เลือกหัวข้อที่อ่าน
- ออทิสติก เกิดจากอะไร
- อาการของโรคออทิสติก
- การวินิจฉัยออทิสติก
- ออทิสติกมีกี่ระดับ
- ออทิสติกเทียม คืออะไร
- การรักษาโรคออทิสติก
- โรคร่วมที่อาจเกิดควบคู่กับออทิสติก
- การป้องกันโรคออทิสติก
ออทิสติก (Autism spectrum disorder : ASD)
ออทิสติก (Autism spectrum disorder) คือ กลุ่มอาการที่ทำให้เกิดความบกพร่องทางด้านพัฒนาการทางภาษาและการสื่อสาร การเข้าสังคม การมีความสนใจซ้ำ หรือมีรูปแบบการกระทำเป็นแบบแผนจำกัดในเรื่องเดิม โรคออทิสติกสามารถสังเกตเห็นอาการได้ตั้งแต่วัยเด็ก โดยเด็กออทิสติกจะมีพัฒนาการล่าช้า พูดช้า มีความยากลำบากในการสื่อสาร การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และมีพฤติกรรมที่แตกต่างจากเด็กวัยเดียวกัน โดยหากเด็กได้รับการบำบัดรักษาทางการแพทย์อย่างเหมาะสมเป็นระบบตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม จะช่วยให้เด็กที่เป็นโรคออติสติกมีพัฒนาการการเรียนรู้และการเข้าสังคมที่ดีขึ้นได้
ออทิสติก มีสาเหตุเกิดจากอะไร
ออทิสติก มีสาเหตุเกิดจากหลากหลายปัจจัย แม้ในปัจจุบันแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ยังไม่อาจหาสาเหตุการเกิดของโรคได้อย่างชัดเจน แต่จากงานวิจัยจำนวนมากสนับสนุนว่าปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมล้วนเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะออทิสติก
- ปัจจัยทางพันธุกรรม (Genetics) ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นออทิสติกราว 10 - 20% พบความผิดปกติที่ส่วนจำเพาะของโครโมโซม หรือยีนส์ ซึ่งตรงกับโรคทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น กลุ่มอาการโครโมโซมเอ็กซ์เปราะ (Fragile X syndrome) หรือเร็ทท์ ซินโดรม (Rett syndrome) นอกจากนี้ ยังพบอัตราการเป็นออทิสติกที่สูงขึ้นในพี่น้องฝาแฝด หรือพี่น้องที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นออทิสติก ทั้งยังพบความเสี่ยงสูงในการเป็นออทิสติกในลูกที่พ่อและ/หรือแม่ที่มีอายุมากอีกด้วย
- ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม (Environmental factors) เป็นปัจจัยที่พบว่ามีความเสี่ยงอย่างมากต่อการเกิดออทิสติกในเด็ก โดยมีสาเหตุจากการใช้ยาบางชนิดของมารดาขณะตั้งครรภ์ หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ขณะตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ยังพบว่าการสัมผัสกับสารเคมีบางชนิด เช่น ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก มลพิษทางอากาศ PM2.5 หรือไนโตรเจนไดออกไซด์ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดออทิสติกได้
อาการของโรคออทิสติก เป็นอย่างไร
อาการของเด็กที่เป็นโรคออทิสติก (Autistic) หรือ ออทิสติกสเปกตรัม (Autistic spectrum) แตกต่างกันไปในรายละเอียดของความบกพร่องและระดับความรุนแรงของอาการ ทั้งยังขึ้นกับระดับเชาว์ปัญญาและโรคร่วมอื่น ๆ ทำให้เด็กที่เป็นออทิสติกมีอาการแสดงที่แตกต่างกันออกไป โดยอาการแสดงของเด็กที่เป็นออทิสติกแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่
- ความบกพร่องทางด้านภาษาและการสื่อสาร และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม ได้แก่
