อาการ สาเหตุ วิธีการวินิจฉัยและการรักษา โรคสมองพิการ-Cerebral Palsy Symptoms, Causes, Diagnose, Treatment

โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy)

โรคสมองพิการ เป็นโรคทางระบบประสาท ส่งผลให้เกิดความบกพร่องทางด้านกล้ามเนื้อ ท่าทาง และการเคลื่อนไหว เนื่องจากสมองได้รับความเสียหายระหว่างที่ตัวอ่อนกำลังพัฒนา โดยมักมีสัญญาณหรืออาการของโรคแสดงให้เห็นตั้งแต่ในวัยทารก

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


โรคสมองพิการ

โรคสมองพิการ เป็นโรคทางระบบประสาท ส่งผลให้เกิดความบกพร่องทางด้านกล้ามเนื้อ ท่าทาง และการเคลื่อนไหว เนื่องจากสมองได้รับความเสียหายระหว่างที่ตัวอ่อนกำลังพัฒนา โดยมักมีสัญญาณหรืออาการของโรคแสดงให้เห็นตั้งแต่ในวัยทารก ทั้งนี้โรคสมองพิการมักส่งผลต่อท่าทางการเคลื่อนไหว แต่ไม่ส่งผลต่อความบกพร่องทางสติปัญญา

ประเภทของโรคสมองพิการ

  • อาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง (Spasticity)
  • อาการยุกยิก (Dyskinesia)
  • อาการผสมกัน ทั้งกล้ามเนื้อหดเกร็งและอาการยุกยิก

โรคสมองพิการสามารถแบ่งออกเป็นประเภทย่อย ๆ ตามอวัยวะที่มีอาการ

  • Diplegic: มีอาการที่แขนมากกว่าขา
  • Quadriplegic: มีอาการที่ขาและแขน
  • Hemiplegic: มีอาการที่ด้านในด้านหนึ่งของร่างกาย (ซ้ายหรือขวา) มากกว่าอีกด้าน
  • Monoplegic: มีอาการที่แขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่ง
  • Paraplegic: มีอาการที่ขา

โรคสมองพิการ มีอาการอย่างไร-What are the symptoms of Cerebral Palsy

โรคสมองพิการ มีอาการอย่างไร

อาการของโรคสมองพิการมีตั้งแต่เล็กน้อยจนรุนแรง มักมีสาเหตุมาจากการที่อวัยวะอ่อนแรงหรือหดเกร็ง โดยอาการจะไม่หายไป แต่จะเปลี่ยนไปตามช่วงวัยและไม่แย่ลงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น

  • ทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน
    • ไม่ชันคอ
    • ไขว้ขาหรือเกร็งขาเมื่อถูกอุ้มขึ้นมา
    • ตัวเกร็งหรือตัวอ่อน ปวกเปียก
    • เมื่อโดนอุ้มจะผลักตัวออก โดยการยืดหลังและคอ
  • ทารกอายุมากกว่า 6 เดือน
    • ควบคุมกล้ามเนื้อคอไม่ได้
    • เอื้อมคว้าของด้วยมือเพียงข้างเดียว โดยจะกำมืออีกข้างเอาไว้
  • ทารกอายุมากกว่า 10 เดือน
    • เวลาคลานจะใช้มือและขาข้างเดียวดันตัวไป ส่วนมือและขาอีกข้างจะปล่อยให้ลากพื้นไป
    • นั่งเองไม่ได้
  • เด็กอายุมากกว่า 1 ปี
    • ไม่คลาน
    • ยืนไม่ได้แม้ว่าจะเกาะจับ
  • เด็กอายุมากกว่า 2 ปี
    • เดินไม่ได้
    • เข็นของเล่นที่มีล้อไม่ได้

โรคสมองพิการ มีสาเหตุอย่างไร

โรคสมองพิการ เกิดจากการที่สมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างกัน ๆ เช่น ก่อน ระหว่าง หรือหลังคลอด ราว 80% ของเด็กทารกเป็นโรคสมองพิการจากการที่สมองได้รับความเสียหายก่อนคลอด และราว 10% สมองได้รับความเสียหายหลังคลอด

