งแผลเป็นนี้จะไม่นำไฟฟ้า และช่วยให้จังหวะการเต้นของหัวใจกลับเป็นปกต
อย่างไรก็ดีการผ่าตัดนี้ใช้เพื่อรักษาคนไข้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่นเท่านั้น เนื่องจากต้องทำการผ่าตัดเปิดหัวใจซึ่งมีความซับซ้อน โดยการผ่าตัดเพื่อสร้างเกิดรอยแผลเป็นนี้ ยังสามารถกระทำระหว่างการผ่าตัดเปิดหัวใจอื่น ๆ ได้ เช่น การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass) - การจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุที่ AV node (Atrioventricular (AV) Node Ablation) การจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุที่ AV node เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนไข้ภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัวที่ไม่ตอบสนองกับการรักษาอื่น เนื้อเยื่อหัวใจต้นเหตุของภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัวจะถูกทำลายโดยการจี้ด้วยความถี่คลื่นวิทยุแล้วใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (A Pacemaker) เพื่อช่วยกระตุ้นให้หัวใจสองช่องล่างเต้นในจังหวะปกติ ภายหลังการรักษานี้ คนไข้จะต้องรับยาเจือจางเลือด (Blood-thinning Medications) เพื่อป้องกันการก่อตัวของลิ่มเลือด
2. การป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
คนไข้ภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัว มีความเสี่ยงในการก่อตัวของลิ่มเลือดที่ก่อให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดสูง และยิ่งมีความเสี่ยงสูงมากขึ้นหากคนไข้มีโรคหัวใจชนิดอื่นร่วมด้วย แพทย์จะจ่ายยาเพื่อป้องกันการก่อตัวของลิ่มเลือด โดยยาที่ใช้ แบ่งเป็นสองกลุ่มดังต่อไปนี้
- กลุ่มยาละลายลิ่มเลือด (Anticoagulants)
- Warfarin ยาละลายลิ่มเลือดชนิดรุนแรงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด โดยคนไข้ที่รับยาชนิดนี้ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อติดตามผลของยาที่มีต่อเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันอาการเลือดออกที่อาจเป็นอันตรายได้
- Newer anticoagulants ยาละลายลิ่มเลือดชนิดนี้มักใช้ในคนไข้ภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัว เพื่อป้องกันภาวะสมองขาดเลือด (Stroke) โดยยา Newer anticoagulants จะออกฤทธิ์สั้นกว่า Warfarin จึงไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดเพื่อติดตามผลของการใช้ยา อย่างไรก็ตาม คนไข้ที่เคยเข้ารับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจโลหะ ควรหลีกเลี่ยง หรือปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
การใส่อุปกรณ์ปิดรยางค์หัวใจห้องบนซ้าย (Left atrial appendage closure)
วิธีการรักษาโดยการใส่อุปกรณ์ปิดรยางค์หัวใจห้องบนซ้าย (Left Atrial Appendage Closure) นั้น เป็นตัวเลือกสำหรับคนไข้ที่มีความเสี่ยงของการก่อตัวของลิ่มเลือดสูง หรือมีอาการเลือดออกง่าย โดยที่ไม่มีปัญหาที่ลิ้นหัวใจ และไม่สามารถใช้ยาละลายลิ่มเลือดได้
โดยขั้นเริ่มจากการใส่ท่อขนาดเล็กผ่านทางเส้นเลือดดำบริเวณต้นขา เพื่อใส่อุปกรณ์คล้ายร่มขนาดเล็ก (Appendage) เพื่อทำการปิดผนึกบริเวณรยางค์หัวใจห้องบนซ้าย (Left Atrial) และปล่อยให้เนื้อเยื่อห่อหุ้มอุปกรณ์ไว้เมื่อเวลาผ่านไป โดยวิธีการรักษานี้ช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและทดแทนการใช้ยาละลายลิ่มเลือดได้
เตรียมตัวก่อนพบแพทย์
ก่อนการนัดหมายคุณควรตระหนักถึงข้อจำกัดที่อาจต้องปฏิบัติก่อนการนัดหมาย และคุณอาจเตรียมข้อมูลบางอย่าง เช่น
- อาการที่เกิดขึ้น
- ข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญ
- ยาทั้งหมดที่คุณกำลังใช้อยู่
- คำถามที่คุณต้องการถามแพทย์
ในระหว่างการปรึกษา แพทย์อาจถามคำถามบางอย่างรวมถึงข้อมูล เช่น
- จุดเริ่มต้นของอาการ
- อาการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือเป็นครั้งคราว
- ความรุนแรงของอาการ
- สิ่งที่อาจทำให้อาการของคุณดีขึ้นหรือแย่ลง