- ความบกพร่องทางด้านภาษาและการสื่อสาร
- มีความยากลำบากในการใช้คำพูดและภาษาท่าทางร่วมกัน
- เริ่มพูดช้า หรือยังไม่พูดเมื่อถึงวัยที่เด็กส่วนใหญ่เริ่มพูด
- พูดซ้ำ ๆ พูดวนไปวนมา พูดทวนคำที่คุณพ่อ คุณแม่หรือคุณครูพูด
- พูดหรือออกเสียงที่คนอื่นฟังไม่เข้าใจ พูดไม่ชัด
- ไม่สามารถสนทนาได้อย่างต่อเนื่องจนจบความ
- การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม
- ไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับเพื่อนหรือผู้อื่น ไม่สามารถเข้ากับเพื่อนได้
- ไม่สบตา ไม่ยิ้มให้ หรือยิ้มตอบ ไม่ทักทาย ไม่แสดงออกทางสีหน้า
- หากอยากได้อะไรไม่ชี้นิ้วบอก แต่จะร้องไห้และดึงมือผู้ใหญ่ไปที่สิ่งนั้นแทน
- ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ไม่ได้
- ไม่แบ่งปันสิ่งที่ตนสนใจกับผู้อื่น ชอบเล่นคนเดียว ไม่ชอบทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น
- เวลาเรียกชื่อแล้วไม่หันมามองตามเสียงเรียก ไม่สบตา หรือสบตาน้อยมาก
- ไม่สนใจฟังเวลาพูดด้วย เฉยเมย ไม่แสดงอารมณ์
- ชอบเล่นกับสิ่งของมากกว่าเล่นกับคน
- ไม่เข้ามาคลุกคลี สัมผัสกับผู้ปกครอง คุณครู หรือเพื่อน ๆ
- ไม่รู้จักการใช้งานของสิ่งของ เช่น นำของเล่นมาดมหรือเลียแทนที่จะนำมาเล่น
- ไม่ชอบเล่นกับเพื่อน ไม่ชอบเล่นตามจินตนาการ ไม่ชอบเล่นบทบาทสมมติ เช่น พ่อ แม่ ลูก
- มักมีปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคุณครู ไม่มีเพื่อนสนิท
- ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับบริบทของสิ่งแวดล้อมที่เข้าร่วมได้
- ความบกพร่องทางด้านภาษาและการสื่อสาร
- มีพฤติกรรมเป็นแบบแผน หรือมีความสนใจซ้ำ ๆ จำกัดในเรื่องเดิม
- ชอบทำกิจกรรมเดิมซ้ำ ๆ วนไปวนมา หากถูกบังคับให้เปลี่ยนพฤติกรรมจะหงุดหงิดอาละวาดทันที
- ร้องไห้หากต้องทำในสิ่งที่ไม่สนใจ หรือเมื่อเจอกับบุคคลที่ไม่คุ้นเคย
- ชอบเล่นซ้ำ ๆ มองสิ่งที่สนใจซ้ำ ๆ โดยจะสนใจในรายละเอียดของสิ่งของเป็นอย่างมาก
- ชอบเรียงสิ่งของให้เป็นระเบียบ หรือเรียงเป็นแถวยาวต่อ ๆ กัน
- ยึดติดกับความคิด สถานที่ หรือการกระทำเดิม ๆ เช่น ต้องนั่งทานข้าวที่เดิมเสมอ
- ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อประสาทสัมผัสสิ่งเร้า แสง สี เสียง ผิวสัมผัส อุณหภูมิ เช่น อาจตอบสนองหรือไม่ตอบสนองต่อความเจ็บปวด ไม่ตอบสนองต่ออากาศร้อนหรือเย็น หรือในทางตรงกันข้ามคือมีการตอบสนองมากกว่าปกติ
- แสดงออกซึ่งสิ่งที่ไม่ชอบอย่างรุนแรง เช่น ไม่ชอบเสียงดัง ไม่ชอบใส่เสื้อผ้าพอดีตัว ไม่ชอบให้จู้จี้จุกจิก
- หมกมุ่นหรือสนใจกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเป็นพิเศษ เช่น หลงใหลในวัตถุที่มีแสงหรือมีการเคลื่อนไหว เช่น ของเล่นที่มีไฟกระพริบ มีแสงวับวาว ของเล่นที่มีล้อหมุน เช่น รถของเล่น หรือพัดลม
- ชอบกระโดด ชอบกระพือแขน เขย่งเท้า สะบัดมือซ้ำ ๆ
การวินิจฉัยออทิสติก มีวิธีการอย่างไร
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคออทิสติกโดยการซักประวัติพฤติกรรมของเด็กจากคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองเป็นหลัก และอาจรวมถึงคุณครูที่โรงเรียน ร่วมกับการสังเกตพฤติกรรมของเด็กอย่างละเอียดที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาความผิดปกติ โดยแพทย์จะใช้วิธีการตรวจสอบ ดังนี้
