โรคบูลิเมีย หรือ โรคล้วงคอ สาเหตุ อาการ การรักษา - Bulimia Nervosa: Symptoms, Causes and Prevention

โรคบูลิเมีย โรคล้วงคอ (Bulimia Nervosa)

โรคบูลิเมีย หรือ โรคล้วงคอ (Bulimia Nervosa) คือพฤติกรรมการที่กินผิดปกติ โดยที่ผู้ที่เป็นโรคบูลิเมียจะมีอาการกินไม่หยุด (รับประทานอาหารในปริมาณมากในช่วงเวลาหนึ่ง) แล้วพยายามกำจัดอาหารออกด้วยวิธีต่างๆ เช่น ล้วงคอ มีทั้งอาการทางกาย พฤติกรรม

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


โรคบูลิเมีย (Bulimia Nervosa หรือ Bulimia) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า โรคล้วงคอ คือพฤติกรรมการกินผิดปกติ โดยที่ผู้ที่เป็นโรคบูลิเมียจะมีอาการกินไม่หยุด (รับประทานอาหารในปริมาณมากในช่วงเวลาหนึ่ง) แล้วพยายามกำจัดอาหารออกด้วยวิธีต่างๆ เช่น ล้วงคอหลังกินอาหาร อาการของโรคบูลิเมียจะมีทั้งอาการทางกาย พฤติกรรม และอารมณ์ ถึงแม้จะยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่โรคบูลิเมียอาจมีสาเหตุจากหลายปัจจัยประกอบกัน ได้แก่พันธุกรรม สังคม หรือสุขภาวะทางอารมณ์ วิธีป้องกันโรคบูลิเมีย ได้แก่ การให้ความรู้ และการตระหนักถึงอาการของโรค

โรคบูลิเมีย (Bulimia Nervosa) คืออะไร

โรคบูลิเมีย (Bulimia Nervosa หรือ Bulimia) คือหนึ่งในอาการทางจิตเวชที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ อาการของผู้ที่เป็นโรคบูลิเมีย ได้แก่ มีการรับประทานอาหารปริมาณมากในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แล้วตามด้วยการทำให้ตัวเองอาเจียนหรือใช้ยาระบาย เนื่องจากกลัวน้ำหนักขึ้น ผู้ที่เป็นโรคบูลิเมียบางราย มีการออกกำลังกายอย่างหักโหม อดอาหาร หรือใช้ยาลดความอ้วน หรือสารเสพติดเพื่อลดน้ำหนักอีกด้วย

โรคบูลิเมียมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยอาการของโรคมักจะเริ่มเกิดตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ทั้งนี้่เกิดได้ในทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะมีเพศ อายุ เชื้อชาติ หรือลักษณะรูปร่างใดก็เป็นโรคบูลิเมียได้ นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคบูลิเมียมักจะมีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ ต่างจากผู้ที่เป็นโรคคลั่งผอม (anorexia) ที่จะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ นอกจากนี้ ผู้เป็นโรคบูลิเมียจะพยายามกำจัดอาหารออกหลังรับประทานเข้าไป ต่างจากผู้เป็นโรคกินไม่หยุด (binge eating) ที่จะไม่มีอาการล้วงคอ

โรคบูลิเมีย หรือ โรคล้วงคอ มีสาเหตุเกิดจากอะไร

โรคบูลิเมีย หรือ โรคล้วงคอ ถึงแม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่นักวิจัยเชื่อว่าเป็นผลรวมของหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม วัฒนธรรม สุขภาวะทางอารมณ์ และภาวะสุขภาพจิต การเลี้ยงดู และค่านิยมของสังคม ส่งผลต่อการเกิดโรคบูลิเมีย ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้อาจเพิ่มขึ้นหากคุณมีญาติที่มีประวัติเป็นโรคบูลิเมีย

นอกจากนี้ อิทธิพลจากสื่อ และวัฒนธรรม ที่ได้รับความนิยมอาจส่งผลต่อมุมมองเรื่องรูปลักษณ์และการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) ของผู้ป่วย นอกจากนี้ ความเครียดและ การรู้สึกควบคุมหรือรับมือต่อสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตไม่ได้ อาจมีส่วนทำให้เป็นโรคบูลิเมียได้

