เลือกหัวข้อที่อ่าน
- สเต็มเซลล์ เซลล์ต้นกำเนิด คืออะไร
- โรคหรือภาวะที่รักษาได้ด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือสเต็มเซลล์
- ขั้นตอนการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือสเต็มเซลล์
- ข้อดีของการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือสเต็มเซลล์
- การปลูกถ่ายไขกระดูก สเต็มเซลล์ เซลล์ต้นกำเนิด รพ.เมดพาร์ค
- โปรแกรมปลูกถ่ายไขกระดูก รพ.เมดพาร์ค
ปลูกถ่ายไขกระดูก สเต็มเซลล์ (Bone Marrow Transplant)
การปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone marrow transplant) หรือสเต็มเซลล์ คือ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดปกติเข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้ทำหน้าที่ผลิตเซลล์เม็ดเลือดที่มีความสมบูรณ์ แทนเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดผิดปกติที่ไม่สามารถผลิตเซลล์เม็ดเลือดปกติได้เพียงพอ การปลูกถ่ายไขกระดูก หรือสเต็มเซลล์ รักษาโรคทางโลหิตวิทยา โรคหายาก หรือมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา โรคอะไมลอยด์โดสิส โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ หรือโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมในระบบเลือด เช่น ธาลัสซีเมีย หรือโรคภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพื่อช่วยให้ผู้รับการรักษามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้น และมีโอกาสมีชีวิตที่ยืนยาว
ไขกระดูก คืออะไร
ไขกระดูก (Bone marrow) คือ เนื้อเยื่อชนิดพิเศษที่มีที่ลักษณะพรุน คล้ายฟองน้ำอยู่ในโพรงกระดูก โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสะโพก กระดูกต้นขา กระดูกสันอก หรือกระดูกสันหลัง ในไขกระดูกประกอบไปด้วยสเต็มเซลล์ (stem cell) หรือเซลล์ต้นกำเนิดของเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ในร่างกาย ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด นอกจากนี้ ยังพบสเต็มเซลล์ได้จากเลือดที่ไหลเวียนในร่างกาย และเลือดจากสายสะดือรกที่เป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของสเต็มเซลล์ที่ในปัจจุบัน แพทย์นิยมนำมาใช้ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อทดแทนส่วนที่ได้รับความเสียหายหรือถูกทำลายจากโรคร้ายให้สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดใหม่ที่สมบูรณ์แข็งแรงกลับเข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้ทำหน้าที่ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สเต็มเซลล์ เซลล์ต้นกำเนิด คืออะไร
สเต็มเซลล์ (stem cell) หรือเซลล์ต้นกำเนิด คือ เซลล์ชนิดพิเศษที่ร่างกายสร้างขึ้นในช่วงแรกของการเจริญเติบโตของตัวอ่อน สเต็มเซลล์ เป็นเซลล์ตั้งต้น (Pluripotent) ที่ไม่มีหน้าที่เฉพาะเจาะจง สามารถแบ่งตัวเป็นเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อทดแทนตัวเองและเป็นเซลล์ที่จะพัฒนากลายไปเป็นเซลล์ชนิดใดชนิดหนึ่งในร่างกายที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงในอวัยวะนั้น ๆ เช่น เซลล์ผิวหนัง เซลล์สมอง เซลล์กล้ามเนื้อ หรือเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ รวมถึงเซลล์เม็ดเลือด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด สเต็มเซลล์มีคุณสมบัติพิเศษ คือสามารถแบ่งตัวนับจำนวนครั้งได้มากกว่าเซลล์ทั่วไป เพื่อทำหน้าที่แทนเซลล์เสื่อมสภาพ และสามารถคงสภาพและคงคุณลักษณะเดิมทางพันธุกรรมเอาไว้ได้ (Undifferentiated state) ด้วยคุณสมบัติพิเศษนี้ แพทย์จึงนำสเต็มเซลล์มาใช้ในการรักษาโรคหายาก หรือโรคซับซ้อน เช่น มะเร็งทางโลหิตวิทยา โรคเลือดทางพันธุกรรม หรือโรคภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพื่อช่วยให้ผู้รับการรักษามีโอกาสหายจากโรค มีระบบเลือด และระบบภูมิคุ้มกันที่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ
การปลูกถ่ายไขกระดูก สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิด มีกี่ชนิด