- สังเกตการตอบสนองเวลาเรียกชื่อ สังเกตการมองหน้า การสบตา การยิ้มตอบ หรือการหันหน้ามามองตามเสียงเรียก
- สังเกตถึงการถามคำถามซ้ำ ๆ เรื่องเดิม ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่สนใจ
- ไม่สามารถชี้นิ้วบอกความต้องการได้
- การทดลองเปลี่ยนแปลงคำสั่งโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าเพื่อตรวจดูสภาพอารมณ์ หากแสดงออกซึ่งความไม่พอใจ
- การสังเกตพฤติกรรมขณะเล่นว่าชอบเล่นคนเดียว หรือชอบเล่นรวมกันเป็นกลุ่มกับเพื่อน
- สังเกตความสนใจที่หมกมุ่นกับของเล่นบางอย่างมากผิดปกติ
- สังเกตรูปแบบการพูดวกวนสลับไปมา พูดซ้ำ ๆ พูดด้วยโทนเสียงที่แปลก หรือพูดด้วยภาษาของตนเอง
โดยแพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อแยกโรค เช่น ตรวจการได้ยินเพื่อแยกภาวะการได้ยินบกพร่อง ทั้งนี้ ยิ่งเด็กที่เป็นโรคออทิสติกได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคได้เร็วและเข้ารับการบำบัดรักษาแบบผสมผสานร่วมกันกับแพทย์ผู้ชำนาญการอย่างเป็นระบบ ก็จะยิ่งช่วยให้เด็กที่เป็นออทิสติกมีพัฒนาการด้านการสื่อสารและการเข้าสังคมที่เป็นปกติได้เร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น
ออทิสติกมีกี่ระดับ
ออทิสติกมีเกณฑ์การวินิจฉัยแบ่งออกเป็น 3 ระดับตามความรุนแรงของอาการและความต้องการในการช่วยเหลือสนับสนุน ตั้งแต่ระดับอาการน้อยจนถึงอาการมาก มีความแตกต่างกันทั้งในด้านเชาว์ปัญญาตั้งแต่ระดับ IQ สูงจนถึงต่ำ ไล่ระดับลดหลั่นกันไปเหมือนเฉดสีของรุ้งกินน้ำ จึงเรียกแนวคิดในการวินิจฉัยโรคออทิสติกให้เป็นแบบ Spectrum โดยออทิสติกทั้ง 3 ระดับ มีดังนี้
- ระดับที่ 1 ต้องการการช่วยเหลือสนับสนุน (Requiring support) สามารถสังเกตเห็นถึงความบกพร่องในการสื่อสารได้อย่างชัดเจน มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมน้อย ไม่มีความยืดหยุ่นในการทำกิจวัตรประจำวัน มีปัญหาในการวางแผนและการจัดการที่เป็นระบบ ทำให้เป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิต และต้องการการสนับสนุนช่วยเหลือ
- ระดับที่ 2 ต้องการการสนับสนุนและช่วยเหลือมาก (Requiring substantial support) มีความบกพร่องในการสื่อสารทั้งในการใช้คำพูดและการใช้ท่าทางในการสื่อความหมาย แทบจะไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเลย มีการตอบสนองต่อบุคคลน้อยมาก มีวิธีการสื่อสารแปลก ๆ มีความสนใจจำกัด มีปัญหาในการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง มีพฤติกรรมทำซ้ำ ๆ จนเห็นได้ชัด
- ระดับที่ 3 ต้องการการช่วยเหลือสนับสนุนอย่างสูงมาก (Requiring very substantial support) มีความบกพร่องในการสื่อสารทั้งในการใช้คำพูดและการใช้ท่าทางในการสื่อความหมายอย่างรุนแรง มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมน้อยมาก ๆ พูดน้อยมาก ๆ แสดงออกอย่างก้าวร้าวรุนแรงเมื่อถูกเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มักทำเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก
ออทิสติกเทียม คืออะไร
