หมอนรองกระดูกคอเคลื่อนทับเส้นประสาท
ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเคลื่อนกดทับเส้นประสาท เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในกลุ่มประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป โดยสาเหตุส่วนมากเกิดจากความเสื่อมสภาพหรือมีการฉีกขาดของผนังหมอนรองกระดูกร่วมกับมีการใช้งานที่ผิดท่าทางหรือผิดวิธีเป็นระยะเวลานาน เช่น การนั่งพิมพ์งานหน้าจอคอมพิวเตอร์ การก้มเล่นโทรศัพท์มือถือหรือก้มอ่านหนังสือเป็นระยะเวลานาน เหล่านี้ส่งผลให้หมอนรองกระดูกส่วนคอต้องรับภาระที่มากขึ้นกว่าปกติ จนส่งผลให้เกิดภาวะดังกล่าวตามมาได้
อาการหมอนรองกระดูกคอเคลื่อนทับเส้นประสาท
- อาการปวด ซึ่งลักษณะของอาการปวดจากภาวะนี้ จะมีลักษณะปวดร้าวไปตามตำแหน่งของเส้นประสาทที่ถูกกดทับวิ่งไปเลี้ยง เช่น กรณีหมอนรองกระดูกส่วนคอระหว่างปล้องที่ 5-6 กดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการปวดจากต้นคอร้าวไปที่บริเวณนิ้วโป้งและนิ้วชี้ของมือข้างนั้น ๆ เป็นต้น
- อาการเสียวชา หรือกรณีที่มีการกดทับเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวลีบ และอ่อนแรงร่วมด้วย
การรักษาหมอนรองกระดูกคอเคลื่อนทับเส้นประสาท
- รักษาโดยไม่ผ่าตัด พบว่า 90% สามารถรักษาให้หายหรือดีขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด เริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งาน การบริหารกล้ามเนื้อต้นคอให้แข็งแรงเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระการใช้งานของหมอนรองกระดูกต้นคอ การรับประทานยา รวมถึงการเข้ารับการทำกายภาพบำบัด
- รักษาโดยการผ่าตัด ในกรณีที่เข้ารับการรักษาข้างต้นแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น อาจพิจารณาการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดอาการปวดจากการกดทับเส้นประสาท รวมถึงป้องกันการเสียหายของเส้นประสาทและไขสันหลัง ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพตามมาได้
สำหรับการผ่าตัดภาวะหมอนรองกระดูกต้นคอเคลื่อนกดทับเส้นประสาทนั้น ในปัจจุบันมีด้วยกันหลายวิธี ยกตัวอย่างเช่น การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกต้นคอเทียมชนิดเคลื่อนขยับได้ (total cervical disc replacement, TDR) การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกโดยการเชื่อมข้อ ( anterior cervical discectomy and fusion, ACDF) เป็นต้น โดยการเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย จะพิจารณาจากตำแหน่งและลักษณะทางพยาธิสภาพของผู้ป่วยแต่ละรายเป็นหลัก