การปลูกถ่ายไขกระดูก สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามแหล่งไขกระดูกที่แพทย์ใช้ในการปลูกถ่าย ได้แก่
- การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์โดยใช้เซลล์ตนเอง (Autologous stem cell transplantation) เป็นการปลูกถ่ายไขกระดูกโดยการใช้เลือด หรือไขกระดูกของผู้รับการรักษามาเป็นแหล่งปลูกถ่ายสเต็มเซลล์กลับคืนเข้าสู่ร่างกายเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือมะเร็งไขกระกระดูกมัยอิโลมา โดยแพทย์จะเก็บ สเต็มเซลล์ของผู้รับการรักษาหลังจากที่โรคสงบลงได้ระยะหนึ่ง จากนั้นแพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงและการฉายแสงเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งและทำการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ที่มีคุณภาพเข้าสู่ร่างกายเพื่อสร้างเซลล์เม็ดเลือดปกติและเกล็ดเลือด ช่วยลดภาวะแทรกซ้อน และลดการติดเชื้อหลังการรับเคมีบำบัดขนาดสูง
- การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์โดยใช้เซลล์ผู้อื่น (Allogeneic stem cell transplantation) เป็นการปลูกถ่ายไขกระดูกโดยการใช้เซลล์ต้นกำเนิดในเลือด หรือไขกระดูกของผู้บริจาคมาเป็นแหล่งสเต็มเซลล์ โดยผู้บริจาคอาจมาจากบุคคลในครอบครัวเดียวกันที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด หรือมาจากบุคคลอื่นที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด ได้แก่
- ผู้บริจาคที่เป็นพี่น้องร่วมสายเลือดที่มีลักษณะทางพันธุกรรมจากการตรวจ (Human leukocyte antigen: HLA) เข้ากันได้ 100% (Match-related donor)
- ผู้บริจาคที่ไม่ใช่พี่น้องร่วมสายเลือดที่มีลักษณะทางพันธุกรรมจากการตรวจ (HLA) เข้ากันได้ (Match-unrelated donor) ในกลุ่มชนิด HLA ที่มีความสำคัญสูง
- ผู้บริจาคที่มีลักษณะทางพันธุกรรมจากการตรวจ (HLA) เข้ากันได้กับผู้รับเพียงครึ่งเดียว (Haploidentical donor) เช่น เป็นพี่น้องร่วมสายเลือด หรือเป็นพ่อแม่ลูกกัน
โรคหรือภาวะที่รักษาได้ด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือสเต็มเซลล์
กลุ่มมะเร็งระบบเลือด (Blood cancers)
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- มะเร็งไขกระดูก หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัยอิโลมา
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดลิมฟอยด์
- โรคไขกระดูกเสื่อม หรือโรคเลือดจางเอ็มดีเอส
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอิลอยด์
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กชนิดไมอิโลโมโนไซติก
- มะเร็งนิวโรบลาสโตมา หรือมะเร็งชนิดก้อนที่พบในเด็ก
- โรคพังผืดในไขกระดูก
กลุ่มโรคเลือด หรือโรคในระบบเลือด (Blood disorders)
- ธาลัสซีเมีย
- โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ
- โรคอะไมลอยด์โดสิส
- กลุ่มโรคโพเอ็มส์
- โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องปฐมภูมิ
- โรคโลหิตจางจากการแตกทำลายของเซลล์เม็ดเลือดแดง
- โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องทางพันธุกรรม
- โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก
- โรคภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
- โรคผิวหนังแข็งที่มีปอดเป็นพังผืด
ขั้นตอนการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือสเต็มเซลล์
ขั้นตอนก่อนการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือสเต็มเซลล์
- แพทย์ตรวจร่างกายของผู้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกอย่างละเอียดโดยการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ทำ CT scan ตรวจการทำงานของตับและไต และตรวจเอคโค่หัวใจเพื่อประเมินความพร้อมของร่างกายก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการปลูกถ่ายไขกระดูก
- แพทย์ให้ยากระตุ้นร่างกายเพื่อให้ผลิตสเต็มเซลล์ออกมาอย่างเต็มที่ ก่อนทำการเก็บสเต็มเซลล์เพื่อเตรียมการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์