  • สาเหตุของโรคสมองพิการที่เกิดก่อนและระหว่างคลอด ได้แก่ การเกิดก่อนกำหนด การติดเชื้อที่สมองและไขสันหลัง โรคหลอดเลือดสมองที่ส่งผลต่อการพัฒนาของสมอง ปัจจัยทางด้านพันธุกรรมส่งผลต่อการพัฒนาของตัวอ่อน รูปร่างพิการตั้งแต่กำเนิดจากการที่เส้นประสาทขาดในระหว่างที่สมองกำลังพัฒนา การที่เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองตัวอ่อนได้ไม่เพียงพอ ความผิดปกติของสมองเนื่องจากระดับบิลิรูบินในเลือดสูง ภาวะสูดสำลักขี้เทา ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในทารกแรกเกิด
  • สาเหตุของโรคสมองพิการที่เกิดหลังคลอด ได้แก่ การได้รับบาดเจ็บ การโดนทำร้ายร่างกาย การขาดอากาศหายใจ ภาวะตัวเหลือง ความผิดปกติของสมองเนื่องจากระดับบิลิรูบินในเลือดสูง การติดเชื้อ โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะเลือดออกด้านในหรือรอบเนื้อสมอง

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดสมองพิการ

  • การคลอดก่อนกำหนด โดยทารกที่อายุน้อยกว่า 28 สัปดาห์จะมีความเสี่ยงสูงสุด
  • น้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม
  • การใช้สารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์
  • ประสบปัญหาระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • การตั้งครรภ์แฝด
  • ภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ

โรคสมองพิการ มีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร

โรคสมองพิการ มักมีอาการร่วมที่ส่งผลต่อการทำงานของสมอง เช่น โรคลมชัก ปัญหาทางด้านการสื่อสาร การได้ยินและมองเห็น ปัญหาเรื่องการรับประทานอาหาร อาการทางกระดูกและกล้ามเนื้อ และพฤติกรรมผิดปกติ

โรคสมองพิการ มีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร

กุมารแพทย์สามารถสังเกตเห็นสัญญาณและอาการของโรคสมองพิการได้เมื่อทารกมาเข้ารับการตรวจสุขภาพตามนัด โดยเด็กทารกมักจะแสดงอาการให้เห็นก่อนอายุ 12 เดือน แต่แพทย์มักจะยืนยันผลการตรวจวินิจฉัยเมื่อทารกอายุ 18-24 เดือน ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยได้แก่การตรวจร่างกายและการตรวจทางระบบประสาท การตรวจประเมินตามรายการตรวจเฉพาะโรค และการตรวจวินิจฉัยด้วยภาพถ่าย เช่น MRI สมอง การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) โดยเฉพาะในเด็กที่มีอาการชัก และการตรวจเลือด

โรคสมองพิการ มีการรักษาอย่างไร

โรคสมองพิการนั้นรักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่สามารถทำการรักษาเพื่อบรรเทาอาการของโรคได้ การรักษาที่เหมาะสมนั้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรง อาการ และผลกระทบของโรคที่มีต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

  • ยาสำหรับอาการชัก อาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง หรือผลกระทบจากโรค เช่น ความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์
  • การผ่าตัดสามารถช่วยบรรเทาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง หรืออาจทำการผ่าตัดเพื่อฝังเครื่องควบคุมการให้ยาอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้การผ่าตัดยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องข้อและกระดูกสันหลัง โดยในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจทำการผ่าตัดเพื่อฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมองเพื่อปรับการทำงานของสมอง
  • กายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัดสามารถช่วยให้ผู้ป่วยโรคสมองพิการฝึกทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงและการเคลื่อนไหวของร่างกาย
  • อรรถบำบัดช่วยเรื่องปัญหาการสื่อสาร ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคสมองอักเสบ
  • จิตบำบัดช่วยรักษาอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล

โรคสมองพิการ มีการป้องกันไม่ให้เกิดอย่างไร

โรคสมองพิการนั้นคาดเดาไม่ได้ จึงไม่สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ตามเราสามารถลดความเสี่ยงของโรคได้โดยการปฏิบัติตนตามมาตราการดังต่อไปนี้

