ต้อกระจก (Cataract) เกิดจากอะไร อาการ การรักษา - Cataract: Causes, Symptoms, Treatments, Early signs

ต้อกระจก (Cataract) เกิดจากอะไร อาการ การรักษา

ต้อกระจก (Cataract) หรือ ภาวะเลนส์ตาขุ่น เป็นการเสื่อมสภาพของโปรตีนเมทริกซ์ของเลนส์ตา ที่ทำให้เลนส์ตาขุ่นมัว และส่งผลให้การมองเห็นลดลง เลนส์ตาปกติจะมีลักษณะใส ช่วยให้แสงผ่านไปยังจอประสาทตา เซลล์รับแสงซึ่งไวต่อแสง

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


ต้อกระจก (Cataract)

ต้อกระจก (Cataract) หรือ ภาวะเลนส์ตาขุ่น เป็นการเสื่อมสภาพของโปรตีนเมทริกซ์ของเลนส์ตา ที่ทำให้เลนส์ตาขุ่นมัว และส่งผลให้การมองเห็นลดลง เลนส์ตาปกติจะมีลักษณะใส ช่วยให้แสงผ่านไปยังจอประสาทตา เซลล์รับแสงซึ่งไวต่อแสงจะแปลงแสงเป็นสัญญาณประสาทส่งถึงสมองผ่านเส้นประสาทตา สมองจะประมวลผลข้อมูล และแปลงเป็นสัญญาณภาพของวัตถุต่าง ๆ ที่เรามองเห็น ต้อกระจกสีขาวขุ่น ขัดขวางไม่ให้แสงเข้าไปรวมศูนย์ที่จอประสาทตา ทำให้คุณภาพการมองเห็นลดลง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ต้อกระจก คืออะไร

ต้อกระจก คือ บริเวณเลนส์แก้วตาที่มีลักษณะสีขาวขุ่น เหมือนมีเมฆหมอกมาบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็นตลอดเวลา ทำให้ มองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจน เห็นเป็นฝ้าขาว เห็นแสงเป็นวง ๆ เห็นสีซีดลงออกโทนเหลืองจาง ในบางราย อาจเห็นแสงสว่างจากหลอดไฟเป็นแสงแตกกระจาย หรือถูกบดบังแม้อยู่ในที่สว่าง ทำให้มองเห็นไม่ชัดแม้ในเวลากลางวัน

ต้อกระจกอาจเกิดกับดวงตาเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง เกิดได้ทั้งเพศชายและหญิง และไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บหรือระคายเคืองใด ๆ ที่ตา โดยโรคต้อกระจกจะค่อย ๆ พัฒนาก่อตัวขึ้นอย่างช้า ๆ การมองเห็นภาพต่าง ๆ จะค่อย ๆ เลือนลง มองเห็นภาพจาง ๆ เบลอๆ ทำให้เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน

Cataract Banner 2 Th

ต้อกระจก เกิดจากอะไร

ต้อกระจกเกิดจากการเสี่อมสลายของโปรตีนในเลนส์ตาที่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น โปรตีนจะเกิดการเสื่อมสลายและจับกลุ่มหนาตัว รวมกันเป็นต้อกระจก ต้อกระจกจึงมักพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจากการที่เลนส์ตาเสี่อมลงตามวัย นอกจากนี้ ต้อกระจกยังอาจเกิดจากอาการบาดเจ็บที่บริเวณเลนส์ตา อุบัติเหตุที่ดวงตา โรคติดเชื้อเกี่ยวกับดวงตา หรือความผิดปกติแต่กำเนิดในครรภ์มารดา เช่น การติดเชื้อหัดเยอรมัน