- แพทย์เก็บสเต็มเซลล์จากหลอดเลือดดำที่แขนทั้งสองข้างที่เชื่อมเข้ากับเครื่องแยกเซลล์ เพื่อแยกสเต็มเซลล์ออกจากเลือด โดยเลือดจะไหลออกจากแขนข้างหนึ่งเข้าสู่เครื่องแยกเซลล์ และจะไหลกลับเข้าสู่ร่างกายผ่านแขนอีกข้างหนึ่งโดยไม่ทำให้เจ็บปวด ทั้งนี้ แพทย์จะทำการเก็บสเต็มเซลล์ให้ได้ปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการในการปลูกถ่ายไขกระดูกและจะทำการแช่แข็งสเต็มเซลล์เก็บไว้ที่อุณหภูมิ -80 ถึง -195 องศาเซลเซียส จนถึงวันปลูกถ่ายไขกระดูก
- ก่อนการปลูกถ่ายไขกระดูก แพทย์จะปรับสภาพร่างกายโดยการให้ยากดภูมิคุ้มกันร่างกาย (Immunosuppressant) เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการปลูกถ่ายไขกระดูก เช่น ภาวะร่างกายต่อต้านไขกระดูกจากผู้อื่น พร้อมทั้งสร้างพื้นที่ภายในไขกระดูกเพื่อให้สเต็มเซลล์ใหม่ได้เจริญเติบโต สำหรับผู้ที่รักษามะเร็ง แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูง ร่วมกับรังสีรักษาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์
ขั้นตอนระหว่างการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือสเต็มเซลล์
- แพทย์จะให้ผู้ที่จะปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เข้าพักที่ห้องปลอดเชื้อที่ รพ. เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ สำหรับผู้ที่รักษาโรคมะเร็ง แพทย์จะให้เคมีบำบัด หรือรังสีรักษาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งให้หมดไปจากร่างกาย โดยแพทย์จะประเมินผลการรักษารวมถึงผลข้างเคียงจากการให้เคมีบำบัด เนื่องจากยาเคมีบำบัดอาจออกฤทธิ์กดการทำงานของไขกระดูกจนทำให้มีภาวะเม็ดเลือดต่ำ
- เมื่อร่างกายมีความพร้อม แพทย์จะให้สเต็มเซลล์ผ่านทางสายสวนหลอดเลือดดำ ขั้นตอนการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จะคล้ายคลึงกับการถ่ายเลือดทั่วไป โดยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ในระหว่างการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ แพทย์จะคอยตรวจอาการไข้ หนาวสั่น หรือผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างขั้นตอนการให้สเต็มเซลล์
ขั้นตอนหลังการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือสเต็มเซลล์
- ผู้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ จะเข้าสู่กระบวนการพักฟื้นที่ รพ. ราว 3-4 สัปดาห์ เพื่อให้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Hematopoietic stem cell) เข้าไปแทนที่เซลล์เม็ดเลือดที่บกพร่อง พร้อมทั้งทำหน้าที่ผลิตเซลล์เม็ดเลือดที่แข็งแรงให้กับร่างกาย ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากโรค และเริ่มสร้างระบบภูมิคุ้มกันร่างกายใหม่
- แพทย์จะทำนัดตรวจร่างกายเป็นระยะ เพื่อติดตามผลข้างเคียงจากการปลูกถ่ายไขกระดูก ตรวจการฟื้นตัวของร่างกาย ตรวจการยอมรับเซลล์ต้นกำเนิดของร่างกายหลังได้รับการปลูกถ่าย ตรวจปริมาณเซลล์เม็ดเลือดใหม่ที่ร่างกายสร้างขึ้น ตรวจปริมาณเซลล์เม็ดเลือดทั้งหมดในร่างกาย รวมถึงตรวจการดำเนินโรค และประเมินสุขภาพของผู้รับการรักษาโดยรวม
- ผู้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกบางรายอาจมีความจำเป็นต้องรับเลือดและเกล็ดเลือดเป็นระยะ จนกว่าไขกระดูกหรือ สเต็มเซลล์ที่ได้รับการปลูกถ่ายจะสามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
การปลูกถ่ายไขกระดูก หรือสเต็มเซลล์ พักฟื้นกี่วัน
โดยทั่วไป ผู้ที่ทำการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือสเต็มเซลล์จะใช้เวลาพักฟื้น 6 เดือน ถึง 1 ปี กว่าที่ร่างกายจะฟื้นฟูเต็มที่ และยอมรับสเต็มเซลล์ใหม่เข้าสู่ร่างกาย จนกระทั่งสามารถผลิตเซลล์เม็ดเลือดปกติให้ไหลเวียนในร่างกายได้เอง ทั่งนี้ ในช่วง 100 วันแรกหลังรับการปลูกถ่าย แพทย์จะนัดติดตามอาการที่ รพ. เป็นระยะเพื่อประเมินผลการรักษา
ภาวะแทรกซ้อนจากการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือสเต็มเซลล์