อาการโรคบูลิเมีย ล้วงคอหลังกิน - symptoms of bulimia nervosa

โรคบูลิเมียมีอาการอย่างไร

  • หมกหมุ่นเรื่องรูปลักษณ์หรือน้ำหนักตัว
  • รับประทานอาหารปริมาณมากเกินพอดี และพยายามกำจัดอาหารที่รับประทานไปอย่างลับ ๆ
  • กรดไหลย้อน
  • ตาแดงก่ำ
  • ท้องผูก
  • ขาดน้ำ
  • ซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
  • ออกกำลังกายอย่างหักโหมเกินพอดี
  • เป็นลมหมดสติ
  • กลัวน้ำหนักขึ้น
  • รู้สึกละอายใจหลังทานอาหารไปในปริมาณมาก
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • มีรอยแผลที่ข้อนิ้วมือ (จากการล้วงคอ)
  • เข้าห้องน้ำบ่อยหลังรับประทานอาหาร
  • ฟันสึกกร่อน

โรคบูลิเมีย อาจทำให้มีอาการแทรกซ้อนหลายอาการ ได้แก่อะไรบ้าง

  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ลำไส้และกระเพาะอาหารมีแผล
  • เกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล
  • มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น
  • หลอดอาหารอักเสบ
  • หัวใจวาย
  • ฟันผุ

อาการโรคบูลิเมียแบบไหนที่ควรพบแพทย์

หากคุณมีอาการของโรคบูลิเมีย แนะนำให้เข้ารับการรักษาทันที เพราะโรคบูลิเมียอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อคุณได้หากไม่ได้รับการรักษา โดยคุณอาจจะบอกคนที่คุณไว้ใจว่าคุณมีอาการของโรคนี้ เพื่อที่เขาจะแนะนำให้คุณพบแพทย์หรือกระทั่งไปพบแพทย์เป็นเพื่อนคุณ

การวินิจฉัยโรคบูลิเมีย มีวิธีการอย่างไร

แพทย์อาจเริ่มวินิจฉัยโรคบูลิเมียด้วยการซักประวัติและสอบถามอาการที่มี โดยแพทย์อาจถามคำถามต่อไปนี้เพื่อพิจารณาว่าคุณเข้าเกณฑ์ที่จะเป็นโรคบูลิเมียหรือไม่

  • มีอาการกินไม่หยุดเกิดขึ้นกับตัวเองเป็นช่วง ๆ หรือไม่
  • รู้สึกความคุมตัวเองไม่ได้ขณะที่กินไม่หยุดหรือไม่
  • เคยทำพฤติกรรมใด ๆ เพื่อกำจัดอาหารออกหรือไม่ (ล้วงคอตัวเองเพื่ออาเจียน หรือใช้ยาระบายโดยไม่จำเป็น)
  • ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เคยมีอาการกินไม่หยุดหรือไม่
  • เคยพยายามลดน้ำหนักด้วยการทานยาลดความอ้วนหรือยาชนิดอื่นหรือไม่
  • หมกหมุ่นเรื่องการรับประทานอาหาร และรูปร่างของตนเองหรือไม่
  • คนในครอบครัวเคยมีอาการหรือเคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกี่ยวกับปัญหาการกินหรือไม่

นอกจากถามคำถามข้างต้นแล้ว แพทย์อาจสั่งให้ตรวจเลือด ตรวจการทำงานของไต ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหาผลกระทบที่เกิดจากโรคบูลิเมีย

การรักษาโรคบูลิเมีย ล้วงคอ - Treatment of bulimia nervosa

การรักษาโรคบูลิเมีย มีวิธีการอย่างไร

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคบูลิเมียอาจถูกส่งไปรักษากับทีมสหวิชาชีพที่ประกอบไปด้วย นักกำหนดอาหาร และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ โดยแนวทางในการรักษาโรคบูลิเมียอาจใช้หลากหลายวิธีร่วมกัน ได้แก่

  • จิตบำบัด: การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy หรือ CBT) อาจช่วยให้ผู้ป่วยมีทัศนคติที่ดีต่ออัตลักษณ์ของตนเอง และปรับตัวเรื่องการรับประทานอาหาร และมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม
  • การปรึกษาทางด้านโภชนาการ: นักกำหนดอาหารหรือผู้ให้คำปรึกษาจะช่วยแนะนำวิธีรับประทานอาหารให้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น
  • ยา: ยาต้านเศร้ากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors) เป็นยาต้านอาการซึมเศร้าที่ช่วยลดอาการของโรคได้
  • การเข้ากลุ่มจิตบำบัด: วิธีนี้จะมีประโยชน์เมื่อใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่น โดยจะให้ผู้ที่เป็นโรคบูลิเมียและสมาชิกในครอบครัวพูดถึงเรื่องราวของตัวเองให้แต่ละคนในกลุ่มฟัง

โรคบูลิเมีย มีวิธีการป้องกันอย่างไร

ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคบูลิเมียนั้นจะลดลงเมื่อรักษาอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวล นอกจากนี้ คนรอบข้าง ผู้ปกครองหรือครูอาจช่วยปรับทัศนคติว่ารูปร่างผอมแห้งที่สื่อนำเสนอนั้นไม่ใช่รูปร่างที่ควรมี เป็นรูปร่างที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

เมื่อเป็นโรคบูลิเมีย ควรดูแลตัวเองที่บ้านอย่างไร

  • ให้กำลังใจตัวเองในการปฏิบัติตามแผนการรักษา และหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคบูลิเมีย
  • รับประทานอาหารตามที่ร่างกายควรได้รับ
  • อย่าเมินเฉยต่อคนในครอบครัวหรือเพื่อนที่คอยช่วยเหลือ 
  • อย่าเข้มงวดกับตัวเองมากเกินไปเรื่องน้ำหนัก
  • ระวังเรื่องการออกกำลังกาย

การดูแลคนเป็นโรคบูลิเมีย ล้วงคอ - Bulimia nervosa coping advice for parents

คำแนะนำในการจัดการกับปัญหาสำหรับผู้ปกครอง

หากลูกของคุณเป็นโรคบูลิเมีย คุณอาจโทษตัวเอง แต่การเลี้ยงดูไม่ใช่สาเหตุอย่างเดียวของโรคนี้ ดังนั้น แนะนำให้คุณให้ความสนใจกับสิ่งที่ทำได้เพื่อช่วยเหลือลูกหลานของคุณ การทานอาหารร่วมกันเป็นครอบครัวในเวลาที่กำหนดไว้อาจช่วยลดการกินไม่หยุดได้ คุณอาจถามลูกหลานตรง ๆ ว่ามีอะไรที่คุณพอจะช่วยเหลือได้บ้าง อีกสิ่งที่สำคัญคือการรับฟังโดยไม่ตัดสินว่าเขารู้สึกอย่างไร นอกจากนี้ การบอกให้ลูกฟังว่าคุณกังวลถึงเขาในเรื่องใดบ้างก็มีประโยชน์ต่อการจัดการกับสถานการณ์นี้

การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์

  • ขอให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวไปโรงพยาบาลเป็นเพื่อนด้วย
  • จดอาการที่มี เหตุการณ์ในชีวิตที่เพิ่งเกิดขึ้น รวมถึงข้อมูลของตัวเองที่สำคัญ
  • จดรายชื่อยา วิตามิน หรืออาหารเสริมที่รับประทานอยู่

เตรียมคำถามไปถามแพทย์ เช่น

  • มีวิธีใดที่รักษาได้บ้าง?
  • จำเป็นต้องตรวจอะไรบ้าง?
  • ควรหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคบูลิเมียจากที่ใด?
  • นอกจากยาที่จ่ายให้แล้ว มียาชนิดอื่นที่ทดแทนกันได้หรือไม่?

คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค

โรคบูลิเมีย หรือโรคล้วงคอ คือพฤติกรรมการกินผิดปกติและเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ สามารถส่งผลเสียทั้งทางกายและจิตใจ หากสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคบูลิเมียแนะนำให้ขอความช่วยเหลือ และพบแพทย์ เพราะอาการจะดีขึ้นเมื่อได้เข้ารับการปรึกษาและการรักษาอย่างถูกต้อง


ประเมินดัชนีมวลกายของคุณ เพื่อรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 11 ก.พ. 2024

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. ฐิติพร ศุภสิทธิ์ธำรง

    พญ. ฐิติพร ศุภสิทธิ์ธำรง

    • จิตเวชศาสตร์
    • จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
    จิตเวชศาสตร์, จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