ต้อกระจก สาเหตุ

  • อายุที่เพิ่มขึ้น
  • การติดเชื้อก่อนคลอด เช่น การติดเชื้อหัดเยอรมันของมารดาขณะตั้งครรภ์
  • ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น โรคกาแลคโตซีเมีย ภาวะคลอดก่อนกำหนด ต้อกระจกโดยกำเนิด
  • โรคบางชนิด เช่น โรคข้ออักเสบ โรคลูปัส โรควิลสัน
  • การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานานเพื่อรักษาโรคบางชนิด เช่น โรคข้ออักเสบ หรือโรคลูปัส
  • การใช้ยากลุ่มฟิโนไทอาซีน (Phenothiazine) เพื่อรักษาโรคทางจิตเวชบางชนิด เช่น ไบโพลาร์
  • ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาขยายม่านตา ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ยาลดระดับไขมันในเส้นเลือด หรือยา Tamoxifen เพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านม เป็นต้น
  • โรคภายในระบบตาที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นต้อกระจก เช่น การอักเสบติดเชื้อภายในดวงตา ม่านตาอักเสบ ลูกตาติดเชื้อ โรค Exfoliation syndrome โรคลูกตาส่วนหน้าขาดเลือด (Anterior segment ischemia) โรคจอประสาทตาเสื่ยมแบบ RP (Retinitis pigmentosa)
  • การได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตมาก (UV) เป็นเวลานาน ๆ โดยไม่ได้สวมแว่นกันแดดหรืออุปกรณ์ป้องกัน
  • การได้รับอุบัติเหตุกระทบกระเทือนที่บริเวณดวงตา เช่น เศษโลหะเข้าตา เศษหินกระเด็นเข้าตา หรือการฉีกขาดของเนื้อเยื่อภายในลูกตาที่ทำให้ประสิทธิภาพการมองเห็นลดลง และเสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อกระจก
  • เคยผ่านการฉายรังสีที่บริเวณส่วนบนของร่างกาย หรือที่บริเวณศีรษะ
  • ผู้ที่เคยผ่าตัดจอประสาทตา ผ่าตัดน้ำวุ้นตา
  • สารเคมีเข้าตา
  • การถูกช๊อตด้วยไฟฟ้า
  • ควันบุหรี่ หรือการสูบบุหรี่
  • การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ๆ

Cataract Banner 3

ต้อกระจก อาการเริ่มต้น

ต้อกระจก อาการเริ่มต้น จะมีสายตาสั้นและสายตาเอียง โดยสายตาจะเริ่มพร่ามัวมากขึ้นเรื่อย ๆ จากระดับและตำแหน่งความขุ่นของเลนส์แก้วตาที่เหมือนมีฝ้าขาว หรือเมฆหมอกมาบดบังการมองเห็น จนกระทั่ง ต้อกระจกสุกมากเกินไป อาจทำให้เป็น ต้อหินตามมา ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากแรงดันในลูกตาที่สูงขึ้นจนกระทั่งอาจทำให้ตาบอดในที่สุด ต้อกระจก อาการเริ่มต้นมีดังนี้

  • ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน แม้อยู่ในที่สว่างแต่มองเห็นเหมือนอยู่ในที่มีแสงน้อย
  • มองเห็นสีของวัตถุต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไป มองภาพเป็นสีออกเหลืองหรือสีซีดจาง
  • มองเห็นลำบากในเวลากลางคืน เพ่งสายตามากกว่าปกติ ต้องการแสงสว่างมากขึ้นในการมอง
  • ตาไม่สู้แสง มองเห็นแสงที่หลอดไฟแตกกระจายหรือเห็นแสงเป็นวง
  • ประสิทธิภาพในการมองเห็นของตาทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากันอย่างเห็นได้ชัด
  • เปลี่ยนแว่นตาบ่อยขึ้น ต้อกระจกทำให้ค่าสายตาเปลี่ยนไป
  • เมื่อต้อกระจกพัฒนาไปถึงระยะต้อกระจกสุก หรือระยะสุดท้าย จะมองเห็นเป็นเปื้อนขาวที่ตรงกลางรูม่านตา ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคต้อหิน และตาบอดถาวรในที่สุด