  • การให้แมกนีเซียมซัลเฟตในทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือก่อนอายุครรภ์ครบ 32 สัปดาห์ช่วยลดความเสี่ยงของโรคสมองพิการได้ โดยวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในสมองของทารกแรกเกิด ลดความเสี่ยงขอการได้รับเลือดและออกซิเจนไม่เพียงพอ
  • การลดอุณหภูมิร่างกายของทารกที่มีภาวะขาดอากาศหายใจ โดยจะลดอุณหภูมิร่างกายหรือศีรษะให้ลดต่ำลงอย่างน้อย 2 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันสมองถูกทำลายจากการขาดออกซิเจน
  • การให้คาเฟอีนเพื่อกระตุ้นการหายใจทารกที่คลอดก่อนกำหนด เพื่อลดความเสี่ยงของโรคสมองพิกา
  • การให้ยาสเตียร์รอยด์ระหว่างการปวดท้องคลอดก่อนกำหนด เพื่อเร่งการพัฒนาของปอดของทารก เนื่องจากทารกที่คลอดก่อนกำหนด ปอดจะยังไม่พัฒนาอย่างสมบูรณ์

การดำรงชีวิตอยู่กับโรคสมองพิการ

โดยปกติแล้วผู้ป่วยโรคสมองพิการที่มีอาการเพียงเล็กน้อยหรือปานกลางจะสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ในขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการดูแลตลอดชีวิต โดยผู้ป่วยควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการรักษาอาการและดูแลตนเอง

การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์

จดคำถามที่ต้องการถามแพทย์ เช่น

  • สมองได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด
  • มีผลกระทบต่อความสามารถใด ๆ หรือไม่
  • โรคสมองพิการอาจทำให้เป็นโรคอื่น ๆ ได้หรือไม่ อะไรบ้าง
  • ควรเข้ารับการรักษาด้วยวิธีใดบ้าง มีเทคโนโลยีการรักษาใหม่ ๆ บ้างหรือไม่
  • ต้องเฝ้าระวังอาการอะไรเป็นพิเศษหรือไม่

คำถามที่มักถามบ่อย

  • โรคสมองพิการส่งผลต่อสติปัญญาหรือไม่
    โรคสมองพิการไม่ส่งผลต่อสติปัญญา ราวครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคสมองพิการนั้น ไม่มีปัญหาด้านสติปัญญา แต่มักจะมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร
  • โรคสมองพิการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่
    โรคสมองพิการอาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่มักพบได้น้อย ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากอุบัติเหตุหรือการได้รับบาดเจ็บเมื่อยังเป็นทารก
  • ผู้ป่วยโรคสมองพิการสามารถเดินได้หรือไม่
    ผู้ป่วยโรคสมองพิการบางรายอาจเดินได้ตามปกติ ในขณะที่บางคนต้องใช้ไม้ยันรักแร้ เครื่องช่วยพยุงเดิน ไม้เท้า หรือรถเข็นอย่างไรก็ตามแม้ว่าผู้ป่วยจะเดินได้เอง แต่ผู้ป่วยมักเหนื่อยง่ายจึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ช่วยเหลือการเดิน

คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค

โรคสมองพิการอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดฝัน ถึงแม้ว่าโรคจะมีความรุนแรงและอาจทำให้พิการ เทคโนโลยีการรักษาใหม่ ๆ สามารถช่วยบรรเทาอาการของโรคและลดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้ป่วยโรคสมองพิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 09 ก.ค. 2024

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    รศ.พญ. ภิรดี สุวรรณภักดี

    รศ.พญ. ภิรดี สุวรรณภักดี

    • กุมารเวชศาสตร์
    • กุมารเวชศาสตร์ประสาทวิทยา
    Pediatrics, Pediatrics Neurology, Pediatrics Epilepsy
  • Link to doctor
    นพ. รพีพัฒน์ เทวมิตร์

    นพ. รพีพัฒน์ เทวมิตร์

    • กุมารเวชศาสตร์
    • กุมารเวชศาสตร์ประสาทวิทยา