ออทิสติกเทียม (Virtual autism) คือ อาการที่เด็กไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสมทั้งในเรื่องการเรียนรู้หรือการเล่น ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า ไม่เป็นไปตามวัย โดยเด็กที่เป็นออทิสติกเทียมจะมีอาการคล้ายกันกับเด็กที่เป็นออทิสติกแท้หรือออทิสติกสเปกตรัมแต่ไม่ได้มีสาเหตุเกิดจากโรคทางพันธุกรรม หรือเกิดจากความผิดปกติทางโครงสร้างของสมอง แต่เกิดจากการปล่อยให้เด็กใช้เวลาอยู่หน้าจอนานจนเกินไปตั้งแต่ยังเล็ก
จากข้อมูลในปัจจุบัน แพทย์ตรวจพบอาการออทิสติกเทียมในเด็กที่มีพฤติกรรมเริ่มดูจอตั้งแต่ก่อนอายุ 3 ปีหรือเด็กก่อนวัยเรียน (preschool age) ในอัตราที่สูงขึ้น โดยพบว่ายิ่งเด็กใช้เวลาอยู่หน้าจอนานเท่าไหร่ เด็กจะยิ่งมีอาการออทิสติกเทียมมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ แพทย์ยังพบว่าการที่เด็กไม่มีโอกาสได้เล่นกันเป็นกลุ่มกับเด็กคนอื่น ๆ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่ได้รับการพัฒนาทักษะทางด้านสังคม จนทำให้เด็กมีอาการของออทิสติกเทียมได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากเด็กที่มีอาการออทิสติกเทียมได้รับการปรับพฤติกรรมและรับการกระตุ้นพัฒนาการก็จะทำให้เด็กมีโอกาสหายจากอาการออทิสติกเทียมได้
การรักษาโรคออทิสติก มีวิธีการอย่างไร
วิธีการรักษาโรคออทิสติกให้มีประสิทธิภาพ คือ การรักษาแบบองค์รวม ผสมผสานร่วมกันกับการบำบัดตามอาการเด่น และยังพิจารณาถึงประเภทของออทิสติกและระดับความรุนแรงในการต้องการความช่วยเหลือสนับสนุน โดยแพทย์จะให้แนวทางการบำบัดโรคออทิสติกทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนกับผู้ปกครองโดยเน้นการกระตุ้นพัฒนาการ การเพิ่มพฤติกรรมที่เหมาะสมและการปรับลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ร่วมกันกับการบำบัดรักษาที่โรงพยาบาลเพื่อช่วยกระตุ้นพัฒนาการ การเรียนรู้และการสื่อสาร รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในสังคม เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้และลดการพึ่งพา ตามแนวทางการบำบัดรักษาดังต่อไปนี้
- อรรถบำบัด (Speech therapy) หรือการฝึกพูดเพื่อให้จดจำคำศัพท์ ฝึกการเปล่งเสียง การออกเสียง การสร้างประโยค ฝึกวิธีการสื่อสาร วิธีการบอกความต้องการของตนเองกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม
- การฝึกทักษะการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social skills therapy) ฝึกการเข้าหาและตอบสนองกับผู้อื่น ฝึกการสื่อความต้องการของตนเองด้วยการใช้คำพูดหรือท่าทาง เช่น ฝึกการทำความรู้จักกับสมาชิกในบ้าน ฝึกการทำความรู้จักกับคุณครูและเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน ฝึกการเล่นบทบาทสมมุติ หรือการเล่นเป็นกลุ่มกับเพื่อน ๆ ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน
- พฤติกรรมบำบัด (Behavioral therapy) เป็นการบำบัดเพื่อหยุดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา พร้อมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคม เช่น การให้รางวัล ชมเชย ปรบมือ หรือยิ้มให้เมื่อเด็กสามารถทำตามที่ร้องขอได้ นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังสามารถใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจเด็กเพื่อให้เด็กทำสิ่งอื่นแทน หรือการแสดงการเมินเฉยเมื่อเด็กร้องไห้หรือออกคำสั่ง โดยในการปรับพฤติกรรม ผู้ปกครองควรสื่อสารให้กระชับ เข้าใจง่าย และไม่ควรต่อว่าเด็กหรือทำให้เด็กรู้สึกไม่ดี