ภาวะแทรกซ้อนจากการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือสเต็มเซลล์ ได้แก่ ภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกาย (Graft versus host disease: GVHD) หรือ การติดเชื้อแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ผู้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในห้องปลอดเชื้อแบบพิเศษที่ รพ. เพื่อที่จะได้ให้การดูแล ติดตามอาการหลังรับการปลูกถ่ายได้อย่างใกล้ชิด และเพื่อให้แน่ใจว่าผู้รับการรักษาจะได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน
ข้อดีของการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือสเต็มเซลล์
ในทางการแพทย์ ประโยชน์และข้อดีของการรักษาโรคด้วยวิธีการการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือสเต็มเซลล์ เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคหายาก เช่น มะเร็งทางโลหิตวิทยา โรคเลือดทางพันธุกรรม หรือโรคภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหลาย ๆ ชนิดสามารถหายจากโรคได้
การปลูกถ่ายไขกระดูก สเต็มเซลล์ เซลล์ต้นกำเนิด รพ. เมดพาร์ค
ศูนย์อายุรศาสตร์โรคมะเร็ง และโลหิตวิทยา รพ. เมดพาร์ค กรุงเทพ ประเทศไทย นำโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ร่วมกับทีมแพทย์สหสาขาและบุคลากรทางการแพทย์ มีความพร้อมให้การรักษาโรคมะเร็ง โรคในระบบเลือดทางพันธุกรรม หรือโรคภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องด้วยวิธีการปลูกถ่ายไขกระดูก สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งวิธีการการปลูกถ่ายไขกระดูกโดยใช้สเต็มเซลล์ของตนเอง หรือสเต็มเซลล์จากผู้บริจาค เพื่อแทนที่เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดผิดปกติหรือมีความบกพร่องด้วยเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่มีความสมบูรณ์แข็งแรง พร้อมกระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือดใหม่ที่มีคุณภาพเพื่อให้ผู้รับการรักษามีสุขภาพร่างกายที่ดีและมีโอกาสหายจากโรค+
โปรแกรมปลูกถ่ายไขกระดูกสำหรับเด็ก รพ. เมดพาร์ค
โปรแกรมปลูกถ่ายไขกระดูก หรือสเต็มเซลล์สำหรับเด็ก รพ. เมดพาร์ค ให้การรักษาโรคมะเร็งในเด็ก โรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบเลือด และโรคภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอื่น ๆ เช่น มะเร็งนิวโรบลาสโตมา มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน มะเร็งไขกระดูก ธาลัสซีเมีย และโรคอื่น ๆ
ทีมบุคลากรทางการแพทย์ รพ. เมดพาร์ค นำโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ร่วมด้วยทีมแพทย์สหสาขาร่วมกันให้การดูแลช่วยเหลือตลอดการรักษา เพื่อให้แน่ใจว่าการปลูกถ่ายไขกระดูกประสบความสำเร็จด้วยดี ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อน และสามารถรักษาชีวิตของผู้รับการรักษาได้
โปรแกรมปลูกถ่ายไขกระดูก สเต็มเซลล์สำหรับผู้ใหญ่ รพ. เมดพาร์ค
โปรแกรมปลูกถ่ายไขกระดูก หรือสเต็มเซลล์สำหรับผู้ใหญ่ รพ. เมดพาร์ค ให้การรักษาโรคมะเร็ง โรคในระบบเลือด หรือโรคภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งไขกระดูก โรคอะไมลอยด์โดสิส โรคเม็ดเลือดที่เกิดจากไขกระดูกฝ่อหรือไขกระดูกเสื่อม และโรคอื่น ๆ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำสมัย ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บสเต็มเซลล์ไปจนถึงการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจถึงความปลอดภัยตลอดระยะเวลาการรักษา ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าการปลูกถ่ายจะประสบความสำเร็จด้วยดี
โปรแกรมปลูกถ่ายไขกระดูก รพ. เมดพาร์ค ให้การรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายไขกระดูกทั้งการใช้แหล่งสเต็มเซลล์จากผู้รับการรักษาเอง และการใช้แหล่งสเต็มเซลล์จากผู้บริจาค โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของแต่ละบุคคล เพื่อให้มั่นใจว่าผู้รับการรักษาได้รับผลการรักษาที่ดีที่สุด มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น