ต้อกระจกมีกี่ระยะ

ต้อกระจกแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะที่ 1 (Incipient) ระยะที่เลนส์ตาเริ่มขุ่นมัว ตามองเห็นไม่ชัดเจน ตามองเห็นแสงสะท้อนที่รบกวนการมองเห็น และตาเหนื่อยล้าง่าย ในระยะนี้ การดำเนินโรคแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ 1.) รอบเลนส์ตาขุ่น แต่ตรงกลางเลนส์ตาใส หรือ 2.) รอบเลนส์ตาใส แต่ตรงกลางเลนส์ตาขุ่น ต้อกระจกในระยะนี้ จะยังไม่รบกวนการมองเห็นมากนักจนกว่าต้อกระจกจะมีความขุ่นมัวมากขึ้น
  2. ระยะที่ 2 (Intumescent) ระยะที่ต้อกระจกมีความขุ่นมัวมากขึ้น บริเวณตาขุ่นขยายตัวมากขึ้น และมีอาการเลนส์ตาบวม ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
  3. ระยะที่ 3 (Mature) ระยะที่ต้อกระจกมีความขุ่นมัวมาก ความขาวขุ่นได้ขยายตัวไปทั่วเลนส์ตา ทำให้ตามัวไปหมด แสงไม่สามารถผ่านเข้าไปถึงจอประสาทตาได้ ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นและการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก 
  4. ระยะที่ 4 (Hypermature) ระยะที่ต้อกระจกสุกมากเกินไป ต้อกระจกจะมีความขาวขุ่นมาก แข็งตัว และอาจเกิดการหดตัวและเคลื่อนที่จนทำให้มีปัญหาในการมองเห็นหลายประการ ต้อกระจกในระยะนี้เป็นอันตราย และควรเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกโดยเร็วที่สุด เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เป็น โรคต้อหิน และทำให้ตาบอดถาวร

Aw ประกอบบทความ ต้อกระจก 03

การวินิจฉัยต้อกระจก มีวิธีการอย่างไร

การวินิจฉัยโรคต้อกระจกระยะแรกเริ่มอาจกระทำได้ยาก เนื่องจากต้อกระจกยังไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใด ๆ กับสายตา จนกระทั่งต้อกระจกเริ่มสุกจนเห็นเป็นจุดสีขาวขุ่นที่บริเวณตาดำ ผู้ที่มีความเสี่ยงจึงควรหมั่นสังเกตดวงตาของตนเองในกระจก โดยหากพบความผิดปกติหรือไม่แน่ใจว่าเป็นความผิดปกติหรือไม่ ควรพบจักษุแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ วิธีการวินิจฉัยมีดังนี้

  • ตรวจวัดสายตา (Visual acuity test) ตรวจวัดค่าสายตาเพื่อประเมินความสามารถในการมองเห็น
  • ตรวจวัดความดันลูกตา (Tonometry test) ตรวจประเมินค่าความดันลูกตาว่าผิดปกติหรือไม่
  • ตรวจด้วยกล้องจักษุจุลทรรศน์ (Slit lamp examination) ตรวจตาโดยใช้กล้องจักษุจุลทรรศน์ชนิดลำแสงแคบเพื่อส่องตรวจดูโครงสร้างภายในดวงตา เช่น กระจกตา รูม่านตา เลนส์ตา รวมถึงจอประสาทตา เพื่อหาความผิดปกติ
  • ตรวจจอประสาทตาผ่านการขยายรูม่านตา (Dilated eye exam) เป็นการตรวจจอประสาทตาด้วยการหยอดยาขยายรูม่านตาให้เปิดกว้าง จากนั้นจะใช้เลนส์ขยายชนิดพิเศษเพื่อตรวจหาความผิดปกติบริเวณจอประสาทตาและเส้นประสาทตา ทั้งนี้ การหยอดยาตาอาจทำให้ตาพร่ามัวชั่วคราว