- กิจกรรมบำบัด (Occupational therapy) แพทย์จะแนะนำให้ฝึกกิจกรรมบำบัด หากตรวจพบพัฒนาการล่าช้าของกล้ามเนื้อมัดเล็กร่วมกันกับการวินิจฉัยออทิสติก โดยการบำบัดนี้เป็นการฝึกการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก รวมถึงการทำงานผสานกันของกล้ามเนื้อมัดต่าง ๆ ของร่างกาย
- การรักษาโดยการให้ยา (Medications) เป็นการรักษาเพื่อปรับสมดุลการทำงานของสารสื่อประสาทส่วนกลางของสมอง เพื่อลดอาการสมาธิสั้น อยู่ไม่นิ่ง พฤติกรรมหมกมุ่น หรือพฤติกรรมก้าวร้าว โดยแม้ว่าการรักษาด้วยยาอาจไม่ได้ทำให้เด็กที่เป็นโรคออทิสติกหายจากอาการ แต่พบว่าช่วยให้เด็กสามารถให้ความร่วมมือในการฝึกเพื่อพัฒนาทักษะของตนเองได้อย่างเหมาะสม และเมื่อเด็กมีอาการตอบสนองที่เป็นข้อบ่งชี้ในการใช้ยาที่ดี แพทย์จะพิจารณาค่อย ๆ ปรับลดปริมาณยาหรือหยุดให้ยาไปในที่สุด
- การเสริมสร้างพัฒนาการ (Group-based parent training) เป็นการบำบัดเพื่อฝึกทักษะทางสังคมและอารมณ์โดยความร่วมมือกันระหว่างคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองที่บ้าน คุณครูที่โรงเรียน และแพทย์ผู้ชำนาญการที่โรงพยาบาลผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเล่าเรื่องด้วยภาพ การสื่อสารด้วยการใช้สัญลักษณ์ การเล่นเกมส์ที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกายร่วมกับการใช้อุปกรณ์ การเล่นกีฬา ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด
โรคร่วมที่อาจเกิดควบคู่กับออทิสติก
โรคร่วมที่สามารถพบได้ในผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นออทิสติก ได้แก่
- ปัญหาการนอน (Sleep disorder) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยราว 50-80% ของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นออทิสติก โดยปัญหาการนอนอาจส่งผลกระทบจต่อพฤติกรรมอื่น ๆ ระหว่างวันได้
- อาการชัก (Seizers) โดยพบว่าเด็กที่เป็นออทิสติกมีความเสี่ยงต่ออาการชักเพิ่มมากขึ้น และจำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์อย่างเป็นระบบเพื่อควบคุมอาการชัก
- สมาธิสั้นในเด็ก (ADHD in children) โดยมีอาการเด่นคืออยู่ไม่นิ่ง วอกแวกง่าย ไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ตนไม่สนใจ ไวต่อสิ่งเร้า สี แสงไฟ ไม่สามารถยับยั้งควบคุมพฤติกรรมตนเองได้
- ปัญหาทางด้านพฤติกรรม (Behavioral problems) มีความหมกมุ่นในวัตถุหรือของเล่นบางอย่างอย่างมาก ย้ำคิดย้ำทำ แสดงออกซึ่งความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของของสิ่งของนั้น มีพฤติกรรมความก้าวร้าวรุนแรงและไม่พอใจหากถูกขัดขวางจากสิ่งที่ตนเองหมกมุ่นอยู่ตรงหน้า
- ความวิตกกังวล (Anxiety) อาจแสดงออกซึ่งความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ต่าง ๆ มีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด หรืออาการอื่น ๆ เช่น มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย อาหารไม่ย่อย ปวดศีรษะ หรือนอนไม่หลับ เป็นต้น
