เลือกหัวข้อที่อ่าน
- นิ้วโป้งเท้าเอียง มีอาการอย่างไร?
- นิ้วโป้งเท้าเอียง มีสาเหตุเกิดจากอะไร?
- นิ้วโป้งเท้าเอียง มีวิธีตรวจวินิจฉัยอย่างไร?
- วิธีผ่าตัดเพื่อรักษานิ้วโป้งเท้าเอียง
- วิธีการป้องกันนิ้วโป้งเท้าเอียง
นิ้วโป้งเท้าเอียง Bunions (Hallux Valgus)
นิ้วโป้งเท้าเอียง (Bunions หรือ Hallux Valgus) หรือ นิ้วหัวแม่เท้าเอียง เป็นภาวะที่โคนของนิ้วหัวแม่เท้าปูดออกมาด้านใน ส่วนปลายนิ้วหัวแม่เท้าจะเอนเข้าไปหานิ้วเท้าอื่น ภาวะนี้มีสาเหตุจากการสวมใส่รองเท้าที่บีบรัดปลายเท้า เท้าผิดรูป หรือเพราะโรคต่าง ๆ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์
นิ้วโป้งเท้าเอียง มีกี่ประเภท?
โรคนิ้วเท้าเกผิดรูปมักเกิดกับหัวแม่เท้าเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีโอกาสเกิดกับนิ้วอื่น ๆ ได้เช่นกัน ได้แก่
- นิ้วโป้งเท้าเอียง หรือ หัวแม่เท้าเอียง
- กระดูกงอกที่โคนนิ้วก้อยเท้า ซึ่งเกิดที่บริเวณโคนนิ้วก้อยเท้า
นิ้วโป้งเท้าเอียง มีอาการอย่างไร?
อาการของนิ้วโป้งเท้าเอียงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือกระดูกปูดออกมาบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้าด้านใน กระดูกที่ปูดออกมานี้อาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ มากมายตามมา เช่น
- ชั้นผิวหนาขึ้น เกิดเป็นตาปลา ผิวหนังด้าน
- นิ้วหัวแม่เท้ามีอาการชา เจ็บ หรือติดขัด
- บวม
- ถ้ามีการผิดรูปมาก อาจทำให้นิ้วอื่น ๆ ผิดรูปไปด้วย เกิดนิ้วเท้าหงิกงอ หรือนิ้วโป้งเกยกับนิ้วชี้
- ใส่รองเท้าลำบาก หรือใส่รองเท้าแล้วเจ็บ
- มีรอยแดงบริเวณที่กระดูกปูด
- ขยับนิ้วหัวแม่เท้าไม่ได้
นิ้วโป้งเท้าเอียง มีสาเหตุเกิดจากอะไร?
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนิ้วโป้งเท้าเอียงมีด้วยกันหลายประการ เช่น ลักษณะรองเท้าที่ใส่ กระดูกผิดรูป หรือกรรมพันธุ์ นอกจากนี้ หากนิ้วหัวแม่เท้าถูกกดหรือบีบเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้นิ้วหัวแม่เท้าเอนไปหานิ้วเท้านิ้วอื่นได้ ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้นิ้วหัวแม่เท้าถูกกด ได้แก่ วิธีการเดิน โรคที่ทำให้เกิดอาการอักเสบ เช่น โรครูมาตอยด์ โรคลูปัส การใส่รองเท้าที่บีบปลายเท้า และการยืนนาน ๆ
อาการแทรกซ้อนของภาวะนิ้วโป้งเท้าเอียงอะไรบ้าง?
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะนิ้วโป้งเท้าเอียง ได้แก่ อาการปวดบริเวณเท้าส่วนปลาย ซึ่งจะปวดบวม และเบอร์ไซติส เป็นอาการอักเสบที่ถุงน้ำ ซึ่งทำหน้าที่รับแรงกระแทกหรือหล่อลื่นกระดูกบริเวณข้อต่อ
นิ้วโป้งเท้าเอียง มีวิธีตรวจวินิจฉัยอย่างไร?
- การตรวจลักษณะรูปเท้า โดยเฉพาะเวลายืนลงน้ำหนัก
- การเอกซเรย์เพื่อดูกระดูกและข้อต่อที่นิ้วหัวแม่เท้า
นิ้วโป้งเท้าเอียง มีวิธีการรักษาอย่างไร?
ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงรักษาได้ด้วยวิธีทั่วไปและการผ่าตัดรักษา โดยจะพิจารณาตามความรุนแรงของอาการ
วิธีรักษานิ้วโป้งเท้าเอียงที่ไม่ใช่การผ่าตัด ได้แก่
- ประคบน้ำแข็งที่ปุ่มกระดูกช่วยลดอาการเจ็บและบวมได้
- รับประทานยาลดปวด เพื่อลดอักเสบ
- แผ่นเสริมพื้นรองเท้า จะช่วยกระจายน้ำหนักเท้าให้เท่ากันขณะเดิน
- เปลี่ยนประเภทรองเท้าที่ใส่: เลือกรองเท้าที่มีพื้นที่ปลายเท้ากว้าง
- แผ่นแปะป้องกันบริเวณปุ่มกระดูก เพื่อลดการเสียดสีกับรองเท้า
วิธีเหล่านี้เป็นการรักษาแบบประคับประคอง ไม่สามารถทำให้นิ้วกลับมาตรงได้
วิธีผ่าตัดเพื่อรักษานิ้วโป้งเท้าเอียง ได้แก่
- ผ่าตัดปรับการเรียงตัวของกระดูกที่ปลายเท้า เพื่อปรับองศาข้อต่อให้เป็นปกติ
- ผ่าตัดปรับนิ้วหัวแม่เท้าให้ตรงด้วยการผ่ากระดูกบางส่วนของนิ้วหัวแม่เท้าออก
- ผ่าตัดเชื่อมกระดูกนิ้วหัวแม่เท้าถาวร
- ผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อที่บวมออก
หลังเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด สามารถลงน้ำหนักที่ส้นเท้าได้เลย โดยลงน้ำหนักได้เต็มที่ 4 – 6 สัปดาห์ ขึ้นกับวิธีการผ่าตัด
วิธีการป้องกันนิ้วโป้งเท้าเอียง
- เลี่ยงการใส่รองเท้าที่คับหรือบีบเท้า เช่น รองเท้าหัวแหลม
- ถึงแม้จะรู้ขนาดรองเท้าที่ตัวเองใส่ประจำแล้ว แต่ควรลองสวมรองเท้าหลาย ๆ ไซส์เพื่อดูว่าไซส์ไหนกระชับที่สุด โดยช่วงเวลาที่เหมาะที่จะลองรองเท้าที่สุดคือช่วงเย็น นอกจากนี้ ก่อนจะซื้อรองเท้า ให้ลองนั่งหรือยืนขณะลองสวมรองเท้าด้วยเพื่อตรวจดูว่านิ้วเท้าไม่เจ็บหรือโดนบีบ
คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค
นิ้วโป้งเท้าเอียง เป็นภาวะที่นิ้วหัวแม่เท้าเอนเข้าไปชิดกับนิ้วชี้ สาเหตุเกิดจากการสวมใส่รองเท้าที่บีบเท้า หรือเกิดจากโรคข้ออักเสบ หากมีภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงแล้วเกิดอาการเจ็บ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านเท้าเพื่อรับการวินิจฉัย เข้ารับรักษาอย่างถูกต้อง รวมถึงสอบถามวิธีดูแลเท้าด้วยตนเอง