Aw ประกอบบทความ ต้อกระจก 04

ต้อกระจก รักษาอย่างไร

การรักษาต้อกระจกระยะแรกเริ่มที่ยังไม่รบกวนการใช้ชีวิตมากนัก จักษุแพทย์จะนัดตรวจดูแลดวงตาเป็นระยะ อาจให้ปรับแว่นสายตา และแนะนำให้หลีกเลี่ยงสิ่งเร้า เช่น แสงแดดจ้า เพื่อช่วยชะลออาการ จนกระทั่งอาการต้อกระจกมากขึ้น ส่งผลต่อการมองเห็น และกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จักษุแพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดต้อกระจก เพื่อนำเลนส์ตาขาวขุ่นออก แล้วนำเลนส์แก้วตาตาเทียมใส่เข้าไปแทนที่ วิธีการผ่าตัดต้อกระจกที่ได้รับความนิยม มีดังนี้

  1. การผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ความถี่สูง (Phacoemulsification) เป็นการสลายต้อกระจกโดยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปสลายต้อกระจกและใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ เป็นการผ่าตัดต้อกระจกด้วยเทคนิคแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานสากลทั่วโลก ร่วมกับการใช้เทคโนโลยี Digital Marking System และ Wavefront Technology ขั้นสูง เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัด และให้ได้ค่าสายตาหลังการผ่าตัดที่เหมาะสม
  2. การผ่าตัดต้อกระจกโดยการใช้เลเซอร์ (Femtosecond Laser-Assisted Cataract Surgery) เป็นการรักษาต้อกระจกโดยการใช้เทคโนโลยี Femtosecond Laser ประสิทธิภาพสูง ช่วยให้ต้อกระจกแตกตัวออกเป็นส่วน ๆ ได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และปลอดภัย ทำให้ง่ายต่อการสลายต้อกระจกด้วยคลื่น Ultrasound ที่ใช้พลังงานน้อยลง
  3. การผ่าตัดต้อกระจกโดยเอาเลนส์ต้อกระจกออก เหลือถุงหุ้มเลนส์ไว้ (Extracapsular cataract extraction: ECCE) เป็นการผ่าตัดเอาส่วนที่เป็นต้อกระจกแข็งออกเป็นชิ้นเดียว ดูดเลนส์ตารอบนอกออกให้เหลือถุงหุ้มเลนส์ไว้แล้วใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไป โดยยึดเข้ากับถุงหุ้มเลนส์ตาด้านหลัง เป็นการผ่าตัดที่มีขนาดแผลกระจกตาใหญ่กว่าเพื่อนำเลนส์ตาเสื่อมสภาพชิ้นใหญ่ออก ทั้งนี้ จักษุแพทย์จะใช้วิธีการนี้เฉพาะในกรณีที่ต้อกระจกสุกและแข็งมาก ซึ่งยากต่อการสลายต้อกระจก

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดต้อกระจก

จักษุแพทย์จะตรวจตาอย่างละเอียดและส่งวัดเลนส์แก้วตาเทียม วัดความดันตาและจอประสาทตา วัดขนาดและระดับสายตา วัดความโค้งกระจกตา และความยาวลูกตาก่อนการขยายม่านตาเพื่อให้ได้ค่าสายตาที่ถูกต้องก่อนคำนวณเพื่อเลือกขนาดเลนส์ตาที่เหมาะกับผู้รับการผ่าตัดมากที่สุด การผ่าตัดสลายต้อกระจกจะใช้เวลาในการผ่าตัด 20-45 นาที และสามารถกลับบ้านได้หลังการผ่าตัดโดยไม่ต้องพักฟื้นที่ รพ. แต่อย่างใด การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดต้อกระจก มีดังนี้

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือทานยารักษาโรค ควรแจ้งให้จักษุแพทย์ทราบล่วงหน้าก่อนวันผ่าตัด
  • ผู้ที่ทานยาละลายลิ่มเลือด ควรงดยาอย่างน้อย 7 วัน ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • ฝึกนอนท่าราบโดยใช้ผ้าคลุมใบหน้าและไม่หนุนหมอนอย่างน้อย 30 นาที ก่อนวันผ่าตัดจริง
  • ในผู้ที่ใช้วิธีดมยาสลบ ควรงดรับประทานอาหารอย่างน้อย 12 ชม. ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • ทำความสะอาดร่างกายให้พร้อม อาบน้ำ ล้างหน้า สระผมให้สะอาด และงดการแต่งหน้า
  • ผู้ที่สวมฟันปลอมทุกชนิด ต้องถอดออก และรวมถึงเครื่องประดับทุกชนิด
  • ควรมีญาติมาด้วยในวันผ่าตัด เพื่อช่วยขับรถกลับบ้าน

Cataract

การดูแลตนเองหลังการผ่าตัดต้อกระจก

หลังการผ่าตัดต้อกระจก จักษุแพทย์จะปิดตาข้างที่ผ่าตัดเอาไว้และจะเปิดผ้าปิดตาออกในวันรุ่งขึ้น โดยจักษุแพทย์จะนัดให้เข้ามาประเมินอาการในวันถัดไป การดูแลตนเองหลังการผ่าตัดต้อกระจก มีดังนี้

  • หยอดยาตามเวลาที่จักษุแพทย์กำหนดทุกครั้ง 
  • หากมีอาการปวด ทานยาแก้ปวดตามที่จักษุแพทย์สั่งเพื่อบรรเทาอาการปวด
  • ระวังห้ามไม่ให้น้ำเข้าตาโดยเด็ดขาด จนกว่าแผลจะหายสนิท
  • ห้ามขยี้ตาโดยเด็ดขาด และระวังอย่าให้ดวงตาได้รับการกระทบกระเทือน
  • ก่อนนอนให้ใช้ที่ครอบตา ครอบก่อนนอน เพื่อป้องกันการขยี้ตา 
  • งดการนอนตะแคงข้างที่ผ่าตัดต้อกระจกลง
  • งดการออกกำลังกาย หรือยกของหนัก
  • งดการทานอาหารรสจัด เพื่อป้องกันเหงื่อ
  • ระวังไม่ไอ จามแรง ๆ ไม่ก้มศีรษะต่ำ
  • มาตรวจตาตามจักษุแพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อประเมินผลการรักษา

ต้อกระจก อันตรายไหม

ต้อกระจกสุกที่ไม่ได้รับการรักษา จะเห็นเป็นเปื้อนขาวที่กลางรูม่านตา เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้การมองเห็นแย่ลง รบกวนการมองเห็น และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิตโดยรวมหลายด้าน เช่น การขับรถ การอ่านหนังสือ การทำงาน งานอดิเรก การจดจำใบหน้า การเล่นกีฬา และความเสี่ยงพลัดตก หกล้ม ต้อกระจกที่ถูกปล่อยจนต้อสุกมากเกินไป จะทำให้เกิดการอักเสบภายในดวงตา มีอาการปวดตา ตาแดง และทำให้เป็นโรคต้อหินที่ทำให้สูญเสียการมองเห็น และอาจทำให้ตาบอดได้ในที่สุด

วิธีการป้องกันโรคต้อกระจก

ต้อกระจกเป็นโรคที่เกิดจากความเสี่อมสภาพของเลนส์ตาตามวัยที่ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการป้องกันได้ 100% อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อายุน้อยก็สามารถเป็นโรคต้อกระจกได้หากสะสมปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทั้งนี้ โรคต้อกระจกสามารถชะลอการเกิดได้โดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและลดปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดสว่างจ้าโดยตรง สวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันรังสี UVA/UVB
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การสูดดมควันบุหรี่ หรือการดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงการดูจอเป็นระยะเวลานาน ๆ ควรพักสายตาเป็นระยะ
  • จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีแสงสว่างที่เพียงพอต่อการมองเห็น
  • หากทำงานในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันวัตถุกระเด็นเข้าตาเสมอ
  • ไม่ซื้อยาหยอดตามาหยอดเอง
  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตา

Aw ประกอบบทความ ต้อกระจก 05

ต้อกระจก มองไม่ชัด ตาพร่ามัว รักษาได้

ดวงตา คืออวัยวะที่เราหวงแหนและอยากรักษาไว้ให้คงซึ่งประสิทธิภาพการมองเห็นตลอดไป ในปัจจุบัน การผ่าตัดต้อกระจกใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงที่ทันสมัย ช่วยเพิ่มความแม่นยำ รวดเร็ว และปลอดภัย ช่วยให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้กลับมามองเห็นได้ดีอีกครั้ง ทั้งนี้ การตรวจสุขภาพดวงตาอย่างสม่ำเสมอและรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ เมื่อพบอาการ ถือเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาต้อกระจกให้หาย เพื่อให้คงไว้ซึ่งดวงตาคู่สำคัญให้อยู่คู่เราไปตราบเท่านาน

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 19 มี.ค. 2025

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    รศ.พิเศษ นพ. ภาคภูมิ คัมภีร์พันธุ์

    รศ.พิเศษ นพ. ภาคภูมิ คัมภีร์พันธุ์

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยาผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ
    การผ่าตัดต้อกระจก, ผ่าตัดต้อกระจกหลังทำเลสิก, ผ่าตัดต้อกระจกใส่เลนส์ชนิดพิเศษ, ผ่าตัดต้อกระจกใส่เลนส์ชนิดพิเศษ, ผ่าตัดต้อกระจกใส่เลนส์ชนิดพิเศษ, ใส่คอนแทคเลนส์, โรคกระจกตาโก่ง, การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยสายตาเลือนรางและเทคโนโลยีช่วยการมองเห็น
  • Link to doctor
    พญ. ฐิติมา หวังเจริญ

    พญ. ฐิติมา หวังเจริญ

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยากระจกตา
    • จักษุวิทยาผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ (LASIK & SMILE pro)
    • โรคของกระจกตา
    โรคตาแห้งและโรคผิวกระจกตา, โรคทางกระจกตาและตาส่วนนอก, โรคกระจกตาโก่ง, การผ่าตัดต้อกระจก, การผ่าตัดลอกต้อเนื้อโดยไม่เย็บ, การผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ, การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา
  • Link to doctor
    ศ.พญ. งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ

    ศ.พญ. งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยากระจกตา
    • จักษุวิทยาผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ (LASIK & SMILE pro)
    โรคทางกระจกตาและตาส่วนนอก, โรคตาแห้งและโรคผิวกระจกตา, โรคต้อเนื้อและการผ่าตัดโดยใช้กาวชีวภาพ, โรคกระจกตาโก่ง, การผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ, การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา, การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาโดยใช้สเต็มเซลล์, การผ่าตัดต้อกระจก
  • Link to doctor
    พญ. อุษณีย์ เหรียญประยูร

    พญ. อุษณีย์ เหรียญประยูร

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยากระจกตา
    • จักษุวิทยาผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ (LASIK & SMILE pro)
    โรคทางกระจกตาและตาส่วนนอก, โรคต้อเนื้อและการผ่าตัดโดยใช้กาวชีวภาพ, โรคกระจกตาโก่ง, การผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ, การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา, การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาโดยใช้สเต็มเซลล์, การผ่าตัดต้อกระจก
  • Link to doctor
    พญ. สุภาวดี เอื้อจงมานี

    พญ. สุภาวดี เอื้อจงมานี

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยากระจกตา
    • จักษุวิทยาผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ (LASIK & SMILE pro)
    โรคทางกระจกตาและตาส่วนนอก, โรคตาแห้งและโรคผิวกระจกตา, ภาวะสายตาผิดปกติ, การผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ, โรคต่อมไขมันที่เปลือกตาอุตตัน, การผ่าตัดต้อกระจก
  • Link to doctor
    รศ. นพ. ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์

    รศ. นพ. ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยาโรคต้อหิน
    • จักษุวิทยาผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ (LASIK & SMILE pro)
    การผ่าตัดต้อกระจก, ต้อกระจก, โรคต้อหิน, การผ่าตัดต้อกระจกในผู้ป่วยที่มีอาการม่านตาผิดปกติ
  • Link to doctor
    พญ. มณฑิรา เจิมจุติธรรม

    พญ. มณฑิรา เจิมจุติธรรม

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยากระจกตา
    • จักษุวิทยาผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ (LASIK & SMILE pro)
    โรคทางกระจกตาและตาส่วนนอก, การผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ, Ophthalmology, โรคต้อเนื้อ, โรคตาแห้งและโรคกระจกตา, การผ่าตัดต้อกระจก, การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา
  • Link to doctor
    นพ. ธนาพงษ์ สมกิจรุ่งโรจน์

    นพ. ธนาพงษ์ สมกิจรุ่งโรจน์

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยาจอตาและวุ้นตา
    การผ่าตัดต้อกระจก, จอประสาทตาและน้ำวุ้นตา, ม่านตาอักเสบ, โรคทางกระจกตาและตาส่วนนอก
  • Link to doctor
    ผศ.พญ. วรวลัญช์ หงส์เลิศนภากุล

    ผศ.พญ. วรวลัญช์ หงส์เลิศนภากุล

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยาเด็ก
    • กล้ามเนื้อตา
    การผ่าตัดต้อกระจกในผู้ใหญ่และเด็ก, โรคตาเขและการผ่าตัดกล้ามเนื้อตา, จักษุวิทยาทั่วไปในผู้ใหญ่และเด็ก, ภาวะสายตาผิดปกติ, ตาขี้เกียจ, ต้อกระจก, โรคต้อเนื้อ, โรคต้อลม, โรคตาแห้งและโรคผิวกระจกตา, โรคกล้ามเนื้อตา
  • Link to doctor
    รศ. (พิเศษ) นพ. สุภณัฐ อภิญญาวสีสุข

    รศ. (พิเศษ) นพ. สุภณัฐ อภิญญาวสีสุข

    • จักษุวิทยา
    • ประสาทจักษุวิทยา
    การผ่าตัดต้อกระจก, การใช้สารโบทูลินัมรักษาโรคใบหน้าครึ่งซีกกระตุก และ โรคกล้ามเนื้อเปลือกตาเกร็งกระตุก, เส้นประสาทตาผิดปกติ, การกลอกตาผิดปกติและเส้นประสาทสมองเป็นอัมพาต, โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
  • Link to doctor
    นพ. บุรเวช อัศวพงศ์ไพบูลย์

    นพ. บุรเวช อัศวพงศ์ไพบูลย์

    • จักษุวิทยา
    • ประสาทจักษุวิทยา
    Ophthalmology, การผ่าตัดต้อกระจก, การใช้สารโบทูลินัมรักษาโรคใบหน้าครึ่งซีกกระตุก และ โรคกล้ามเนื้อเปลือกตาเกร็งกระตุก, เส้นประสาทตาผิดปกติ, ประสาทจักษุวิทยา
  • Link to doctor
    รศ.พญ. วิศนี ตันติเสวี

    รศ.พญ. วิศนี ตันติเสวี

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยาโรคต้อหิน
    การผ่าตัดต้อกระจก, การรักษาโรคต้อหิน
  • Link to doctor
    รศ.พญ. วรรณรัตน์ สาธิตพิฐกุล

    รศ.พญ. วรรณรัตน์ สาธิตพิฐกุล

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยากระจกตา
    • จักษุวิทยาผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ (LASIK & SMILE pro)
    โรคตาแห้งและโรคกระจกตา, การผ่าตัดต้อกระจก, การผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ, โรคตาแห้งและโรคผิวกระจกตา, ต้อกระจก
  • Link to doctor
    นพ. กฤติเดช เดชะคุปต์

    นพ. กฤติเดช เดชะคุปต์

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยาจอตาและวุ้นตา
    ผ่าตัดจอประสาทตา, ต้อกระจก, การผ่าตัดต้อกระจก, โรคตาทั่วไป