- ภาวะซึมเศร้า (Depression) เมื่อเด็กที่เป็นออทิสติกพบว่าตนเองนั้นมีปัญหาในการสื่อสารและการเข้าสังคม ก็จะทำให้รู้สึกเครียด น้ำหนักตัวเพิ่มหรือลดลงอย่างรวดเร็ว กระสับกระส่าย และมีอาการของคนที่มีภาวะซึมเศร้า หรือโรคอารมณ์สองขั้ว หรือไบโพลาร์ตามมา
- มีความบกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual disability) โดยระมาณ 1 ใน 3 ของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นออทิสติกจะมีพัฒนาการช้ารอบด้าน หรือมีความบกพร่องทางสติปัญญาร่วมด้วย ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการการเรียนรู้และการดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นโรคร่วมของออทิสติกที่ต้องการการสนับสนุนช่วยเหลือจากบุคคลอื่นในการดำรงชีวิตประจำวันมากที่สุด
การป้องกันโรคออทิสติก มีวิธีการอย่างไร
ในปัจจุบัน โรคออทิสติกยังไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์เด็กที่อาจมีภาวะออทิสติกได้โดยวิธีการดังนี้
- การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน เพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรคแฝงทางพันธุกรรมและลดโอกาสในการเป็นพาหะนำโรคสู่ลูกผ่านการตั้งครรภ์
- หลีกเลี่ยงสารเสพติดทุกชนิด งดการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และการสูดดมควันบุหรี่มือสอง
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่มลภาวะเป็นพิษสูง พื้นที่ที่มีความหนาแน่นของมลพิษทางอากาศ PM2.5 หรือแหล่งสะสมของสารเคมี
- เมื่อมีอาการเจ็บป่วยควรรีบพบแพทย์
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
- ทานอาหารที่มีประโยชน์
ออทิสติก วินิจฉัยโรคเร็ว บำบัดรักษาโรคไว ใช้ชีวิตเป็นปกติในสังคมได้
ออทิสติกสามารถบำบัดรักษาโรคได้โดยเข้ารับการรักษาร่วมกันกับการกระตุ้นพัฒนาการทางด้านภาษาและการสื่อสาร รวมถึงการเข้าสังคมเพื่อช่วยให้เด็กที่เป็นออทิสติกมีพัฒนาการรอบด้านที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยออทิสติกในเด็กเล็กอาจกระทำได้ยาก ทั้งนี้การสังเกตอาการบ่งชี้ของอออิสติก และรีบนำเด็กมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจประเมินเบื้องต้น และเฝ้าติดตามพัฒนาการของเด็กอย่างใกล้ชิด จะเป็นตัวช่วยให้เด็กได้รับการวินิจโรคและรับการบำบัดรักษาได้เร็วตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อที่จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการตามวัยได้เหมือนกับเด็กปกติทั่วไป
จากข้อมูลของสมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Pediatrics: AAP) มีคำแนะนำให้เด็กที่มีอายุ 9, 18 และ 30 เดือนทุกคน เข้ารับการตรวจคัดกรองพัฒนาการด้วยเครื่องมือมาตรฐานเพื่อช่วยให้สามารถวินิจฉัยออทิสติกและ/หรือพัฒนาการล่าช้าอื่น ๆ โดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้นำเด็กเข้าสู่กระบวนการรักษาที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กได้รับผลลัพธ์ที่ดีในการรักษา และเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง